Skip to main content

เรื่องแรกที่ต้องนำมาพูดกันก่อนเลยเห็นจะไม่พ้นว่า กฎหมายคืออะไร เพราะไม่งั้นคงไปต่อไม่ได้ และที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากในความเป็นจริง  เนื่องจากหลายครั้งเรามีปัญหากับคนอื่น หรือสังคมมีความขัดแย้งเถียงกันไม่จบไม่สิ้นก็ไม่รู้ว่า เรื่องนี้ควรจะจบลงอย่างไร ชีวิตจะเดินต่อไปแบบไหน   ซึ่งปัญหาแบบนี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นบนโลก   มันเป็นของคู่กันกับสังคมคนหมู่มากอยู่แล้ว จริงๆแค่อยู่กันสองคนก็มีเรื่องทะเลาะกันบ้างอยู่แล้วใช่ไหมล่ะครับ คนมีคู่ทั้งหลาย ฮ่าๆๆ

            ดังนั้นกฎหมาย จึงเป็นกฎ กติกา ที่บอกว่า “เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเราจะทำอย่างไร ใครจะผิด ใครจะถูก แล้วต้องทำอย่างไรกันต่อไปดี”  เช่น ขับรถเข้าไปในเมืองหนึ่ง ถ้าขับอยู่คันเดียวทั้งถนนก็คงไม่เป็นไรจะขับเบียดซ้ายเบี่ยงขวาอะไรใครคงไม่ว่า ถ้าไม่ชนใครหรือชนอะไรเข้า   แต่ถ้าเมื่อไหร่ไปขับชนคนหรือรถคันอื่นเข้า ทีนี้ล่ะครับ งานเข้า!!!   เราจะรู้ได้ไงว่าใครผิดใครถูก ใครต้องรับผิดชอบหรือรับโทษ

ถ้าตกลงกันไม่ได้ ปล่อยให้ยืนเถียงกันบนถนนก็ไม่พ้นต้องต่อยตีกันตายไปข้าง หรือหาพักพวกมาเข้าข้างกดดันอีกฝ่าย แล้วอีกฝ่ายที่อาจพ่ายแพ้ในวันนี้ก็อาจไม่รวบรวมสมัครพรรคพวกมาเอาคืนวันหลัง   ทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้นใช่ไหมครับ   นี่ล่ะครับที่มาว่าจะต้องเขียนกฎหมายว่า “ต้องขับรถอย่างไร” หากเกิดการเฉี่ยวชน ใครผิดกว่า ใครถูกกว่า โดยดูว่ากฎหมายกำหนดว่าอย่างไร   สรุป กฎหมายจึงเป็นการให้ความหมาย นะครับ ว่าอะไรทำได้ อะไรห้ามทำ

กฎหมายมักจะบอกไว้ว่าอะไรทำได้ เช่น เรามีสิทธิจะขับรถบนถนน ถ้ามีใบขับขี่ รถผ่านการตรวจสภาพ มีประกันบุคคลที่สาม ขับในความเร็วที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ ถ้าเราทำตามเป๊ะๆๆ ก็เอาเลยครับอยากขับไปไหนมาไหนเวลาเท่าไหร่ก็ขับไป   เว้นแต่บางช่วงจะมีคนออกกฎหมายพิเศษมาบอกว่าห้ามขับรถออกมาหลังสองทุ่ม ซึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่อัยการศึก ก็อด...   แหะ แหะ แหะ รถถังก็มายึดถนนของรถยนต์ไปแทน

นั่นไงไม่ง่ายละชีวิต เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า กฎหมายสามารถกำหนดได้เหมือนกันว่า “ห้ามทำอะไร”   ถ้าเราบอกว่า เอ้า! มาห้ามกันได้ไง ก็นี่มันรถของเรา ถนนเราก็มีส่วนสร้างจากเงินภาษีที่เสียไป   แล้วทหารเป็นใคร ใหญ่มาจากไหน จะมาห้ามไม่ให้เราขับรถไปหาแฟนได้ไง ก็คนมันคิดถึงอ่ะ เข้าใจไหม คนรักกันเป็นห่วงกันจะขับรถไปหาแฟนด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ฉุกเฉินมันผิดมากไหม

ทหารที่ด่านและเจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่า กฎอัยการศึก “ฝ่าฝืนไม่ได้” ให้ขับไปไม่ได้ครับ! เพราะคณะรัฐประหาร/รัฐบาลประกาศใช้แล้ว ถ้าฝ่าฝืนจะต้องถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดี มีความผิดถึงติดคุกเลยทีเดียว   โอ้วววว....ความคิดถึงมันห้ามไม่ไหว แต่ติดคุกมันก็ใช่ที่นะครับ แหม่... บางทีเหตุผลของเราก็ถูกผู้มีอำนาจสยบไว้ด้วยการใช้ โทษมาขู่ ไม่ขู่เปล่า บางทีมีการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วย เช่น พฤษภาคม 2553 ช่วงประกาศกฎอัยการศึก   เด็กวัยรุ่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาก็โดนจับ สั่งฟ้อง นอนห้องขังกันไป ให้พ่อแม่ร้องห่มร้องไห้ มาประกันตัวกันลำบากเลย บางรายถูกสั่งจำคุกฐานฝ่าฝืนกฎอัยการศึกด้วย

พอเด็กวัยรุ่นกับพ่อแม่ถามว่าทำไมต้องทำกันขนาดนี้ เจ้าหน้าที่ก็บอกทันทีว่า เขาบอกออกโทรทัศน์และวิทยุแล้วด้วยว่ากฎอัยการศึก “ใช้กับเรื่องอะไร ที่ไหน กับใคร เมื่อไหร่” ทำไมไม่ฟังล่ะ   กฎหมายมีผลบังคับใช้นะ   จะมาอ้างว่ารู้ไม่ได้ ......เอิ่มมม   อึ้งกันไปเลยสิ ทีนี้

เห็นไหมล่ะครับว่า กฎหมาย คือ คำสั่ง ประกาศ ที่มาบอกว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร ใครไม่ทำตามที่บอก ฝ่าฝืนขึ้นมา ก็ต้องไปจบในคุกในตาราง หรือต้องรับผิดชดใช้อะไรก็ว่ากันไป

แต่มันไม่เกี่ยวเลยนะครับว่า  ถ้ามีปัญหาขึ้นแล้วการสร้างข้อ “ยุติ” แบบนี้มันจะเป็น “ธรรม”   เพราะความยุติธรรมมันเป็นคำที่ใหญ่ อธิบายกันร้อยแปดนิยาม แต่ละคนแต่ละฝ่ายก็บอกว่า อย่างนี้ถึงจะดี อย่างนั้นไม่ดี มีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันมากมาย   ที่มาของกฎหมายในประเทศต้นแบบกฎหมายสมัยใหม่ที่ไทยเราลอก เอ้ยยย เปรียบเทียบกฎหมายมาใช้นั้น   จึงย้ำนักย้ำหนาว่า

            “กฎหมายต้องมาจากตัวแทนของประชาชน” ครับ  เพราะถ้าให้คนแค่กลุ่มเดียวออกกฎหมาย   กฎหมายก็จะรับใช้แค่คนกลุ่มนั้นและพวกพ้อง   ดังนั้นการต่อสู้เพื่อไปกำหนดว่ากฎหมายควรจะเขียนอย่างไร จะทำให้อะไรผิด ทำอย่างไรถูก และมีผลอย่างไร จึงสำคัญมาก   ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องอยู่กับ สังคมที่เถียงๆ กันอยู่ ดันมีคนเข้ามาบอกว่า หยุด!!! เลิกเถียงกันได้แล้ว   เขาบอกให้ทำอย่างนี้ก็ทำไปไม่ต้องทะเลาะกัน ต้องรักกัน สามัคคีกัน   ไอ้เราก็คาใจนะ เพราะหลายทีตัดสินไปเข้าทางอีกฝ่าย แล้วพอเราลองทำแบบอีกฝ่ายบ้าง ดันบอกว่าที่เราทำมันผิด ทั้งที่ “กระทำแบบเดียวกัน”  

...เฮ่อ   นี่มัน “สองมาตรฐาน” ชัดๆ   จากเดิมที่ทะเลาะกันเอง จะกลายเป็นต้องมาทะเลาะกับคนออกกฎหมาย และคนตัดสินด้วยเสียแล้วม้างงง

ดังนั้นกฎหมายที่ดีจึงต้องเป็น กติกาที่กำหนดร่วมกัน “ล่วงหน้า” ว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้แบบนั้นจะต้องทำยังไง พอเกิดเหตุการณ์แบบที่ว่าขึ้นมาก็ให้ศาลมาตัดสินตามกฎหมาย ซึ่งเราก็สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าผลมันจะออกมาอย่างไร   ใครตามที่กฎหมายกำหนดก็จะได้สบายใจว่าทำได้มีกฎหมายคุ้มครอง ใครไม่ทำตามก็ต้องยุติการฝ่าฝืนกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้อื่นในสังคม

พอจะเห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า การมีกฎหมายที่ดีมันเหมือนมีตำรา “พยากรณ์” ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า ในเรื่องต่างๆของชีวิต คนในสังคมทำอะไรได้บ้าง ไม่ควรทำอะไร   กฎหมายจึงเป็นกติกาที่สร้างขึ้นร่วมกันล่วงหน้า เพื่อบอกว่าจะใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างไร

พอมันคาดเดาได้ชัดเจน คนที่อยู่ในสังคมก็จะรู้สึกได้ถึงความมั่นคงและสามารถวางแผนในการใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างชัดเจน   หรือที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบบอกว่า   “ผู้บริโภคและนักลงทุนมีความเชื่อมั่น” นั่นเองล่ะครับ

เอาให้เข้าใจง่ายๆ เลยนะครับ   ถ้าเราอยู่ในประเทศที่บอกว่า ให้คนขับรถชิดขวา คนขับก็จะรู้สึกปลอดภัยเมื่อขับชิดขวากล้าเร่งความเร็วเพราะเดาได้ว่าคันที่สวนมาจะขับอีกฝั่ง   ส่วนนักธุรกิจก็จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถขับพวงมาลัยซ้ายสำหรับขับชิดขวา    แต่สมมติว่ามีอีกบริษัทหนึ่งซึ่งอยากเบียดเข้ามาในตลาดและมีรถพวงมาลัยขวาอยู่ในโกดังเยอะเลยแต่เอามาขายไม่ได้   

ทำยังไงดีล่ะ? ก็ไปคุยกับรัฐผู้ออกกฎหมายสิว่า ให้เปลี่ยนกฎหมายใหม่ แล้ววันรุ่งขึ้นก็เกิดกฎหมายให้เปลี่ยนเป็นขับเลนส์ซ้ายซึ่งต้องใช้รถพวงมาลัยขวาแทน   เฮ่ยยย...นักธุรกิจคงอุทานว่า

“ไอ้ที่ผลิตมาแล้วจะทำยางง้ายยย ขายไม่ได้ขาดทุนย่อยยับ ใครจะรับผิดชอบ....หา!!!”   แล้วยังมีคนขับนับล้านที่ต้องเสียประโยชน์ด้วยนะครับ แหม่ะ

            กฎหมายที่ดีจึงต้องบอกไปเลยว่า รัฐนี้จะเป็นประชาธิปไตยใช้กฎหมายในการตัดสินคดีเพื่อประกันสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค   หรือว่าจะฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่คนดีผู้มีความพิเศษเหนือคนอื่น โดยไม่ต้องกำหนดล่วงหน้าว่า “การกระทำใดทำได้/ทำไม่ได้”   เอาเป็นว่ายกอำนาจตัดสินทั้งหมดไปไว้ที่ใครสักกลุ่ม ซึ่งเป็นผู้แสดงออกว่ารักชาติเหนือคนอื่นก็พอ  บอกมาตรงๆนะ คนอื่นๆในสังคมจะได้ทำตัวถูก!!!

แหม่ประเทศนั้นคงมันส์ พิลึกนะครับ   เพราะคนคงเลิกนับถือกฎหมาย แล้วเปลี่ยนไปหาวิธีทำให้ตัวเองเป็น “คนดี” และ “รักชาติ” เหนือคนกว่าใครๆ โดยไม่ต้องสนใจข้อกฎหมายกันอีกต่อไป  

แล้วสังคมนั้นจะอยู่กันอย่างไร?   ง่ายๆเลยครับ ก็หาพวกที่เป็นคนดีรักชาติเข้าไว้ และอย่าแฉกันเองนะว่าจริงๆแล้ว คนดีผู้รักชาติ สันหลังหวะอย่างไร ถือครองที่ดินป่าสงวนหรือไม่ ถือหุ้นในบริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อมรึเปล่า ส่งเสริมธุรกิจที่ขูดรีดแรงงานและเอาเปรียบเกษตรกรหรือไม่ เพราะเดี๋ยวมันจะเสียหายกันไปหมด   ครับ! ระบบอุปถัมภ์ มันจึงเติบโตและหยั่งรากลึกในสังคมที่ไม่ใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมนี่ล่ะครับ

ส่วนโรงเรียนสอนกฎหมายในสังคมแบบนั้น ก็เป็นได้แค่โรงงานผลิต หุ่นยนต์กฎหมายที่ถูกใส่โปรแกรมว่าต้องทำอะไรตามที่ผู้ใหญ่ว่ามา   มากกว่าตั้งคำถามว่าจะทำให้กฎหมายประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลทั้งหลายในสังคมอย่างเสมอภาคกันได้อย่างไร   และความยุติธรรมทางกฎหมาย กับ ความยุติธรรมทางสังคม ก็จะห่างไกลกันออกไปเรื่อยๆ จนกฎหมายเสื่อมพลังในการทำให้ประชาชนเคารพยำเกรง เพราะคนในกระบวนการยุติธรรมและสังคมทำให้มันเป็นอย่างนั้นเอง

อย่าเพิ่งคอตกครับ ...เราเปลี่ยนมันได้! เพราะกฎหมายสร้างโดยมนุษย์ บังคับใช้โดยคน เราจึงเขียนมันได้ เปลี่ยนให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นของประชาชน เพื่อประชาชนได้   โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมออกกฎหมาย ตรวจสอบการบังคับใช้ และร่วมกำหนดวิธีคัดเลือกคนที่เข้าไปตัดสินคดีนั่นเอง  

ส่วนจะทำอย่างไรได้บ้าง ติดตามในตอนต่อๆไปครับ

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี