Skip to main content

คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ปราศจากการกระจายความมั่งคั่งมาเจือจุนเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม โดยเฉพาะสิทธิในที่อยู่อาศัยตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและขจัดความยากจนอันมุ่งทำให้ทุกคนมีปัจจัยการดำรงชีพขั้นต่ำอย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้นการขาดไร้ซึ่งเอกสารยืนยันสถานะบุคคลและปราศจากภูมิลำเนาที่ชัดเจนยังทำให้สูญเสียสิทธิในการได้รับสวัสดิการจากบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการรอนสิทธิเมื่อมิอาจเข้ากลไกเยียวยาสิทธิทั้งหลายได้

การพยายามขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในทางการเมืองก็เปราะบางเพราะอาจจะไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐหรือองค์กรธุรกิจ เนื่องจากมีปริมาณคนในแต่ละพื้นที่น้อยและไม่อาจตรวจสอบย้อนได้ชัดเจนว่าเป็นพลเมืองตามภูมิลำเนาใด จนเป็นสาเหตุให้กลุ่มผลประโยชน์มองข้ามความสำคัญและไม่นับเป็นภารกิจทางการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง  อย่างไรก็ดีกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนน้อยที่อาจไม่ถูกนับในทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะปัจเจกชนที่รัฐพึงให้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เช่นเดียวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้กำหนดบทบาทของรัฐบาล ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทส่งเสริมสิทธิของคนไร้ที่พึ่ง

กระนั้นการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เดิมมีเจตนารมณ์ช่วยเหลือคนไร้บ้านและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่สาธารณะกลับมิได้บังคับตามสิทธิที่กฎหมายได้ให้แนวทางไว้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิของไร้บ้านอันเนื่องมาจากการจับกุมคุมขัง และพยายามกวาดล้างคนไร้บ้านออกจากพื้นที่สาธารณะ ภาวะความเสี่ยงของคนไร้บ้านที่ขาดเอกสารยืนยันตัวบุคคล หรือไม่อาจตรวจสอบย้อนภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านยิ่งซ้ำเติมคนไร้บ้านให้อยู่อย่างหวาดกลัวต่อการดำเนินคดีว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือกลายเป็นอาชญากรในสายตาเจ้าพนักงานของรัฐ  ก่อเป็นความหวาดระแวงต่อหน่วยงานรัฐจนผลักไสให้เข้าใกล้องค์กรอาชญากรรมและกิจกรรมผิดกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ จนหมิ่นเหม่ต่อการเปลี่ยนสถานะเป็นอาชญากร ทั้งที่กลุ่มคนไร้บ้านเป็นเหยื่อขององค์กรอาชญากรรมในหลายรูปแบบ อาทิ การถูกบังคับเป็นขอทาน ลวงไปใช้แรงงานทาส หรือการค้ามนุษย์ 

การมองข้ามความหลากหลายของกลุ่มคนไร้บ้านโดยหน่วยงานรัฐย่อมนำไปสู่การลิดรอนสิทธิของคนไร้บ้านในลักษณะการกลายเป็นส่วนเกินของชุมชน เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนรอบข้างก็มักถูกตราบาปกดซ้ำย้ำว่าเป็นฝ่ายผิดโดยมิได้มีมาตรการระงับข้อพิพาทที่เป็นธรรมกับคนไร้บ้านกลุ่มเสี่ยงซึ่งด้อยอำนาจต่อรอง  เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงหรือการกล่าวหาที่มิชอบด้วยกฎหมายกระบวนการยุติธรรมก็มิได้เข้าปกป้องเยียวยาตามมาตรฐานที่พึงจะเป็น   เรื่อยไปถึงการด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขทั้งในเชิงป้องกันก่อนและเยียวยา กว่ารัฐจะเข้ามาแก้ไขสภาพปัญหาก็ร้ายแรงจนรัฐเกรงว่าอาจแพร่ระบาดโรคอันตรายสู่สังคม

