***
หนูเป็นคนกรุงเทพฯ เคยมีแฟนเป็นหนุ่มกลายสมัยที่เรียนด้วยกัน เขาเคยชวนไปเที่ยวบ้านกลาย หนูอ่านเรื่องบ้านกลายที่พี่เขียนในประชาไท รู้สึกเดือดร้อนแม้ว่าหนูจะไม่ไปที่นั่นแล้ว เพราะหนุ่มกลาย คนที่หนูรักไม่น่ารัก ไม่ดี แต่ทะเลกลายดีสวยงาม อาหารทะเลมีมาก คนอื่น ๆ ที่กลายที่หนูรู้จักก็ดีค่ะ เขาดีกับหนูมาก คนใจดี หนูจึงอยาจะร่วมปกป้องด้วย หนูอ่านพบเรื่อง SSB และลองเขียนสรุปมาให้พี่
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือในชื่อเต็มว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard : SSB) หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 ภายใต้ แผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่งและสองตามลำดับ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นอีกหนึ่งคนที่มาจากภาคใต้ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard : SSB) พื้นที่เป้าหมาย จังหวัดนครศรีธรรมราช
การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอสิชล อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน (MINISTRY OF ENERGY) เป็นผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่รวม 10,000 ไร่ ในพื้นที่ดังกล่าว แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมตัวนำการพัฒนา ใช้พื้นที่ 7,100 ไร่ ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมันและถังเก็บ โรงแยกก๊าซ โรงงานปิโตรเคมี โรงงานเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ใช้พื้นที่ 2,700 ไร่ ประกอบด้วย โรงงานผลิตพลังงานทดแทน โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานแปรรูปประมง/อาหารทะเล และพื้นที่กันชน ล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ 200 ไร่
ผลการพิจารณาเอกสารจากหน่วยงานของรัฐ สรุปว่า ทั้งพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพื้นที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูป พื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อ.สิชล อ.ท่าศาลา ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียค่อนข้างยอมรับ (ชาวนครศรีธรรมราชเห็นด้วยตามนี้ไหม)
พื้นที่หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกแน่นอนแล้วคือ บ้านบางสาน ต.กลาย อ.ท่าศาลา พื้นที่ 19,000 ไร่ เป็นที่ราบลุ่ม ถมที่เพิ่มให้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 50 เซนติเมตร สร้างแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 25 กิโลเมตรจาก ต.กลาย – ต.ทุ่งปรัง ใช้งบ 1,200 ล้านบาท มีพื้นที่หลังท่ากว้างกว่า 10,000 ไร่
ในเอกสารของรัฐชุดเดียวกัน ระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสองพื้นที่โครงการดังกล่าว ใน 4 อำเภอใน จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ อ.นาบอน ช้างกลาง ท่าศาลา และสิชล รวม 13 ตำบล 155 หมู่บ้าน ประชาชากร 115,840 คน รวม 32,676 ครัวเรือน
อนาคตจะเป็นเหมือนมาบตาพุด ที่เป็นพื้นที่มีมลพิษเกินมาตรฐานที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ ในน้ำ ในอากาศมีแต่สารพิษเกินค่ามาตรฐาน
พี่จะเอาไปเผยแพร่ก็ได้นะคะ แต่เมล์และชื่อหนูเป็นความลับนะคะ
***
ฉันอ่านเมล์ฉบับนี้ด้วยความรู้สึกตื้นตันมาก (ยิ้มขำกับถ้อยคำที่ว่า หนุ่มกลายที่ฉันรักไม่น่ารัก ไม่ดี แต่ทะเลกลายดีและสวยงาม)