เรื่องขยะๆ มันโดนใจ

picture1

เรื่องขยะ ๆ มันโดนใจใครต่อใครหลายคน หลังจากที่เขียนเรื่อง แปดสิบบาทกับผู้ชายริมทางรถไฟ และในเรื่องมีขยะ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ปรากฎว่า มีผู้เขียนเข้ามาคุย และโทร.เข้ามาคุยเรื่องขยะ ๆ เป็นส่วนใหญ่ เรื่องของผู้ชายริมทางรถไฟหล่นหายไปพร้อมกับเรื่องวรรณกรรมที่อยากนำเสนอ

นั่นแสดงว่า เรื่องขยะ ๆ มันเป็นเรื่องโดนใจใคร ๆ และมีผู้สนใจเรื่องขยะอยู่พอสมควร สนใจนะคะไม่ใช่ชอบ  หรือรัก ใคร ๆ ก็ไม่ชอบขยะ และอยากเอาขยะออกไปให้พ้น ๆ ตัว

ดังนั้นขอคุยเรื่องขยะต่ออีกครั้งนะคะ

หญิงสาวคนหนึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอคุยกับฉันว่า เธออยากเห็นตลาดสักแห่งหนึ่งที่เป็นตลาดไร้ถุงพลาสติก ขายกันด้วยใบกล้วย ใบตอง ผู้คนหิ้วตะกร้ามาจ่ายกับข้าว เอาถุงผ้ามาซื้อข้าวสาร เธอย้ำว่าเธออยากจะไปตลาดเช่นนั้น

ฉันก็เห็นด้วยกับเธอ แต่ฉันคิดว่าเธอคงไม่ได้เห็นหรอก 

ส่วนน้องสาวอีกคน เธอมาบ่นว่า เธอมีปัญหาเรื่องโฟมใส่อาหารมาก มีปัญหาทางใจ มีปัญหาครอบครัวเพราะสามีของเธอเคร่งเครียดกับเรื่องนี้มาก เขาเห็นมันเข้ามาในบ้านไม่ได้เลย ใครหิ้วเข้ามาก็ต้องโดนว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร เธอเองก็ไม่อยากได้โฟมหรอก แต่เมื่อไปซื้ออาหารพวกเขาบอกว่าไม่มีอย่างอื่น ถุงพลาสติกก็ไม่มี วันหนึ่งตัดสินใจซื้อขนมปากหม้อ สาคูไส้หมู เจ้าอร่อยมาฝาก เขาถามว่า ทำไมใส่กล่องโฟมมา บอกเขาไปว่า ไม่มีอย่างอื่น เขาเสียงเขียวว่า
“ไม่มีก็ไม่เอา ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องกิน แค่ถุงพลาสติกก็แย่แล้ว”

เธอเล่าต่อว่า เมื่อเดือนก่อนเธอกับเขาไปงานชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เชียงใหม่ เขาหันไปเห็นกล่องโฟมใส่อาหารวางเรียงอยู่บนโต๊ะประมาณสามสิบสี่สิบกล่อง เขาตรงเข้าไปถามว่า อาหารพวกนี้กินมื้อเดียวใช่ไหมครับ น้องที่อยู่ใกล้ๆ พยักหน้า  วันหนึ่งกินสามมื้อ วันละร้อยกล่อง พวกคุณจัดงานกี่วันครับ

คราวนี้น้องงง เขาก็เลยพูดต่อว่า ผมเสนอว่า ควรหาทางอื่นในการกินนะครับ อย่าคิดแต่เรื่องสะดวกสบาย ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมกันด้วยไม่ใช่หรือครับ ถ้างั้นก็ป่วยการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม

ฟังเขาพูดแล้วต้องเดินหนี อายเขาและกลัวว่า คนที่ถูกว่าจะเสียใจ เสียหน้า กลับมาถึงบ้านเขายังเล่าให้ฟังอีกว่า น้องคนนั้นบอกให้เขาไปเขียนลงที่กล่องแสดงความคิดเห็น

ฉันบอกเธอไปว่า ทำเรื่องที่ควรทำไม่น่าจะอายนะคะ  แต่ก็น่าจะคิดวิธีบอกกล่าวบ้างเหมือนกัน  ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ศิลปะในการพูดไม่ให้คนอื่นเสียหน้าและได้ผลด้วย การเขียนใส่กล่องความคิดเห็นก็เป็นวิธีหนึ่ง

มีอีกหลายคนที่บอกมาว่า ที่เขาและเธออยู่ต่างมีขยะมากมาย  ทั้งเหนือใต้อีสาน แต่เด็ดสุดจากใต้ น้ำตกพรมโลก เธอบอกว่า ที่นั่นขยะมากมาย เคยพบว่ามีถุงดูเร็กด้วย (ถุงยางอนามัยดูเร็กนะ ไม่ใช่ กระดาษช็อกโกแล็ต)

ฉันบอกน้องสาวคนนั้นไปว่า การเดินป่า เที่ยวป่าเขาและน้ำตกนั้น เขาให้เอาไปแต่สิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตเท่านั้น และเอาไปให้น้อยที่สุด แต่ก็นั่นแหละสิ่งจำเป็นของใคร ๆ ก็ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือเอาขึ้นไปแล้วก็เอากลับลงมาเหมือนเดิม

บางคนก็บอกเธอเป็นคนเก็บขยะ และเก็บมานานแล้วเห็นขยะที่ไหนก็เก็บ และเขาพบว่า หลังจากที่เขาเริ่มเก็บขยะเขาได้สิ่งมีค่าหลายอย่างที่คนอื่นทิ้งและเขานำมาใช้ได้ บางครั้งเขาก็เอามาขัดมาเช็ดถู เก็บไว้ข้างบ้าน มีเพื่อนมาเห็นชอบเขาก็ยกให้ไปเลย พวกกรอบรูปก็มี พวกเก้าอี้เอามาซ่อมได้ เพื่อน ๆ ไม่รู้หรอกว่าเก็บมาจากที่เขาทิ้ง ๆ

เธอว่าคนชอบทิ้ง ใช้แล้วก็ทิ้งไม่ได้คิดจะเก็บมาใช้ให้คุ้มค่า หรือเอามาซ่อมแซม เธอยังเสนอว่า บริษัทที่ผลิตขยะออกมาก็น่าจะรับผิดชอบเอากลับไปด้วย โดยเฉพาะขยะอันตรายพวกถ่านไฟ แบตเตอรี่มือถือ กระป๋องต่าง ๆ

picture2

อีกคน “น้องเด็กดอย”จากโอเคเนชั่น เขียนมาว่า ขยะบนดอยมาก ดอยไหนก็มีขยะ โดยเฉพาะที่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

เขาเป็นเด็กดอยอินทนนท์ ข้อความสั้น ๆ แต่มีความหมาย และเข้าใจอารมณ์ของคนอยู่ดอยจริง ๆ และข้อความสั้น ๆ นี่แหละ ทำให้ฉันเขียนเรื่องขยะต่อ

ด้วยคำถามว่า ขยะดอยมาจากไหนและมันจะกลับมาได้อย่างไร

แน่นอนมันต้องลงมาถึงพื้นราบ มากับสายน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารต่าง ๆ มากับอากาศ ทั้งน้ำและอากาศจะได้รับกันอย่างทั่วถึง

ว่ากันว่า ขยะในตัวเมืองเชียงใหม่ จำนวนมหาศาล ถูกนำไปเก็บไว้บนป่าบนดอยสูงด้วย คิดดูเถิดว่า การจัดการกับขยะในเมืองเป็นเรื่องโหดแค่ไหน การย้ายขยะจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งเท่านั้น

เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงเรียน อนุบาล เธอบอกว่า เด็ก ๆ เป็นภูมิแพ้กันมาก พ่อแม่ต้องเตรียมรับมือเรื่องนี้ให้ดี เพราะพวกเขาจะได้โรคภูมิแพ้เป็นของขวัญทันทีที่เกิดมา    

นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวไหม

บอกกล่าวกันไว้แค่นี้แล้วกันนะคะ เผื่อใครจะคิดต่อทำต่อ

****************

ปล.ข่าวฝากเพื่อสังคมค่ะ

งานเดิน และปั่นจักรยาน ขึ้นดอยสุเทพ ตามรอยครูบา และดูแลสิ่งแวดล้อมค่ะ
“วันที่ 4 พฤศจิกายน 2550” นี้ สำหรับผู้สนใจร่วมเดินทาง

เริ่มโมงเช้าที่ลานครูบาศรีวิชัย กลุ่มเดินเท้าเดินตามเส้นทางป่าดอย ค่อยลัดเลาะไป ดูและฟังเสียงป่า ไปกินขนมอร่อย ๆ ที่วัดผาลาด และเดินต่อไปจนถึงลานวัดพะธาตุไปพบกับทีมปั่นจักรยานที่รออยู่แล้ว  ในช่วงวันดี ๆ เช่นนี้ เราจะฟังธรรมเทศน์เรื่อง การอนุรักษ์ดอยสุเทพและสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่  ณ บริเวณลานวัดพระธาตุ  ครั้งนี้เจ้าอาวาสจะได้เปิดใจเรื่องดอยสุเทพและวัดพระธาตุว่าท่านคิดอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงของดอยสุเทพและวัดพระธาตุดอยสุเทพ หลังจากดื่มด่ำกับธรรมชาติ ก็มาดื่มกินอาหารร่วมกัน  พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นธรรมชาติ

งานนี้มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เพื่อการจัดงานและเป็นทุนในการดำเนินงานของภาคีคนฮักเชียงใหม่ โดยชื่อบัตรเดินทางคนละ 199 บาท พร้อมรับเสื้อยืดหนึ่งตัว และข้าวหนึ่งห่อ และขนม

ท่านที่จะเดินเท้าหรือปั่นจักรยาน ติดต่อล่วงหน้าล่วงหน้านะคะ โทร.ที่ 084 0415096 หรือ  085 0397138  หรือที่ ร้านหนังสือ สุริวงค์บุคเซ็นเตอร์  ร้านเล่า หรือ ร้านนันทขว้าง  ร้านเมล็ดกาแฟ เอเดน กรีนเฮาส์ และสุดสะแนน

ความเห็น

ตามมาอ่านเรื่องที่ยายเขียนที่นี่น่ะ

เรื่องขยะนั้นเป็นปัญหามาก เราอยู่ที่ กทม. ก็พยายามแยกขยะให้เป็นหมู่ พวกกระดาษ ของที่ใช้แล้วใช้ได้อีก ก็ใส่ไว้ในถุงหนึ่ง ส่วนพวกเศษอาหาร ของสดของเปียกก็ใส่ไว้ถุงหนึ่ง

ผมเคยเขียนกระดาษแปะติดไว้ที่แต่ละถุง ว่าอะไรเป็นอะไร

วันหนึ่งรถขยะมาขนสายหน่อย ไอ้เราก็เห็นพอดี คนเก็บขยะเขาก็เอาไปเทรวมกันในรถน่ะนะ

แบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์อะไรที่จะแยกเนาะ ระบบการจัดการขยะของทางการต้องมีด้วยจึงจะเกิดผล

Submitted by แพรจารุ on

ขอบคุณค่ะ โกศล ที่ตามอ่านกันอยู่ เรื่องขยะมันโดนใจจริง ๆ มีคนแบบโกศลเยอะที่พยายามจัดการเท่าที่ทำได้ แต่ระบบไม่เอื้อจริง ๆ นะ

มีหลายคนบอกมาว่า เลิกคัดแยกแล้ว เพราะในที่สุดเอาไปรวมกันเหมือนเดิม

ทางเข้าบ้านเราเลย เป็นขยะของโรงเรียนบ้านทุ่งเสี้ยว มีถังหลายถัง วางไว้ ขยะร่วงหล่นเกลื่อนทางทุกวัน กลิ่นเหม็นผ่านไปมา

ใครอ่านบทความเราแล้วมาบ้านเราอาจจะอุทานว่า โธ...หน้าบ้านตัวเองก้อ...ดูไม่ได้ อายเขาเหมือนกันนะ

ในที่สัมมนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมครั้งหนึ่ง (นานมากแล้วครับ) มีการพูดเรื่อง "แยกขยะ" ผมและหลายคนที่นั่งฟังอยู่ก็ได้ท้วงไปอย่างที่คุณแพร จารุเขียนนี้ คือถึงเราแยกขยะก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ามันถูกเทรวมกันบนรถอยู่ดี (อย่าว่าแต่เปียก-แห้งเลย ขนาดขวดบางทียังถูกโยนเปรี้ยงปร้าง) ต่อมาก็ได้คุยกับ "เจ้านาย" บางท่านที่มารณรงค์ให้ชาวบ้านแยกขยะ ผมก็ท้วงเรื่องนี้ไปอีก (จำได้ว่าท่าน "เจ้านาย" พยักหน้าหงึกๆ) แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (เทรวมเหมือนเดิม)

ถ้ายังจัดการกันแบบนี้ คนที่ทำหน้าที่แยกขยะและได้ผลจริงๆ ก็น่าจะเหลือแค่ "ซาเล้ง" กับผู้คนที่ปีนขึ้นไปคัดแยกบน "ภูเขาขยะ" (ถูกเทจากรถอีกที) เท่านั้น (NG-Thai เคยทำสารคดีเรื่องนี้เมื่อสัก 2 ปีก่อน)

ใช่ครับ, ที่น่าเป็นห่วงมากคือขยะอันตรายต่างๆ ที่ถูกกองรวมไป ห่วงคนที่ลุยขึ้นไปเก็บแยกขยะด้วย

ขออภัยครับ พิมพ์ตก จริงจะบอกว่า

"...อย่างที่คุณโกศล และคุณแพร จารุเขียนนี้..."

Submitted by แพรจารุ on

สวัสดีกานต์ ณ กานท์

มาช่วยเสริมสีสัน เสริมความคิด เพิ่มมุมมอง

พี่เอาลิงค์งานของคุณโกศล มาให้เผื่อกานต์จะเข้าไปอ่าน คนนี้เขามีงานเขียนในมุมมองน่าสนใจ ๆ
http://www.oknation.net/blog/kosol

Submitted by กานต์ ณ กานท์ on

ขอบคุณครับพี่

Submitted by ไม่ประสงค์จะออกนาม on

ได้ภูมิแพ้เป็นของขวัญทันทีที่เกิดมา
น่ากลัวมาก

Submitted by มาลำ on

นึกถึงแม่จ่ายตลาดตอนเราเด็กๆ แม่หิ้วตะกร้าใบใหญ่ของที่ได้กลับใส่ใบตองทั้งหมด
น่าแปลกที่เวลาแม่เอาของออกจากตะกร้าแม่จะรู้หมดว่า ห่อไหนเป็นอะไรทั้งที่ห่อมันเหมือนกัน เราจะนั่งรอกันเรียบร้อย รู้ว่าแม่ไม่เคยลืมของโปรด ก๋วยเตี๋ยวเส้นหนมจีนแห้งผัดใส่ซีอิ้วหวาน ถั่วป่นห่อใบตองหอมจนน้ำลายหก แถมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เชื่อมกับน้ำตาลจนแห้งวางบนใบเป็นถาดเล็กๆ ตกเย็นขยะจากตลาดของแม่ถูกล้างเก็บไว้ตากแดดไว้ห่อของเช่นพริกแห้งต่อ
เริ่มต้นที่ตัวเองนะแหละค่ะพี่ยาย เราเท่านั้นที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ถ้าเราใส่ใจ สำหรับลูกๆให้ช่วยกันสอนเรื่องขยะ กว่าจะได้เห็นว่าขยะลดลงคงเลยรุ่นลูกไปอีกไกล

Submitted by meu on

อ่านแล้วทำให้นึกโมโหเดือนก่อนก็เจอพวกมักง่าย ขับรถยนต์มาปาดหน้าโยนถุงขยะถุงเบ้อเร้อปาดหน้าลงคูน้ำข้างทางซะงั้น หลังรถเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ นั่งกันอยู่ตั้งหลายคน แล้วจะให้เด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตแบบนี้ไม่ทำตามแบบอย่างที่เค้าเห็นกลายเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาไปได้ยังไง ไร้สามัญสำนึกเค้ารณรงค์ภาวะโลกร้อนกันอยู่แต่ไม่เคยรู้สึกเลยจริง ๆ

แพร จารุ: มีไฟย่อมมีควัน

บทความที่พยายามนำพาผู้อ่านฝ่าม่านมายาคติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยการป้องกันไฟป่าสู่รูปแบบการจัดการแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วยการ"ชิงเผา"
 

ปรากฏการณ์มิดะ เพลงต้องห้ามและสิบปี จรัล มโนเพ็ชร

บน ฟ้า มี เมฆ ลอย บน ดอย มี เมฆ บัง
มี สาว งาม ชื่อ ดัง อยู่ หลัง แดน ดง ป่า
 
 
เนื้อเพลงมิดะค่ะ สองบรรทัด....เพราะเหลือเกิน และเข้าไปอยู่ในหัวใจใครต่อใครได้ไม่ยาก บนฟ้ามีเมฆลอยบนดอยมีเมฆบัง ฟังเพียงแค่นี้ก็จินตนาการได้กว้างไกล หัวใจก็ลอยไปถึงไหน ๆ แล้ว
 

ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน

 ฉันเชื่อว่า หากคนเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทุกอย่างก็จะดีได้ไปกว่าครึ่ง

บางคนบอกว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เช่น เรื่องทัศนคติที่มีต่อคนอื่น และตัดสินอย่างช้า ๆ
 
สามีของฉันบอกว่า จงรวดเร็วในการฟัง แต่จงเชื่องช้าในการตอบ คือให้ความสำคัญในการฟังมากๆ ก่อนจะตอบจึงจะดี จริงของเขาเพราะเดี๋ยวนี้มีแต่คนพูดและพูด แต่ไม่ค่อยฟังคนอื่น

ฉันเอาเรื่องนี้มาเขียนเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากไปสังเกตการณ์เขาพูดคุยทบทวนประสบการณ์การทำงานกันของโครงการ (CHAMPION/MSM) และสมาคมฟ้าสีรุ้ง