Skip to main content

หลังจาก คสช. ได้เรียกคนไทยในต่างแดนมารายงานตัว และมีความพยายามนำคนเหล่านั้นกลับมาดำเนินคดีในประเทศ

ทำให้เกิดคำถามว่า กฎหมายใช้ไปได้ถึงที่ไหนบ้าง?  

ขอบเขตของกฎหมายก็เชื่อมโยงกับองค์ประกอบของ รัฐ

ยังจำกันได้ไหมครับ ว่า รัฐประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

1) ประชากร   2) ดินแดน   3) เอกราช   4) องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย

ตอบอย่างนี้ก็ได้ 1 คะแนน เมื่อไปสอบล่ะนะครับ

หากจะสรุปในประโยคเดียวให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็คือ ประเทศที่มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองประชากรในเขตดินแดนนี่ล่ะครับ   สิ่งที่ชัดเจนมากในโลกปัจจุบัน คือ มีประเทศนั้นปรากฏขึ้นมาบนแผนที่โลก มีเขตแดนค่อนข้างชัดเจน    โดยดินแดนนั้นต้องมีกฎหมายของตัวเอง!

 

ดินแดนมีความสำคัญอย่างไร

“เขตอำนาจศาล” คำนี้คงเคยผ่านตากันมาบ้างนะครับ   มันหมายความความว่า การใช้อำนาจของรัฐเหนือพื้นที่หนึ่ง   ซึ่งในโลกนี้มีความชัดเจนมาสักสองร้อยกว่าปีหลังนี่ล่ะครับว่า   ต่อไปนี้จะมีการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจนว่า   “รัฐใดจะมีอำนาจในเขตไหน”    รัฐสมัยใหม่จึงมาพร้อมแผนที่และการกำหนดเขตแดนกับรัฐเพื่อนบ้านนี่เอง   ย้ำว่ามันเกิดมาไม่กี่ร้อยปีนี่เองครับ

ความสำคัญของมัน คือ การกีดกันมิให้รัฐอื่น เจ้าหน้าที่รัฐอื่น เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในดินแดนเรานั่นเองครับ   ทั้งดินแดนทางพื้นดิน ผืนน้ำ และแผ่นฟ้า  ลากขึ้นไปจนสุดที่ชั้นบรรยากาศเลยครับ   เวลาเครื่องบินจะผ่านจึงต้องมีการตกลงเส้นทางการบินล่วงหน้า และขออนุญาตก่อน

หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนเราไปเที่ยวแล้วจะเข้าพัก หลับนอนที่ไหน ก็มักจะกราบไหว้ “เจ้าที่” เจ้าทาง ที่อยู่มาก่อนในบริเวณนั้น เพื่อขออนุญาตเสียก่อนป้องกันภยันตรายใดๆที่เจ้าถิ่นเดิมจะมาทำภยันตราย

การถือกำเนิดดินแดนและแผนที่จึงเป็นการเปลี่ยนเจ้าที่เจ้าทางในอดีต ให้กลายเป็น รัฐบาล ที่ให้คุณให้โทษเหนือดินแดนรัฐนั้นๆ   ความชัดเจน แน่นอน มั่นคง เหนือดินแดน รวมถึงการลากเขตแดนบนแผนที่จึงต้องเกิดขึ้น   เพราะกองทัพ รัฐบาล ข้าราชการ ตำรวจ รวมไปถึงศาลจะใช้อำนาจเด็ดขาดเหนือดินแดนนั่นเอง

แม้เป็นคนชาติอื่น เป็นบริษัทของต่างชาติ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเจ้าของดินแดน   ซึ่งหลักการนี้ได้รับการยืนยันมาตลอดด้วยการทวงคืนเอกราชทางการศาล เพื่อริบคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนชาติอื่นกลับมา   เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใครก็ตาม  

 

กฎหมายใช้ที่ไหนบ้าง?

กฎหมายจึงใช้บังคับได้เต็มในประเทศ หากรัฐนั้นมีเอกราช!

จะมีก็แต่เพียงกรณีการให้เอกสิทธิ์ทางการทูตกับผู้นำและเจ้าหน้าที่ทางการทูตของประเทศที่ได้ทำสัญญาตกลงแลกเปลี่ยนกัน   คือ   บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องขึ้นศาลภายใน แต่อาจต้องรับโทษและรับผิดชอบความเสียหายด้วยกระบวนการภายในรัฐตน    เพื่อป้องกันมิให้ ผู้นำหรือนักการทูต ต้องมาตกในเงื้อมมือของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเสี่ยงต่อการรักษาความลับ และอำนาจต่อรองของชาติ  

ส่วนจะเรียกร้องสิทธิต่อผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่การทูตต่างชาติอย่างไร รอติดตามได้ในตอนถัดไปครับ ว่าด้วย กฎหมายใช้กับใคร และความคุ้มกันทางการทูต

 

กลับมาที่การใช้กฎหมายในรัฐ หากใครกระทำความผิด หรือมีข้อพิพาทในดินแดนในรัฐใด ก็ต้องเอากฎหมายของรัฐนั้นมาปรับใช้   เช่น   คนฝรั่งเศสขับรถชนกับคนจีนบริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องใช้กฎหมายจราจรทางบก และกฎหมายแพ่งฯ เกี่ยวกับละเมิด ของไทยมาปรับใช้

กรณีที่มีคนถามถึงมากขึ้น คือ การแต่งงานกับชาวต่างชาติ   ก็เช่นกันครับ แต่งที่ไหนก็ใช้กฎหมายรัฐนั้น ถ้าไปแต่งกันนอกประเทศ แต่อยากได้กฎหมายไทยบังคับใช้  จะทำยังไง   ไม่ยากครับ ไปขอจดทะเบียนที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างแดน เหมือนที่เซเลปหลายคนเขาทำกันไงครับ  

คงจำกรณีดาราสาวไทยท่านหนึ่งแต่งงานกับสามีชาวอิตาเลียนที่เป็นผู้บริหารของสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกได้นะครับ   หากท่านอยู่ในสถานการณ์นี้ อยากได้กฎหมายครอบครัวของประเทศไหนคุ้มครองดีครับ   ผมบอกให้สุภาพสตรีทราบละกันครับ    ถ้าทานเป็นสตรีที่ยึดมั่นในความรักและการดูแลกันไปชั่วชีวิต ควรเลือกไปจดทะเบียนที่อิตาลี หรือสถานทูตอิตาลีครับ   เพราะกฎหมายอิตาลีกำหนดให้สามีดูแลภรรยาไปตลอดชีวิต แม้จะหย่าร้างกันไปแล้วครับ   เพราะมีรากฐานมาจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก

 

แล้วจะใช้กฎหมายไทยออกไปนอกประเทศได้หรือไม่?

จริงอยู่ที่กฎหมายจะมีเขตอำนาจศาลในการบังคับอยู่ภายในดินแดน แต่ก็มีกรณีที่รับรู้กันทั่วโลกว่าจะมีกฎหมายอาญาแผ่นดินหมวดหนึ่งที่จะให้อำนาจรัฐ ติดตาม จับกุม ผู้กระทำความผิดที่อยู่นอกประเทศมาดำเนินคดีได้   ไม่ว่าจะกระทำในประเทศแล้วหลบหนีไป หรือ ตระเตรียมและกระทำภายนอกประเทศทั้งหมดก็ตาม

ใช่แล้วครับ   มันคือ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง   หรือให้ตรงกว่านั้น คือ การก่อกบฏ ครับ ซึ่งเหมือนกันทั่วโลกนะครับ   เพียงแต่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐไทย มีหลายมาตราที่เพิ่มมากไปกว่าประเทศอื่นๆ ก็เท่านั้นเองครับ

แต่มันก็ไม่ง่าย ที่จะบังคับตามกฎหมายนอกประเทศ แม้จะเป็นความผิดฐานการทำลายความมั่นคงทั้งหลาย   เพราะแม้มีหมายจับจากศาลไทย หรือมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้วก็ตาม  จะต้องมีการติดตามนำตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา หรือนักโทษ ฯลฯ  กลับมาดำเนินคดี หรือจำคุก ประหารชีวิต ในประเทศไทยอยู่ดี

 

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ผู้ลี้ภัยทางการเมือง

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงเป็นเรื่องที่เราได้ยินบ่อยครั้งในโลกปัจจุบัน เพราะการเดินทางหรือสื่อสารข้ามพรมแดนเป็นเรื่อง่ายดายมากขึ้น   ไม่ต้องคดีคนดังคนสำคัญอะไร คนธรรมดาก็อาจอยู่ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน หรือผู้ลี้ภัย เอาง่ายๆในยุคโลกาภิวัฒน์

เกณฑ์สำคัญที่จะทำให้รัฐประสานความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศได้ ก็คือ  

1)      มีสนธิสัญญาล่วงหน้าในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐไทย กับ รัฐที่จะขอความร่วมมือ

2)      ความผิดที่กล่าวหากันนั้นจะต้องเป็นความผิดที่กำหนดร่วมกันไว้ในสนธิสัญญา หรือ เป็นความผิดตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ ต้องตรงกัน

3)      ความผิดนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นคดีทางการเมือง กล่าวคือ มิใช่โทษที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่เพิ่งจะมีการกำหนดหลังจากมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง หรือมีการเร่งรัดลงโทษฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

4)      โทษของความผิดนั้นจะต้องไม่เป็นโทษประหารชีวิต หากจะขอความร่วมมือจากประเทศในสหภาพยุโรป

5)      นอกจากนี้อาจมีรายละเอียดปลีกย่อย ตามนโยบายของประเทศหรือภูมิภาคนั้น เช่น ต้องไม่มีลักษณะการปฏิเสธความยุติธรรมในชั้นศาล การขาดกระบวนการประกันสิทธิที่เป็นธรรม ฯลฯ

หากเข้าเกณฑ์ที่ว่าไว้ก็ดำเนินการในประเทศที่ร้องขอไป แต่ฝ่ายที่ถูกติดตามตัวก็ยังใช้สิทธิต่อสู้คดีเพื่อคัดค้านการส่งตัวในศาลประเทศนั้นๆได้อีก เช่นกัน   

            การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ และกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่บุคคลเหล่านั้นเข้าไปอยู่ด้วย   ซึ่งมีหลายคดี หรือ หลายบุคคล แทนที่จะถูกส่งตัวมาดำเนินคดี กลับได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองแทน   ด้วยเหตุที่รัฐต้องทางขาดไร้ซึ่งนิติธรรม และการประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม   หรือมีการลงโทษฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็นต้น

 

มีกรณีใดบ้างที่ทำผิดแล้วหนีไปอยู่ที่ไหนก็ไม่พ้นคดี?

ตอบทันทีเลยว่า มีครับ  เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคดีดังๆ ในประเทศไทยด้วย   นับตั้งแต่ คดีอุ้มหาย คดีการซ้อมทรมานลอบสังหาร คดีการประหัตประหารผู้ชุมนุมทางการเมือง ไปจนถึงนโยบายปราบปรามผู้ต้องหาคดียาเสพย์ติดและมีอิทธิพล เป็นต้น

คดีเหล่านี้ หากมีลักษณะเป็น คดีอาญาระหว่างประเทศ อาทิ การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม ก็จะมีลักษณะเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ และผิดในทุกตารางมิลลิเมตรของโลก   เพราะเป็นความผิดที่อยู่ใน “เขตอำนาจศาลสากล”

คดีที่ถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศนี้หากพบเจอผู้กระทำความผิด สามารถร้องให้รัฐเจ้าของดินแดนนั้นๆดำเนินคดีในศาลประเทศนั้นหรือจะส่งกลับมารัฐต้นทางก็ได้   กรณีดังๆ ก็เช่น ในยุคหลังสงครามโลก มีองค์ของชาวยิวและสายลับอิสราเอล ติดตามเหล่านายทหารนาซีที่หลบหนีไปยังประเทศต่างๆมาดำเนินคดี     และที่สำคัญกว่านั้น คือ รัฐที่คนเหล่านั้นไปอาศัยอยู่อาจริเริ่มคดีเองก็ได้อีกด้วย เช่นกัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็เป็นศาลที่ตั้งขึ้นมาจัดการกับเรื่องนี้ หากการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศนั้นไม่มีการเอาผิดผู้กระทำ หรือมีการนิรโทษกรรมจน ผู้กระทำผิดลอยนวลไป   เนื่องจากความผิดที่เกิดขึ้นในที่ใดในโลกก็ย่อมเป็นภาระหน้าที่ของคนทั้งโลกที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขให้ได้    แม้ดินแดนหนึ่งจะทำให้ความผิดหรือโทษหายไป แต่ก็ยังเป็นความผิดที่ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศได้   รัฐไทยจึงควรให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อป้องกันมิให้คนชั่วลอยนวล ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม

 

กฎหมายจะใช้บังคับเฉพาะพื้นที่ได้หรือไม่?

การบังคับใช้กฎหมายเฉพาะพื้นที่เป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเป็นการเลือกประติบัติต่อคนบางพื้นที่ เช่น ทำไมคนพื้นที่นี้จึงออกจากบ้านในยามค่ำคืนไม่ได้ ทำไมคนอีกพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองได้ ทำไมวิทยุชุมชนในท้องถิ่นนี้โดนสั่งควบคุม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง คือ มีการจำกัดสิทธิของประชาชนบางพื้นที่ด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉินฯ  พรบ.ความมั่นคงฯ   ซึ่งล้วนสร้างผลกระทบให้คนในพื้นที่นั้นเป็นอย่างมาก   และมีผลต่อการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่ เนื่องจาก คนไม่สามารถพูดความจริง ความในใจออกมา เพราะต้องเกรงกลัวอำนาจรัฐ   แล้วจะนำไปสู่การเปิดอกคุยกันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

การบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องใช้ เกณฑ์ของ “การกระทำ” และ “การงดเว้นกระทำ”  ที่เสมอภาคกันไม่ว่า ทำอะไรก็ต้องได้ผลเหมือนกันทั่วราชอาณาจักร   หรือกลับกัน หากคนในพื้นที่อื่นมีเสรีภาพในเรื่องใด คนในพื้นที่ทั่วประเทศไทยก็ต้องมีเสรีภาพถ้วนทั่วกัน

 

มีเรื่องใดที่ต้องมีกฎหมายเฉพาะพื้นที่บ้าง?

แต่ก็มีกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นในการใช้กฎหมายเฉพาะพื้นที่ เพราะคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการปกป้องคุ้มครองเป็นพื้นที่   เช่น กฎหมายในการอนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ  เช่น อนุสัญญาอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ  หรือ   กฎหมายดิน น้ำ ป่าไม้ อุทยาน เป็นต้น

แต่สิ่งที่ถกเถียงต่อเนื่องกันมายาวนาน คือ “ใครควรมีอำนาจ/สิทธิในการกำหนดพื้นที่”

นับตั้งแต่มีการสถาปนารัฐสมัยใหม่ ที่มีการลากแผนที่แล้วใช้อำนาจรัฐส่วนกลางเข้ายึดคืนอำนาจจากผู้นำท้องถิ่น หัวเมือง แคว้น ทั้งหลาย   ทำให้เกิดการล่มสลายของระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่   จึงมีความพยายามศึกษาจนเป็นที่มาของระบอบ “การจัดการทรัพยากรร่วม”
ซึ่งเป็นงานที่ทำให้ ผู้ทำการศึกษาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เพราะระบอบนี้ได้ถูกนำเอาไปใช้อย่างได้ผลในหลายเรื่อง ทั้ง การจัดการที่ดิน น้ำ ป่า ไปจนถึงชั้นบรรยากาศ

“การจัดการทรัพยากรร่วม” เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคเอเชีย อัฟริกา อเมริกา   แต่ได้ถูกสลายไปในยุคล่าอาณานิคม   เช่นเดียวกับไทยที่ ระบบจัดการท้องถิ่นนี้ถูกสลายไปเมื่อมีการสถาปนารัฐไทยสมัยใหม่ และใช้กฎหมายฉบับเดียวคลุมทั่วราชอาณาจักร จนสร้างผลกระทบ

 

พหุนิยมทางกฎหมาย กับ การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาที่ล้มเหลวซึ่งสร้างผลกระทบต่อคนในท้องถิ่น ได้ทำให้การนำ สิทธิชุมชน ซึ่งได้รับการผลักดันมาแล้วทั่วโลก กลับมาสร้างพลังให้กับประชาชนและชุมชนที่ต้องการฟื้นฟูระบบการจัดการทรัพยากรในพื้นที่มิให้ตกอยู่ใต้การผูกขาดอำนาจของรัฐแบบเบ็ดเสร็จ

เนื่องจากในหลายกรณี พบว่า การให้รัฐผูกขาดอำนาจแต่ฝ่ายเดียว อาจดูแลไม่ทั่วถึง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ หรือนำไปสู่การให้สัมปทาน หรือมอบอำนาจให้โครงการพัฒนาที่ทำลายชีวิต บั่นทอนสุขภาพ และก่อมลพิษต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก

การสร้างระบบการจัดการในท้องถิ่น ซ้อนเข้ามาในระบบกฎหมายใหญ่ของรัฐ เพื่อทำให้เกิดการจัดการพื้นที่อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จะทำให้การบริหารจัดการพื้นที่มีมิติและเกิดการสถาปนาระบอบจัดการทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น   เพราะมีหลายชุมชนที่พิสูจน์แล้วว่าหากให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็จะมีคนช่วยสอดส่องมากขึ้น  

กลับกัน หากริบอำนาจไปจากคนในท้องถิ่น อาจเปิดช่องให้กลุ่มทุนฉวยโอกาสเข้าใช้พื้นที่เพราะมีอิทธิพลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในการคัดง้างกับรัฐ หรือแม้กระทั่งปรับนโยบายระดับชาติได้เลยทีเดียว

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี