พูดพร่ำถึงยักษ์ใหญ่แห่งการกรองดนตรีร่วมสมัยอย่าง PMRC กันไปแล้ว ก็มาต่อกันด้วย 20 slides ที่กล่าวถึงดนตรีกับ Censorship กันเลยดีกว่าครับ
แต่คงต้องสารภาพว่ามันคงเหลือแค่ 19 นะครับ เพราะได้ตัด "Parental Advisory" ออกไปเนื่องกล่าวถึงมันไปใน Blog ที่แล้ว ซึ่งบางภาพในที่นี้อาจจะเกี่ยวกับการประท้วง Censorship ตรงไปตรงมา ขณะที่บางภาพอาจเป็นอัลบั้มที่มีเนื้อหาต่อต้านสถาบัน แบบแผนนิยม หรือมีความดิบห่าม เชื้อชวนให้กองเซนเซอร์ได้มีงานทำ ก็เป็นได้
Chumbawamba - Shhh ไอ่คำว่า Shhh คำนี้ จริง ๆ แล้วมันก็คือเสียง "ชู่วววว..." จุปากให้เงียบนั่นแหละ ซึ่งพวกเขาเองไม่ได้กะจะตั้งชื่ออัลบั้มแบบนี้หรอกครับ แต่มันเริ่มมาจากการที่พวกเขากะจะใช้ชื่ออัลบั้มว่า "Jesus H. Christ" แล้วดันใช้วัตถุดิบจากเพลงอื่น ๆ มาเหมือนล้อเลียนมากไปหน่อย แถมด้วยชื่ออัลบั้มส่อ ๆ อีก เลยเจอต่อต้านไปก่อนจะได้คลอดออกมา ทางวงเลยประชดด้วยการเขียนเพลงต่อต้านเซนเซอร์แล้วแปลงชื่ออัลบั้มมาเป็น Shhh ซะเลย
Megadeth เพลง Hook in Mouth วง Thrash Metal ในยุคนั้นเองก็มีระอากับ PMRC อยู่เหมือนกัน ในอัลบั้ม So Far , So Good ... So What? ของ Megadeth จึงมีเพลงอย่าง Hook in Mouth ที่เปรียบเปรยกองเซนเซอร์ทั้งหลายกับรัฐบาลเผด็จการแห่ง Oceania ในหนังสือเรื่อง 1984 ของ George Orwell กันเลยทีเดียว
David Bowie - Diamond Dogs พูดถึง 1984 แล้ว คงจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงอีกอัลบั้มนึงคงไม่ได้ นั่นคือ Diamond Dogs ของ David Bowie ที่ผสมผสานทั้งเรื่องราวของรัฐเผด็จการที่คอยตรวจสอบ เซ็นเซอร์สื่อทุกอย่าง กับเรื่องราวของโลกที่พังพินาศจากแรงบรรดาลใจของตัว Bowie เอง
Radiohead - OK Computer และอีกอัลบั้มหนึ่งที่ได้แรงบรรดาลใจจาก 1984 (อย่างลับ ๆ) คือ OK Computer ของ Radiohead กับเพลงที่ตั้งคำถามกับสังคมบ้าจริยธรรมอย่าง Karma Police ขณะที่เรานั่งอยู่เฉย ๆ และคอยตัดสินคนอื่น เราก็กลับรอคอยให้อะไรบางอย่างมาจัดการกับ "ความชั่วร้าย" แทนเรา และวันหนึ่ง ไอ่อะไรบางอย่างนั้นเองก็จะหันหน้ามาจัดการกับเราด้วย
Pink Floyd - Animals พูดถึง 1984 แล้วใยไม่พูดถึง Animal Farm อัลบั้มนี้ของ Pink Floyd คงรู้ ๆ กันว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องนี้แน่ ๆ และคนเขียนเนื้อเจ้าคอนเซปท์คนสำคัญอย่าง Roger Waters เองก็ได้ใช้ สัตว์ 3 ชนิดเปรียบเปรยกับคนสามระดับในสังคม Dogs คือตัวแทนของนายทุน , นักธุรกิจ ผู้บ้าอะไรเกินตัว Pigs คือเหล่า Elite ชนชั้นปกครองที่คอยปิดกั้นประชาชนใต้กรอบของคำว่า "ศีลธรรม" ซึ่งในเพลงก็ได้ด่า Margaret Thatcher กับ Mary Whitehouse กับโครงการบ้า ๆ บอ ๆ ของพวกหล่อนไว้ และ เพลง Sheep ก็ได้เปรียบกับประชาชนเดินดินผู้ที่ดูเหมือนจะเฉื่อยชาต่อความเป็นไปในสังคม แต่ถึงกระนั้น ถ้าหากพวกเขาถูกบีบคั้นมากเข้าล่ะก็ ฝูงแกะที่ดูน่ารักเรียบร้อยก็อาจจะรวมตัวกัน พังคอกของพวก "ท่าน" สักวันก็เป็นได้
Frank Zappa - Joe's Garage กลับมาสู่ยุค PMRC แน่นอนว่า Frank Zappa ผู้ต่อต้าน PMRC อย่างจริงจัง ก็ได้ออกคอนเซปท์อัลบั้มแนวเล่าเรื่องที่ชื่อ Joe's Garage พูดถึงชายที่ชื่อ Joe กับเส้นทางดนตรี Rock สุดเฟี๊ยวฟ๊าว ในบทท้าย ๆ ของอัลบั้ม ได้พูดถึงโลกอันน่าสะพรึงกลัวแบบเว่อร์ ๆ ไว้ว่า โลกของ Joe นั้นดนตรีกลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย และเขาก็ได้แต่ระลึกถึงโน๊ตกีต้าร์โดยไม่สามารถเล่นได้จริง
Styx - Kilroy was Here อัลบั้มแนวเล่าเรื่องอีกอัลบั้มหนึ่งที่เป็นผลพวงมาจากนโยบายของ PMRC คือ Kilroy was Here ของวง Styx เนื้อเรื่องพูดถึงโลกในอนาคตที่รัฐบาลหัวอนุรักษ์จัดการทำให้ดนตรีร็อคกลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า MMM (the Majority for Musical Morality) โดย Kilroy อดีตนักดนตรี Rock ที่ถูกจับขังคุก ได้หาทางหนีออกมา และจะต้องต่อสู้กับโลกใบนี้ ในอัลบั้มก็มีเพลงที่พูดเน้นถึง censorship หนัก ๆ หน่อย อย่าง Heavy Metal Poisoning เนื่องจากดนตรี Heavy Metal ตกเป็นแพะรับบาปของสังคมเคร่งศีลธรรมในช่วงนั้นอยู่พอดี
รูปนี้ขออนุญาตทำเป็น Link เอานะครับ
ต้องคิดเผื่อถึงบางคนที่เขาอาจจะไม่อยากเห็นภาพแบบนี้ด้วย
Rage Against the Machine ในคอนเสิร์ท Lollapalooza และแน่นอนว่าวง Rage Against the Machine วงแนว Rap-Rock จอมขบถ ก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน ในคอนเสิร์ท Lollapalooza พวกเขาได้ออกมาประท้วงในแบบชวนให้สะดุ้งอยู่ไม่น้อย (ใครที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ผมก็ขออภัยจริง ๆ เพราะเจ้าพวกนี้มันแรงใช้ได้) พวกเขาออกมาเปลือยตัวเองแล้วเขียนตัวอักษร PMRC ไว้บนตัวสมาชิก
ไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าที่ปิดอยู่นั่น เป็นอะไร
Music Video เพลง Hush ของวง Tool และเราอาจจะได้เห็นภาพคล้าย ๆ กันนี้ (แต่อาจเบาบางลงมาหน่อย) ใน Music Video เพลง Hush ของวง Tool อีกเพลงที่เขียนด่า Censorship และ MV ของมันก็เล่นล้อกับความหมายอะไรบางอย่าง สำหรับผม มันดูฮา ๆ ดี ที่เอาป้ายไป "Parental Advisory" ไปติดตรงนั้น...ตรงที่ไม่รู้เล้ย...ว่ามันคืออะไร
Dixie Chicks เพลง Not Ready to Make Nice Censorship ไม่ได้มีอยู่แค่ในเหตุผลด้านศีลธรรมเท่านั้น ในยุคปัจจุบัน แม้ความเห็นต่างทางการเมืองนอกจากจะถูกทำให้เป็นฝ่ายตรงข้าม สร้างภาพให้เป็นศัตรูแล้ว ยังจะถูกปิดกั้นบิดเบือนเอาง่าย ๆ ดูอย่าง Free TV. ส่วนใหญ่ในประเทศเราก็รู้ ๆ กันอยู่ ว่ามักจะมีแต่การแสดงอะไรด้านเดียวอยู่เสมอ ภาพของม็อบที่มีแต่ด้านของความรุนแรง โดยไม่เคยสำรวจเข้าไปในตัวของปัญหาที่แท้จริง หรือแม้แต่จะฟังความต้องการของพวกเขาโดยไม่ใส่อดติตัดสินพวกเขาเข้าไปเลย ไม่ใช่แค่ Free TV. บ้านเราเท่านั้น สถานีวิทยุคันทรี่ของอเมริกัน ที่ดูจะสนับสนุนประธานาธิบดีบุชเต็มที่ ยังแบนเพลงของวง Dixie Chicks หลังจากที่ นาตาลี เมนส์ ได้วิจารณ์และจิกกัดบุชเอาไว้ในคอนเสิร์ท แถมด้วยเพลงประท้วงนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทางวง Dixie Chicks ต้องอยู่ภายใต้ความบิดเบี้ยวคับแคบของลัทธิชาตินิยมอเมริกันมาเป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะได้ออกอัลบั้ม Taking a Long Way มา ซึ่งเพลง Not Ready to Make Nice ก็เป็นอีกเพลงหนึ่ง ที่พูดถึงความเจ็บช้ำในการถูกทอดทิ้งจากสื่อสาธารณะและการถูกคุกคามจากภาครัฐไว้ได้อย่างถึงใจ (อ่านรายละเอียดอัลบั้มนี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่ Weekend เก่าครับ)
Manic Street Preachers เพลง Freedom of Speech Won't Feed My Children พูดอเมริกาแล้ว คงขาดไม่ได้ที่จะนึกถึงดินแดนแห่งเสรีภาพ ดินแดนที่สนับสนุนความหลากหลายของเชื้อชาติ ดินแดนที่สนับสนุนอิรภาพในการแสดงความเห็น (Freedom of Speech) ...แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ น่ะหรือ ขณะที่รัฐบาลอเมริกันเที่ยวไปจัดการกับเสรีภาพของประเทศอื่น ๆ น่าตาเฉย พวกเขาเคยยอมรับความแตกต่างทางความคิดของคนในประเทศเดียวกันหรือเปล่าเถอะ เพลง Freedom of Speech Won't Feed my Children ของวง Manic Street Preachers เป็นเพลงที่วิจารณ์ความยอกย้อนของคำว่า "เสรีภาพ" จากอเมริกันชน ด้วยน้ำเสียงกึ่งประชดล้อเลียน และแน่นอนว่า คำว่า "เสรีภาพ" ในรัฐธรรมนูญฉบับอนุรักษ์ไดโนเสาร์ของพวกเราเองก็ยอกย้อน น่าสงสัยพอ ๆ กัน
Sex Pistol เพลง God Save The Queen ข้ออ้างที่สำคัญในการใช้ทำลาย "เสรีภาพในการแสดงความเห็น" คือ "ความมั่นคง" แต่เราคงต้องมาตั้งคำถามสักหน่อยว่ามันคือความมั่นคงของใคร หรือของอะไร !? God Save the Queen เป็นเพลงท้าทายสถาบันที่มีชื่อเดียวกับเพลงชาติอังกฤษ แต่เนื้อหาสุดพังค์ของมันก็ตรงกันข้ามกับเจตนารมย์ของเพลงชาตินี้โดยสิ้นเชิง และเป็นความสะใจส่วนตัว ที่จะได้ร้องตามไปกับประโยคเด็ด ที่แสดงความรู้สึกของเพลงนี้ออกมาได้ดีที่สุดอย่าง No Future for You!
King Crimson เพลง Happy with what you have to be Happy with ขณะที่ฝั่ง Punk ยุค 70's ท้าทายสถาบันอย่างไม่อ้อมค้อมนัก ดูเหมือนวงแนว Progressive (ถ้าไม่นับ Pink Floyd) ดูจะถนัดพูดอะไรอ้อม ๆ เสียมากกว่า จนบางครั้งเล่นเอามึนไปเลยว่ามันจะพูดถึงอะไรกันแน่ แต่ชื่อเพลงของวง King Crimson คือ Happy with what you have to be Happy with ที่เป็นชื่อเดียวกับ EP. นี้ด้วย ก็ทำเอาผมนึกถึงอะไรบางอย่างในบ้านเราเหมือนกัน ยิ่งใบหน้าเหมือนถูกสะกดจิตของคนบนหน้าปกแล้วยิ่งชวนให้นึกถึงคนที่เคลิ้มไปกับคำว่า "จงมีความสุขอย่างพอเพียงกับสิ่งที่คุณควรมีเสียเถิด" ขณะที่ผู้พูดนั้นอาจกำลังนั่งคิดหนักว่าจะเอาทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาอย่างพอเพียงโคตร ๆ ไปละลายยังไงดี มันเกี่ยวกับเซ็นเซอร์ชิพอย่างไรน่ะหรือ... แค่คำว่า "Happy with What you have to be Happy with" ที่มันออกมาจากผู้มีอำนาจ (ไม่ว่าอำนาจอะไรก็ตาม) ก็เอามาใช้อ้างอะไรได้หลายแล้วล่ะครับ
John Prine เพลง Illegal Smile ในเมื่อมนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่จะถูกให้ใครสั่งให้มีความสุขได้ "ความสุข" ของแต่ละคนมันจึงแตกต่างหลากหลายกันไป และแน่นอนว่า ความสุขสงบของบางคนอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับของสังคมก็ได้ จนความสุขนั้นได้กลายเป็น "รอยยิ้มที่ผิดกฏหมายไป"When I woke up this morning, things were lookin' bad
Seem like total silence was the only friend I had
Bowl of oatmeal tried to stare me down... and won
And it was twelve o'clock before I realized
That I was havin' .. no fun
Chorus:
But fortunately I have the key to escape reality
And you may see me tonight with an illegal smile
It don't cost very much, but it lasts a long while
Won't you please tell the man I didn't kill anyone
No I'm just tryin' to have me some fun
- Illegal Smile
สิ่งที่เพลงนี้พูดถึงคือกัญชาครับ สิ่งผิดกฏหมายที่แพร่หลายทั่วไปในยุคบุปผาชนเกลือนถนน San Francisco และนักร้อง Folk อย่าง John Prine ก็แต่งเพลงเกี่ยวกับมันในท่าทีขอความเห็นใจขณะเดียวกันก็เจืออารมณ์ขันเมา ๆ ("ถ้วยข้าวโอ๊ตพยายามจะจ้องมองฉันด้วยสายตาดูแคลน ...แล้วมันก็เป็นฝ่ายชนะ") ว่าในวันแย่ ๆ ของคน ๆ หนึ่ง เขาทำผิดอะไรหรือกับการพยายามสร้างรอยยิ้มให้ตัวเองโดยไม่ได้ไปฆ่าใคร ถึงมันจะเป็นรอยยิ้มที่ "Illegal" ก็ตาม
"สมาคมแม่บ้านวอชิงตัน" รับฟังเขาหน่อยก็ดีนะครับ
Crotchduster - Big Fat Box of Shit
นอกจากรอยยิ้มมันจะมาจาก "สมุนไพร" ชนิดนั้นแล้ว สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงขนาดนั้นก็คือ อารมณ์ขันนั่นเอง มุขตลกแบบสัปดนอาจเป็นเรื่องเล่าเล่นทั่วไปของคนในสังคมเพื่อระบายความเก็บกดทางเพศ
ว่ากันว่าคนที่ยิ่งชอบเล่าเรื่องสัปดนมากเท่าไหร่ ความกระสันในตัวเขายิ่งจะน้อยลงเท่านั้น ตรงข้ามกับคนที่ไม่เล่นมุขสัปดนพวกนี้เลยนั้นตัวจริงของเขาจะสุดหื่น...เรื่องนี้จริงแท้แค่ไหนไม่ทราบ แต่ถึงผมจะเป็นคนไม่เชื่อสถิติ และรู้สึกว่าความคิดข้างต้นเหมารวมไปหน่อย แต่ก็เห็นด้วยบ้างกับเรื่องการได้ระบายออกด้วยการเล่าเรื่องสัปดน การเซ็นเซอร์เรื่องอะไรเหล่านี้มันทำให้คนเก็บกดได้นะครับพี่น้อง!
Big Fat Box of Shit เป็นอัลบั้มของวง Metal เฉพาะกิจ Crotchduster เนื้อหามีมุขตลกสัปดนที่บางทีก็ซ่อนนัยยะ บางทีก็ตรงไปตรงมา แต่ก็ไม่ไม่ใช่มีแต่มุขสัปดนบางเพลงก็เป็นมุขตลกแบบ absurd สุด ๆ เลยก็มี อย่างตอนต้นเพลง Jogging in hell (ฉันคิดว่ามันเป็นแปรงสีฟัน แต่จริง ๆ แล้วมันคือกระบอกไฟฉาย ฉันเลยทำฟันของตัวเองร่วงหมดปาก ในกลางค่ำคืน)
หากง่ายที่จะเจอวง Heavy Metal ที่ชวนให้เซ็นเซอร์ (ปกหรือเนื้อหา บางครั้งอาจรวมการแต่งตัวด้วย) ด้วยเหตุผลของความโหดร้าย ก้าวร้าว หรือเรื่องของซาตาน แต่หายากที่จะเจอวงที่ชวนให้เซ็นเซอร์เพราะอารมณ์ขันสัปดน
Mayhem - Dawn of the Black Heart
อย่างที่ว่าไว้ ความโหดของ Heavy Metal ในฐานะของรูปแบบ (Form) ทางดนตรีถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะสาย Extreme อย่าง Black กับ Death
และวง Mayhem ซึ่งเป็นวง Black Metal วงแรก ๆ ของโลกก็อารมณ์เพี้ยนจัด... เมื่อเพื่อนร่วมวงของพวกเขา Per Yngve Ohlin (มีสมญานามว่า Dead) ฆ่าตัวตาย (ทีนี้เลย Dead สมชื่อ) พอนาย Øystein ‘Euronymous' Aarseth เพื่อนร่วมวงผ่านมาเจอเข้าก็เผ่นออกไป... ออกไป... ออกไป...หากล้องมาถ่ายรูปศพไว้
แล้วเอามาทำเป็นปกอัลบั้ม Bootleg ที่ชื่อ Dawn of a Black Heart เสียอย่างงั้น
Harry and the Potters - Voldemort can't stop the Rock!
เมื่อผมเจอวงนี้เป็นครั้งแรกเล่นเอาขำปนฉงนอยู่เหมือนกันว่า "เฮ้ย ! เอาจริงง่ะ"
แล้วก็พบว่ากระแสของ Harry Potter มันลามมาถึงวงการดนตรี (จะเป็นไรไปจริง ๆ The Lord of the Ring ก็เคยเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Power Metal บางวงมาแล้ว) หรือถ้าไม่คิดมาก ก็อาจจะเป็นแนวเฉพาะกลุ่มที่ผุดขึ้นมาตามความชอบส่วนตัวก็เป็นได้
เพียงแค่พอตเตอร์(ส) ในที่นี้หันมาถือกีต้าร์แทนไม้คทา แถมยังแต่งเพลงมีเนื้อหาอ้างถึง PMRC ไว้ใน Voldemort can't stop the Rock! ถึงจะดูเหมือนประท้วงแบบนุ่มนิ่ม แต่ก็น่าจดจำไว้ว่า แม้แต่คนอ่านวรรณกรรมเยาวชนที่ดู (เผิน ๆ ผิว ๆ) จะไม่เป็นอันตรายในสายตาผู้ใหญ่ เขายังรู้เลยว่า อะไรเป็นอะไร
ต่อให้เป็น "คนที่คุณก็รู้ว่าใคร" ก็ไม่อาจห้ามพวกเขาร็อคได้ !
Shadow Gallery - Tyranny
คงไม่ต้องอธิบายมาก (เพราะผมเคยเขียนถึงอัลบั้มนี้เมื่อนานมาแล้วใน Weekend) แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของรัฐบาลเผด็จการคือคำว่า "ความมั่นคง"
สั้น ๆ ง่าย ๆ ได้ใจความ
Sleater-Kinney - The Wood
อัลบั้มนี้ผมก็เคยเขียนถึงไปแล้วเช่นกัน (ใน Weekend นั่นแล) พูดถึง Censorship แล้วจะโทษจะแขวะกองเซ็นเซอร์ฝ่ายเดียวก็กระไรอยู่ ในเมื่อบางครั้ง กระบวนการในการผลิตดนตรีนี่แหละที่เซ็นเซอร์ตัวเอง บ้างก็มาจากตัวศิลปินเองที่จงใจทำ แต่หลายต่อหลายครั้งที่มันเกิดจากโปรดิวเซอร์หรือไม่ก็เหตุผลทางธุรกิจ
Sleater-Kinney เป็นวง "สาวขบถ" ที่เขียนถึงเรื่อง gender บ้าง เรื่องทั่วไปบ้าง และที่เว้นไม่ได้ก็เรื่องการเมือง (เพราะการเมืองอยู่รอบตัวเรา...ไม่สิ ! มันอยู่แม้แต่ในตัวเรา)
วิธีการเซ็นเซอร์ทางอ้อมอีกแบบหนึ่งที่รัฐจะทำคือกันผู้คนให้ออกจากการสำนึกรู้ทางการเมือง ทำให้มันเป็นเรื่องสกปรก ทำให้คนไม่อยากยุ่ง แล้วชนชั้นนำ (ผู้มีคุณธรรมสาด ๆ) ก็จะขอเล่นกับสิ่งสกปรกนี้ด้วยตัวเอง พลเมืองที่ไม่เข้มแข็งก็จะถูก "ผู้มีคุณธรรม" ทั้งหลายคอนโทรลได้ง่าย ผ่านทางวาทกรรมและอะไรซับซ้อนต่าง ๆ
และที่เขียนมายึดยาวเพื่อที่จะบอกว่า เมื่อวง Sleater-Kinney ได้ย้ายมาสู่ค่ายเพลงที่ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะทำ The Wood ให้มีระบบบันทึกเสียงที่ดีขึ้น แต่พวกเธอกลับถูกโปรดิวเซอร์เตือนเรื่องเพลงเกี่ยวกับการเมือง ดูเหมือนค่ายใหญ่ ๆ จะพยายามลี้หนีจากการเมืองเสียเหลือเกิน (โดยเฉพาะในบ้านเรา)
แต่พวกคุณเธอ Sleater-Kinney ก็ตอกกลับท่านโปรดิวเซอร์แบบอ้อม ๆ ในเพลงที่ชื่อ Entertain พูดถึงการที่พวกเธอโดนสั่งให้ปิดปากแล้วเล่นดนตรีเพื่อ "ความบันเทิง" เท่านั้น อย่าได้ยุ่งกับ "จอห์นนี่ถือปืนไปรบ" เชียว เพราะมันเสียว (ว่าจะมีโทรศัพท์จาก กรมกอง อะไรสักอย่างนี้) เหลือเกิ้นนนนน