แม้จะมีพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเป็นหลักประกันทางกฎหมายที่รองรับปัญหาอยู่ แต่แนวทางการบังคับตามสิทธิในกฎหมายยังอยู่ในลักษณะสังคมสงเคราะห์ หรือการผลักดันคนออกจากพื้นที่สาธารณะแล้วรวบรวมไปอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่ตรงตามความปรารถนาของปัจเจกชนหรือกลุ่มคนไร้บ้าน การบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่ตรงจริตความถนัด ไปจนถึงการขาดแคลนระบบจัดการที่ละเอียดอ่อนเพียงพอต่อการบริหารปัญหารายกรณีให้เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละบุคคล อันจะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูศักยภาพบุคคลจนสามารถพัฒนาตนเองให้ยืนหยัดได้อย่างมีศักดิ์ศรีเต็มภาคภูมิ  

พระราชบัญญัติควบคุมการขอทานที่มีเป้าหมายป้องกันการค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มเสี่ยงโดยองค์กรอาชญากรรม ก็ถูกนำไปใช้อย่างคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามเจตนารมณ์ เนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายมิได้เข้าช่วยเหลือคนไร้บ้านหรือผู้ที่ถูกบังคับให้ขอทานแต่กลับจับกุมดำเนินคดีในฐานะขอทาน ทั้งที่รัฐต้องพยายามสืบสาวไปถึงต้นตอองค์กรอาชญากรรมแล้วนำผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากคนไร้บ้านมาดำเนินคดี แล้วขยายผลไปสู่การต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ


ด้วยผลการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปส่งเสริมสิทธิกลุ่มคนไร้บ้านควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน   โดยสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนประเด็นพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านดังต่อไปนี้

1. รัฐบาล
1. รัฐบาลสามารถธำรงความต่อเนื่องของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกลุ่มคนเปราะบางทางสังคม และคนไร้ที่พึ่ง เพื่อประคับประคองการทำงานด้านบริการ วิชาการด้านคนไร้ที่พึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งอาจปรับเป็นกรอบการทำงานในระดับปฏิบัติการเพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง
2. การพิจารณาทบทวนกฎหมายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาของคนไร้ที่พึ่งตามวาระ เพื่อทวนย้อนสถานการณ์คนไร้ที่พึ่งว่าได้รับการคุ้มครองและพัฒนาที่ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของคนไร้ที่พึ่งอย่างยั่งยืน ตามแนวทางสร้างการยืนหยัดด้วยตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
3. รัฐบาลอาจเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการของกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในส่วนงานฟื้นฟูศักยภาพ และการทำงานเชิงรุกในการจัดบริหารด้านสวัสดิการ ฟื้นฟู การเฝ้าระวัง ติดตามประเมินผล โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนคนไร้บ้าน

2. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
1. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สามารถก้าวไปสู่หน่วยงานรัฐบูรณาการ คือ เป็นได้ทั้งหน่วยงานปฏิบัติการและสร้างนโยบายวิชาการ ผ่านการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนไร้ที่พึ่งไปยังรัฐบาล โดยอาจเสริมพลังน้ำหนักร่วมกับภาคีที่พร้อมสนับสนุนภารกิจของกรมฯ
2. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อาจแสดงบทบาทนำในการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือจัดทำข้อมูลของคนไร้บ้าน แล้วนำมาประสานกับข้อมูลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อทำฐานข้อมูลในการช่วยเหลือคนไร้บ้านในด้านต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นประเด็นอ่อนไหวของคนไร้บ้าน
3. กระทรวงฯสามารถจัดทำนโยบายเชิงรุกหรือส่งเสริมระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับคนไร้บ้าน อาทิ ให้สิทธิแก่คนไร้บ้านในการเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงได้แม้ไม่มีบัตรประชาชน ตามแนวทางของพันธกรณีสิทธิมนุษยชนสากลที่ไทยเป็นภาคี
4. กระทรวงอาจประชาสัมพันธ์และดึงภาคีความร่วมมือเข้าร่วมยกระดับการคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับคนไร้ที่พึ่ง เช่น การสร้างโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ การพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของเครือข่ายคนไร้ที่พึ่ง ทั้งจากภาคประชาสังคมและองค์กรธุรกิจ
5. การอนุเคราะห์ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ และคนไร้ที่พึ่งให้แก่สังคมและคนรุ่นใหม่ ผ่านการสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆทาง และมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเปิดพื้นที่ทางความคิดให้กลุ่มเปราะบาง คนไร้ที่พึ่งกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทางเลือก ทางออกที่หลากหลายและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง และเปิดพื้นที่ความรู้ใหม่ๆกับคนรุ่นใหม่ซึ่งใส่ใจประเด็นสังคม
6. กระทรวงฯในฐานะผู้เชี่ยวชาญสามารถการพัฒนาข้อมูลและระบบฐานข้อมูลของคนไร้ที่พึ่ง ในลักษณะการทบทวนข้อมูลตามวาระอย่างทันสถานการณ์และสภาพความเป็นจริง เชื่อมโยงข้อมูลแต่ละหน่วยงานได้ตรงกัน สามารถนำไปใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งได้อย่างมีวิสัยทัศน์ กระทรวงอาจประกาศเป็นเจ้าภาพจัดทำระบบจัดการข้อมูลและฐานข้อมูลที่เป็นระบบเดียวกันบูรณาการทุกหน่วยงาน และอาจอนุเคราะห์เปิดเผยบิ้กดาต้าให้องค์กรการกุศล ประชาสังคมสามารถนำไปใช้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของคนไร้ที่พึ่งได้
7. การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นตัวกลางประสานการทำงานเพื่อการแก้ปัญหาคนไร้ที่พึ่งของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคนไร้ที่พึ่ง ทั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง หรือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม
8. กรมฯอาจเปิดกว้างให้ผู้ปฏิบัติงานที่มาจากหลากหลายวิชาชีพเข้ามีส่วนพัฒนาระบบคัดกรองคนไร้ที่พึ่งเพื่อยกระดับมาตรฐาน
9. ในฐานะหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน ให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าหน่วยงาน/ภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับคนไร้ที่พึง คนไร้บ้าน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญเฉพาะด้านที่จะรองรับบทบาทภารกิจใหม่ที่เกิดจาก พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ พ.ร.บ.ขอทานฯ รวมไปถึงต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งความชำนาญเฉพาะด้านมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
10. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูลรายงานสถานการณ์คนไร้ที่พึ่ง และจัดทำข้อมูลรายงานสถานการณ์คนไร้ที่พึ่ง โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายงานการวิจัย ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประมวลให้เห็นถึงสถานการณ์คนไร้ที่พึ่งในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เพื่อประหยัดงบประมาณ และเข้าถึงง่าย
12. กระทรวงสามารถหาข้อมูลได้อย่างหลากหลายผ่านการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนไร้ที่พึ่งได้มีโอกาสนำเสนอความเดือดร้อน ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการมีกลไกระดับพื้นที่หนุนเสริมให้เครือข่ายได้มีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
13. การจัดทำระบบการติดตามสถานการณ์ปัญหาและการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่ง ในลักษณะเฝ้าระวังภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับคนไร้อย่างสอดคล้องกับบริบท สถานการณ์คุกคามใหม่ๆ

3. กระทรวงสาธารณสุข
1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ไร้สถานะทางทะเบียน ซึ่งจะสามารถครอบคลุมคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนได้อย่างทั่วถึง ตามแนวทางของการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับกติกาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และกฎหมายภายในอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. การสนับสนุนให้เกิดกลไกสนับสนุนการจัดระบบสวัดิการด้านสุขภาพ รวมถึงกลไกการตรวจสอบ กำกับดูแล เฝ้าระวังด้านสุขภาพของคนไร้ที่พึ่งตามกฎหมายด้านสาธารณสุข
3. อนุเคราะห์การจัดทำความรู้เผยแพร่ให้กับหน่วยงานและภาคประชาสังคมในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข เช่น การดูแลผู้ป่วยเรื่อรัง ผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้อาศัยในพื้นที่สาธารณะ

4. กระทรวงมหาดไทย
1. การจัดซื้อเทคโนโลยีพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือความเป็นพลเมืองไทยโดยใช้ฐานชีวภาพ (Bio-Metric) โดยไม่ควรยึดติดเฉพาะบัตรประชาชน เพื่อรองรับกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ให้สามารถใช้สิทธิรับบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ
2. จัดจ้างหรือดำเนินการทำระบบตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ที่เหมาะสมกับรูปแบบการเคลื่อนตัวของประชากร (ระบบตรวจสอบที่ง่ายต่อการเข้าถึง ลดขั้นตอนและเอกสาร ระบบการตรวจสอบ/ยืนยันตัวบุคคล/การพิสูจน์สิทธิ) ซึ่งสะดวกต่อการตรวจสอบย้อนจากพื้นที่ใดก็ได้
3. เอื้อเฟื้อต่อผู้ไร้ที่พึ่งโดยช่วยลดขั้นตอนหรือระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา
4. อาจสนับสนุนงบประมาณและบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลคนไร้ที่พึ่งให้แก่ท้องถิ่น
5. สามารถเก็บภาษีลาภลอยเพื่อเอามาเพิ่มงบประมาณให้แก่คนไร้บ้าน
6. แสดงบทบาทนำในการจัดระบบการจัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง และคนไร้บ้านที่มีสถานะทางทะเบียน และการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งการมีระบบการติดตามการคืนสถานะทางทะเบียนให้กับคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน

5. กระทรวงยุติธรรม
1. หนุนเสริมภารกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ของหน่วยงานอื่นผ่านการเสนอปรับปรุงบทบัญญัติป้องปรามและปราบปรามองค์กรแสวงหาประโยชน์จากคนไร้บ้าน ตามแนวทางของพันธกรณีและนโยบายสากล
2. กระทรวงฯสามารถสนับสนุนองค์ความรู้ผ่านการวิจัยพัฒนาบทลงโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย และขยายนิยามการกระทำที่ถือเป็นความผิด เพื่อป้องกันการเลี่ยงกฎหมายและหยุดต้นตอของการกระทำที่จะนำไปสู่การหาผลประโยชน์จากคนไร้บ้านทั้งจากองค์กรอาชญากรรมและภาคส่วนอื่น
3. ช่วยกำหนดมาตรฐาน/มาตรการที่ใช้ในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดต่อคนไร้บ้านหรือต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันการสับสนของเจ้าหน้าที่ในการที่จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ (กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ ทำให้เกิดความหลากหลายในการบังคับใช้กฎหมาย) และสร้างแนวทางร่วมระหว่างทุกหน่วยงานไปในทิศทางเดียวกัน
4. อาจช่วยผลักดันร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งสำคัญยิ่งต่อสวัสดิภาพของคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะ
5. ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาสิทธิคนไร้บ้านที่ตกเป็นผู้เสียหายหรือถูกละเมิดสิทธิ

6. ตำรวจ
1. เจ้าพนังงานสามารถใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับกติกาสิทธิพลเมืองและการเมือง รวมถึงพันธกรณีด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอื่นเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน กรณีที่จับกุมคนไร้บ้านเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกระทำความผิดตาม พรบ.ขอทานฯ หรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั้งหลาย
2. ในคดีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้มาตรการกันตัวคนไร้บ้านไว้เป็นพยาน เพื่อนำไปสู่การจับกุมตัวองค์กรอาชญากรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายต่อต้านการค้ามนุษย์
3. การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน เจ้าพนักงานอาจประสานงานกับหน่วยงานอื่นบนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิในการได้รับสวัสดิการตาม พรบ.คนไร้ที่พึ่งฯ

7. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้เชี่ยวชาญพื้นที่และประชากรในท้องถิ่นสามารถทำฐานข้อมูลจำนวนประชากรที่เข้าข่ายเป็นคนไร้บ้าน/คนไร้ที่พึ่ง (กลุ่มเสี่ยง) ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลอ่อนไหวของคนไร้บ้าน
2. อาจจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีต้องสามารถแยกแยะคนตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานได้ เพื่อนำมาจัดทำนโยบายต่อไป
3. อนุเคราะห์งบประมาณและทรัพยากรบุคคลเข้าสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน หรือป้องกันคนมิให้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยอาจอยู่ในรูปแบบหลักประกันทางสังคม หรือโครงการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของกลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย อาทิ เด็ก สตรี คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรัง ตามโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ

8. องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)
1. สามารถนำหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนเป็นฐานการเรียกร้องสิทธิโดยสามารถผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งหลายตามแนวทางกระบวนการที่อ้างอิงสิทธิ (Rights-based Approach) เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
2. อาจใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals - SDG) ที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้องกับสิทธิในปัจจัยการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้านหลัก เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจรและมีผลผูกพันรัฐให้ปฏิบัติตาม เนื่องจากเนื้อหาของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นรวบรมมาจากพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบันอยู่แล้ว

*ปรับปรุงจากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของวิจัย โครงการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, 2560. สนับสนุนทุนโดย สสส.

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี