Skip to main content

ไม่ว่าจะในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือท้องทะเล ทุกหนแห่งที่กล่าวมาล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยพึ่งพามาตลอด เรียกได้ว่าเมื่อนึกถึงแม่น้ำ เราก็จะนึกถึงคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ นอกจากนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ...


เรากำลังกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปรู้จักพวกเขาในนาม ‘คนหาปลา’


เมื่อกล่าวถึงคนกลุ่มนี้คงไม่ต้องอธิบายมากว่า พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพอะไร แต่เมื่อเพ่งพิศลงไปในอาชีพ และวิถีทางแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขา เราจะพบว่า การดำรงตนด้วยการหาปลานั้นเป็นสิ่งยากยิ่ง แน่ละ มันมีหลายเหตุผลที่จะกล่าวเช่นนี้ เหตุผลอย่างที่หนึ่ง เมื่อเราจะออกสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือแม้แต่ทะเล เราต้องรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพื้นที่ที่เราจะไป


ในการออกทะเลเพื่อหาปลา อย่างน้อยๆ คนหาปลาต้องรู้ว่าปลาน่าจะมีอยู่ตรงจุดไหน ฤดูไหน ปลาอะไรที่สามารถจับได้ ฟ้าเป็นสีดำคล้ายจะมีพายุมา สมควรที่จะเอาเรือออกจากฝั่งหรือไม่ นอกจากที่กล่าวมายังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ในรายละเอียดเหล่านี้ คนหาปลาอาศัยจดจำมา รวมทั้งเรียนรู้ ทดลองทำ ลองผิดลองดูจนมันถูกสังเคราะห์ให้กลายเป็นภูมิปัญญา ภูมิความรู้ที่มีอยู่เฉพาะกลุ่มคนหาปลาเท่านั้น


เมื่อพูดถึงภูมิปัญญาเหล่านี้ ในแต่ละพื้นที่ แต่ละแม่น้ำ และท้องทะเลที่แตกต่างกัน ภูมิปัญญาอันเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างเช่น คนหาปลาที่อำเภอจะนะ บางคนยังคงดำรงวิถีของคนหาปลาแบบโบราณคือการดำดิ่งลงสู่ท้องทะเล เพื่อฟังเสียงปลา เมื่อรู้ว่าเสียงมาจากทางไหนก็จะบอกคนที่อยู่บนเรือเหนือผืนน้ำให้นำเรือไปตรงจุดนั้น เพื่อจับเอาปลา


คนหาปลาบึกที่อำเภอเชียงของในอดีตเมื่อราว ๓๐ กว่าปีก่อนยังใช้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมคือการทำห้างเสือตาไฟไว้ริมฝั่งน้ำ เพื่อขึ้นไปนั่งดูว่าปลาบึกอพยพขึ้นมาแล้วหรือยัง การขึ้นไปนั่งสังเกตการอพยพของปลาบึกบนห้างเสือไฟนั้นต้องอาศัยความชำนาญ และประสบการณ์มิใช่น้อย เพราะคนที่จะขึ้นไปนั่งบนห้างเสือตาไฟต้องแยกแยะให้ได้ว่า ริ้วคลื่นที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าที่มองเห็นนั้นคือสัญญาณบอกเหตุว่า ปลาบึกกำลังว่ายทวนน้ำขึ้นเหนืออยู่บริเวณริ้วคลื่นที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า


นอกจากจะเอาเรือออกหาปลา หรือแม้แต่ไปวางเครื่องมือหาปลา คนหาปลาก็ไม่เคยละเลยที่จะสังเกตธรรมชาติรอบตัวที่ปรากฏขึ้นมาให้เห็น


ปลาบึกกับนกนางนวล

คนหาปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงของ นอกจากจะทำห้างเสือตาไฟ เพื่อคอยดูการอพยพขึ้นมาของปลาบึกแล้ว หลายคนยังเฝ้าสังเกตการอพยพของปลาบึกโดยการเฝ้าดูนกนางนวล หากว่าในช่วงปลายเดือนเมษายน นกนางนวลโผบินจากทิศใต้สู่ทิศเหนือหรือบินโฉบเฉี่ยวไปมาเหนือดอนแวง นั่นแหละคือนิมิตหมายที่บอกว่า อีกไม่เกิน ๑-๒ วันปลาบึกก็จะขึ้นมา คนจับปลาบึกก็จะเตรียมเรือเตรียมเครื่องมือเพื่อออกจับปลาบึก


ปลากับดอกไม้ ต้นไม้

คนหาปลาในแม่น้ำโขงเคยเล่าให้ฟังว่ามีดอกไม้และต้นไม้อย่างน้อย ๒ ชนิดที่บ่งบอกให้คนหาปลาได้รู้ว่าฤดูกาลอพยพของปลาบางชนิดได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดอกไม้ ๒ ชนิดที่ว่าคือ ดอกซอมพอ (ดอกหางนกยูง) และดอกงิ้ว


คนหาปลาบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟังว่า หากวันใดที่ต้นซอมพอออกดอกดางสะพรั่งเต็มริมฝั่งน้ำ นั้นแหละฤดูกาลจับปลาบึกได้เดินทางมาถึงแล้ว


นอกจากจะดูดอกซอมพอแล้วยามใดที่ดอกงิ้วบานอยู่ตามสองฝากฟั่งแม่น้ำโขงแล้ว ก็หมายถึงว่าฤดูหนาวกำลังเดินทางมา และเมื่อวันใดที่ดอกงิ้วโรยราร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน นั่นก็หมายความว่า ฝูงปลาสร้อย ปลาบอกได้ว่ายทวนน้ำอพยพขึ้นมาแล้ว


ปลากับปลา

คนหาปลาจะสังเกตการอพยพของปลาด้วยหมายเอาช่วงระยะเวลาของแต่ละเดือนเป็นสำคัญ เช่น ในช่วงเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่ปลาแกงอพยพ หลังจากปลาแกงอพยพขึ้นมาได้ระยะหนึ่งก็จะเป็นสัญญาณบอกว่าต่อจากนี้ไป ปลาเพี้ย ปลาโมงจะตามขึ้นมา ในช่วงที่คนหาปลาจับปลาเพี้ยได้เยอะ นั่นก็หมายความว่าฤดูกาลอพยพของปลาแกงได้สิ้นสุดลงแล้ว


คนหาปลากับคนหาปลา

นอกจากคนหาปลาจะสังเกตการอพยพของปลาจากธรรมชาติรอบตัวแล้ว คนหาปลายังได้อาศัยความเป็นคนทำมาหากินในอาชีพเดียวกันสืบข่าวคราวการอพยพของปลาด้วย เช่น เช้านี้คนหาปลาที่เชียงของจับปลาหมูได้เยอะ คนหาปลาบ้านอื่นๆ ที่อยู่เหนือเขตเชียงของขึ้นไปก็จะเริ่มคำนวณแล้วว่าฝูงปลาหมูจะเดินทางมาถึงบ้านตัวเองต้องใช้ระยะเวลากี่วัน เมื่อทราบข้อมูลที่แน่ชัดแล้ว คนหาปลาก็เริ่มเตรียมเครื่องมือ เพื่อรอเวลาในการหาปลา


คนหาปลากับเรด้าที่แม่นพอๆ อย่างตาเห็น

เคยมีเพื่อนในแถบภาคใต้เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เรด้าที่ใช้หาพิกัดของปลา และตำแหน่งแห่งที่ที่ปลาอยู่เข้ามามีอิทธิพลต่อคนหาปลาในแถบอ่าวไทย และอันดามันเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรด้าช่วยชี้เป้าหมายในการลงอวนได้ดีเยี่ยม และไม่เคยพลาดเป้าหมาย


ในวิถีทางของคนหาปลาที่เป็นอยู่ในแต่ละพื้นที่ เราผู้อยู่นอกเหนือภูมิปัญญาความรู้ของคนหาปลาได้แต่ชื่นชมภูมิปัญญาความรู้เหล่านั้น และได้แต่แอบหวังว่า ภูมิปัญญาของคนหาปลาไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาแบบใดขอให้มันอยู่คู่กับคนหาปลาไปนานๆ พอๆ กับขอให้แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลได้มีปลาให้คนหาปลาจับไปนานๆ เช่นกัน


ใครละจะกล้าปฏิเสธว่า ภูมิปัญญาของคนหาปลาไม่ใช่ภูมิปัญญาที่กินได้....


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…