Skip to main content

ต้องยอมรับว่าการที่ซีรีย์เกาหลีเรื่อง Descendants of the Sun กลายเป็นกระแสโด่งดังในสังคมไทย ไม่ได้เป็นเพราะมีการถ่ายทำที่ประณีต มีฉากที่สวยงาม และมีนักแสดงชื่อดังอย่างซงจุงกิและซงเฮเกียวมารับบทนำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับออกปากแนะนำให้คนไทยดูซีรีย์เกาหลีเรื่องนี้ในการปาฐกถาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารกับการสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ถึงแม้เนื้อหาในซีรีย์จะไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการปาฐกถาเท่าใดนัก แต่พลเอกประยุทธ์ยืนยันว่า Descendants of the Sun นั้นดี เพราะ "...สอดแทรกเรื่องความรักชาติ ความเสียสละ..." เอาไว้

จริงอยู่ที่ซีรีย์เรื่องนี้กล่าวถึงคำว่า "ชาติ" "รักชาติ" และ "ชาตินิยม" อยู่บ่อยครั้ง แต่คำทั้งสามคำนี้มีปัญหาร่วมกัน เนื่องจากคำว่า "ชาติ" มีความหมายลื่นไหลและไม่แน่นอน ความคลุมเครือที่ว่านี้อาจทำให้ความเข้าใจเรื่องคำว่าชาติของ Descendants of the Sun กับพลเอกประยุทธ์คลาดเคลื่อน ซึ่งนั่นทำให้ความรักชาติในแบบของเหล่าทหารในซีรีย์เกาหลีเรื่องนี้กับพลเอกประยุทธ์แตกต่างกันไปด้วย

คำว่าชาติ (Nation) เป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง ต่างจากคำว่ารัฐ (State) ที่มีความหมายชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่า ตามอนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (Montevideo Convention of Rights and Duties of States) รัฐจะเป็นรัฐได้ จะต้องมีเขตแดนที่ชัดเจน พลเมืองที่แน่นอน รัฐบาล และมีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ ในประชาคมระหว่างประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นๆ ว่าเป็นรัฐ

ความคิดเรื่องรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รัฐอธิปไตย"​ เช่นนี้ ในทางรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือว่าก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ซึ่งประเทศต่างๆ ในยุโรปลงนามกันในปี 1648 เพื่อยุติสงครามสามสิบปีระหว่างคริสตจักรโรมันคาทอลิกกับฝ่ายโปรแตสแตนท์ และสงครามแปดสิบปีระหว่างดัตช์และสเปน ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดรัฐอธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรก ในความหมายที่ว่า แต่ละรัฐมีอำนาจในการปกครองเหนืออาณาบริเวณของตัวเอง รัฐต่างๆ ไม่สามารถเข้าแทรกแซงกิจการภายในของอื่นได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ได้มีความพยายามในการเอา "ชาติ" มาผูกกับ "รัฐ"

แล้วคำว่าชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐซึ่งมีนัยยะในเรื่องการปกครองเหนือดินแดนเพียงอย่างเดียวนั้นตั้งแต่เมื่อใด คำตอบคือว่า แม้คำว่าชาติจะมีความสำคัญในประเทศฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติ ในแง่ที่ว่าพลเมืองรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งใน "ชาติ"​ ร่วมกัน แต่คำว่า "รัฐชาติ" หรือ Nation-State เพิ่งกลายเป็นกระแสสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 19 พร้อมๆ กับกระแสชาตินิยม ที่มองว่า "รัฐ" ที่มีความชอบธรรมต้องมีความเกี่ยวข้องกับ "ชาติ"​ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะผ่านทางเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา

อย่างไรก็ตาม นักคิดอีกกระแสหนึ่ง เช่น Ernest Renan หรือ Max Weber มองว่าชาตินั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ภาษา หรือแม้แต่ศาสนา แต่มาจากสายสัมพันธ์อันเกิดขึ้นจากความสมัครใจของคนในสังคม ที่ต้องการจะสร้างสังคมที่มีอัตลักษณ์ร่วมกันขึ้นมา Ernest Renan เสนอว่าอัตลักษณ์ร่วมของคนในชาตินั้นเกิดจากการเลือกที่จะ "ลืม" ความทรงจำอันโหดร้าย และเลือก "จำ" ความทรงจำที่ดีร่วมกัน

ความคลุมเครือของคำว่าชาติดังกล่าว ทำให้พรมแดนว่าใครถูกรวมให้อยู่ในชาติและใครไม่ถือว่าอยู่ในชาติมีความไม่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับโลกสมัยใหม่ที่เอื้อต่อการย้ายถิ่นเปลี่ยนที่อยู่อาศัย ยิ่งตอกย้ำให้คำว่า "ชาติ" มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก ดังนั้นการจะพูดถึงเรื่องชาติหรือความรักชาติโดยผิวเผิน โดยคาดคะเนว่าทุกคนเข้าใจคำว่าชาติตรงกันนั้นคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกันการพยายามให้ความหมายที่แน่นอนในเรื่องชาติก็ยากพอๆ กัน จนบางครั้งอาจจะง่ายกว่าถ้าจะให้ความหมายว่าใครถูกรวมอยู่ในชาติ ด้วยการพิจารณาว่าใคร “ไม่” ถูกรวมอยู่ในชาติ

ในกรณีของไทย จากคำพูดของพลเอกประยุทธ์และหลายฝ่ายที่ช่วยกันสร้างวาทกรรมรักชาติขึ้น ดูเหมือนว่าผู้ที่ไม่รวมอยู่ในชาติก็คือผู้ที่เห็นต่างจากระบอบ คือคนที่ลุกขึ้นประท้วงและ “ขัดขวางการปรองดอง” หลายครั้งคนเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าไม่รักชาติ ด้วยการเอาความหมายของชาติในแบบที่ตัวเองต้องการไปสวมทับคนอื่น และอีกหลายครั้งคนเหล่านี้ถูกผลักไสให้ไปอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งเท่ากับเป็นการขับไล่ให้คนเหล่านี้ออกจากชาติไปอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับซีรีย์เกาหลีเรื่อง Descendants of the Sun แม้จะไม่ได้มีการพูดว่าใครบ้างที่ไม่ถือว่าอยู่ร่วมชาติ แต่มีการพูดถึงอย่างชัดเจนว่า “ชาติ”​ หรือประเทศนั้นครอบคลุมใครบ้าง ในบทสนทนาตอนหนึ่งที่ร้อยโทยูชีจิน (แสดงโดย ซงจุงกิ) ตอบโต้กับจินยงซู (แสดงโดย โจแจยุน) ขณะติดอยู่ใต้อาคารภายหลังแผ่นดินไหว จินยงซูพยายามโน้มน้าวให้ยูชีจินไปกู้เอกสารที่ติดอยู่ในห้องทำงานของเขา เนื่องจากเอกสารนี้มีความสำคัญต่อเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ในฐานะที่ยูชีจินเป็นทหารก็ควรจะต้องรักชาติและกอบกู้เอกสารที่มีความสำคัญต่อชาติชิ้นนี้

    

       

 

แต่เหมือนว่าคำว่า “ชาติ”​ ของตัวละครทั้งสองคนนี้จะมีความหมายต่างกัน ร้อยโทยูชีจินกล่าวกลับว่า “ประเทศก็คือประชาชน” ดังนั้นในฐานะทหารก็ควรจะต้องช่วยเหลือประชาชน และการช่วยเหลือนี้จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ เพราะแม้แต่จินยงซู (ซึ่งเราคงตีความว่าเป็นคน “ไม่ดี) ตกอยู่ในอันตราย ทหารก็ต้องช่วยเหลือเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าในกรณีของ Descendants of the Sun (และอาจไม่ใช่กรณีของเกาหลีใต้ในความเป็นจริง เพราะนี่คือละคร) ประชาชนทุกคนถูก “รวม” อยู่ในชาติ

     

     

     

ภายหลังจากภารกิจกู้ภัยหลังแผ่นดินไหวยุติลง ปรากฏว่าจินยงซูถูกนายทหารชกหน้า ซึ่งถ้าเป็นละครไทยหรือแม้แต่สังคมไทยก็คงบอกว่าสมควร เพราะทำตัว “กวนตีน” เหลือเกิน แต่ในซีรีย์เกาหลีเรื่องนี้นายทหารที่ก่อเรื่องถูกสั่งลงโทษ พร้อมกับยอมรับหากมีการฟ้องร้องในศาลพลเรือน

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จึงพูดถูกต้องที่บอกว่าซีรีย์เกาหลีเรื่องนี้สอนให้รักชาติ หากแต่คำว่า “ชาติ”​ ในแบบพลเอกประยุทธ์กับ “ชาติ” ในแบบ Descendants of the Sun นั้นกลับมีความหมายไม่เหมือนกัน และก็ยิ่งเป็นการดี ที่พลเอกประยุทธ์สนับสนุนให้คนดูซีรีย์เกาหลีเรื่องนี้ โดยเฉพาะทหาร ที่จะทำให้เข้าใจว่า “ชาติ” มีประชาชน “ทุกคน” อยู่ในนั้น ไม่ใช่ “ชาติ” ที่กลวงเปล่าอย่างที่เราระลึกถึง

บล็อกของ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อฆ่าเวลาก่อนเดินทางไปยังสนามบินเพื่อกลับประเทศไทย เดินไปเดินมาอย่างไม่มีทิศทางก็บังเอิญให้เจอเข้ากับนิทรรศการถาวรเรื่องรถไฟความเร็วสูงของเกาหลีใต้ ข้างหน้ามีคัตเอาท์ดาราดังจากรายการ Running Man อย่างอีกวางซู
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
ต้องยอมรับว่าการที่ซีรีย์เกาหลีเรื่อง Descendants of the Sun กลายเป็นกระแสโด่งดังในสังคมไทย ไม่ได้เป็นเพราะมีการถ่ายทำที่ประณีต มีฉากที่สวยงาม และมีนักแสดงชื่อดังอย่างซงจุงกิและซงเฮเกียวมารับบทนำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับออ
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่สื่อให้ความสำคัญมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องการเสนอให้ทำประชามติต่