Skip to main content

วันที่ 5 ธันวาคม  2556  ทั่วโลกไว้อาลัยต่อการจากไปของเนลสันแมนเดลา(Neison  Mandela) อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ รัฐบุรุษโลกผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคได้สิ้นชีวิตในวัย 95 ปี ด้วยอาการปอดติดเชื้อที่บ้านพัก นครโจฮันเนสเบิร์ก ตลอดชีวิตของเขาได้ต่อสู้เพื่อยุติการเหยียดสีผิว นำประเทศไปสู่ความเสมอภาคเท่าเทียมด้วยสันติวิธี และการปรองดอง

นายจาค็อบ  ซูมา ประธานาธิบดี แอฟริกาใต้ประกาศให้มีการไว้ทุกข์ 10 วัน ส่วนชาวแอฟริกาใต้รวมตัวกันตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการเต้นรำ ร้องเพลง ซึ่งเป็นพิธีศพตามประเพณีของชาวแอฟริกาใต้ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ผู้นำคนสำคัญของโลกกว่า 60 ประเทศ เช่น บารัค โอบามา  จอร์จ ดับเบิลยู บุช  บิล คลินตัน  บัน คีมุน,ฟรองซัว  โคลอง  ราอุล คาสโตร  ได้เข้าร่วมพิธีไว้อาลัยที่สนามกีฬาโซเรโต (Soreto  Orlando  Stadium)

คนผิวขาวชาติแรกที่เข้าไปแอฟริกาใต้คือชาวดัชท์ ต่อมาอังกฤษเข้าไปดำเนินกิจการสถานีการค้า  ขึ้นบนปลายคาบสมุทรแหลมกู๊ดโฮปแล้วขยายดินแดนรุกรานพื้นที่ของคนผิวดำพื้นเมือง  กลายเป็นผู้ปกครองและสร้างความอภิสิทธิ์ชนให้คนผิวขาวกดขี่  เหยียดหยามคนผิวดำเป็นเวลายาวนานกว่า 350 ปี
คนผิวขาวในแอฟริกาใต้มีเพียง 10  เปอร์เซ็นต์จากประชากรผิวดำทั้งหมด  43  ล้านคน  บนแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล  อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้  แร่ธาตุ  สัตว์ป่า  เหมืองแร่  เพชร  ทองคำ  ไร่นาสาโทขนาดใหญ่ โดยมีคนผิวดำอยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างทำการผลิตสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้คนผิวขาว  ซึ่งใช้ศาสนาสร้างความเชื่อว่าพระเจ้ากำหนดให้คนผิวดำเป็นคนรับใช้คนผิวขาว  คนผิวดำต้องจงรักภักดีต่อการกดขี่  แบ่งแยกสีผิวที่เรียกกันว่าระบอบอะพาไทด์ (Apartheid)

แมนเดลา เป็นลูกกษัตริย์ราชวงศ์เทมบู  คนแอฟริกาอยู่กันเป็นชนเผ่า  หัวหน้าเผ่าไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่เรียกว่าเป็นกษัตริย์กันหมด  ราชวงศ์ในแอฟริกาจึงมีกันบานตะไท  จบการศึกษาด้านกฎหมาย  มหาวิทยาลัยวิทวอเทอร์แรนด์  ในปี 1948 พรรคชาตินิยมแอฟริกันเนอร์ได้รับชัยชนะจัดตั้งรัฐบาลใช้นโยบายเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง  คนผิวดำกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง  ถูกกีดกันด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านอาหาร  บริการสาธารณะต่าง ๆ การศึกษา  การรักษาพยาบาล ฯลฯ

แมนเดลา เข้าร่วมกับพรรคเอเอ็นซี (ANC) หรือ สมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (African  National  Congress : ANC) ทำหน้าที่จัดตั้งสาขาใหม่ และนำมวลชนต่อสู้คัดค้านการเหยียดสีผิวด้วยวิธีการอารยะขัดขืน (Civil  Disobedien) และท้าทายอำนาจการปกครองของคนผิวขาว

การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลได้บ่มเพาะเชื้อแห่งความรุน  แมนเดลาผิดหวังกับการต่อสู้สันติวิธี  เขาจึงเสนอให้พรรคเอเอ็นซี จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ และก่อวินาศกรรมในปี 1962  แมนเดลาถูกจับกุมด้วยข้อหาวางแผนโค่นรัฐบาลด้วยความรุนแรงระหว่างไต่สวน (Rivonia  Trail) ศาลถามตัวเขาว่า “จะยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือไม่” เขาตอบ “เป็นสิทธิของประชาชนที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม” ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตอยู่ที่เรือนจำร็อบบิน  แม้จะสูญเสียอิสรภาพ แต่แมนเดล่าไม่ยอมสูญเสียอุดมการณ์ เขากล่าวว่า “พวกเราใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำก็เพราะเราคัดค้านแนวคิดการพัฒนาอย่างแบ่งแยก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนต่างด้าวในประเทศของเราเอง”  แมนเดล่าถูกขังอยู่ 27 ปี ชาวแอฟริกาใต้รณรงค์ให้ปล่อยตัวเขา (Free  Nelson  Mundela) โดยได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ  เขาจึงได้รับอิสรภาพในปี 1990 และกลับมารับตำแหน่งผู้นำพรรคเอเอ็นซี  ชนะการเลือกตั้งท่วมท้นในปี 1994 แมนเดล่าได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ในวัย 75 ปี ระหว่าง คศ.1994 – 1999

ระหว่างที่เป็นประธานาธิบดี  แมนเดล่าไม่ได้อาฆาตพยาบาทไม่ได้ล้างแค้น  กลับสร้างการปรองดองด้วยการเจรจา และยอมรับซึ่งกันและกันทำให้คนแอฟริกาใต้ทุกสีผิวต่างมีความรักกลมเกลียวด้วยการให้อภัย  การค้นหาความจริง  การนิรโทษกรรม  การให้อภัยต่อกัน  ทำให้ชาวแอฟริกาใต้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ได้ตกอยู่นภาวะแก่งแย่งอำนาจจนประเทศตกอยู่ในหลุมเพลิงความขัดแย้ง และความเกลียดชัง  แมนเดล่าจึงเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจของคนทั่วโลกที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิ  เสรีภาพ  และเสมอภาค

การอุทิศตนและการต่อสู้อย่างยาวนานตลอดชีวิตของแมลเดล่า ชาวแอฟริกันยกย่องให้เป็นบิดาแห่งแอฟริกาใต้  ประธานาธิบดีจาค็อบกล่าวว่า “ประเทศของเราสูญเสียบุตรผู้ยิ่งใหญ่ และประชาชนของเราได้สูญเสียบิดาของพวกเขาไปแล้ว”  อุดมการณ์และความมุ่งมั่นของแมนเล่าได้รับการจัดทำเป็นหนังสือหลายเล่ม มียอดจำหน่ายทะลุหลายล้านเล่ม  หนังสือภาษาอังกฤษที่ผมได้อ่านในคุกก็คือ “Long  Walk  to  Freedom” หน้า 878 หน้า ผมใช้เวลาอ่านหนึ่งปีเต็ม ทราบว่าได้มีการจัดทำภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว หวังว่าคนไทยจะได้มีโอกาสได้ชมกันเร็ว ๆ นี้

เกียรติประวัติแมนเดลาได้มาจากการต่อสู้  เสียสละ  ตลอดชีวิตของเขาจนโด่งดังไปทั่วโลก  ไม่ต้องมีการโฆษณาชวนเชื่อ  ไม่ต้องสรรเสริญเยินยอ จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์งมงาย ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษมากำหราบปราบปรามสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแมนเดลา เมื่อดำรงตำแหน่งครบเทอมแล้วมีคนเสนอให้อยู่ต่อไปอีก  แต่แมนเดล่าปฏิเสธรับตำแหน่งในวาระที่สอง  โดยกล่าวว่า  ตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง  เขาสนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อไป  และไม่ให้ลูกหลานของเขาเข้ามาสู่การเมือง เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

หลังเสร็จสิ้นพิธีศพ ประชาชนช่วยกันปลดรูปภาพของเขาออกไปเสีย  ขณะที่รัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นเนลสัน แมนเดลาไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้  การเสียสละ  อุทิศตนเพื่อสิทธิ  เสรีภาพ  และความเสมอภาคเท่าเทียมของมวลมนุษยชาติ

 

 

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข
14   ธันวาคม 2556

 

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันท์ใด การปฏิรูปไม่อาจงอกมาจากพวกปฏิกูลการเมืองที่กำลังปิดกรุงเทพ นำความหายนะมาสู่สังคมไทยในขณะนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 “พวกเราใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำก็เพราะเราคัดค้านแนวคิดการพัฒนาอย่างแบ่งแยก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนต่างด้าวในประเทศของเราเอง”