ยามเช้าได้อ่านงานของดอกสตาร์ เธอเขียนจั่วหัวว่า เชียงใหม่แพ้ซ้ำซาก Chiangmai lost her beauties.
ข้อเขียนของเธอบอกว่า
ผังเมืองฉบับใหม่ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วง ๙๐ วัน ที่คนได้รับความเดือดร้อนจากผังเมืองฉบับนี้จะยื่นคำร้องเพื่อคัดค้าน ถ้ารัฐบาลไม่รับฟังและผังเมืองฉบับนี้ผ่าน โฉมหน้าเมืองเชียงใหม่คงจะอัปลักษณ์สุด ๆ รอวันตายลูกเดียว
มีเรื่องฝายทั้งสามแห่งคือ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้งและฝ่ายท่าศาลาอีก ของเก่าแก่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสร้างไว้ให้ลูกหลานชาวล้านนาได้ประโยชน์กลับจะรื้อทิ้งโดยเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อยที่เทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองกับลูกหลานในอนาคต
“โถน่าสงสารคนเชียงใหม่ ของดีบรรพบุรุษสร้างให้ไม่รักษา น่าสมเพชจริงๆ นะคะ”
ฝายทั้งสามสร้างในรัชกาลที่ ๒ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อทดนํ้าให้เกษตรกรและผู้ใช้นํ้าแถบอำเภอสารภี เวียงกุมกาม จังหวัดลำพูน กรมศิลปากรถือว่าเป็นโบราณสถานด้วยค่ะ แต่กรมชลฯ รื้อฝายทั้งสามแล้วจะสร้างประตูระบายนํ้าในแม่นํ้าปิง
ดอกสตาร์ให้เหตุผลว่า
๑. เป็นการผลักดันของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและเจ้าของกิจการโรงแรมขนาดใหญ่ที่อยู่ริมแม่นํ้าเพราะว่าฝายพญาคำเป็นอุปสรรค์ในการล่องเรือพานักท่องเที่ยวชมแม่นํ้าซึ่งไปได้ไม่ไกลมากนัก โรงแรมอยากจะเพิ่มจุดขายโดยที่มีการรับส่งนักท่องเที่ยวทางเรือ (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๗ ได้เริ่มผลักดันการรื้อฝายมาครั้งหนึ่งแล้ว
อีกประการหนึ่งถ้ามีการทำประตูระบายนํ้าแล้วระดับนํ้าจะสูงขึ้นมากจนสามารถที่จะมีเรือสำราญจากประเทศจีนที่จะล่องเรือผ่านแม่นํ้าปิงเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ธุรกิจการท่องเที่ยว
๒. เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เมื่อเชียงใหม่เกิดนํ้าท่วมใหญ่จึงมีการผลักดันโครงการณ์ที่จะรื้อฝายอีกครั้งหนึ่ง
ดอกสตาร์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอเล่าว่า เธออยู่กับน้ำท่วมทุกปี ตั้งแต่วัยเด็กเป็นนักเรียนน้ำท่วมสองสามวันก็จบ น้ำไม่ขังไม่เน่าจึงไม่มีปัญหา
นี่เป็นเรื่องที่ดอกสตาร์นำเสนอเอาไว้นะคะ เมื่อวานนี้ฉันเจอเธอครั้งแรก หลังจากอ่านและเขียนกันมานาน ดอกสตาร์ เขียนเกี่ยวกับเรื่องเมืองเชียงใหม่มาตลอด
ตัดหัวเอาเลือดล้างเท้าพญาคำ
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมาเราไปร่วมพิธีกรรมการตัดคอหุ่นเพื่อสังเวยพญาคำกัน ตามกฎหมายมังรายศาสตร์ ในกฎหมายมีว่า ผู้ใดทำลายฝายหรือทำให้ฝายพังจะถูกทำโทษอย่างไรบ้าง การถูกตัดคอถือเป็นโทษสูงสุด
พิธีกรรมวันนี้ได้รับความสนใจมาก หลายคนถามว่าหุ่นนั้นเป็นใคร ได้ยินเสียงตอบว่า เป็นใครก็ได้ที่มุ่งทำร้ายทำลายฝาย
นักข่าวจ้องไปที่คนลงดาบซึ่งสวมหน้ากากสีดำ ก่อนที่แกจะลงดาบแกบอกว่า ถือเป็นเคล็ดลับห้ามเปิดเผยหน้าตาผู้ลงดาบ แกฟันฉับลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนตกตลึงเพราะคิดไม่ถึงว่าเลือดจะสาดกระเซ็นออกมาจากคอคอหุ่น
ผู้ช่วยแกฝายเอาเลือดสด ๆ เดินขึ้นไปบนฝายพญาคำ เทเลือดล้างเท้า พร้อม ๆ กับเสียงสวดมนต์ดังขึ้น ลมพัดแรงจนน่ากลัว ควันไฟไม่ได้จางหายแม้ไฟจะลุกแล้ว เชื้อไฟถูกสุมเข้าไปเรื่อย ๆ พร้อมกับเสียงประทัดดังขึ้น
มันน่ากลัวจริง ๆ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นจากจิตใจของผู้คน
ลองฟังเรื่องของพ่อหมื่นแก่ฝายดูเถิด แกทำฝายมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ดำลงไปมัดไม้ไผ่ทำฝาย ไปจนถึงฝายหินทิ้ง และมาเป็นแก่ฝาย ซึ่งอาจจะเป็นคนสุดท้าย พ่อหมื่นเล่าว่า กว่าจะสร้างฝายมาได้ มีผู้คนมากมายเหนื่อยยาก เสียชีวิตไปก็มี
ส่วนผู้เฒ่าลงดาบนั่นเล่า สืบเชื้อสายมาจากพญาคำ เขาสร้างด้วยหัวใจและจิตวิญญาณบรรพบุรุษขนาดนี้จะมาทุบทิ้งเพียงเพื่อล่องเรือชมฝั่งได้อย่างไรกัน
จบพิธีกรรม นักข่าวกำลังจะเดินทางกลับ มีชายสวมเสื้อดำปรากฏตัวขึ้น เขามาพร้อมกับธนู เขายิงธนูไปกลางสายน้ำปิง
นักข่าวหันหลังกลับไปสนใจคนชุดดำ เขาเป็นลูกบ้านนี้ อยู่กับแม่น้ำสายนี้มานาน การยิงลูกธนูไปกลางสายน้ำคือการประกาศตนและการปัดเป่าสิ่งเลวร้ายไปกับลูกธนู แล้วเขาก็มอบคันธนูโบราณให้กับแก่ฝาย
ถึงวันนี้ ฉันคิดว่า เชียงใหม่อาจไม่แพ้ เพราะมีศูนย์รวมที่เป็นจิตวิญญาณ มีศรัทธา มีวัฒนธรรมประเพณีที่หยั่งรากลึก มีหัวใจของศรัทธาที่เมืองอื่นอาจจะไม่มี