Skip to main content

การนำ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205/2549 มาตราเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร  โดยแฝงนัยยะของการสร้าง “รัฐทหาร” ด้วยการขยับขยายขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ กอ. รมน. อย่างล้นเกิน  และสร้างสภาวะยกเว้นให้กลายเป็นภาวะปกติที่มอบอำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในลักษณะถาวร ซึ่งก่อนหน้านี้ กฎหมายดังกล่าวถูกรัฐสภาตีตกไปหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย จนถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเนื้อหาของพระราชบัญญัติฉบับนี้ทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง  แต่ทันทีที่มีการรัฐประหารขึ้น มีการฉีกรัฐธรรมนูญ เกิดการรวบอำนาจ ล้มรัฐบาล ล้มรัฐสภาลง และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติแทนรัฐสภา พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรจึงถูกตราออกมาอย่างรวดเร็ว


อีกแง่หนึ่ง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงอย่างกว้างขวาง  กินความไปถึงอำนาจเกี่ยวกับการสอดส่อง “ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร”  และเพื่อให้ปฏิบัติการ “เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของสังคม”  ซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่หลักของ กอ. รมน. ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ การตระเตรียมระบบ และการพัฒนาศักยภาพกลไกการสอดส่องเฝ้าระวัง และติดตามความเคลื่อนไหว หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของประชาชนในโลกออนไลน์ ย่อมเป็นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้


ผลสืบเนื่องจากการตรากฎหมายดังกล่าว คือ กรณี กอ. รมน. เล็งเห็นว่า  ภัยคุกคามในช่วงทศวรรษที่ 2550 เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ และจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ รู้เท่าทันภัยคุกคาม ทั้งปัญหายาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อหลบหลีกการตรวจสอบ และเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ภัยคุกคามที่มาคู่กับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ กอ. รมน. เกิดอาการหวาดหวั่นในระดับหนึ่ง ดังกรณีที่มีความกังวลว่า อาจมีแฮกเกอร์ (hacker) เข้ามาล้วงข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง เมื่อปี 2551 บทสัมภาษณ์ของพันเอกธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. กล่าวต่อเหตุการณ์ที่กระทรวงไอซีที ออกมาชี้แจงเรื่องที่บริษัท ชินแชทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เปิดให้สถานีโทรทัศน์อัล มานาร์ ซึ่งเป็นของกลุ่มก่อการร้ายมาใช้ช่องสัญญาณจากดาวเทียมไทยคมว่า  กรณีดังกล่าวคล้ายกันกับแฮกเกอร์เจาะข้อมูลของกระทรวงไอซีที กอ. รมน. จึงได้กำชับหน่วยกำลังหลักทั้งหมดและประสานงานร่วมกันกับตำรวจนครบาลใน กทม. และ กอ. รมน. ระดับภาค โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นความลับ กอ. รมน. ต้องคุมเข้ม เพราะกลัวโดนเจาะข้อมูลเหมือนกันกับกรณีของกระทรวง ไอซีที ทั้งนี้ โฆษก กอ. รมน. ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ “สามารถเข้าไปตรวจสอบในชั้นต้นว่าการใช้สัญญาณเกี่ยวพันอะไรกับความมั่นคงแค่ไหน”

จากลูกเสือชาวบ้าน สู่ลูกเสือไซเบอร์
เมื่อเข้าสู่ปลายปี 2553 รัฐไทย ได้ขยับปรับเปลี่ยนมาตรการเฝ้าระวัง และกลไกการสอดส่องรูปแบบใหม่ เพื่อทดแทนกำลังพลที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจไม่สามารถดำเนินปฏิบัติการเผ้าระวังสอดส่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กระทรวงยุติธรรมจึงจัดการอบรมโครงการลูกเสือบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือ ลูกเสือไซเบอร์ รุ่นที่ 1 และ 2 ในเดือนธันวาคม 2553 โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่มีจิตสำนึกในการปกป้องและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านทางโลกออนไลน์ โดยในการอบรมดังกล่าว ประกอบด้วยการบรรยายหัวข้อ "การร่วมกันพิทักษ์ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์" โดย บวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาป้องกันสถาบัน ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทย และการพิทักษ์และปกป้องสถาบัน


พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ณ ขณะนั้น  กล่าวว่าเนื่องจาก “การกระทำความผิดทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่กำลังเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวังเรื่องนี้มีไม่กี่คน ขณะที่เว็บไซต์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นไปใช้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันความมั่นคงของไทย การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงถือว่าเป็นการทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร” จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายบนคอมพิวเตอร์ให้เป็นเครือข่ายที่มีจิตสำนึกด้านจริยธรรม ช่วยการสอดส่องดูแลอันตรายที่มากับโลกออนไลน์ขึ้นมา ในลักษณะของ “ลูกเสือไซเบอร์” หรือ “Cyber Scout”


ถัดจากนั้น 1 ปี นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ภายใต้การนำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศเดินหน้าโครงการลูกเสือไซเบอร์ต่อ โดยขยายหลักสูตรให้ครอบคลุมผู้นำและผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์ด้วย ได้แก่ หลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำ ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C) และ หลักสูตรผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์ (Executive Cyber Scout) โดยได้จัดอบรมแก่ผู้บริหารของกระทรวงไอซีทีเอง เพื่อนำความรู้ด้านการลูกเสือมาปรับใช้กับการทำงานการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โครงการนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น มัลลิกา บุญมีตระกูล อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังเคยริเริ่มโครงการ "Fight Bad Web" เพื่อเชิญชวนแนวร่วมให้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอีเมลของผู้ดำเนินโครงการ ในเรื่องนี้ มัลลิกา กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า มีเด็กอายุ 11 ปี เข้าร่วมกิจกรรม “นักรบไซเบอร์ฝ่ายคุณธรรม” “เปลี่ยนจากการเล่นเกมมาเป็นช่วยกันแจ้งเว็บผิดกฎหมาย ทั้งมั่นคง ลามก การพนัน ยาเสพติดและหมิ่นสถาบัน” พร้อมยังกำชับอีกว่า “อาวุธคือปัญญา เจอหมิ่นอย่าเม้น อย่า like อย่าแชร์ แจ้ง จนท. และ FightBadWeb@gmail.com”


การก่อตั้งลูกเสือไซเบอร์ในครั้งนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน เมื่อช่วงปี 2514 ที่ต้องการกำจัดคนที่เห็นต่าง ซึ่ง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ มองว่า ลูกเสือไซเบอร์อาจมีความร้ายแรงกว่าลูกเสือชาวบ้าน เพราะในขณะที่ลูกเสือชาวบ้านไม่มีจุดประสงค์ที่แน่นอน แต่ลูกเสือไซเบอร์ตั้งขึ้นเพื่อไล่ล่าบุคคลที่คิดแตกต่างหรือที่เรียกว่าการ "ล่าแม่มด" อย่างชัดเจน 


ปฏิบัติการของลูกเสือไซเบอร์ ในการสอดส่อง เฝ้าระวังการกระทำความผิดบนสื่อสังคมออนไลน์ ย่อมมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (information operations) หรือที่เรียกกันว่า “ไอโอ” (IO) ซึ่งอ้างอิงถึงอยู่บ่อยครั้งภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 และต่อเนื่องเข้มข้นขึ้นหลังปี 2560 ปฏิบัติการดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความแตกแยกทางสังคมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยข่าวปลอม (fake news) การโจมตีผู้ด้วยข้อความที่สร้างเกลียดชัง (Hate Speech) หรือ การใช้กฎหมายเพื่อตบปากฝ่ายตรงข้าม (SLAPP) เป็นต้น

 

บทบาทของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ทันสมัยมากขึ้น
สภาความมั่นคงแห่งขาติ (สมช.) นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ด้วยการประกาศแผนงานและการเตรียมพร้อมตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติช่วงระหว่างปี 2555-2559 ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ รวมถึงการมีแนวนโยบายทั้งเสริมศักยภาพกองทัพ การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในการป้องกันประเทศและให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานของกองทัพตั้งแต่ในสภาวะปกติ การส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศและความมั่นคง ตลอดจนถึงการนำศักยภาพของกองทัพมาสนับสนุนภารกิจนอกเหนือจากสงคราม ในเรื่องการพัฒนาศักยภาพกลไกการสอดส่อง สมช. เน้นย้ำให้มีระบบการเฝ้าระวังภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความปลอดภัยสาธารณะเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย ภยันตรายที่เกิดจากทั้งฝีมือของมนุษย์ และธรรมชาติ โดยนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสนับสนุน


อย่างไรก็ตาม รัฐไทยย่อมรู้ดีว่า ศักยภาพการสอดส่อง ตรวจสอบและกำกับควบคุมความเคลื่อนไหวของข้อมูลในโลกไซเบอร์ ที่มีอยู่ ไม่สามารถดำเนินปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนและนโยบายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนและเจ้าของเทคโนโลยี ผนึกกำลังกันในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ตั้งแต่ก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดเหตุ


ปัญหา คือ แผนและนโยบายดังกล่าว เป็นการกำหนดกรอบไว้อย่างกว้าง ๆ ทำให้การปฏิบัติตามของหน่วยงานความมั่นคง สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของผู้ปกครอง หรือความมั่นคงของผู้ครอบครองอำนาจรัฐ และเปิดช่องให้มีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชอบธรรม มากกว่าจะเป็นไปเพื่อปกป้องประชาชนจากอันตรายต่าง ๆ อย่างแท้จริง

 

ลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินทั่วประเทศ
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐสามารถเข้าถึงเข้ามูลส่วนตัวของประชาชนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งได้แก่กรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ขานรับนโยบายด้านความมั่นคง เร่งเดินหน้าให้มีการลงทะเบียนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั่วประเทศในปี 2557 ช่วงหลังการรัฐประหารไม่กี่เดือน พร้อมทั้งยังกำหนดเงื่อนไขว่า หากประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์คนใดไม่ดำเนินการลงทะเบียนภายในกรอบระยะเวลา (30 กรกฎาคม 2558) ก็จะต้องถูกระงับหมายเลขโทรศัพท์และทำให้ไม่สามารถใช้งานหมายเลขดังกล่าวได้


เว็บไซด์ของ กสทช. ระบุเหตุผลของการลงทะเบียนดังกล่าวว่า  “ประเทศไทยมีการใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 100 ล้านเลขหมาย โดยเป็นการใช้ซิมแบบเติมเงิน (prepaid) 90 ล้านเลขหมาย และส่วนใหญ่ไม่ลงทะเบียนซิม ทำให้เกิดช่องทางในการนำเอาซิมไปใช้ในทางที่ผิดและเป็นอันตรายต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์ในการข่มขู่ หลอกลวง ซื้อขายยาเสพติด จุดระเบิด จนนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิตแลทรัพย์ของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ และไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ และในแง่มุมของการใช้บริการ การไม่ลงทะเบียนซิม ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความยุ่งยากในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เช่น การเรียกคืนเงินเมื่อเลิกใช้บริการ และการป้องกันปัญหาผู้แอบอ้างนำหมายเลขของเราไปใช้บริการ เป็นต้น”


ดังนั้น “สำนักงาน กสทช. จึงเล็งเห็นความจำเป็นต้องแก้ไขดังกล่าว โดยได้ออกมาประกาศขีดเส้นตายให้มีการลงทะเบียนซิมแบบเติมเงินภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 หากพ้นกำหนดท่านจะไม่สามารถโทรออกหรือใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ แต่จะสามารถรับสาย และรับ SMS/MMS ได้เท่านั้นในระยะเวลาหนึ่งก่อนมีการยุติการให้บริการ อย่างไรก็ตาม ท่านจะโทรออกเบอร์ฉุกเฉินได้ เช่น แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย อัคคีภัย และเรียกรถพยาบาล เป็นต้น”


