Skip to main content

กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้ตกเป็นเหยื่อ "ความมักง่าย" เข้าแล้วครับท่านผู้อ่าน

มักง่ายแรก ผมเจอ รถหกล้อมักง่าย คิดจะเปลี่ยนใจจากขับตรงผ่านแยกเป็นเลี้ยวซ้าย ก็หักพวงมาลัยมันกลางสี่แยก เกี่ยวจักรยานและตัวผมล้มกลิ้งไปใต้รถ ดีไม่ถูกทับตาย   รอดมาได้หวุดหวิดครับ ไม่แตก ไม่หัก แต่ถลอกปอกเปิกไปหมด จักรยานพัง กล้องข้าวผมแตกเสียหาย แกงส้ม คั่วกลิ้งกระจายเละเทะ
คนขับบอก  "ผมผิดเอง พอดีหลงทาง จะไปซ้ายแต่ดันอยู่ตรง เลยไม่ได้เลี้ยวตรงทางเบี่ยงก่อนหน้านี้" (มาหักใส่ตอนเลยแยกแล้ว เกี่ยวรถผมที่ชิดซ้ายไม่รู้จะชิดไงแล้ว)

มักง่ายสอง รถฉุกเฉินพาตัวผมไปโรงพยาบาลบาล เจ้าหน้าที่ก็ทำๆกันไป เสมือนว่า ผมมาทำให้หมอพยาบาลเสียเวลามากที่เกิดอุบัติเหตุ แต่อันนี้พอเข้าใจได้ เนื่องจาก คนเจ็บก็ล้นโรงพยาบาล เช่นกัน

มักง่ายสาม เจ้าพนักงานโทรมาบอกว่าให้ยอมๆความไป อย่าไปเอาเรื่องอะไรเลย ค่าเสียหายก็อย่าไปเรียกอะไรเลย คนขับไม่ค่อยมีตังค์ ประวัติก่อคดีก็ไม่มี  พอผมถามว่า

มักง่ายสี่ สารวัตรเรียกไปโรงพัก แต่ดันไม่อยู่ ให้รออยู่นานก็ไม่มา แต่ปล่อย คนขับหกล้อกลับบ้านไปแล้ว

มักง่ายห้า คนขับให้เมียโทรมาอ้อนวอน ขอให้ "ทำบุญร่วมกัน" อย่าเอาผิด หรือเรียกร้องค่าเสียหายอะไรทั้งสิ้น เพราะ รถจะถูกยึดเพราะขาดส่งไฟแนนซ์ ส่วนที่ดินและบ้านก็กำลังประกาศขาย   ซึ่งจริงรึเปล่าก็ไม่รู้

มักง่ายหก เว็บข่าวเอาไปลงว่า มาปั่นออกกำลังกายบนทางหลวง เสมือนว่าเกิดเหตุเพราะ ประมาทร่วม  และมีคนมาคอมเม้นต์มักง่ายว่า ถนนไม่ใช่ที่ของจักรยาน ไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะไป โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าที่ต้องปั่นมาเพราะ ไม่มีรถยนต์ขับ แต่มีธุระต้องมากดโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องออกจากถนนซอยที่ตู้ใกล้สี่แยก

กล่าวโดยสรุป คนที่ไม่มีรถขับ ต้องปั่นจักรยานมาซื้อข้าวกินสามมื้อ เพื่อประหยัดเวลา ประหยัดพลังงานโลก และได้สุขภาพไปในเวลาเดียวกัน  ผิด!!!
สภาพตอนนี้ คือ จักรยานโครงหักกลาง ล้อแบะเละทั้งคัน คนรอด ทัปเปอร์แวร์แตกเสียหายหมด และกลายเป็น คนใจร้าย และเกะกะบนท้องถนน

หากประเทศไทยจะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ยังไม่คิดเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกันของ ยานพาหนะทุกประเภท  มันดูจะมักง่ายเกินไปไหมล่ะครับ

เมื่อบวกเข้ากับอารมณ์ของคนจำนวนมากที่มักจะเหมารวมว่า พวกปั่นจักรยานเป็นอีกชนชั้นน่าหมั่นไส้  มาปั่นจักรยานเพื่อความรื่นรมย์ แย่งชิงพื้นที่ถนนซึ่งคนทำมาหากินต้องเร่งขับขนส่งสินค้า หรือสัญจรไปกลับที่พัก   ก็ดูเหมือนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกลายเป็นกิจกรรมเสี่ยงอันตรายไปทันที ทั้งที่มีคนจำนวนมากใช้จักรยานเพราะ “ไม่มี”


คนที่คิดปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน หรือนักท่องเที่ยวที่ใช้จักรยาน โดยถูกเหมารวมเข้าไปใน อคติแห่งความหมั่นไส้ จึงกลายเป็น คนที่มักง่ายเกิดไปที่คิดว่าสามารถมีชีวิตรอดปลอดภัยในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขับรถยนต์คันใหญ่ เสียอย่างนั้น

 

แต่ใช่ว่าขับรถยนต์ในประเทศไทยจะปลอดภัยอีกเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างเส้นทางคมนาคมไทยยังมีหลายจุดที่ไม่ได้มาตรฐานและสร้างอันตรายให้กับผู้สัญจรซ้ำซาก ไม่ว่าจะผู้ขับขี่จะใช้ความระมัดระวังมากขนาดไหน ดังปรากฏเรื่องเล่าโค้งร้อยศพกระจายไปหลายจังหวัด ทั้งที่จริงเกิดจากการออกแบบและสร้างถนนที่สร้างความเสี่ยงขึ้นมา เช่น โค้งไม่ยกระดับให้รับแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ เป็นทางน้ำไหล มีดินทรายสไลด์ มีหลุมบ่อ แสงไม่พอ จุดหักและระยะวิกฤต ฯลฯ

และเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ถนน ก็กลับกลายเป็นประชาชนอาจตกเป็นจำเลยคดีอาญา เพราะทำให้ของหลวงเสียหาย  โดยที่มิได้มีการตั้งคำถามกลับว่าใครเป็นผู้สร้างอันตรายให้เกิดกับประชาชน บางครั้งเสียชีวิต หลายครั้งพิการ กล่าวโดยรวม ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงฝ่ายเดียว เพราะรัฐและผู้สร้างถนนผลักภาระความรับผิดด้วยสถานะที่เหนือกว่า และอำนาจในการใช้กลไกของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างช่ำชองกว่านั่นเอง

 

หากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความมักง่าย พยายามเปิดประเด็นหรือเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรม ก็จะโดนโต้กลับด้วยการอ้างบุญกรรมแบบตื้นเขินนี่พุดกันกระจายไปทั่วจริงๆ   ถึงขนาดที่บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมเอง ยังหลุดพูดว่า "ปล่อยให้เป็นไปตามเวรตามกรรม ใครทำอะไรไว้กรรมจะตามสนอง" อยู่เป็นระยะ   จนชวนให้ประชาชนสงสัยว่าเราจะเสียภาษีจ้างและสร้างกระบวนการยุติธรรมที่แพงมหาศาลไปทำไม ถ้ากลไกไม่ได้ปกป้องสิทธิของเรา หนำซ้ำยังให้เรากลับไปรอ “ผลกรรม” ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่

 

ครับ กระบวนการยุติธรรมที่มาทันการและคาดเดาได้ นี่ล่ะครับที่จะเป็นตัวชี้ว่า ใครเป็นผู้สร้างอันตราย ความเสี่ยงกระจายไปอยู่ในความรับผิดชอบของใคร หากเกิดความเสียหายใครต้องรับผิดชดใช้ และต้องมีไว้เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณชน

 

หาไม่แล้วต้นทุนในการดำเนินชีวิต ประกอบธุรกิจของคนในสังคมนี้จะสูงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงในระหว่างการคมนาคมสูงมหาศาล   ชนิดที่ว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อาจสิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตพังกันไปแถบๆ ดังที่เห็นกันในหลายครอบครัว

 

ความเสี่ยงที่เกิดจากความมักง่ายเหล่านี้ แม้รัฐอาจจะมองไม่เห็น แต่ผู้ที่มองเห็นมานานหลายร้อยปี ก็คือ ธุรกิจประกันภัย เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มักเกิดขึ้นจากการ “ขยายเส้นทางคมนาคมขนส่ง” รวมไปถึง “การลดความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง นั่นเอง

 

บริษัทเอกชนที่เคยประกอบกิจการด้านอื่นๆ จึงหันมาจับธุรกิจประกันภัยเป็นอันมาก ถึงขนาดระดมดาราดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์คับคั่ง ด้วยค่าตัวระดับแปดหลัก

ท่านที่อยู่ในแวดวงธุรกิจประกันภัย ก็บอกว่าธุรกิจมีแนวโน้มระดับร้อยเปอร์เซ็นต์ในไม่กี่ปีด้วย

ก็แน่ล่ะครับ ในเมื่อถนนหนทาง บ้านเมือง ร้านตลาด ขยายออกไปไกลมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่เกิดจากโครงสร้างคมนาคมที่ไม่ได้มาตรฐาน และกระบวนการยุติธรรมที่ผลักภาระไปให้ประชาชนแบกกันเอง ก็ยิ่งมากตามไปด้วย

จึงน่าสงสัยว่า สาเหตุที่สังคมไทยมีความเสี่ยงสูง เป็นเพราะรัฐด้อยประสิทธิภาพด้วยระบบราชการที่อ่อนล้า หรือว่าต้องการให้คนทั้งสังคมรู้สึกเสี่ยงภัย จนเร่งไปซื้อหาสารพัดประกันภัยจากเหล่าบริษัทเอกชนนะครับ

หากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจก้าวหน้า แข็งแรงมั่นคง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมาจัดการสิ่งที่เป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐ นั่นคือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นี่ล่ะครับ

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องนี้มีน้องคนหนึ่งนำเรื่องแปลกมากเล่าให้ฟัง เหตุการณ์ก็มีดังนี้ครับ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องสุดท้ายของบริการด้านสื่อสารแล้วนะครับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกบ้านแน่ๆ เพราะเดี๋ยวนี้เรามีอินเตอร์เน็ตใช้ที่บ้านกันแล้วแทบทุกหลังเพราะมันทำให้เราสามารถทำงานหรือพักผ่อนที่บ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนั่งทำงานที่อื่นหรือเสียเงินออกไปซื้อความบันเทิงนอกบ้าน   หนูก็ชอบดูซีรี่ส์แล
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องต่อมาผมคิดว่าหลายท่านคงเคยหงุดหงิดอารมณ์เสียกับรถที่ดันมาพังเอาตอนที่เรารีบเร่งจะต้องใช้งานใช่ไหมครับ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ เราขับได้แต่ซ่อมไม่เป็นต้องเข็นไปเข้าอู่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าที่ไหนดีไม่ดี มีฝีมือน่าเชื่อถือจริงรึเปล่า เพราะเราก็ไม่มีความรู้ด้านเครื่องยนต์กลไกและช่วงล่างใดๆทั้งสิ้น ผู้ชา
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องนี้หลายท่านอาจจะเคยเจอปัญหาเดียวกัน หรือเคยได้ยินตามข่าวคราวที่ออกมาหลายครั้งนะครับ เพราะว่าปัจจุบันศูนย์ออกกำลังกายหรือฟิตเนสเซ็นเตอร์เป็นที่นิยมมาก ก็เพราะเราอยากมีร่างกายแข็งแรง รูปร่างสวยงาม เปล่งปลั่งมาจากภายในแต่ไม่มีเวลาไปออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งเพราะไม่ตรงกับเวลาว่าง ก็มักจะเข้าฟิตเ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องยุ่งๆ เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมตามเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกของบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง ซึ่งได้เข้ามาชักชวนคนในพื้นที่ให้เข้าร่วมทำสัญญาประกันชีวิตแต่ไม่ได้ทำตามเงื่อนไขของสัญญาที่มาเล่าปากเปล่าและมีการปิดบังซ่อนเร้น เพิ่มเติมเงื่อนไขบางอย่าง เมื่อผู้เอาประกันตาย ญาติ ลูกหลานไปร้องขอรับปร
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นกรณีที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่นที่อาจมาเคาะประตูบ้านเราได้ทั้งที่เราก็อยู่เฉยๆในบ้านไม่ได้ออกไปทำอะไรเสี่ยงภัย  แต่กลับประสบภัยจากความประมาทเลินเล่ออย่างรายแรงของผู้อื่น  ลองไปฟังเคราะห์หามยามซวยของน้องคนหนึ่งที่หวังจะใช้กฎหมายเป็น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ป้าคนหนึ่งเข้ามาปรึกษาว่าไปโรงพยาบาลรัฐแถวบ้านซึ่งตนมีชื่อเป็นคนใช้สิทธิบัตรทองอยู่ที่นั่น แต่ด้วยความที่ป้าได้รับบัตรมานานมากแล้ว และเมื่อสองปีก่อนได้มีการก่อสร้างและซ่อมบ้านทำให้ต้องโยกย้ายข้าวของออกจากบ้านก่อนจะกลับเข้าไปอยู่อีกครั้งเมื่อซ่อมแซมเสร็จ ทำให้บัตรที่เก็บไว้สูญหายไปเมื่อไหร่ก็ไม่ทร
ทศพล ทรรศนพรรณ
สิ่งที่ขับเคลื่อนโลก คือ เทคโนโลยี การทหาร การค้า และการแพร่ความคิด ความเชื่อ ศาสนา
ทศพล ทรรศนพรรณ
กฎหมาย เขียนด้วยคน บังคับด้วยคน และก็เป็นการควบคุมพฤติกรรมของคน   จึงมีคนสงสัยว่า แล้วอย่างนี้จะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมไปทำไมในเมื่อไปบังคับ ดิน ฟ้า อากาศ หรือน้ำ ไม่ได้  
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ผมได้ใช้เวลาวนเวียนอยู่กับการทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโท
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังจากคำทำนายในบทความ “รัฐเผด็จการ กับ การล้วงตับ” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ (http://blogazine.in.th/blogs/streetlawyer/post/4833) จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ประชาชนและสังคมไทยต้องร่วมกันต่อต้าน ชุดกฎหมายความมั่นคงโดยเฉพาะ พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาจำนวนมากขัดกับ หลักกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ทศพล ทรรศนพรรณ
“ความซวยไม่เข้าใครออกใคร” รถหาย โดนเบี้ยวหนี้ ชนแล้วหนีไม่มีใครรับผิดชอบเด็กในท้อง ไปจนถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ถ้าลองได้เกิดขึ้นในหมู่คนรู้จัก ก็มักจบลงด้วยการตัดญาติขาดมิตร ไม่เผาผีกัน คงเป็นสิ่งที่ได้ยินไม่เว้นแต่ละวันใช่ไหม