สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ทั่วทุกมุมโลกติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาไล่เลี่ยกันของประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ 57 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 นายบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐสมัยที่ 2 อีกครั้ง ส่วนที่ประเทศจีน มีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 8 – 14 พฤศจิกายน 2555 เป็นการเปลี่ยนผ่านผู้นำจีนสูงสุด เป็นไปตามการคาดหมายนายลี จิ้น ผิง วัย 59 ปีก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดในต่ำแหน่งประธานาธิบดี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของจีน
สหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจเก่าแก่เรียกกันว่าพญาอินทรีย์แห่งโลกตะวันตก ที่ทรงอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนจีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่เรียกกันว่าพญามังกรในซีกโลกตะวันออก ทั้งสองประเทศกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปทุกหนแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองของทั้ง 2 ประเทศจึงมีผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์
สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเงินเฟ้อสูงหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อัตราว่างงานสูง 10 เปอร์เซ็นต์ (จำนวน 30 ล้านคน) ชนชั้นกลางลดลงจาก 61 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ พรรคเดโมแครตบริหารประเทศแบบเสรีนิยม เน้นการผ่อนผันประนีประนอม ส่วนพรรครีพับลิกัน เน้นความเป็นอนุรักษ์นิยมใช้มาตรการแข็งกร้าวทางเศรษฐกิจ และการเมือง
นายโอบามายืนยันระหว่างการหาเสียงว่าจะดำเนินการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และปรับอัตราการเก็บภาษี งดเก็บภาษีคนมีรายได้น้อย แต่เพิ่มภาษีคนรวยให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะหน้าผาแห่งการคลัง (Fiscal Cliff) ในต้นปี 2556 หากทำไม่สำเร็จอเมริกาอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง นอกจากนี้โอบามาจะทำให้สหรัฐมีกองทัพที่ดีที่สุดในโลก รวมทั้งขยายบทบาทอเมริกา สร้างพันธมิตรใหม่ทั้งฐานการผลิด และตลาดการค้า นโยบายต่างประเทศมุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียเพื่อรักษาแชมป์เศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก
พญามังกร อย่างประเทศจีน เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดอย่างต่อเนื่องและมั่นคง แต่เดิมญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก แต่ทว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย มีหนี้สาธารณะถึงร้อยละ 233 ของจีดีพี หรือเท่ากับ 3.2 ล้านบาทต่อประชากร 1 คน มีแต่ทรงกับทรุด จนต้องเสียตำแหน่งเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ให้แก่ประเทศจีน เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ของจีนเชื่อว่า หากจีนรักษาพลวัตรทางเศรษฐกิจได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ขนาดเศรษฐกิจของจีนอาจก้าวกระโดดเป็นอันดับ 1 แทนที่สหรัฐ ขณะเดียวกันจีนยังสะสมแสนยานุภาพทางทหารด้วยการพัฒนาทั้งเรือรบและเครื่องบินรบทางอากาศ ท่ามกลางความตึงเครียดในกรณีพิพาทดินแดนกับญี่ปุ่น และทะเลจีนใต้
แต่จีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาคอรัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกโจมตีจากประเทศตะวันตกอยู่เสมอ รวมทั้งการเติบโตของชนชั้นกลางเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย มากยิ่งขึ้นจนบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาล
การที่ประธานาธิบดีโอบามาเดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีจีน นายเวิน เจีย เป่า ระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2555 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในภูมิภาคเป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่แค่เป็นหลักในการเชื่อมโยงภูมิภาคด้วยปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่ยังเป็นฐานการผลิตทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมภาคเอกชนอย่างจริงจัง และในด้านความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกอาหารโลก เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเลคโทรนิคส์ ฮาร์ตดิสไดรฟ์ รวมทั้งภาคบริการยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว การโสเภณี และการบริการทางการแพทย์
วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป อเมริกา การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ปรับตัวกันขนานใหญ่ไม่มีประเทศใดในโลกนี้จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป
ตัวอย่างของการปรับตัวในภูมิภาคก็คือ กระบวนประชาธิปไตยในพม่า ด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ยอมให้นักศึกษาที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศกลับมามีส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศ การให้สิทธิเสรีภาพต่อสื่อมวลชนจนได้รับการชื่นชมจากประชาคมโลก เช่นเดียวกับ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่ต้องเปิดประเทศ ยอมรับการลงทุน และการค้าเสรีมากยิ่งขึ้นจนทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ประเทศไทยยังมะรุมมะตุ้มอยู่กับความขัดแย้ง แตกแยกอย่างรุนแรง การเมืองเป็นเรื่องของคนเหลวไหล ไร้สาระ แย่งชิงอำนาจด้วยความถ่อย สถุล ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แม้ว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลังกลายเป็นรัฐล้มเหลว (Fail State) ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของระบบราชการหัวโบราณ ทั้งในรูปแบบการรัฐประหารโดยกองทัพ และการตัดสิทธิทางการเมืองโดยอำนาจตุลาการล้าหลัง เศรษฐกิจ – การเมือง จึงไม่อาจขับเคลื่อนไปสู่ความก้าวหน้าได้
นายโอบามา เดินทางมาเยือนไทยก็เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เอเชีย – แปซิฟิก (Trans – Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ซึ่งในขณะนี้มีสมาชิก 11 ประเทศ หากไทยตกลงด้วยจะกลายเป็นประเทศที่ 12 ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมในที่สุด เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาสหรัฐเป็นอย่างมาก เพียงแต่การเข้าร่วม TPP นั้น รัฐบาลไทยจะเจรจาให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดอย่างไร และส่งผลกระทบด้านลบให้น้อยที่สุด
ประเทศไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้ จำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และในระดับโลก ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ความร่วมมือในภูมิภาคจะสร้างอกนาจการต่อรองร่วมกัน เช่น การกำหนดราคาสินค้าการเกษตร เป็นต้น แต่ทว่าประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวพ้นความขัดแย้ง แตกแยกภายในให้ได้ ซึ่งดูเหมือนว่า การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปแล้ว คงเหลือไว้ที่การแตกหัก เพื่อเริ่มต้นใหม่สำหรับการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย และโลกาภิวัฒน์ให้ได้ในที่สุด