Skip to main content

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อสารที่ตัดข้ามผ่านพรมแดนตลอดเวลา และเศรษฐกิจระบบตลาดที่มีพละกำลังมหาศาลจนมิมีรัฐใดทัดทานได้ จนต้องเปิดกำแพงให้สินค้า บริการและผู้คนเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวกกว่ายุคสงครามเย็นที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนนักคิดไม่น้อยหลุดปากว่า “รัฐชาติลดความสำคัญ” ไปแล้ว

                แต่เมื่อถึงมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ และตอนนี้ก็คือฟุตบอลโลก ก็ดูเหมือนสีสันของธงชาติกลับโบกสะบัดพลิ้วไหวให้คึกคักไปกับภาวะชาตินิยมกลายๆไปด้วย

                ในอารยประเทศ นี่อาจเป็นโอกาสเดียวที่ประชาชนสามารถแสดงออกความคลั่งชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะถือว่าเป็นกิจกรรมบันเทิงส่วนตัวที่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่น และไม่นำไปสู่การเหยียดหยามเชื้อชาติ   จะเป็นก็แต่เพียงการล้อเล่นเย้ยหยันเพื่อความบันเทิงเท่านั้น โดยมีกติการ่วมกันในใจว่า นี่คือ กีฬา จบแล้วก็เหลือเพียงน้ำใจในฐานะคอกีฬาเดียวกัน 

                แต่หากอารมณ์ไม่จบในสนามลุกลามออกมานอกพื้นที่จำกัด แล้วแสดงออกมาด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยวาจาเหยียดหยาม อาฆาตมาดร้าย หรือใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินแล้วล่ะก็ อันธพาลเหล่านั้นจำต้องได้รับโทษทัณฑ์จากบ้านเมืองและถูกประณามจากสังคมเป็นแน่แท้

                สิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงและจำต้องพูดเพราะเป็นปัญหาที่เกิดควบคู่กับทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์นั่นก็คือ การเคลื่อนย้ายของผู้คนในนามของ ผู้อพยพ หรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกระจายเข้าไปรับงานสกปรก ด้อยศักดิ์ศรี และอันตรายในประเทศที่มีรายได้หรือคุณภาพชีวิตดีกว่า   และในทางกลับกันพลเมืองของประเทศพัฒนาแล้วก็กำลังสูญเสียอาชีพและรายได้เนื่องจากกลุ่มทุนได้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศไปแสวงหาต้นทุนราคาถูกในประเทศที่มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า

                เมื่อคนสองกลุ่มเผชิญหน้ากันบนพื้นฐานของ “การได้เสีย” ย่อมเกิดการเปรียบเทียบและเดียดฉันท์กันขึ้นมาหากไม่อาจวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการบีบคั้นของทุนข้ามชาติได้อย่างถ่องแท้  โวหาร “แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนท้องถิ่น”  หรือ “ผู้อพยพเข้ามาก่อปัญหาสังคม”  ที่ดังก้องย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการขาดไร้จินตนาการในการพิเคราะห์ปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่ง

                สิ่งที่เกิด ณ ขณะปัจจุบันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของเครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิต แลกเปลี่ยน บริโภคภายใต้ตรรกะของทุนนิยมแบบตลาดที่ได้กระจายเข้าไปอยู่ในชีวิตจิตใจของใครหลายคน   ดังปรากฏการสร้างภาพฝันเรื่องการ ลงทุนโดยไม่ต้องลงแรง เป็นอิสระจากการเข้างานเป็นเวลาตอกบัตร หรือติดแหง็กอยู่ในที่ทำงาน และแน่นอนจะต้องรวยเร็วด้วย เพื่อจะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุขไปด้วยการกิน เที่ยว และเอ็นเตอร์เทนตัวเองด้วยการโชว์ออฟผ่านสื่อ

                ภาพฝันเหล่านี้ได้ผลักดันให้เกิดงานใหม่ๆที่กระจายไปตามครัวเรือน และร้านกาแฟอย่างรวดเร็ว แต่เดิมที่ผู้ประกอบการต้องลงทุนสร้าง/เช่าสำนักงานเพื่อให้ทุกคนมาทำงานร่วมกันแล้วควบคุมตารางเวลางานเพื่อจ่ายค่าจ้างตามเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจน   กลายเป็นคนรุ่นใหม่ยินดีรับงานไปทำเอง บนค่าใช้จ่ายของตัวเอง และแบกรับภาระงานเข้าไปผสมกับเวลาที่ใช้ชีวิตประจำวันหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ได้ผลงานออกมาตามเป้าหมาย โดยรายได้ก็ต้องบี้กับคู่แข่งรายอื่นที่ล่องลอยอยู่ในตลาดแรงงานอิสระอีกมากมายเช่นกัน

                คนรุ่นใหม่อีกไม่น้อยก็ใช้ทักษะทุกอย่างที่ตนมีผลักดันให้ตนขึ้นเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการออนไลน์โดยไม่ต้องอยู่ใต้นายจ้างคนไหนแต่ข้อมูลที่ตนผลิตและเรียกลูกค้าเข้ามาใช้เวลาในสื่อโซเชียลเหล่านั้นเข้ากระเป๋าเจ้าของแพลตฟอร์มเต็มๆ 

เช่นเดียวกับ ผู้รับจ้างขับรถภายใต้แอพพลิเคชั่น หรือการนำที่อยู่อาศัยของตนมาปล่อยเช่าในเว็บไซต์ระดับโลก  โดยที่ต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่ง และข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดให้กับผู้ประกอบการที่อยู่จุดใดของโลกก็ไม่อาจทราบได้

ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดต้องการสะท้อนว่า “ไม่มีของฟรีในโลกฉันใด ไม่มีงานประจำก็ไม่มีสวัสดิการฉันนั้น”   ความอิสระและความสุขที่เกิดจากการไร้เจ้านายไม่ผูกติดกับสถานประกอบการนั้น แท้จริงคือ การอยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ต้องแบกรับความเสี่ยงในชีวิตและสุขภาพเอาเอง และเมื่อยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเร็ววันก็ยิ่งไปเพิ่มความเครียดสะสมจนกลายเป็นความเครียดและซึมเศร้านั่นเอง

ประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาเป็นทศวรรษในประเทศพัฒนาแล้ว จนคนท้องถิ่นที่สูญเสียงานและคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกชีวิตเสี่ยง หันไปชี้เป้าที่คนอพยพแรงงานข้ามชาติว่าเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์   โดยที่ไม่ได้มองไปยังสาเหตุที่แท้นั่นคือ การขูดรีดของกลุ่มทุนข้ามชาติ ผสมโรงด้วยการผลักภาระในการดูแลสวัสดิการแรงงานทั้งจากผู้ประกอบการและรัฐ นั่นเอง

ความเจ็บแค้นนี้นำไปสู่ภาวะเหยียดผู้ที่มาใหม่แล้วไปเร้าอารมณ์คลั่งชาติที่สะท้อนผ่านการตัดสินใจทางการเมืองจำนวนมากที่น่าตกใจ เช่น การลงคะแนนเอาสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป การเลือกผู้นำขวาจัดที่มีนโยบายชาตินิยมรุนแรง ซึ่งล้วนแต่สร้างปัญหาเพิ่มเติม โดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาต้นทางที่เกิดจากระบบทุนนิยมที่มิได้กระจายโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตอย่างเท่าเทียม และไม่มีระบบเปลี่ยนผลกำไรของกลุ่มทุนให้ย้อนมาเป็นสวัสดิการของคนในสังคม

พลเมืองโลกควรควบคุมความคลั่งชาติให้อยู่ในสนามก่อนเกมส์จบเท่านั้น

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี