Skip to main content

คนทำเรือแห่งแม่น้ำมูน

หากเปรียบ ปู ปลาคือผลผลิตจากนาน้ำของคนไม่มีนาโคก เรือก็คงไม่ต่างอะไรจากรถไถนา ‘เรือ’ คำสั้นๆ แต่ดูเปี่ยมด้วยความหมายยิ่งใหญ่สำหรับผู้คนริมฝั่งน้ำ นอกจากจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว ยังใช้ในการหาปลาอีกด้วย เรือในแม่น้ำย่อมมีขนาดแตกต่างกันออกไป แม่น้ำใหญ่เรือก็ใหญ่ แม่น้ำเล็กเรือก็ลำเล็ก นอกจากขนาดของเรือในแต่ละแม่น้ำจะแตกต่างกันออกไปแล้ว ท้องเรือที่จมอยู่ในแม่น้ำยังแตกต่างกันออกไปด้วย เรือในแม่น้ำสาละวินท้องเรือมีลักษณะแบน แต่เรือในแม่น้ำโขงท้องเรือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายสิ่วเจาะไม้


การออกแบบเรือล้วนยึดถือความสะดวกของเรือแต่ละลำในแม่น้ำแต่ละสายเป็นหลักใหญ่ ขนาดของเรือที่คนทำเรือแต่ละคนทำออกมาจึงขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นหลัก เช่น เรือขนาดสั้น ๓-๔ วาก็จะใช้ในแม่น้ำไม่ใหญ่ เรือกระแซงถึงแม้จะใช้ในแม่น้ำไม่ใหญ่ คนทำทำเรือก็นิยมทำเรือชนิดนี้ออกมาให้มีขนาดใหญ่ เพราะเรือกระแซงเอาไว้ใช้บรรทุกสินค้า นอกจากนั้นแล้วชื่อของเรือแต่ละชนิดยังบ่งบอกถึงสถานะของเรืออีกด้วย เช่น เรือพาย เรือแจว เรือกลไฟ เรือยนต์ เรือเมล์ เรือโดยสาร


นอกจากลักษณะของแม่น้ำในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไปแล้ว เรือที่ถูกนำมาใช้ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย ในยุคสมัยก่อนคนทำเรือที่ทำเรือเก่งๆ ทั้งทำไว้ใช้เอง และทำขาย แต่ละคนล้วนพิถีพิถันในการขัดเกลาท่อนไม้ท่อนซุงให้ค่อยๆ กลายเป็นเรือ ว่ากันว่าหากทำเรือขุดลำใหญ่ๆ ต้องใช้เวลาร่วมเดือน เรือจึงจะออกไปเผชิญสายน้ำได้


ในขณะที่ลักษณะของแม่น้ำแตกต่างกันออกไป ผู้คนริมฝั่งน้ำก็มีวิถีชีวิตเกี่ยวเนื่องกับเรือแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น คนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูนหลายหมู่บ้าน พวกเขามีวิถีชีวิตผูกผันอยู่กับเรือตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน เพราะบางคนประกอบอาชีพหาปลา


ยุคสมัยก่อนกว่าจะได้เรือมาสักลำนั้นลำบากกว่าปัจจุบันเยอะมาก เพราะการทำเรือมีวิธีการสลับสับซ้อน ไหนจะต้องดูวันดี ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นวันอังคารกับวันพฤหัสบดี เพื่อเดินทางออกไปแสวงหาไม้ในป่ามาทำเรือ พอได้ไม้มาแล้วไหนจะต้องนำไม้มาถางมาขึ้นรูปจนเป็นเรือ กระบวนการทำเรือหนึ่งลำ คนทำเรือบางคนบอกว่าต้องใช้เวลาไม่ตำกว่า ๗
-๘ วันเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ


พ่อสมเกียรติ พ้นภัย คนหาปลาผู้อยู่กับเรือมาแต่เด็กจนโตได้เล่าถึงกระบวนการอันสลับซับซ้อนในการทำเรือให้ฟังว่า สมัยก่อนนี่คนในหมู่บ้านถ้าอยากได้เรือนี่ก็จะชวนกัน เดินถามกันทั่วหมู่บ้านว่า มีใครอยากจะไปฟันเรือ พอได้ทีมแล้วก็หาวันดี พอได้วันก็แต่งเครื่องกันห่อข้าวสาร ห่อของกิน จัดแจงเครื่องมือแล้วก็เดินทางเข้าไปในป่า สมัยก่อนนี่คนแถบน้ำมูนตอนปลายจะเข้าไปเอาไม้จากป่าดงใหญ่ พอไปถึงก็จะเล็งหาไม้แคน (ตะเคียน) ไม้กะยอม (พยอม) ไม้ชาด ไม้กุงเป็นอันดับต้นๆ พอได้แล้วก็จัดการล้มไม้ลง คนทำเรือนี่จะไม่เอาไม้ต้นเล็กจะเลือกเอาต้นที่หน้ากว้างประมาณ ๓ กำมือขึ้นไป เพราะจะขุดง่ายกว่า ส่วนความยาวนั้นก็แล้วแต่เจ้าของเรือจะพอใจ สำคัญเลยนี่ไม้ต้นหนึ่งจะเอาทำเรือเพียงลำเดียว แม้ไม้จะยาวขนาดไหนก็ตามที พอได้มาแล้วก็เริ่มลงมือขุด ตอนขุดนี้ต้องเอาคนทำเรือที่ชำนาญการใช้ขวาน เพราะมันต้องค่อยๆ ถาก ค่อยๆ ขุดจากไม้ทั้งต้นที่เห็นเป็นท่อนก็จะกลายร่างเป็นเรือ


ถ้าเรือลำไหนที่ขุดแล้วมันมีตาเยอะ และส่วนมากจะเป็นตาไม่ดีกับเจ้าของเรือ คนทำเรือก็ไม่เอาต้องไปหาไม้กันใหม่ กว่าไม้ท่อนหนึ่งจะมาเป็นเรือให้เราเห็นผ่านกระบวนการเยอะจนจำแทบไม่หมด


สมัยก่อนกับเดี๋ยวนี้มันต่างกัน สมัยนี้ไปสั่งเขาทำไม่เกิน ๓ วันเรือมาส่งแล้ว เรือขุดแทบไม่มีคนขุด ต้องใช้เรือแป้นหรือเรือกาบที่เราเห็นอยู่เป็นหลัก ตอนนี้ถ้าไปสั่งเขาทำลำหนึ่งก็ประมาณ ๔,๐๐๐ บาทขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ขนาดของเรือ


คนสมัยก่อนนี่ได้เรือมาแล้วเขามีพิธีกรรมเยอะตอนจะเอาเรือลงน้ำนี่เขาก็จะผูกตรงหวัเรือด้วยด้ายขาวด้ายแดงมีสรวยดอกไม้ ตอนจะเลี้ยงเรือแล้วผูกด้วยให้เรือนี่คนเป็นเจ้าของก็จะพูดไปด้วยว่า พอมาอยู่ก็ขอให้ได้โชค หาอยู่หากินง่ายอย่าได้มีอันตราย การพูดนี่ก็แล้วแต่คนเป็นเจ้าของเรือจะพูด เดี๋ยวนี้หาคนทำแบบนี้ยากแล้ว

 

คนหาปลาสมัยใหม่พอได้เรือมาแล้วก็เลี้ยงอยู่บ้าง แต่เลี้ยงไม่ค่อยดี บางคนเวลาขึ้นเรือก็ขึ้นแรงๆ จนเรือจะล่มก็มี คนสมัยนี้ความเชื่อมันค่อยๆ หายไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่หมด พอๆ กับการทำเรือนั้นแหละ คนทำเรือแถบแม่น้ำมูนนี่นับวันก็ค่อยๆ หายไป เพราะมันไม่ค่อยมีคนมาสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ อีกไม่นานหรอกเรือไม้นี้จะหายหมด  ในแม่น้ำจะมีแต่เรือเหล็ก คนทำเรือก็จะกลายเป็นช่างเชื่อมเหล็กแทน...

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…