ฝนมาเพียงไม่กี่ฝนเท่านั้น กิ่งสักโล้นโกร๋นก็ผลิใบกว้าง สีเขียวถูกเทระบายลงแทนสีแดง วันเว้นวันฟ้าหม่นมัว สีเทาดำปื้นเหมือนหมึกฉาบลงบนเมฆในท้องฟ้าก่อนซัดซ่าลงมาเป็นสายน้ำสีขาว เราจ้างคนมาขุดบ่อลึกลงไปอีกเมื่อปลายเมษาฯ ค่าแรงสำหรับตาน้ำใหม่คิดตามอัตราชนชั้นกลางในหมู่บ้าน (แพงกว่าปกติ) เพียงสัปดาห์ผ่าน ฝนกลับกระหน่ำลงมา บ่อเล็ก ๆ ของเราไม่เคยแห้งอีกเลย
จากนั้น ลืมๆ เลือนๆ ไปบ้าง แล้วสวนกว้างก็เขียวขจีด้วยพงหญ้า เหมือนที่ภูเขา เรือกสวน ไร่นาและท้องทุ่ง ในตลาดและเพิงหญ้ารายทาง หน่อไม้แรกของปีขาวผ่อง เห็ดเผาะอ่อนๆ เยี่ยมหน้ามาในกรวยใบตองตึง ตามอย คนเลี้ยงวัวที่พาเสียงกระดึงกังวานผ่านหน้าบ้านยามย่ำค่ำของฤดูหนาวหายเข้าไปในขนัดสวนใกล้ ๆ แกกลับออกมาอีกครั้งพร้อมเห็ดตับเต่าถุงใหญ่ ค่ำคืน แมงเม่า แมงมันพากันบินมาตอมดวงไฟ แมงจอนหรือแมงกระชอนเล็บคมตัวใหญ่ก็กระโดดมากับเขาด้วย เหล่านี้เอง อาหารแผ่นดิน สายฝนปลุกโลกให้ตื่น เรียกมวลธาตุส่งพลังชีวิตให้แก่พืชพรรณ ปลุกอึ่งอ่าง กบ เขียด และสัตว์จำศีลออกมาจากใต้พิภพ ถึงเวลาเริงร่าแล้ว น้ำทิพย์จากฟ้ามีของบำรุง ต่อให้รดน้ำต้นไม้ทุกวันก็สู้ความอุดมสมบูรณ์จากสายฝนไม่ได้
ถึงราคาข้าวจะแพงขึ้น แต่ถ้าปลูกข้าวไร่ไว้กินเองก็คงพอไหว ธรรมศาสตร์กับศิลปากรไม่ได้สอนทำไร่เสียด้วยสิ แต่คงต้องลองดูแล้ว มะงุมมะงาหรา ทั้งพืชผักดอกไม้ กว่าจะเข้าใจธรรมชาติของเขา กลางฤดูร้อนได้พบน้องชายคนหนึ่ง ซึ่งเรียนรู้อยู่กับผืนดินและปราชญ์ชาวบ้าน เขาเล่าเรื่องการฟื้นตัวของผืนป่าให้เราฟัง...ถึงป่าจะถูกล้มโค่น แต่ไม่จำเป็นต้องปลูกต้นไม้ด้วยซ้ำ เพียงแต่วางใจและรอเวลา ป่าไม้ก็จะงอกงามขึ้นมาใหม่ จากโคน จากตอเก่า และเมล็ดที่ฝังตัวอยู่ในดิน นี่เอง ความลับที่เราจะได้เรียนรู้ “จงวางใจในธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมีกระบวนการวิเศษของตน โดยมนุษย์ไม่จำเป็นต้องแทรกแซง”
กลับไปรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่เมื่อช่วงสงกรานต์ เล็บมือนางที่บ้านเก่าบานสะพรั่งปีนป่ายปกคลุมตอมะม่วงผุที่น้องชายตั้งใจทำเป็นซุ้ม ก่อนหน้านั้น มันยืนนิ่งอยู่สองสามปี กระปลกกระเปลี้ย ถูกหนอนและแมลงที่หนีมาจากไร่นาอาบยาพิษกัดแทะ เจ้าเล็บมือนางที่เดินทางมาไกลเหลือเกิน พ่อแม่ของมันมาจากร้านต้นไม้ริมคลองในบางกอกครั้งที่เราอาศัยอยู่ที่นั่น นานเกินสิบปี เราย้ายนิวาสถานมาไม่รู้กี่ครั้ง บัดนี้ มันยืนหยัดแข็งแรง ต่อสู้แมลงและโรคร้าย ทำความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น ที่ตูบตีนดอย เรานำมาปลูกเช่นกัน มันยังเฉาซบ สู้ชีวิต พยายามออกดอกสองสามพวง แต่เราเชื่อว่ามันจะฟื้นตัว ออกดอกชมพูขาวสะพรั่ง กรุ่นกลิ่นหอม ละลายรั้วลวดหนามอันน่าชัง
..............
ชวนผู้อ่านของฉันมาสำราญผ่อนคลายบ้างดีกว่า มาลิ้มรสฤดูกาลกัน หน้าร้อนที่เพิ่งผันผ่าน เรามีแกงผักหวานป่าจากยอดดอย เก็บเอาแต่ยอดและก้านอ่อน ๆ ผักหวานป่าแกงกับหมูหรือปลาแห้งก็ได้ จะบอกให้ว่า ชั้นแต่แกงเปล่า ๆ ยังหวานกรอบ อร่อยกว่าก้านแข็ง ๆ ใบแก่เหนียวของผักหวานบ้านในตลาด แต่ที่คนเหนือเขาว่าวิเศษสุดยอดก็คือ แกงกับไข่มดแดง ไม่เชื่อลองอ่านแคนโต้ของคุณฐาปนา พึ่งลออ เจ้าของคอลัมน์ “ทางใบไม้” ดู
แกงผักหวานใส่ไข่มดส้ม
ปีละหน พลาดไม่ได้ !
(เป็นบทกวีเยินยอความเลิศรสของแกงผักหวานใส่ไข่มดส้ม แม้ลึก ๆ ผู้เขียนอาจจะชอบแกงใส่ปลาทูแบบเผ็ดโลด อมเปรี้ยวอมหวาน ตำรับศรีภริยาชาวเพชรฯมากกว่าก็ตาม)
ปีกลาย หลายคนอดกินเห็ดเผาะ เพราะมีข่าวคนกินแล้วป่วยกันมาก ในป่าในพงหญ้ารกร้างมีใครทิ้งขยะประหลาด เกิดการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำและในดิน กระทั่งเทาน้ำ สาหร่ายสีเขียวคล้ายเส้นผมที่ลอยฟ่องงอกงามในท้องนา เดี๋ยวนี้ต้องทำบ่อเลี้ยงต่างหาก กุ้งหอย ปูปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยและพืชผักในทุ่งที่เคยนำมาปรุงรวมกันเป็นแกงพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ได้ชิมลิ้มรสตามฤดูกาล เชื่อมโยงจิตใจกับฟ้าดินเริ่มหดหาย ที่พอมีให้เห็นก็น่ากลัว ไม่เป็นที่ไว้ใจ
เฮ้อ! ว่าจะไม่บ่นแล้วสิน่า กลับมาพูดเรื่องสำรับสวรรค์กันต่อดีกว่า เมื่อฟ้าเบื้องบนประทานสายฝนมา หน่อไม้หน่อไร่ก็แทงยอดอ่อนๆ โผล่พ้นจากดิน จากนั้น ใครบางคนก็คว้ากระบุงตรงเข้าไปในป่า เก็บเห็ดเผาะอ่อน ๆ ลูกกลม ๆ เล็ก ๆ เนื้อข้างในเป็นสีขาวครีมออกมา แม่ครัวทั้งหลายก็พร้อมจะปรุงแกงถ้วยแรกรับฤดูกาล แกงเห็ดถอบใส่หน่อไม้ ใช้เครื่องปรุงธรรมดานี่เอง พริกแห้ง หอม กะปิ กระเทียม โขลกลงไปให้ละเอียด จุดไฟ ตั้งน้ำ ต้มกระดูกและเนื้อหมูรอไว้เหมือนเราทำน้ำซุป (หรือจะไม่ใส่หมูก็ได้) ส่วนหน่อไม้ จะเป็นหน่อไม้หวานก็ได้ หน่อไม้บงไม้ซางก็ดี ล้างให้สะอาดแล้วซอยยาวแต่อย่าให้บางมาก จะได้เคี้ยวกรอบ ๆ ใส่หน่อไม้ลงไปต้มกับหมู อาจจะนานหน่อยเพราะหน่อไม้ต้องใช้เวลา พอได้น้ำซุปหวาน ๆ แล้วก็เทน้ำพริกลงไป เมื่อเดือดได้ที่ กะว่าทุกอย่างสุกดีไม่เหม็นเครื่องแกง ก็เอาของวิเศษจากป่าที่ฟ้าประทาน -เห็ดเผาะใส่ลงไป สักครู่เดียวก็ได้สำรับชาวฟ้า “แกงเห็ดถอบใส่หน่อไม้” กินแล้วรู้สึกได้ถึงดินและฟ้า
แถมให้อีกหนึ่งสำรับ “แกงเห็ดห้าใส่ใบส้มป่อย” อันนี้ก็ฟ้าประทานมาเหมือนกัน จะได้กินก็ต่อเมื่อยามฝนเท่านั้น นำเห็ดตับเต่าหรือเห็ดห้ามาล้างดินออกให้เกลี้ยง เพราะมันมักขึ้นตามหัวไร่ปลายนา ตามโคนต้นกล้วยหรือไม้ใหญ่ชื้น ๆ ร่ม ๆ (แต่ก่อนมักขึ้นใต้ต้น “ไม้ห้า” เข้าใจว่าเรียกชื่อตามนั้น) ก้านแข็ง ๆ ไม่เอานะ เอาเฉพาะดอกกับก้านอ่อน ซอยเป็นชิ้น ๆ พอคำ วางเตรียมไว้ ตำน้ำพริกคล้ายแกงเห็ดถอบแต่เพิ่มถั่วเน่าแผ่นผิงไฟหอม ๆ บิลงครกสักเสี้ยว กับปลาร้าแค่ปลายช้อน ตำให้แหลก ตั้งน้ำให้เดือด ตักน้ำพริกลงใส่ ตามด้วยเห็ดห้า รอสักพัก ชิมดู ถ้ายังไม่เข้มข้นสะใจ ให้ตักน้ำมาหน่อยหนึ่ง กวัดแกว่งสากล้างครก เทน้ำพริกที่ละลายจากครกนั้นเองลงไป พอใกล้จะสุก ให้รีบวิ่งออกไปในสวน เด็ดยอดส้มป่อย ระวังหนามด้วย ถ้าไม่มีส้มป่อยให้ละลายมะขามเปียกนิดหน่อย หรือรูดใบมะขามอ่อนที่เพิ่งแตกยอดริมรั้ว ล้างผ่านน้ำเร็ว ๆ ไม่ต้องกลัวพิษเพราะเราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ขยุ้มใส่อย่างมั่นใจลงในหม้อ ส้มจะเพิ่มความเข้มข้นแก่น้ำแกง และให้รสชาติอมเปรี้ยวอร่อยล้ำ
เฮ้อ!...ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าคอลัมน์นี้จะมีรายการอาหารด้วย คงเพราะแอบเคร่งเครียดอยู่ลึก ๆ ข้างในจนต้องให้อาหารมาเรียกรอยยิ้ม มาให้กำลังใจกันในยามข้าวยากหมากแพง คนธรรมดาอย่างเรา เก็บผักเก็บหญ้า หาผักริมรั้วกินกันดีกว่า แต่ถ้าคุณอยู่ในเมือง ก็คงยากเหมือนกัน หรือจะทำสวนกระถาง ปลูกผักสวนครัวดี ฉันเคยมีสวนผักบุ้งบนระเบียงคอนโดฯด้วย
*ฉันส่งงานชิ้นนี้ล่าช้าไปโข เพราะมัวแต่รอภาพเห็ดเผาะ น่าเศร้าใจที่ปีนี้เห็ดถอบออกน้อยผิดปกติ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านจินตนาการโดยเสรี...