Skip to main content

เรื่องต่อมาผมคิดว่าหลายท่านคงเคยหงุดหงิดอารมณ์เสียกับรถที่ดันมาพังเอาตอนที่เรารีบเร่งจะต้องใช้งานใช่ไหมครับ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ เราขับได้แต่ซ่อมไม่เป็นต้องเข็นไปเข้าอู่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าที่ไหนดีไม่ดี มีฝีมือน่าเชื่อถือจริงรึเปล่า เพราะเราก็ไม่มีความรู้ด้านเครื่องยนต์กลไกและช่วงล่างใดๆทั้งสิ้น ผู้ชายหลายคนที่ดูแมนๆทั้งหลายก็ไม่วายโดนหลอกเอาได้ง่ายๆเหมือนกันถ้าเจออู่ไม่ดี ไม่มีความซื่อสัตย์   จะเข้าศูนย์บริการก็อาจจะแพงไป อู่ดังๆหน่อยก็คิวยาวเหยียดรอไม่ไหวจะต้องใช้รถ ก็เลยเกิดการวัดดวงไปเข้าอู่ที่ไม่ดังมากจนเป็นเรื่องเหมือนกับเหตุการณ์ของคุณลุงท่านนี้เลยครับ

"ในช่วงก่อนวันสงกรานต์จะมีการเตรียมตัวเพื่อเดินทางกลับบ้านเพื่อไปพบปะญาติพี่น้องในต่างจังหวัดซึ่งเป็นบ้านเกิดของแต่ละครอบครัว คุณลุงท่านนี้ก็จะพาภรรยาและลูกๆกลับเยี่ยมญาติและเล่นน้ำสงกรานต์ที่เชียงใหม่เหมือนเช่นคนอื่นๆ    คุณลุงและทุกคนในครอบครัวก็เตรียมลางานเพิ่มเติมเพื่อหยุดยาวคร่อมสัปดาห์เป็นเก้าวันเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลประกาศหยุดยาวเพื่อให้ไปเที่ยวกันอยู่แล้ว ก็กะออกยาวตั้งแต่วันจักรีเลยทีเดียว   เมื่อต้องขับรถยาวๆ คุณลุงได้นำรถไปตรวจเช็คก่อนที่จะเดินทางไกลเพื่อความปลอดภัยก่อน   โดยอู่ประจำมีคิวยาวมากเนื่องจากมีคนเอารถมาตรวจสภาพและซ่อมแซมก่อนเดินทางในช่วงหยุดยาวเหมือนเช่นคุณลุง   ส่วนศูนย์บริการก็มีราคามากและคิวก็แน่นเหมือนกัน   ลุงจึงตัดสินใจเอารถเข้าซ่อมในอู่ซ่อมรถแถวบ้านแทน แม้จะไม่เคยซ่อมกันมาก่อน เพราะเดี๋ยวจะไม่ทันเดินทาง

ในตอนแรก พอทางอู่ตรวจเช็คสภาพเบื้องต้นเพื่อทำการประเมินราคาทั้งค่าซ่อมและอะไหล่ต่างๆที่จำเป็นต้องเปลี่ยน   ทางอู่บอกราคาค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3 พันบาท ซึ่งคุณลุงก็เห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะที่เคยเอาเข้าไปตรวจเช็คสภาพทั่วไปทั้งคันก็ราคาไม่เกินนี้ หากจะต้องเปลี่ยนไส้กรอง น้ำมันเครื่อง หรืออะไรจิปาถะก็คงไม่มากนัก   สองวันต่อมาทางอู่แจ้งมาว่าต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกเป็นทั้งหมด 4 พันบาทเพราะต้องเพิ่มอะไหล่ซึ่งคุณลุงก็พอรับได้เพราะคาดว่าผ่านมาเป็นปีราคาอะไหล่คงมีขึ้นบ้าง และอยากได้รถมาใช้งานแล้วจึงตกลงไป

จนอีก 3 วันต่อมาซึ่งก็ใกล้เวลาเดินทางมากแล้วลุงจึงโทรไปถามความคืบหน้าว่ารถใกล้จะเสร็จหรือยังเพราะกำลังจะออกเดินทางในไม่กี่วันนี้แล้ว ทางอู่แจ้งบอกว่าช่วงนี้คนซ่อมรถเยอะมาก อะไหล่ในจังหวัดหมดเกลี้ยง ต้องสั่งของจากกรุงเทพฯ เข้ามาเป็น 7 พัน เนื่องจากจะเปลี่ยนอะไหล่ช่วงล่างใหม่ให้ทั้งชุด เนื่องจากตอนแรกบอกราคาไปเฉพาะระบบเครื่องยนต์แต่พอซ่อมระบบเครื่องยนต์เสร็จลองขับดูปรากฏว่ามีเสียงมาจากช่วงล่าง จึงมารู้ว่ามีปัญหาถ้าขับทางไกลไม่ซ่อมจะอันตรายมาก ยิ่งทางภาคเหนือมีโค้ง เนินชัน ทางลาดอีก ไม่ควรปล่อยไว้ ลุงก็เลยบอกว่าให้ซ่อมแต่ราคาต้องหยุดที่ 7 พันนะ โดยที่เจ้าของอู่ก็ได้รับทราบและตกลงตามนั้น

เมื่อถึงกำหนดวันรับรถ ปรากฏว่าราคาซ่อมทั้งหมดเพิ่มเป็น 12,000 บาท และเจ้าของอู่ก็ได้นำหลักฐานการสั่งซื้ออะไหล่ให้ลุงดู   โดยชี้แจงว่าต้องเพิ่มค่าอะไหล่ช่วงล่างมี่เพราะแกะออกมาดูแล้วพอว่ามันเสื่อมแล้วทั้งระบบจะเปลี่ยนอะไหล่บางตัวก็ไม่ได้ต้องเปลี่ยนยกชุด แถมต้องเร่งงานให้ทันกำหนดที่ลุงบอกจึงมีค่าโอทีลูกน้องที่ต้องเร่งทำงานทั้งวันทั้งคืนเพิ่มมาอีก   ลุงจึงจำเป็นต้องยอมรับเพราะมีหลักฐานค่าบิลอะไหล่และค่าแรงทั้งหมดบวกโอทีให้ดู แต่ก็ไม่ได้เก็บหลักฐานดังกล่าวไว้เพราะจะรีบออกรถแล้วเนื่องจากทุกคนในครอบครัวรอพร้อมหน้าพร้อมตากันหมดแล้ว

เมื่อนำรถขับขึ้นไปใช้กลับพบว่ารถเสียระหว่างทางที่ขับมา จึงได้ติดต่อญาติให้มารับเพราะอีกไม่ไกลก็จะถึงเชียงใหม่แล้ว วันรุ่งขึ้นลุงได้นำรถไปซ่อมที่อู่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่างได้ถอดอะไหล่ออกมากลับพบว่าอะไหล่ที่นำมาใส่ในรถลุงเป็นอะไหล่มือสองที่ดัดแปลงมาอีกที ไม่ใช่อะไหล่ใหม่ยกชุดอย่างที่เจ้าของอู่ร้านเดิมแจ้งให้ทราบ   ทำให้เกิดการชำรุดอย่างรวดเร็วพอขับมาได้ไม่นาน

ลุงจึงโทรกลับไปเรียกร้องให้เจ้าของอู่ร้านแรกรับผิดชอบ แต่บอกว่าในบิลที่ให้ดูวันนั้นก็เป็นราคาอะไหล่ดัดแปลงอยู่แล้ว เอาบิลไปเช็คกับร้านอะไหล่ก็ได้   แต่ถ้าจะเอาเรื่องอะไรก็ให้ไปก็ว่าไปนะ เค้าเอาหลักฐานให้ดูแล้วลุงก็ตกลงรับรถออกไปเอง เค้าได้เงินมาแล้วไม่คืนให้แน่ๆ เพราะลุงเอาไปขับจนรถพังเอง ขับไม่ดีรึเปล่า ถนนเสียเยอะรึเปล่าช่วงล่างถึงได้พัง  เมื่อลุงถามว่าซ่อมไปไม่กี่วันต้องมีการรับประกันหลังซ่อมสิที่อู่อื่นหรือศูนย์บริการต่างๆยังมีกำหนดวันประกันหลังซ่อมเลย เจ้าของอู่กลับเพิกเฉยไม่คิดจะรับผิดชอบอะไร   ลุงกับญาติของเขาจึงเข้ามาปรึกษาเพื่อว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้างน่ะครับ"

วิเคราะห์ปัญหา

1. การนำรถไปรับบริการซ่อมจากอู่โดยผู้ให้บริการไม่แจ้งราคาที่แน่ชัดให้ทราบ หรือมีการขึ้นราคาเองโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า   ผู้รับบริการจำต้องยอมตามหรือปฏิเสธได้หรือไม่อย่างไร

2. การบอกว่าจะใช้อะไหล่แบบหนึ่งแต่ใช้อะไหล่อีกแบบในการซ่อม ถือเป็นความผิดทางกฎหมายและเจ้าของอู่ต้องรับผิดชอบหรือไม่

3. การซ่อมรถโดยที่ไม่มีการรับประกันจะทำได้หรือไม่ ผู้รับบริการสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบหลังบริการได้หรือไม่

4. หากไม่มีการเก็บเอกสารหลักฐานหรือใบเสร็จต่างๆไว้ จะนำมาฟ้องหรือเรียกร้องสิทธิใดๆได้หรือไม่

5.  หากนำรถไปซ่อมกับอีกอู่จนเสร็จเรียบร้อยจะเรียกร้องให้อู่เดิมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ และในขั้นตอนการเรียกร้องสิทธินั้นต้องทำอย่างไรบ้าง

การนำกฎหมายมาแก้ไข

1. การนำรถไปรับบริการซ่อมจากอู่โดยผู้ให้บริการไม่แจ้งราคาที่แน่ชัดให้ทราบถือเป็นลักษณะความผิดประการหนึ่งในการให้บริการที่ต้องกำหนดราคาให้ทราบเพื่อทำการตกลงกัน หากมีการขึ้นราคาเองโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าถือเป็นการปรับปรุงแก้ไขสัญญาโดยไม่แจ้งให้ทราบ   ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องยอมตาม สามารถปฏิเสธได้โดยผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบการจัดการงานนอกสั่งนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับผู้รับบริการ

2. การบอกว่าจะใช้อะไหล่แบบหนึ่งแต่ใช้อะไหล่อีกแบบในการซ่อม ถือเป็นความผิดทางกฎหมายทางอาญาเพราะถือเป็นการฉ้อโกงเพื่อหวังผลต่อส่วนต่างราคา และเจ้าของอู่ต้องรับผิดชอบสามารถแจ้งความต่อตำรวจในคดีอาญาหรือฟ้องคดีผู้บริโภคก็ได้

3. การซ่อมรถโดยที่ไม่มีการรับประกันในปัจจุบันนั้นกระทำไม่ได้เพราะมีแนวทางของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดไว้และเป็นวิสัยตามปกติของความรับผิดชอบตามกฎหมายที่ผู้รับบริการต้องได้รับคุณภาพการบริการที่ดีตามที่ตกลงกันไว้ ผู้รับบริการสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบหลังบริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

4. หากไม่มีการเก็บเอกสารหลักฐานหรือใบเสร็จต่างๆไว้ สามารถฟ้องหรือเรียกร้องสิทธิใดๆได้โดยการนำสืบปากเปล่าหรือหาพยานมาเพิ่มเติม ตามแนวทางของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

5. หากนำรถไปซ่อมกับอีกอู่จนเสร็จเรียบร้อยจะเรียกร้องให้อู่เดิมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เพราะถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการให้บริการไม่มีคุณภาพของอู่เดิม และในขั้นตอนการเรียกร้องสิทธินั้นให้ทำตามขั้นตอนของวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค คือ เริ่มจากทวงถาม แล้วจะร้องทุกข์และฟ้องต่อไป

ช่องทางเรียกร้องสิทธิ

1. การบังคับตามสิทธิในสัญญาบริการ(จ้างทำของ) เริ่มด้วยการทวงถามเพื่อให้ลูกหนี้ คือ อู่ซ่อมรถชดใช้หนี้การให้บริการซ่อมรถให้มีคุณภาพตามที่ตกลงกันไว้

2. หากยังไม่มีการชำระหนี้ หรือบ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยง ก็สามารถนำความเดือดร้อนนี้ไปร้องยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)  (กรุงเทพฯ) หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดในจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ได้

3. การฉ้อโกงเอาอะไหล่ผิดลักษณะที่ตกลงสามารถแจ้งความดำเนินคดีทางอาญาที่สถานีตำรวจหรือตั้งทนายฟ้องให้รับโทษทางอาญาและเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งฯไปพร้อมกันได้

4. มาตรการขั้นเด็ดขาด ผู้บริโภคสามารถนำเรื่องไปฟ้องยังศาลแพ่งและพาณิชย์ แผนกคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งจะมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดี รวมถึงไกล่เกลี่ยประนีประนอมที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค

สรุปแนวทางแก้ไข

ใช้หลักกฎหมายสัญญาบริการซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาดูแลเพิ่มเติม   ซึ่งกรณีนี้เป็นการหลอกลวงโดยอาศัยวิชาชีพบริการมาเป็นเครื่องมือไม่ให้บริการตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้และไม่รับผิดชอบ จึงสามารถร้องเรียนไปยัง สคบ. หรือฟ้องต่อศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค เพื่อให้มีการรับผิดและชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย


 

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี