Skip to main content

 

 

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

4  ตุลาคม 2556

 

ความพยายามของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตยรัฐสภาต้องประสบกับความล้มเหลวและพ่ายแพ้ลงอย่างราบคาบหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไม่มีการขุดรากถอนโคนฐานอำนาจจารีตนิยมที่ครองอำนาจเศรษฐกิจการเมืองไทยมายาวนาน

รัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ในปี 2500  ต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลเผด็จการถนอม – ประภาส นำสังคมไทยสู่ยุคมืด เพื่อฟื้นฟูอำนาจจารีตนิยม และการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ผลก็คือนักศึกษา ประชาชนได้ลุกขึ้นสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวทางการเมืองและประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทย แต่ทว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อเผด็จการทหาร โดยยังมองไม่เห็นถึงโครงสร้างอำนาจจารีตนิยม และอำมาตยาธิปไตยที่มีอิทธิพลกำกับความเป็นไปทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย ดังนั้นถัดมาอีก 3 ปีเกิดรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ทำลายเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยการใช้ความอำมหิตป่าเถื่อน เข่นฆ่านิสิตนักศึกษา และปราบปรามขบวนการประชาชนอย่างทารุณโหดร้าย แต่อย่างไรก็ตาม สำนึกประชาธิปไตย 14 ตุลาคมได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยจนไม่อาจทำลายได้อีกต่อไป

ผลพวงของการลุกขึ้นสู้และการพลีชีพของวีรชนประชาธิปไตยจึงถูกช่วงชิงไปโดยพรรคการเมืองฝ่ายจารีตนิยมต่อเนื่อง จนถึงยุคของประชาธิปไตยครึ่งใบ เมื่อพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง 2522 – 2530 ฟื้นฟูอำนาจเก่า จารีตนิยมให้มีอำนาจเหนือการเมืองไทย ทั้งทางตรง ทางอ้อม แต่ทว่าการขยายตัวของคลื่นลูกที่สามในยุคโลกาภิวัฒน์ กลุ่มทุนนิยมเสรีเติบขึ้นในสังคมไทยนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่หนึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 ผลักดันสังคมไทยสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่โครงสร้างทางการเมืองยังคงล้าหลังเหมือนเดิม กลุ่มอำนาจจารีตนิยมจึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยในทุกด้าน

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549  คือความพยายามจะเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าในกระแสโลกาภิวัตน์ ในทางการเมืองคือ การเรียกร้องนายกพระราชทาน การใช้วิธีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนการเลือกตั้งจากประชาชน การใช้ตุลาการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร ฯลฯ ในทางเศรษฐกิจคือ การต่อต้านความทันสมัย ต่อต้านโลกภิวัตน์อย่างคับแคบในทางสังคม คือ การเรียกร้องลัทธิคลั่งชาติ การส่งเสริมสังคมแบบไพร่ฟ้ายอมจำนนต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม ฯลฯ

40 ปี 14 ตุลาคม อำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของปวงชนชาวไทย เครือข่ายกษัตริย์นิยม (Ultra – Royalists) และอำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Elites) ยังควบคุมการเมือง ทรัพยากร อำนาจและสถานะทางสังคม แม้กลุ่มทุนและนักธุรกิจจะเข้ามาเป็นพันธมิตรมากขึ้น แต่การเมืองและอุดมการณ์ยังอยู่ในอำนาจของกลุ่มจารีตนิยม ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าของประชาธิปไตย และความทันสมัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการปรองดอง และการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 นี้จะไม่มีความหมายเลย หากโครงสร้างการเมืองจารีตนิยมแบบเดิมยังดำรงอยู่ และถูกควบคุมให้เป็นสิ่งตายตัวที่ต้องสถิตอยู่ในสังคมไทยชั่วนิรันดร

40 ปี 14 ตุลาคม จึงมีความหมายต่อขบวนการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่รักชาติรักประชาธิปไตย และผู้ปรารถนาสังคมก้าวหน้า สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความเจริญทันสมัยทางเศรษฐกิจจะได้เริ่มต้นกันอย่างจริงจัง รื้อถอนโครงสร้าง และอุดมการณ์จารีตนิยมให้หมดไป เพื่อสร้างประชาธิไตยของประชาชนต่อไป

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันท์ใด การปฏิรูปไม่อาจงอกมาจากพวกปฏิกูลการเมืองที่กำลังปิดกรุงเทพ นำความหายนะมาสู่สังคมไทยในขณะนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 “พวกเราใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำก็เพราะเราคัดค้านแนวคิดการพัฒนาอย่างแบ่งแยก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนต่างด้าวในประเทศของเราเอง”