Skip to main content


คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  เป็นแกนนำ ประกาศออกมาว่า “เมื่อระบอบทักษิณหมดอำนาจก็จะกลับคืนสู่ประชาชน ตามบทบัญญัติมาตรา 3 จากนั้นประชาชนจะได้เลือกตัวแทนจากสาขาอาชีพมาเป็นสภาประชาชนที่กำหนดนโยบาย ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ เพื่อการเปลี่ยนแปลงตรากฎหมายเลือกตั้ง ตรากฎหมายต้านทุจริต  สภาประชาชนเป็นผู้เลือกคนดีที่ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองเป็นนายกฯ และ ครม. ชั่วคราวตามบทบัญญัติมาตรา 7”

นายสุเทพยังกล่าวอีกว่า สำหรับคนที่จะมาเป็นสภาประชาชนต้องไม่มีนักการเมือง และเมื่อร่างกติกาแล้วห้ามลงเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 5 ปี สภาประชาชนมีทั้งหมด 400 คน โดย กปปส. เป็นผู้แต่งตั้ง 100 คน อีก 300 คน มาจากการคัดเลือกจากลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ

แนวคิดสภาประชาชนในประเทศไทยมีมานานแล้วเมื่อ 20 ปี  ก่อนวันที่ 31  พฤษภาคม  2532 นายประเสริฐ  ทรัพย์สุนทร เลขาธิการสภาปฏิวัติแห่งชาติ ได้มีคำสั่งเรื่องการโอนอำนาจจากรัฐสภามาสู่สภาปฏิวัติแห่งชาติ โดยให้รัฐบาลชาติชาย  ชุณหะวัณ และสภาผู้แทนราษฎรหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที  แนวคิดนี้นักศึกษารามคำแหงคนหนึ่งชื่อ ธนาวุฒิ  คลิ้งเชื้อ ชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งยึดมั่นอุดมการณ์ที่ว่า “โค่นล้มเผด็จการรัฐสภา สถาปนารัฐสภาของประชาชน” ถึงกับเผาตัวเองตายที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแห่ง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2533

ทฤษฎีมาร์กซิสของนายคาร์ล มาร์กซ์ วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่าเป็นการแสวงหากำไรจากการกดขี่ ขูดรีดกรรมกร ชาวนา จนมั่งคั่งจากการแข่งขันเสรีสู่การผูกขาด ทำให้มีอิทธิพลทางการเมืองมาก ทั้งในรูปแบบสนับสนุนนักการเมือง หรือจัดตั้งพรรคการเมือง ตัวแทนชนชั้นนายทุน เข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภา จัดตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนพวกชนชั้นนายทุน ออกกฎหมายมากดขี่ขูดรีดกรรมการ ชาวนา ซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพไม่มีโอกาสเลยที่จะเข้าไปทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ส่วนการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในระบบประชาธิปไตย ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ในหนังสือรัฐกับการปฏิวัติของเลนิน เห็นว่า รัฐเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้น รัฐทุนนิยมไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเท่านั้น แต่หมายถึงโครงสร้างทางสังคมทั้งหมด ให้การทำลายการกดขี่ขูดรีด และการเอารัดเอาเปรียบ ให้หมดไปจะต้องทำการปฏิวัติสังคม โค่นล้มระบบทุนนิยม แล้วสถาปนารัฐสังคมนิยมเข้าไปแทนที่เป็นการสร้างสังคมใหม่ที่งดงาม ประชาชนกินดีอยู่ดี มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียม

แนวความคิดสภาประชาชนที่มาจากสาขาอาชีพต่าง ๆ จึงเป็นองค์กรสำคัญในเบื้องต้นที่จะมีตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อจัดตั้งรัฐเผด็จการชนชั้นกรรมารชีพเข้ามากวาดล้างพวกทุนนิยมให้หมดไป สังคมจึงมีความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมกันอันเป็นขั้นตอนหนึ่งของสังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากชนชั้นในที่สุด

แนวคิดสภาประชาชนเป็นตัวแทนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ มีข้อดีในแง่ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ในด้านวิชาชีพต่าง ๆ อาทิเช่น ในด้านกรรมกร หรือในด้านเกษตรกร เพราะสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีตัวแทนของประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้เลย แต่ปัญหาสำคัญของสภาประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ ตามที่นายสุเทพ และคณะกำลังเรียกร้องอยู่นั้นยังไม่มีแบบแผนชัดเจน เช่น จะมีกระบวนการได้มาซึ่งตัวแทนสาขาอาชีพต่าง ๆ ในสภาประชาชนได้อย่างไร ? จะใช้การเลือกตั้งแบบไหน ? จะให้มีตัวแทนสาขาอาชีพในสัดส่วนเท่าใด เช่น มีตัวแทนกรรมกรกี่คน ?  ตัวแทนนายทุนกี่คน ?  ตัวแทนชาวนากี่คน ? ฯลฯ

ความยุ่งยากเหล่านี้ยังเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงในความเป็นจริง กล่าวคือ จะจัดวางตัวแทนกลุ่มทุนผูกขาดกับทุนขนาดกลาง และเล็กอย่างไร ในหมู่เกษตรกรจะจัดวางให้ชาวนา ชาวไร่ หรือชาวสวนยางกันในสัดส่วนเท่าใด หรือในหมู่กรรมกรจะให้มีตัวแทนพนักงานรัฐวิสาหกิจกี่คน พนักงานคอปกขาว และคอปกน้ำเงินกี่คน แล้วคนงานรับเหมาช่วง หรือคนงานชั่วคราว หรือคนงานต่างด้าวกี่คน เพราะแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์แตกต่างกันมาก

ดังนั้นหากปรารถนาให้สามารถสะท้อนผลประโยชน์ทางชนชั้นของประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ และมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์นั้น คณะ กปปส. ควรที่จะคิดค้นและสร้างรูปแบบใหม่ขึ้นอีกมากมาย รวมทั้งการยกเลิก พรบ.เลือกตั้ง และการสรรหาคณะกรรมการเลือกตังจึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้สภาประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่การประท้วงกันแบบส่งเดช โดยยังไม่มีแบบแผนรูปธรรมที่ชัดเจน

ตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของตัวแทนสาขาอาชีพเพื่อกำหนดนโยบายรัฐ ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม  ในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ไตรภาคี” อันประกอบไปด้วยตัวแทนแรงงาน  นายจ้าง  และรัฐบาล ดังตัวอย่างเช่น  คณะกรรมการค่าจ้าง  คณะกรรมการประกันสังคม  ผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงาน ฯ แต่ในความเป็นจริง แม้จัดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายแรงงานก็ปรากฏว่าไม่ได้มีตัวแทนฝ่ายแรงงานที่แม้จริงเลย เพราะการเลือกตั้งจากพวกสหภาพแรงงานเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่นกันมโหฬาร รวมทั้งอิทธิพลฝ่ายนายจ้างนั้นสามารถกำหนดเสียงของกรรมกรในสถานประกอบการได้เป็นอย่างดี  ด้วยเหตุนี้หากสภาประชาชนจัดตั้งขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้ตัวแทนสาขาอาชีพจอมปลอมเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาประชาชน

แต่ถ้าหากใช้วิธีการแต่งตั้งกันขึ้นมาอีกไม่ว่าจะโดยคณะบุคคลใดก็ตามก็เชื่อได้เลยว่า คนดีของสภาประชาชนตามแบบฉบับของสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเหมือนกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่พวกเผด็จการทหาร เคยแต่งตั้งกันเข้ามาในปี 2534 หรือในปี 2549 ซึ่งพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้าทาสบริวารเผด็จการทั้งสิ้น ไม่มีฝ่ายค้าน หลับหูหลับตาออกกฎหมายต่าง ๆ ตามใบสั่งของเผด็จการเท่านั้น  สภาประชาชนแบบนี้เลวร้ายระยำสุนัขยิ่งกว่าสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก

เฉพาะแกนนำอย่างนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  ซึ่งเป็นนักการเมืองมากว่า 35 ปี เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาหลายครั้ง เคยมีเสียงข้างมากในรัฐสภามาก่อน แต่นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ ก็ไม่เคยพูดถึงสภาประชาชนมาก่อน  ไม่ได้มีความตั้งใจแต่ประการใดที่จะทำการปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้น  ในทางตรงกันข้ามหากพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อใด ประเทศไทยก็บรรลัยเมื่อนั้น  อย่างเช่น  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 2540 ก็เป็นผลมาจากนโยบายเสรีทางการเงิน หรือ BIBF โดยรัฐบาลนายชวน  หลีกภัย  หรือการนำที่ดิน สปก.4-01 มาแจกให้พรรคพวกก็เกิดขึ้นในสมัยที่นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงเกษตรฯ  กระทั่งล่าสุดเกิดความรุนแรงถึงกับเข่นฆ่ากันตายไปกว่า 100 ศพ ในปี 2553  ก็เกิดขึ้นขณะที่นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

พรรคการเมืองแบบนี้อยู่มา 60 ปี ยังไม่เคยมีหลักฐานว่าได้ทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เคยปรากฏว่าจะปฏิรูป หรือปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น  แม้แต่จะปฏิรูปพรรคการเมืองของตนเองแท้ ๆ ยังทำไม่ได้ ดังนั้นข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนและการปฏิรูปจึงเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อปูทางไปสูการแย่งชิงอำนาจ บนซากปลักหักพังและความฉิบหายสำหรับคนไทยทุกคนในปี 2557

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันท์ใด การปฏิรูปไม่อาจงอกมาจากพวกปฏิกูลการเมืองที่กำลังปิดกรุงเทพ นำความหายนะมาสู่สังคมไทยในขณะนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 “พวกเราใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำก็เพราะเราคัดค้านแนวคิดการพัฒนาอย่างแบ่งแยก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนต่างด้าวในประเทศของเราเอง”