Skip to main content

1. คำนำ


เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura

ท่านบรรยายพร้อมนำเสนอด้วยเพาเวอร์พอยต์จำนวนกว่าร้อยแผ่น แต่ท่านมีเวลาพูดน้อยมากเมื่อเทียบกับเนื้อหาที่มีทั้งความลึกซึ้งและทั้งกว้างขวางหลายมิติ ในระหว่างการบรรยาย ถึงแม้ว่าจะมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย แต่ผมเรียนตามตรงว่า “ผมตามไม่ทันครับ” ไหนจะภาษาอังกฤษของผมซึ่งไม่แข็งแรงพอ ไหนจะความยากของเนื้อหา รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรม


บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นสื่อกระแสหลักสำนักใดได้นำเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากนี้มาเล่าใช้สาธารณะทราบเลย รวมทั้งยังไม่เห็นเอกสารสรุปเนื้อหาของผู้จัดประชุม


หัวข้อที่ท่านบรรยายคือ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความสุขมวลรวมประชาชาติ (Introduction to Gross National Happiness-GNH)”


หลังจากที่ผมได้ค้นคว้าหาเอกสารของท่านรวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ผมจึงขออาสานำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบเป็นการเบื้องต้น อย่างน้อยก็เพื่อให้บางท่านได้มีโอกาสทราบ แล้วช่วยกันค้นหาเพิ่มเติมมาสู่สังคมไทยในวงกว้าง หากผมเข้าใจอะไรผิดพลาดก็ต้องอภัยดัวยครับ


แต่ก่อนที่ผมจะลงไปในเนื้อหา ผมขอเสนอสไลด์ของท่านผู้บรรยายมาให้ชมกันก่อนสักรูป ซึ่งผมเพิ่งทราบความหมายเมื่อสักครู่นี้เองจาก youtube จากท่าน ว.วชิรเมธีที่ได้ไปเยือนประเทศภูฎานมานานครึ่งเดือน (ท่าน ว. ยืนยันว่าคนในประเทศเขาออกเสียงเรียกประเทศว่า ภู-ถาน ไม่ใช่ ภู-ทาน ตามราชบัณฑิตไทย) ชมภาพก่อนครับ


ภาพนี้เป็นปริศนาธรรม เป็นนิทานพื้นบ้านที่เกือบจะเป็นนิทานประจำชาติ เรื่อง 4 สหายสมานฉันท์” คือ ช้าง ลิง กระต่าย และ นก ต่างก็อยากจะกินผลไม้รสดีที่อยู่บนที่สูงมาก ลำพังสัตว์แต่ละตัวไม่สามารถเก็บมากินได้ ต่อให้เป็นช้าง หรือนกก็เถอะ ทางเดียวที่จะทำได้คือต้องต่อตัวกันดังในรูป


 

เรื่องนี้อาจเป็นคติเตือนใจสำหรับบ้านเราในปัจจุบันนี้ได้ เขียนมาถึงนี้ทำให้นึกถึงนิทานการเมืองเรื่อง “ลิงกับเต่า” ที่ผมได้เล่าไว้เมื่อหลายปีแล้ว (ค้นได้จาก google.com)

 

2. ทำไม จีดีพีจึงใช้วัดความสุขไม่ได้?


ในขณะที่ประเทศไทยนิยมวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศโดยใช้จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ-Gross National Products- หรือรายได้ประชาชาติตามนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของโลก) ท่านกรรมา อุระ (Karma Ura - คำว่า Dasho เป็นตำแหน่งอะไรสักอย่างซึ่งประธานที่ประชุมบอกแล้วแต่ผมฟังไม่ทัน) เห็นว่า จีดีพีไม่สามารถวัดสิ่งที่เป็นเชิงคุณภาพ เช่น ความสุขและความมีสวัสดิภาพที่ดี (well-being) ได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถวัดคุณค่าของการใช้ “เวลาว่าง” เช่น การชื่นชมงานศิลป์ เป็นต้น


สิ่งที่น่าคิดก็คือ จีดีพี ไม่นับรวมการทำงานทั้งหลายที่ไม่ได้รับเงิน เช่น งานแม่บ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน ดูแลเด็ก-คนแก่ ในครัวเรือนด้วย


เล่ามาถึงตรงนี้ ผมขอขยายความด้วยความคิดของ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งได้ยกตัวอย่างให้เราเห็นความล้มเหลวของการยึดจีดีพีเป็นหลักว่า ถ้ามีการสลับแม่บ้านกันทำงานพร้อมกับจ่ายค่าจ้างให้กันและกัน จะทำให้จีดีพีของประเทศนั้นเพิ่มขึ้นเยอะเลย


ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการทำงาน และรายได้ที่รับของคนในแต่ละวัย (ตั้งแต่น้อยกว่า 15 ปีจนถึงมากกว่า 75 ปี) ท่านกรรมา อุระ ได้นำเสนอให้เราต้องประหลาดใจว่า ในช่วงที่คนเรามีรายได้สูงสุดในชีวิตกลับเป็นช่วงที่คนมีความสุขน้อยที่สุด ดังแสดงในกราฟข้างล่างนี้

 

 

จากกราฟเราจะเห็นว่า ในช่วงที่คนเรามีรายได้สูงสุดและมีชั่วโมงทำงานมากที่สุด (คือช่วงอายุ 36 ถึง 45 ปี) นั้น เป็นช่วงที่ความสุขของคนเราน้อยที่สุด


