พ่อหมื่นแก่ฝายคนสุดท้าย นัดพบที่หน้าฝายพญาคำ ในวันเสาร์ที่ 13 กันยายน เวลา 10.00 น. ร่วมทำพิธีสืบชะตาอีกครั้ง
ชาวบ้านยอมให้มีการสร้างประตูระบายน้ำแล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามทุบห้ามรื้อฝายโบราณทั้งสามฝาย หรือทดลองใช้ประตูระบายน้ำก่อนสองปี ว่าสามารถทดน้ำเข้าเหมืองเพื่อส่งเลี้ยงไร่นาได้หรือไม่ คือให้ลองดูว่าประตูน้ำทำหน้าที่แทนฝายหินทิ้งเก่าแก่ได้ดีแค่ไหน
การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายจะถูกเปลี่ยนมือ จากการจัดการโดยชาวบ้านในระบบแก่ฝายมาเป็นจัดการโดยรัฐชลประทาน
ชาวบ้านผู้ใช้น้ำคิดอย่างไรถึงยินยอมทั้งที่ยื้อกันมานาน ถ้านับตั้งแต่ช่วงแรกที่จะมีการรื้อก็เกือบสิบปีแล้ว
ในช่วงแรกนี้มีเหตุผลชัดเจนคือจะเปิดทางเพื่อการท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ แต่ไม่สามารถทำได้เหตุผลไม่พอ ต่อมาเมื่อน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในปี 48 การรื้อฝายกลับมาอีก หาเรื่องใหม่ว่ารื้อฝายเพื่อป้องกันน้ำท่วมเพราะฝายหินทิ้งในแม่น้ำปิง ขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลไม่สะดวก
ผู้ใช้น้ำจากระบบเหมืองฝาย ก็ยกเหตุผลขึ้นมากล่าวว่า ฝายหินทิ้งน้ำผ่านได้ตามร่องหินและเมื่อน้ำท่วมฝายก็อยู่ใต้น้ำ
สาเหตุที่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่มีมากมายไม่ใช่ฝายและฝายมีความจำเป็นสำหรับทดน้ำเข้าไปใช้เพื่อการเกษตรทั้งในลำพูน และเชียงใหม่ อีกทั้งมีมานานตั้งแต่เริ่มมีเมืองเชียงใหม่นั้นแหละ เขาใช้ระบบเหมืองฝาย ถือเป็นภูมิปัญญาเดิมและมีกฎหมายมังรายศาสตร์รองรับด้วย คราวนี้ผู้จะทุบฝายก็มีเรื่องใหม่มานำเสนอนั่นคือ ทำประตูระบายน้ำเพื่อการเกษตร
คำถามคือเราจะจ่ายเงินห้าร้อยล้านเพื่อทำประตูน้ำเพื่อการเกษตรทำไม ในเมื่อฝายเก่าใช้ได้อยู่ เอาเงินภาษีของประชาชนมาผลาญเพื่อใคร ใครได้ใครเสีย –มันคุ้มกันไหม
คราวนี้สำนักงานชลประทานกับสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดออกทำการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชน 7 ครั้ง และในที่สุดสรุปว่า ชาวบ้านยินยอมแล้วออกแถลงข่าวเลย
ชาวบ้านส่วนหนึ่งบอกว่า ที่ยินยอมก็เพราะเหนื่อยและเบื่อมาก ๆ สู้กันมาตั้งสี่ห้าปี และที่แน่ ๆ พวกเขาอยากสร้างจริงๆ ที่เขามาพูด มาทำความเข้าใจก็เพื่อเขาจะสร้างนั่นแหละ หาความชอบธรรม เพราะอย่างไรเขาก็สร้างอยู่แล้ว พวกเราเห็นสัญญาที่เขาทำกับบริษัทรับเหมาแล้ว และในสัญญาก็ระบุว่า โครงการสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝาย
ผู้ช่วยแก่ฝาย พ่อหลวงสมบูรณ์ บอกว่า บริษัทแนะนำว่า ถ้าให้เขาสร้างอย่างเดียวไม่รื้อฝายก็ให้ทำจดหมายไปถึงสำนักชลประทานเขาจะไม่รื้อ
ว่าไปแล้วมันไม่มีความหมายอะไรหรอก เพราะเขาสร้างประตูน้ำเพื่อรื้อฝายอยู่แล้ว เป็นการหลอก ๆ ไปอย่างนั้น และในที่สุดการทำให้ฝายพังไม่ใช่เรื่องยาก
อีกอย่างหนึ่งความเดือดร้อนไม่ใช่แค่ผู้ใช้น้ำเท่านั้น คนอื่นๆ ก็เดือดร้อนด้วย เพราะระดับน้ำที่จะส่งไปเหนือสุดนั่นต้องใช้แรงดันสูง ดังนั้นพื้นที่ต่ำๆ ก็ถูกน้ำล้นออกมาำท่วมสองฝั่งที่อยู่ระดับต่ำ
หลังจากนั้นเขาก็จะแก้ปัญหาโดยการทำผนังคอนกรีต พวกที่เคยคัดค้านไม่เอาผนังกั้นแม่น้ำปิง ขอบอกว่า เมื่อประตูระบายน้ำมา พนังคอนกรีตก็จะกลับมา และเมืองเชียงใหม่ก็จะเกิดน้ำขังในช่วงฤดูฝนเพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลผ่านพนังไปได้เกิดน้ำขังจนเน่า เมืองเชียงใหม่ก็จะเน่า ถึงตอนนั้นอาจจะมีโรคระบาดด้วย ดังนั้นถือว่าเราจะได้รับกันถ้วนหน้าที่เดียว และเชียงใหม่ก็จะไม่ใช่เมืองน่าอยู่อีกต่อไป ถึงตอนนั้นใครจะมาล่องเรือสำราญ อวสานกันถ้วนหน้า
ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็จะมีปัญหาคือ จะต้องมีการโดนปรับเพราะว่า มีงบประมาณมาแล้ว และมีการทำสัญญาว่าจ้างกันแล้ว
ในขณะเดียวกันพวกเขาลืมไปว่า ฝายภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นมีค่ามหาศาลถ้าตีเป็นเงินนับพันล้านเหมือนกัน ถ้าตีราคาการก่อสร้างในช่วงนี้ ค่าแรงงานเท่าไหร่ อาจนับ 100 ล้าน ค่าหินเท่าไหร่
ลองสอบถามแก่ฝายดูแกว่า ฝายหนึ่งใช้ก้อนหินประมาณหนึ่งหมื่นก้อน คิดเป็นค่าหินเท่าไหร่ สามฝายสามหมื่นก้อน คิดราคาก้อนละพัน และค่าภูมิปัญญา (ออกแบบ) อีกเท่าไหร่ ดังนั้นพันล้านจึงไม่ถือว่ามากไป ข้อนี้จะฟ้องร้องใครได้บ้าง เช่นฟ้องศาลเพ่ง จัรับฟ้องค่าเสียหายไหม
มีผู้ยินยอมเพราะเบื่อหน่าย เสียทั้งเงินทั้งเวลา บางคนไม่ได้เก็บลำไย เพราะมัวจะมาฟังบ้าง มายื่นหนังสือบ้าง ต่างจากหน่วยงานรัฐที่ได้เงินในการมาด้วย หรืออย่างน้อยก็ได้เงินเดือน แต่ชาวบ้านยิ่งค้านยิ่งไม่ได้ทำงาน
ผู้ที่ยังไม่ยินยอมอันได้แก่ แก่ฝาย และคนเฒ่าคนแก่จำนวนหนึ่ง
พวกท่าน ๆ แก่ฝาย ผู้ช่วยแก่ฝาย และผู้ใช้น้ำ รวมทั้งคนเชียงใหม่ทั่วไป จะมาทำบุญสืบชะตาฝายกันอีกครั้ง รวมทั้งพิธีสาปแช่งด้วย มีการออกแถลงการณ์ ในวันที่ 13 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น. แก่ฝายคนสุดท้าย พ่อหมื่นนัดพบค่ะ ฝากผ่านเชิญสื่อมวลชนด้วยค่ะ