Skip to main content

การเรียกชื่อของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในแม่น้ำสายใดสายหนึ่งล้วนแตกต่างกันออกไปตามแต่ภาษาของคนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ชื่อหลักที่ผู้คนทั่วไปรู้จักคงไม่ผิดแปลกกันนัก แม้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำจะแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น และความเชื่อของคนท้องถิ่น ในแม่น้ำโขงเองก็เช่นกัน มีสถานที่หลายแห่งที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวได้เรียกชื่อของสถานที่เหล่านั้นทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน คอนผีหลงก็เช่นกัน คณะผู้สำรวจจากประเทศจีนอ้างอิงเอาตามคำเรียกชื่อของแก่งนี้ตามคนลาวท้องถิ่นในบริเวณนั้นว่า ‘คอนผีหลวง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนลาวเรียกว่า ‘คอนผีหลงไม่ใช่คอนผีหลวง’


คำว่า ‘คอน’ ในพจนานุกรม อีสาน ไทย อังกฤษ โดยดร. ปรีชา พิณทอง ตีพิมพ์เมื่อปี พ.. 2532 มีความหมายว่า “น.ร่องน้ำลึก ที่น้ำตก แม่น้ำที่มีสันดอนสูง น้ำไหลไปเป็นร่องลึก เรียกคอน ถ้าน้ำไหลไป 2 ร่อง มีสันดอนอยู่ตรงกลาง เรียก ‘สองคอน’ เช่น สองคอนในแม่น้ำโขง”


ดังนั้น คอนผีหลวงในที่นี้ จึงมีความหมายว่า เป็นช่องน้ำ หรือร่องน้ำที่ผีหลง

ผีในความนี้คือคนตายหรือศพ ชุมชนไทยริมแม่น้ำโขงบางกลุ่มก็เรียกคอนผีหลงนี้ว่า แสนผี

  


สาเหตุที่เรียกแก่งบริเวณนี้ว่าเป็นคอนผีหลง หรือแสนผีเนื่องมาจากประเพณีของคนลาวบางกลุ่มชาติพันธ์ทางเหนือขึ้นไปตามแม่น้ำโขง เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านมีความเชื่อว่า การส่งศพคนตายมากับแพลอยตามลำแม่น้ำโขง คนที่ตายก็จะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ เป็นประเพณีที่คล้ายกันกับประเพณีลอยศพคนตายในแม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย


เมื่อศพลอยพัดหลงเข้ามาถึงบริเวณจุดที่มีแก่งหินสลับซับซ้อน ที่มีมากในบริเวณคอนผีหลง แรงปะทะของน้ำโขงกับแก่งหิน ทำให้แพพลิกคว่ำ ศพคนตายก็ไหลมาติดตรงแก่ง หาด ดอน ตรงวังน้ำวนบ้าง จนเรียกกันติดปากว่าเป็นคอนผีหลง คือ ช่องน้ำที่ผีมาหลงมาวนอยู่ตรงนี้


ชาวบ้านผากุบ ฝั่งไทยเล่าว่า หลายครั้งที่คนหาปลาเห็นแพลอยมากับน้ำ มีเครื่องใช้ไม้สอย ที่นอนหมอนมุ้งครบถ้วน คนหาปลาบางคนไปเก็บมาใช้บางก็มี ไม่ถือเป็นเรื่องการลักขโมยแต่อย่างใด


ดังนั้นที่ถูกต้องตามสำเนียงภาษาแท้จริงแล้ว ต้องเรียกว่าคอนผีหลง ไม่ใช่คอนผีหลวงอย่างที่อ่านเพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษ


ขณะเดียวกัน ชุมชนไทยริมฝั่งโขงก็มีชื่อเรียกกลุ่มแก่งหินนี้ต่างออกไป โดยเรียกตามความเชื่อ รูปร่างและลักษณะบางอย่างของหาด ดอน แก่งหิน และผาหิน ไม่ได้เรียกรวมทั้งกลุ่มเป็นชื่อเดียวกันอย่างที่คนลาวเรียก ดังนั้น คอนผีหลงของลาว จึงประกอบไปด้วย แก่ง และผาหินในชื่อไทยดังนี้


ดอนสะเล็ง ดอนทรายกลางลำน้ำโขง มีกลุ่มหินใต้น้ำรายรอบมาก ผิวน้ำจึงไม่ราบเรียบ “เป็นคลื่น เป็นสะเล็ง” เรือที่ผ่านช่วงนี้จะเจอกับคลื่นและกระแสน้ำหลาก


ดอนร้องไก คือบริเวณหนึ่งที่ร่องน้ำผ่านตรงกลางดอน เป็นถิ่นกำเนิดของไก สาหร่ายน้ำจืด ร้องก็คือร่องน้ำ

ผาหลัก แก่งหินที่มีลักษณะคล้ายกับเสาหินปักลงกลางน้ำ

ผาฟอง เป็นบริเวณที่มีแก่งหินใต้น้ำจำนวนมาก เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านจะเกิดฟองอากาศตลอดเวลา เท่ากับการเติมออกซิเจนในน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงมีชีวิตอยู่ได้


ผาฟ้า เป็นแก่งหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณคอนผีหลง ตรงปลายยอดตั้งตระหง่าน น้ำท่วมไม่ถึง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่านางฟ้า

หาดฮ้าย ฮ้ายแปลว่า ร้ายหรืออันตราย เป็นบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยวต้องระมัดระวังในการเดินเรือ

ผาช้าง เมื่อมองจากกลางลำน้ำมายังฝั่งไทยจะมองเห็นแก่งหินรูปร่างคล้ายช้างหันหน้าเข้าหาฝั่ง บรรทุกสัมภาระไว้บนหลัง


ผาเสือ มีลักษณะคล้ายเสืออยู่ริมฝั่งตรงข้ามกับผาช้าง(ปัจจุบันหัวเสือได้หักลงเนื่องจากการระเบิดหินเพื่อสร้างถนนในฝั่งลาว) ผาช้างและผาเสือเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติที่ช่วยคาดการณ์ว่าเมื่อใดที่ระดับน้ำขึ้นสูงถึงปากช้างคางเสือ ไม่ควรเดินเรือเพราะระดับน้ำที่สูงและเชี่ยว จะเกิดอันตรายถึงชีวิต


ผาพระ ตำนานเล่าว่า สมัยโบราณ เจ้าลาวองค์หนึ่งจากหลวงพระบางล่องเรือผ่านผานี้ เกิดอุบัติเหตุเรือล่มทำให้ลูกชายเสียชีวิต จึงได้สลักรูปพระไว้บนหน้าผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ปัจจุบันชุมชนสองฝั่งให้ความเคารพ เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนาร่วมกันช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผากันตุงมีลักษณะคล้ายแท่นปักธงชัย กันตุงคือคันธง


โดยธรรมชาติของแม่น้ำโขง เกาะ แก่ง หาดดอน เป็นแหล่งกำเนิดพรรณพืชที่เป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของปลา เป็นฝายทดน้ำโดยธรรมชาติ ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ ช่วยเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และทัศนียภาพที่สวยงาม


ความเชื่อที่ชุมชนริมฝั่งโขงมีต่อเกาะแก่งหินแม่น้ำโขง ปรากฏออกมาเป็นชื่อเรียกที่ต่างๆกัน ชุมชนสองฝั่งโขงมีความเชื่อว่า บริเวณเกาะแก่งบางแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ มนุษย์มิอาจลบหลู่ดูหมิ่น หรือทำลาย เพราะจะทำให้เกิดภัยพิบัติ


ความเชื่อและองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่สืบทอดต่อกันมา เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของระบบนิเวศน์ย่อยในลุ่มน้ำโขงที่มีความสลับซับซ้อนและยิ่งใหญ่เท่านั้น


กระนั้นก็ตาม แม่น้ำโขง เส้นเลือดหลักของชุมชนสองฝั่งโขงก็ถูกรุกเร้า เร่งเปลี่ยนแปลงไป สู่หายนะอยู่ตลอดมา หายนะที่เดินทางมาพร้อมกับวาทะกรรมในนามการพัฒนา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.. 2545 ด้วยความที่คอนผีหลงเป็นแก่งหิน และกลุ่มหินที่ชาวบ้านเรียกว่า ผา แก่ง อยู่ในแม่น้ำ คอนผีหลงจึงเป็นเป้าหมายในการระเบิดทิ้งนัยว่า เพื่อให้เรือขนสินค้าจากประเทศจีนล่องผ่านไปได้ นอกจากคอนผีหลงจะเป็นที่ศพมาหลงวน แล้ว คอนผีหลงยังเป็นบ้านของปลา และบ้านของคนหาปลา ในวันที่เขื่อนจำนวนมากถูกสร้างปิดกั้นแม่น้ำโขง ระดับน้ำได้เริ่มเปลี่ยนแปลง ปลาเกิดอาการหลงน้ำ และลดจำนวนลง ในที่สุดคนหาปลาหลายคนก็เลยผ่านคอนผีหลงไป ไม่หลงมาหาปลาที่คอนผีหลงอีก เพราะบริเวณคอนผีหลงปลาที่หาได้มีน้อยเต็มที บางวันปักเบ็ดไว้ข้ามคืนปลายังไม่ยอมกินเหยื่อ


วันที่คนหาปลาเก่าแก่แห่งคนผีหลง เช่น อุ้ยเสาร์ ระวังศรี ได้พายเรือเดินทางออกจากคอนผีหลง เพื่อแสวงหาที่หาปลาแห่งใหม่ คงไม่มีคำพูดใดๆ ที่เหมาะสมเท่ากับคำนี้ ‘คอนผีหลงผีบ่เคยหลง แต่คนหลงทางการพัฒนาอันบ้าคลั่ง’


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…