เรื่องนี้ก็คล้าย ๆ กับประโยคที่คนค่อนไปทางวัยชราพูดกันบ่อย ๆ ว่า “ตอนที่ผมอยากกิน ผมไม่มีเงินพอจะซื้อ แต่พอถึงตอนที่ผมมีเงินซื้อ หมอบอกว่ากินไม่ได้”

 

3. องค์ประกอบหลัก 9 ด้านของจีเอ็นเอช (GNH)


เท่าที่ผมค้นเจอพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฎาน (ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรประมาณ 6 แสนคน อยู่ทางเหนือประเทศอินเดียแต่อยู่ใต้ประเทศจีน) ได้ริเริ่มมาประมาณ 37 ปีมาแล้ว เพื่อที่จะพยายามให้ความหมายเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของชาวภูฎาน แต่เพิ่งมาประกาศใช้เป็นดัชนีชีวัดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2551 ในสมัยพระมหากษัตริย์หนุ่มที่คนไทยเราให้ชื่นชมในพระราชจริยวัติ (สมัยที่ยังเป็นมกุฎราชกุมารภูฎาน) เป็นอย่างมาก (His Majesty Jigme Khesar Namgyel Wangchuck)


ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นักคิดนักเคลื่อนไหวในสังคมไทย (รวมทั้งองค์การอนามัยโลกด้วย) ได้ริเริ่มนำคำว่า “สุขภาวะ” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่เป็นสุข 4 ด้าน คือ สุขกาย สุขใจ สุขทางสังคม และสุขทางปัญญา ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่กว้างขวางกว่าแนวคิดเรื่องจีดีพีมาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถือว่ายังไม่ชัดเจนพอเมื่อเทียบกับแนวคิดของประเทศภูฎานซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้


แนวคิด NGH มีองค์ประกอบทั้ง 9 ด้าน (หรือ 9 โดเมน-domain) พร้อมระดับความสำคัญที่วัดเป็นร้อยละที่ส่งผลต่อความสุข (เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย) ได้แสดงไว้ในตาราง

 

องค์ประกอบ

ร้อยละ

1. การใช้เวลา (Time-use) ทั้งการทำงานที่ได้เงินและไม่ได้เงิน การนอน

13

2. ธรรมาภิบาล (Good governance) ความเชื่อมั่นในองค์กรรัฐ การคอร์รัปชัน

12

3. สุขภาพ (Health)

12

4. วัฒนธรรม (Culture)

12

5. ความเข้มแข็งของชุมชน (Community vitality)

12

6. มาตรฐานการดำเนินชีวิต (Living standards)

11

7. ความรู้สึกมีสวัสดิภาพ (Psychological wellbeing)

11

8. นิเวศวิทยา (Ecology)

10

9. การศึกษา (Education)

7

รวม

100

 

จากตารางเราพบว่า การใช้เวลาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของคนเรามากที่สุด มากกว่าการศึกษา (ซึ่งน้อยที่สุด) ถึงเกือบเท่าตัว


ผมพยายามค้นหารายละเอียดในแต่ละด้านพบว่า ในแต่ละด้านมีความลึกซึ้งมากครับ ผมเองนอกจากจะไม่มีความสามารถในภาษาอังกฤษที่ดีพอแล้ว ผมยังไม่มีความลึกซึ้งในวิชาการที่เกี่ยวข้องมากพอครับ ผมทราบจากประธานที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ ผมอยากเห็นผลงานเร็ว ๆ ครับ เช่น


ในด้านการศึกษา เขามุ่งไปที่การสอนให้เด็ก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความมีหัวใจที่เปิดกว้าง ความขยัน ความลึกซึ้งภายใน และความอดทน


ผมพบคำพูดของคนบางคนที่วิจารณ์การศึกษาในกระแสหลักว่า “จุดสนใจของการศึกษาในกระแสหลัก มุ่งเน้นไปที่ การเปลี่ยนเด็กให้เป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะสอนให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นและความมีจิตใจเปิดกว้าง”


ในด้านวัฒนธรรม เขามีตัวชี้วัดตัวหนึ่ง(มีหลายตัว)ว่า คนเราแต่ละคน “สามารถบอกชื่อทวดของตนเองได้ครบทั้ง 4 คนหรือไม่” (ผมเองบอกได้แค่ 3 คนเองครับ)


ในด้านธรรมาภิบาล เขาจะถามถึงความเชื่อมั่นต่อศาล ตำรวจ ฯลฯ พบว่าคนภูฎานมีความเชื่อมั่นต่ออาชีพตำรวจสูงที่สุด (เหมือนคนอังกฤษเลย)


ในด้านนิเวศวิทยา เขาถามถึงการรู้จักชื่อพืช-สัตว์มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น


ตัวชี้วัดทั้งหมดมี 72 ตัวครับ จากนั้นนำตัวชี้วัดวัดเหล่านี้มาคำนวณด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ (ซึ่งผมเองยังไม่เข้าใจครับ ทั้ง ๆ ที่เป็นนักคณิตศาสตร์)


4.
สรุป


สุดท้าย ผมเข้าใจแล้วครับว่า ทำไมนักข่าวกระแสหลักจึงไม่ทำรายงานเรื่องนี้มาให้สาธารณะได้อ่านกัน เพราะมันเข้าใจยากนี้นี่เอง!

ผมจะพยายามต่อไปครับ เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีความสุขที่ได้อ่านเรื่องแบบนี้ครับ

 

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…