Skip to main content

 

ข่าวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเมืองไทยในหมู่ผู้สื่อข่าวต่างชาติในไทยในปัจจุบันได้แก่การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการขอวีซ่าทำงานในฐานะนักข่าวในไทยนั้นยากมากขึ้นตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557 แต่ก็ไม่กล้าเขียนหรือให้อ้างชื่อเวลาถูกสัมภาษณ์เรื่องนี้

เมื่อเร็วๆนี้สำนักข่าวรอยเตอร์เป็นสำนักข่าวแรกที่ได้รายงานว่านักข่าวต่างชาติเผชิญ ‘ความยากลำบาก’ ในการขอวีซ่าทำงานในไทยแต่ก็ได้อ้างว่ากระทรวงการต่างประเทศไทยก็ได้ปฎิเสธเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้คุยกับนักข่าวต่างชาติที่มีชื่อเสียงและทำงานในเมืองไทยมายาวนานก่อนหน้าที่รอยเตอร์จะลงข่าวเรื่องนี้ และได้คำตอบโดยมิสามารถอ้างชื่อนักข่าวผู้นี้ได้ว่าปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทยจะเน้นถามชาวต่างชาติผู้ที่สมัครขอวีซ่าทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวในไทยสองคำถามหลัก

1)คุณคิดอย่างไรกับรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 และรัฐบาลทหารของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา?

2)คุณคิดอย่างไรกับสถาบันกษัตริย์?

ผู้เขียนอดสงสัยมิได้ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศคาดหวังคำตอบแบบใดจากคำถามเช่นนี้ เพราะคำถามมันชี้ชัดแจ้งในตัวของมันเองว่ารัฐบาลเผด็จการทหารอยากได้นักข่าวต่างชาติประเภทใดทำงานในราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน

ดูเหมือนว่านักข่าวต่างชาติที่เหมาะสมในสายตาเผด็จการทหารไทยคือนักข่าวที่ยอมรับการทำรัฐประหารและรัฐบาลทหารว่าเป็นยิ่งปกติและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างมิตั้งคำถามใดๆเกี่ยวกับ มาตรา 112 ฯลฯ

และไม่ว่านักข่าวต่างชาติจะตอบถูกใจผู้ซักถามเพียงไร (ซึ่งบางกรณีมาการรุมถามแบบสามต่อหนึ่ง) ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ยังสามารถค้นข่าวเก่าๆที่ผู้ถูกสัมภาษณ์เคยเขียนหรือรายงานได้โดยมิยากในโลกยุคโซเชียลมีเดียเพื่อดูว่าที่ตอบตรงกับที่รายงานหรือแสดงความคิดเห็นไหม

ขอยกตัวอย่างสองกรณีเพื่อให้กระจ่าง

กรณีแรกเป็นนักข่าวหญิงที่มีจุดยืนเท่าทันรัฐประหารและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) จากประเทศยุโรปทางตอนเหนือที่ทำงานให้กับสื่อใหญ่องค์กรหนึ่งของรัฐในประเทศนั้น เธอรอนัดสัมภาษณ์วีซ่าที่กรุงเทพฯเป็นเวลานานจนต้องไปแจ้งกับทางทูตประเทศเธอที่สถานทูตในกรุงเทพจึงได้ถูกนัดสัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ถามคำถามทั้ง 2 คำถามในที่สุด และตอนสุดท้ายก็เจ้าหน้าที่หญิงก็เธอว่าเธอ ‘ควรเขียนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งดีๆที่สมาชิกราชวงศ์ไทยทำมากกว่านี้’

อีกกรณีเป็นนักข่าวยุโรปทางตอนใต้ที่ทำงานในเมืองไทยมาเป็นปีๆแต่ต้องต่อวีซ่าทำงาน หลังรัฐประหารทางทูตไทยในประเทศยุโรปประเทศนั้นก็ได้เชิญบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ที่นักข่าวฟรีแลนซ์ผู้นี้เขียนให้เป็นครั้งคราวไปพูดคุยเพื่อสอบถามแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเมืองไทย

บรรณาธิการผู้นั่นก็ยุ่งมากจึงมิได้ไปพบกับทางทูตไทย และนักข่าวผู้นี้ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนเรื่องประชาธิปไตยและตั้งคำถามกับมาตรา 112 ก็ยังคงมิได้รับการต่อวีซ่าทำงาน

‘มันเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง และมันทำให้ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะดูเหมือนพวกเขาจะใช้กระบวนการ [ให้และต่ออายุ] วีซ่าเป็นกับดักชี้เป้าคนที่อาจวิพากษ์วิจารณ์’ นักข่าวชายยุโรปบอกผู้เขียนโดยขอมิให้ใส่ชื่อเขา

ผู้เขียนอยากเตือนทั้งกระทรวงการต่างประเทศและเผด็จการทหาร คสช. ว่าสิ่งที่บรรดานักข่าวต่างชาติเสนอเกี่ยวกับไทยนั้นเสมือนกระจกสะท้อนสังคมเรา ไม่ว่าพวกคุณจะคิดว่ากระจกจะบิดเบี้ยวหรือไม่เพียงไร ภาพอันหลากหลายในกระจกก็ช่วยให้เราตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในสังความอย่างหลากมิติและลุ่มลึกขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมเองในระยะยาว

ความพยายามมิให้สื่อต่างชาติที่มีจุดยืนอันไม่เป็นที่พึงประสงค์ในมุมมองของเผด็จการทหาร คสช. เขียนเรื่องเมืองไทยคงมีผลจำกัด เพราะพวกเขาสามารถเข้ามาทำข่าวเร็วๆอย่างลับๆในฐานะนักท่องเที่ยวได้อยู่ดี

การกดดันกรองนักข่าวต่างชาติออกเพียงเพราะจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างรังแต่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นข่าวในตัวของมันเอง และเรียกความสนใจด้านลบจากนานาชาติเพิ่มยิ่งขึ้น พึงสำเหนียกไว้เสมอว่า การปิดกั้นนักข่าวต่างประเทศมิช่วยให้ข่าวหายไป หรือที่ภาษาอังกฤษเขียนว่า: Shooting the foreign messengers won’t kill the news.

 

หมายเหตุ: บทความนี้ถอดความดัดแปลงจากบทความชื่อ Shooting the Foreign Messengers won’t kill the News โดยผู้เขียน Pravit Rojanaphruk พิมพ์ลงหน้า A2 นสพ. The Nation วันที่ 15 กรกฎาคม 2558  

 

บล็อกของ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์
 ลึกๆในจิตใต้สำนึกของบรรดาผู้นำเผด็จการทหาร พวกเขาคงตระหนักว่าเขาปราศจากความชอบธรรมใดๆ พวกเขาจึงออกอาการวิตกจริตและปราบปรามการขัดขืนทุกรูปแบบ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตหรือในโลกแห่งความเป็นจริงประจำวัน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การปรับทัศนคติ: คําสวยหรูที่ใช้โดยเผด็จการทหาร คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในการจัดการกับผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับรัฐประหาร หรือตั้งคําถามถึงความชอบธรรม หรือความไร้ความชอบธรรมของการก่อรัฐประหารยึดอํานาจฉีกรัฐธรรมนูญ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ข่าวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเมืองไทยในหมู่ผู้สื่อข่าวต่างชาติในไทยในปัจจุบันได้แก่การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการขอวีซ่าทำงานในฐานะนักข่าวในไทยนั้นยากมากขึ้นตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557