1
วันก่อนไปท่ากาน (ท่ากานเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ในอำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ) พบเด็ก หญิงสองคน เอาก้านกล้วยมาแกว่งไปมากระโดดเล่นกัน ดูน่ารักดี เป็นการเล่นแบบหาของใกล้ตัวมาเล่นกัน
พอเห็นเรามองพวกเธอก็หยุดเล่น
ถามว่าเล่นอะไร เธอบอกว่า เล่นกระโดดข้ามก้านกล้วยค่ะ ผลัดกันกระโดด
เด็กหญิงคนหนึ่งตอบอย่างอาย ๆ
ป้าของเธอยืนอยู่ใกล้ ๆ บอกหลานว่า เล่นซิ พี่เขาจะถ่ายรูป
“ใช่ ขอถ่ายรูปหน่อย”
เธอเล่นต่ออย่างอาย ๆ
“ป้าตากใบตองไว้เยอะแยะเลย ทำขนมหรือค่ะ”
“ทำขนม พรุ่งนี้วันศิลใหญ่” (วันศิลใหญ่ก็คือวันพระที่สำคัญ)
2
ฉันเล่าเรื่องเด็ก ๆ เล่นก้านกล้วยที่บ้านท่ากานให้เพื่อนฟัง เพื่อนบอกว่า
“วันก่อนไปคุยกับเพื่อนที่กาดกลางเวียง เห็นเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง 4-5 คน อายุประมาณ 4-5 ขวบ กำลังเล่นตบตีกันอยู่อย่างเมามัน ทำเหมือนในละครเลยครับ มีจิกหัว มีเอาตีนลูบหน้า แล้วก็พูดจาจีบปากจีบคอ ด่ากันประมาณแย่งผัวกัน เสียดายไม่มีกล้องติดตัวถ่ายเป็นวิดีโอไว้ นี่แหละครับ ผลงานของสื่อที่มอมเมา”
เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง มักแสดงออกด้วยการพูดแบบละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะ คำพูดที่จีบปากจีบคอ ประชดประชันแดกดัน
ละครโทรทัศน์ที่ว่าไม่ใช่แค่หลังข่าวเท่านั้น ช่วงประมาณทุ่มหนึ่งก็มีคือก่อนข่าวนั่นแหละ
3
แม่ของหลานมาเล่าให้ฟังว่า
เธอไปประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนหลาน ครูประจำชั้นของเด็กชั้น ป.1 เอาเรื่องนี้มาพูดในที่ประชุมให้ผู้ปกครองฟังว่า ให้ผู้ปกครองดูแลเรื่องการดูโทรทัศน์ของลูกด้วย เพราะพวกเด็ก ๆ พูดจากันเหมือนในละครโทรทัศน์ นับว่าเป็นโรงเรียนที่น่าชื่นชมมากโดยเฉพาะครูประจำชั้นของเด็กชั้น ป.1
วันต่อมาลองถามหลานสาวดูว่า มีเด็กที่โรงเรียนพูดจาแบบนางเอกนางร้ายกันไหม เธอบอกว่ามี
บอกหลานว่า พูดให้ป้าฟังหน่อยซิ แบบไหน
หลานสาวว่าอย่างนี้ป้า
“ไม่ ไม่น่ะ...ม่าย...” “ว้าย สลิด”
บอกหลานสาวว่า พอแล้ว (นี่ขนาดไม่ค่อยได้ดู เพราะหลังข่าวพ่อเธอไม่ให้ดู ถ้าได้ดูก็เป็นละครก่อนข่าว ซึ่งก็ไม่ต่างกัน)
ส่วนเด็กผู้ชายนั้นออกไปทางบู๊ เช่นว่า คนหนึ่งโดนเพื่อนเตะผ่าหมากจนเดินแทบไม่ได้
ดูเป็นเรื่องเล่น ๆ ของเด็ก ๆ แต่ไม่ใช่เรื่องเล็ก บางคนอาจะเถียงว่า ถ้าดูให้จบก็จะรู้ว่า คนที่พูดจาไม่ดีพวกนั้นก็ได้รับผลไม่ดี ส่วนคนที่พูดจาดี เป็นคนดีก็ได้รับสิ่งดี ๆ นั้นก็จริง แต่กว่าจะถึงตอนจบนั้นเล่า
ถ้าแก้ปัญหาแบบครูประจำชั้น ป.1 ก็คือ ดูแลลูกกันเอง อย่าให้ลูกดูแต่การไม่ให้ลูกดูพ่อแม่ก็ต้องเสียสละไม่ดู