ซึ่งก่อนหน้านั้น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ปี 2557 เคยได้กล่าวให้เห็นถึงเหตุผลของการขึ้นทะเบียนซิมการ์ดว่า  “สืบเนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ลงทะเบียนซิมการ์ด) เพื่อป้องกันการนำเอาหมายเลขโทรศัพท์ไปใช้ทำผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์ ในการข่มขู่ ต้มตุ๋นหลอกลวง ซื้อขายยาเสพติดหรือสิ่งของผิดกฎหมาย ติดต่อหรือจ้างวานเพื่อก่ออาชญากรรมหรือแม้กระทั่งการใช้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการจุดชนวนระเบิดเพื่อก่อวินาศกรรม อันนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” สถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้เปิดให้มีการลงทะเบียน “ทำให้กรณีเมื่อมีการกระทำที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นโดยอาศัยช่องทางผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายใช้เวลาค่อนข้างมากในการสืบหาตัวผู้กระทำผิด”

 

กำเนิดกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
ส่วนการเสริมศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งยึดโยงอยู่กับเทคโนโลยีและระบบการสื่อสาร ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 รัฐไทย ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ และได้จัดตั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานสนับสนุนภารกิจในการสืบสวน สอบสวน เฝ้าระวัง ป้องกัน ปราบปราม รวมถึงปฏิบัติภารกิจอื่น ที่ตอบสนองแก้ไขปัญหาด้านความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภาพรวมของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที เพื่อทดแทนการขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการดังกล่าว ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การกระทำความผิดที่รัฐไทย และ ปอท. ให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาจไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในทางให้เกิดความปลอดภัยแก่สาธารณะมากเท่าใดนัก แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ผู้มีอำนาจเองเห็นว่า เป็นการใช้ “โดยขาดจริยธรรม ขาดสามัญสำนึก กระทบสิทธิของผู้อื่น และไม่คำนึงขอบเขตของกฎหมายจะเกิดสภาพปัญหาทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนอาจกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน” ซึ่ง “ความมั่นคงของประเทศ” ในที่นี้ กลายเป็นเรื่องเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะไม่เหมาะสมเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะพาดพิงสถาบันหลักของประเทศ “สร้างปัญหาและผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนไทยอย่างมาก โดยมีแนวโน้มว่าปัญหาเหล่านี้จะขยายตัวมากขึ้น” สอดคล้องกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว


การทำงานของ ปอท. จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที โดยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการปฏิบัติการตามภารกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนบทบาทหน้าที่ของกระทรวงไอซีที เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านความผิดทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ได้แก่ การทำหน้าที่เกี่ยวกับงานป้องกัน ปราบปราม สืบสวนและสอบสวน ดำเนินงานในส่วนการขอคำสั่งศาลให้ระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิดในขั้นต้น  ทั้งนี้ ตอนหลังในเดือนกันยายนปี 2559 กระทวงไอซีที ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอีเอส ซึ่งการปรับโครงสร้างการทำงานและให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากขึ้น เพราะเห็นว่า สังคมกำลังถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก

จากประเด็นข้างต้น จะเห็นว่า สิ่งที่ควรเป็นพื้นฐานของการเมืองระบอบประชาธิปไตยหลาย ๆ เรื่อง กลับกลายเป็นปัญหาอาชญากรรมในสายตาของรัฐไทย  เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต อาจถูกนับว่าเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายความมั่นคงได้ หากว่าการแสดงออกนั่นสั่นผลสะเทือนต่อสถานะของผู้มีอำนาจ หรือแม้กระทั้งการรวมตัวกันเพื่อชุมนุมทางการเมือง ซึ่งควรถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่บ่อยครั้งรัฐไทยยังคงจัดวางให้เป็นปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข และเป็นสิ่งที่คอยขัดขวางการพัฒนาไปเสีย


คำถาม คือ การพัฒนากลไกการสอดส่องและเฝ้าระวังภัยที่ผ่านมา รัฐไทยดำเนินการอยู่บนวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ ระหว่างการตรวจตราเฝ้าระวังภัยต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการสอดส่องแทรกซึมความเป็นส่วนตัวของประชาชน กดปรามการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจที่ชนชั้นนำเคยสถาปนาเอาไว้ให้ดำรงสืบไป


ศักยภาพของกลไกการสอดส่องของรัฐ ที่ถูกเสริมและพัฒนาในช่วงทศวรรษ 2550 นี้ เสมือนเป็นการขยายอำนาจรัฐ และการบังคับใช้กฎหมาย เข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ตมากขึ้น พื้นที่ที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ กลายเป็นดินแดนอาณาเขตที่รัฐไทยพยายามใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนได้บนกรอบคิดเรื่องความเป็นรัฐสมัยใหม่ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคง การตรากฎหมายเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการต่าง ๆ โดยเฉพาะการสอดส่อง การเฝ้าระวัง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและชอบด้วยกฎหมาย อาจแบ่งได้เป็นสองแง่มุม คือ หนึ่ง รัฐไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเตรียมมาตรการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร รวมถึงการนำความก้าวหน้าดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชน และบรรเทาความเสียหายจากภยันตรายต่าง ๆ ทั้งโดยจากฝีมือมนุษย์ และภัยธรรมชาติ สอง รัฐไทยอาจรู้ดีว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนบนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร อาจส่งผลเสียต่อความพยายามในการรักษาความเป็นเอกภาพ การผูกขาดอำนาจด้านข้อมูลข่าวสาร หรือการคงไว้ซึ่งโครงสร้างทางอำนาจที่ดำรงอยู่เดิม ด้วยเหตุที่กลไกของรัฐไทยที่มีเหนือพื้นที่ทางกายภาพแต่เดิม ไม่สามารถต้านทานกับความเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนระเบียบดั้งเดิมของสังคมได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องดำเนินกิจการบางอย่างเพื่อขยายอำนาจในการกำกับควบคุมของรัฐเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะกับการเสริมสร้างกลไกการสอดส่องประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์

อ้างอิง
มติชน, 15 พฤศจิกายน 2550: 6.
มติชน, 18 ตุลาคม 2550: 2.
ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ... มาตรา 6(1)
ข่าวสด, 20 มิถุนายน 2551: 6.
มติชน, 18 มกราคม 2551: 11.
ประชาไท, “ก.ยุติธรรมเตรียมจัดอบรม "ลูกเสือไซเบอร์”,” ประชาไท, 17 ธันวาคม 2553, (สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2564), https://prachatai.com/journal/2010/12/32328.
ประชาไท, “เปิดโครงการ “ลูกเสือบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์”. เฝ้าระวังเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน”, ประชาไท, 20 ธันวาคม 2553, (สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2564), https://prachatai.com/journal/2010/12/32355.
ประชาไท, “กระทรวงไอซีทีต่อยอดโครงการลูกเสือไซเบอร์ เพิ่มหลักสูตรผู้นำ-ผู้บริหาร,” ประชาไท,     1 ธันวาคม 2554, (สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2564), https://prachatai.com/journal/2011/12/38109.
สำนักข่าวว๊อยซ์ทีวี, “จากลูกเสือชาวบ้านสู่ลูกเสือไซเบอร์,” ว๊อยซ์ออนไลน์, 12 ธันวาคม 2554, (สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2564), https://www.voicetv.co.th/read/25426. 
สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระยะ 7 ปี, นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558 -2564: 3 – 8. 
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, ทำไมต้องลงทะเบียนซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน, 2558, เว็บไซต์ กสทช, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), http://sim.nbtc.go.th/why.php.
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, สำนักงาน กสทช. ขานรับนโยบายด้านความมั่นคง เร่งเดินหน้ารณรงค์การลงทะเบียนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (Prepaid) สร้างแอพ “2 แชะ” รองรับการลงทะเบียนทั้งซิมเก่าและซิมใหม่ เน้นความปลอดภัย ข้อมูลประชาชนไม่หลุด เปิดให้บริการวันนี้ (27 มิ.ย. 57) และพร้อมให้บริการทุก Shop ทั่วประเทศ 30 ก.ค. 2557, เว็บไซต์ กสทช, 2557, (สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564), https://www.nbtc.go.th/News/Press-Center/สำนักงาน-กสทช-ขานรับนโยบายด้านความมั่นคง-เร่งเดินห.aspx.
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 66 ก หน้า 1 ลงวันที่ 7 กันยายน 2552.
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, รายงาน ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2559): 1.
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 มาตรา 5.


*การค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดย ภาสกร ญี่นาง อันเป็นส่วนหนึ่งของวิจัย การพัฒนามาตรการคุ้มครองพลเมืองจากการสอดส่องการสื่อสารโดยรัฐ, 2565. สนับสนุนทุนโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี