Skip to main content


----- 1 -----

‘รายงานตัว’ = ‘กักตัว’

หลายคนที่ถูกทหารที่ยึดอำนาจการปกครอง ‘เรียกไปรายงานตัว’ แล้วถูกกักตัวอดตั้งคำถามมิได้ว่าคณะรัฐประหารเอาพวกเราไปกักตัวอยู่ในค่ายทหารเกือบหนึ่งอาทิตย์เพื่ออะไร?

เพื่อข่มขู่?

เพื่อทำโทษ?

เพื่อโชว์ออฟพาว์เว่อร์ ว่าเว่อร์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด?

เพื่อสอบสวนและหาข้อมูลฝ่ายต้านรัฐประหาร?

เพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยาหรือไซโคพวกเรา?

หรือเพื่อเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นรวมกับเพื่อทำให้เราเปลี่ยนใจหรือไม่ก็หมดสภาพทางจิตใจที่จะสู้ต่อสิ่งที่ขัดกับหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

ในช่วงเวลาหลายวันที่พวกเราซึ่งประกอบไปด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีสองท่าน (ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับอดีตรองนายกฯ ประชา พรหมนอก และท่านอื่นๆ นานพอสมควร) นักธุรกิจใหญ่หลายคน นักวิชาการหัวก้าวหน้า อดีตหัวหน้ารักษาความปลอดภัยของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษากฎหมายของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำแดง และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ทวีตไม่เอารัฐประหารอย่างนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ฯลฯ ซึ่งรวมถึงตัวข้าพเจ้าถูกจองจำกักตัวในค่ายทหารแห่งหนึ่งที่จังหวัดราชบุรี

ผู้เขียนตระหนักดีว่าเราอยู่ในค่ายพี่เบิ้ม หรือค่าย Big Brother ที่เป็นดั่งเกมเรียลลิตี้โชว์ซึ่งมีรากอ้างอิงชื่อและความคิดมาจากวรรณกรรมนามอุโฆษของจอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง 1984 ที่มีการสอดส่องตลอดเวลา ทว่าผู้ชมและผู้ตัดสินคือเผด็จการทหารที่ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์หลังยึดอำนาจด้วยรถถังและกระบอกปืนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 >ไม่ว่าอะไรจึงเกิดขึ้นได้เสมอ

หลายคนที่ถูกเรียก ‘ไปรายงานตัว’ กลัวถูกตั้งข้อหาลอยๆ และตกในสภาพที่ต้องรอลุ้นรายวันว่าวันนี้จะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่และถูกกดดันจากสถานการณ์จนบางคนถึงกับร้องไห้ บางคนก็เที่ยววิงวอนขอให้ทหารช่วยปล่อยตนโดยเร็วที่สุดโดยพยายามใช้เส้นสายสารพัดคอนเน็คชั่นที่มี ทว่าบางคนก็ยังคงยิ้มสู้ยืนเด่นโดยท้าทาย


 ------ 2 ------

‘ทิ้งความ worry ไป ออกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น อย่าแสดงความอ่อนแอให้เขาเห็น’ คือหนึ่งในคำแนะนำของผู้ถูกจองจำอาวุโสที่บอกปลอบใจผู้ร่วมชะตากรรม
 
‘ไม่ใช่หมา ถูกขังจะได้ร้องเอ๋งๆ’ ผู้ถูกกักตัวในค่ายทหารเดียวกันกับผู้เขียนท่านหนึ่งกล่าว

สถานการณ์จริงทำให้บางคนก็ตระหนักว่าคำพูดที่ดูดีฟังอาจหาญนั้นพูดง่ายแต่ปฏิบัติยากยิ่ง

ทหารที่ ‘ดูแล’ พวกเราอย่างดีเกินคาด (และขอขอบคุณทหารทุกท่านในค่ายด้วยความจริงใจมา ณ ที่นี้) ประกาศชัดว่าจะมีการเขียนรายงานประจำวันเกี่ยวกับพวกเราและทัศนคติของเราส่งไปส่วนกลางทุกวันเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าจะปฏิบัติกับพวกเราอย่างไรต่อและจะปล่อยตัวเมื่อใด

ในขณะเดียวกัน พลตรี ที่เป็น ผบ.ค่ายก็บอกให้เราคิดเสียว่ามานี่ ‘เหมือนกับมาพักผ่อน’ ถึงแม้ท่าน ผบ.ค่ายรูปร่างท้วมใหญ่ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ จะพูดเสริมว่าพอครบ 7 วันแล้วอาจมีการตัดสินอีกทีเพราะย้ำว่าพวกเราทั้งหมดที่มารายงานตัว (อ่านว่ามายอมให้ถูกกักตัวจองจำทั้งๆ ที่มิได้ทำอะไรผิด) ถือเป็นผู้ที่ ‘ยอมรับกติกา’

หลังจากนั้นไม่กี่วัน นายพันเอกก็ย้ำว่าพวกเรายังโดนแค่ใบเหลือง มิใช่ใบแดง

ผู้ถูกกักกันคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่าแกไม่ยอมด่าทหารแม้ทหารจะเริ่มวิพากษ์รัฐประหารให้แกฟังเพราะแกเชื่อว่ามันเป็นกลหลอกล่อให้เขาเผยตัวตนและความคิดที่แท้จริงออกมาซึ่งไม่น่าเป็นผลดีต่อตัวแก

ผมกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกจำนวนหนึ่งกลับอดมิได้ที่จะวิพากษ์รัฐประหารให้ทหารฟังตรงๆ ด้วยความจริงใจ

ผู้เขียนบอกบรรดาทหารชั้นผู้ใหญ่ในค่ายว่าผู้เขียนมิได้ต้านรัฐประหารเพราะเกลียดชังทหารหากทำเพราะรักเสรีภาพและประชาธิปไตยพร้อมยืนยันว่านี่เป็นการต่อสู้เรื่องหลักการ หาใช่เรื่องเกลียดชัง รับเงินผู้ใด หรือขายชาติไม่ พวกเราเพียงแต่มองต่างมุมและรักชาติรักสังคมในมุมมองของพวกเรา (ผู้เขียนยังรู้สึกซาบซึ้งใจเมื่อคิดถึงเช้าวันที่สองในค่ายที่พอตอนทีวีที่พวกเรานั่งชมระหว่างทานอาหารเช้าร่วมกับพันเอกท่านหนึ่งออกอากาศเพลงชาติแล้วไม่มีผู้ถูกกักตัวผู้ใดลุกขึ้นยืนเคารพเพลงชาติแม้พวกเราจะมองหน้ากันกันอย่างเลิกลั่กพอพันเอกท่านนั้นลุกขึ้นยืน แต่แล้วพันเอกท่านนั้นก็หันมาพูดกับพวกเราสั้นๆ ด้วยใบหน้าอันจริงใจว่า ‘ผมรู้ว่าพี่ๆ ทุกคนก็รักชาติ’ ผู้เขียนอดนึกมิได้ว่าใช่แล้ว ความรักชาติสามารถมีการแสดงออกแตกต่างกันไป ตามอุปนิสัยและอุดมการณ์ของแต่ละคน)

ผู้เขียนยังเตือนเหล่าทหารชั้นผู้ใหญ่ว่าการไล่ปิดถนนเพื่อป้องกันม็อบต้านรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดและเสี่ยงจะก่อให้เกิดจรยุทธ์ flash mob แล้วผู้คนที่ออกมาต้านมากขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด เข้าทำนองจับหนึ่งเกิดร้อย กลายเป็นม็อบไร้หัวที่จัดการยากยิ่ง

ทหารบอกพวกเขาได้ศึกษาบทเรียนจากรัฐประหาร ปี 2549 มาอย่างละเอียดแต่ผมบอกว่าสิ่งที่ต่างคือการใช้โซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน

นอกจากนั้นผมยังบอกบรรดาเหล่าทหารที่เข้ามาคุยกับพวกเราทุกเช้ากลางวันเย็นและทานอาหารร่วมกับพวกเราว่าหากจับผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารไปเรื่อยๆ คณะรัฐประหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะอยู่ต่อในอำนาจได้ลำบากพร้อมยกตัวอย่างว่าหากจับคนเข้าคุกในฐานะนักโทษการเมืองเป็นหมื่นๆ แล้วจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

หลายคนรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่าแม้ในบ้านที่เราพักหรือห้องนอนของพวกเราที่ทหารจัดให้ก็อาจมีการติดเครื่องดักฟังเสียงหรือภาพ แต่เราหลายคนก็อดที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารให้ทหารผู้คุมเราฟังดั่งหมูที่ไม่กลัวน้ำร้อนมิได้

ลับหลังบางคนที่ไม่กล้าวิพากษ์ทหารต่อหน้าก็อดวิพากษ์หรือบ่นกับการที่คณะรัฐประหารนำเอาตัวพวกเราทั้งหมดกว่าสิบชีวิตมากักขังบริเวณมิได้

‘เอาคนมาอย่างนี้เป็นการใช้อำนาจป่าเถื่อน’

‘ยังไม่มีพระคุณ มีแต่พระเดช’

‘ทำอย่างนี้เขาผิด แทนที่จะได้พวกกลับเสียพวก’

‘นี่เราถูกขังอยู่นะ แต่อย่าไปคิดอะไร’

จะคิดหรือไม่คิด สองผู้ถูกจองจำที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากก็บอกกับผู้เขียนว่าถ้าทหารมาแจ้งปล่อยตัวแล้วให้กลับกรุงเทพฯกลางคืนพวกเขาจะไม่ไปเพราะกลัวฝ่ายใดก็ไม่รู้อาจลอบสังหารระหว่างทางกลับ

หนึ่งในสองคนนั้นย้ำว่า ตอนนี้ดูเหมือนทหารจะกลัวแม้แต่เงาของตนเอง จึงต้องเรียกคนมา ‘รายงานตัว’ เพิ่มขึ้นทุกวันอย่างไม่รู้จบสิ้น


 ----- 3 ------

‘เสรีภาพ’ แบบมีเงื่อนไข

ทุกคนที่ได้รับการปล่อยตัวจะต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขแนบท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนยืนยันว่าผู้ถูกจองจำ ‘ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้าย หรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ให้คำสัญญา หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ และทรัพย์สินต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้นำติดตัวมาในระหว่างการถูกกักตัวไว้นั้น’ ได้รับคืนครบถ้วนหมดแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงว่าผู้ถูกกักตัว ‘จะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ’ และ ‘หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองข้าพเจ้ายินดียอมรับที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน’

การต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้อย่างแทบไม่มีทางเลือกทำให้ผู้เขียนเข้าใจคำว่า ‘การบังคับ’ อาจมีการตีความต่างกันระหว่างผู้เขียนกับทหารที่ยึดอำนาจ

ผมสงสารเพื่อนร่วมถูกจองจำในค่ายคนหนึ่งที่ถูกเรียกไปสอบสวนยาวที่กรุงเทพฯ และบอกว่าป่านนี้ฝั่งพรรคเพื่อไทยอาจไม่ไว้ใจแกอีกต่อไปเพราะกลัวจะกลายเป็นสายทหารไปแล้ว

หลังอยู่ในค่าย Big Brother เผด็จการทหารมาเจ็ดวัน ในเช้าวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2557 ผมลงเซ็นลงนามเช่นคนอื่นก่อนหน้านั้นอย่างแทบมิมีทางเลือกก่อนได้รับ ‘อิสรภาพ’ ปล่อยคืนสู่สังคมที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก

 
ปล. หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวได้เพียว 26 ชั่วโมง มีคนที่อ้างว่าเป็นทหารยศพันเอกคนหนึ่งโทรมาหาผมและขอถามผมว่าผมจะหยุดทวีตวิพากษ์ทหารสักระยะได้ไหม ‘ขอเวลา’ ได้ไหม

ผมตอบไปว่าถ้าผมหยุดทวีตมันกลับจะทำให้คนอื่นๆ ไม่พอใจมากขึ้นเพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าแม้เสรีภาพการแสดงออกอันน้อยนิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในโซเชียลมีเดียก็หมดแล้ว

ผมบอกพันเอกท่านนั้นไปว่าขอพบกันครึ่งทาง จะวิจารณ์ให้เบาลงแถมย้ำว่าผมก็ติดเงื่อนไขที่ต้องเซ็นเหมือนคนอื่นเช่นกัน

พันเอกผู้นั้นรับฟังแล้วก็ยอมรับการพบกันครึ่งทางแล้วก็วางสายลง

หลังจากนั้นอีกไม่กี่นาที พันเอกอีกคนที่เคย ‘ดูแล’ ผู้เขียนและผู้ถูกกักตัวคนอื่นในค่ายที่ราชบุรีก็โทรมา แกบอกว่าหน่วยกลางได้ขอแฟ้มประวัติและรายงานเกี่ยวกับตัวผมไปหมดและต่อจากนี้ไปจะมีคนติดตาม monitor ผม แกย้ำว่าแกยังได้บอกไปด้วยว่าจะไม่ให้ผมพูดอะไรเลยก็คงทำไม่ได้

เช้าวันรุ่งขึ้น บุคคลท่านหนึ่งที่ถูกกักตัวในค่ายเดียวกับผมโทรมาหาผม ถามว่าผมสบายดีไหม เสร็จแล้วแกก็บอกด้วยน้ำเสียงเฝื่อนๆ ว่าวานนี้แกให้เบอร์โทรศัพท์มือถือผมแก่ทหารไป

ผู้เขียนรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง แต่มานึกอีกทีก็ตระหนักดีว่าทหารที่ค่ายและที่สโมสรกองทัพบกก็มีเบอร์ผมอยู่แล้ว จึงบอกท่านนั้นไปว่าไม่เป็นไร และย้ำว่าหลักการยังคงเหมือนเดิมแม้สภาพจะเปลี่ยนไป แล้วจึงวางหู

 ---------

  >>>> บันทึกนี้ขออุทิศแด่ทุกๆ ท่านที่รัก เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย <<<<<
 

 

 

หมายเหตุกองบรรณาธิการ: มีการแก้ไขเนื้อหาจาก "อาจารย์ท่านหนึ่ง" เป็น "บุคคลท่านหนึ่ง" โดยกองบรรณาธิการประชาไท
                                                 มีการเพิ่มเติมเนื้อหา "ด้วยน้ำเสียงเฝื่อนๆ" โดยประวิตร

 

บล็อกของ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์
 ลึกๆในจิตใต้สำนึกของบรรดาผู้นำเผด็จการทหาร พวกเขาคงตระหนักว่าเขาปราศจากความชอบธรรมใดๆ พวกเขาจึงออกอาการวิตกจริตและปราบปรามการขัดขืนทุกรูปแบบ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตหรือในโลกแห่งความเป็นจริงประจำวัน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การปรับทัศนคติ: คําสวยหรูที่ใช้โดยเผด็จการทหาร คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในการจัดการกับผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับรัฐประหาร หรือตั้งคําถามถึงความชอบธรรม หรือความไร้ความชอบธรรมของการก่อรัฐประหารยึดอํานาจฉีกรัฐธรรมนูญ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ข่าวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเมืองไทยในหมู่ผู้สื่อข่าวต่างชาติในไทยในปัจจุบันได้แก่การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการขอวีซ่าทำงานในฐานะนักข่าวในไทยนั้นยากมากขึ้นตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557