พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย
พ่อตู้เริญเล่าว่า...
นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมด องค์อินทร์จึงมีบัญชาไปยังสรรพสัตว์ในอานัติของตนเองให้มาร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียง
เมื่อสรรพสัตว์ได้รับคำสั่งดังนั้นต่างก็แต่งดาข้าวของเครื่องใช้ เพื่อเดินทางไปหาองค์อินทร์ แต่การเดินทางของสรรพสัตว์อันประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิดใช้เวลาในการเดินทางต่างกัน เมื่อทราบเหตุการดังนั้นองค์อินทร์ก็เนรมิตให้สัตว์จำนวนมากเหล่านั้นเดินทางมาถึงภายในวันเดียวคล้อยหลังเมื่อเหล่าสรรพสัตว์ในอานัติเดินทางมาพร้อมเพรียงกันแล้ว องค์อินทร์ก็ออกนั่งยังห้องโถง และกล่าวด้วยเสียงอันดังว่า
“พวกสัตว์ทั้งหลาย! ข้าเรียกพวกเจ้ามาวันนี้เพื่อจะบอกกล่าวบางเรื่องราว และขอความเห็นจากพวกเจ้า”
“องค์อินทร์ว่ามาเลยไม่ต้องเกรงใจพวกข้า” เจ้านกขุนทองเอ่ยขึ้น
“พวกเจ้าตั้งใจฟังให้ดี พอดีข้าตรวจยามสามตาดูจึงได้เห็นว่า จากนี้ไปไม่นานโลกจะได้มีศาสนาพุทธกำเนิดขึ้นมา ข้าจึงอยากให้พวกเจ้าช่วยกันสืบต่อพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว และข้าอยากให้พวกเจ้าช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร”
“ไม่ยากหรอกองค์อินทร์ เราก็ช่วยกันเป็นอาหารให้กับผู้ทรงศีลผู้เป็นตัวแทนของศาสนา เพื่อท่านจะได้เผยแพร่คำสอน และศาสนาจะได้มีอายุยืนยาว” เจ้าช้างพูดขึ้น
“ข้าเห็นด้วยกับเจ้าช้าง แล้วใครจะอาสาละ”
“ข้านี่แหละขันอาสา เพราะข้าตัวใหญ่คงเลี้ยงผู้ทรงศีลได้หลายคน และหลายวัน” เจ้าช้างพูดขึ้นมาก่อนสัตว์อื่นๆ
“ไม่ได้หรอก เจ้าตัวใหญ่การฆ่าเจ้าจะเป็นปาบมาก เจ้าไปทำอย่างอื่นดีกว่า”
สรรพสัตว์นานาชนิดต่างแย่งกันอาสา เพื่อสืบต่อพระศาสนา แต่องค์อินทร์ก็ยังไม่พอใจที่จะให้ใครเป็นผู้สืบต่อพระศาสนา ขณะองค์อินทร์กำลังงวยงงสงสัยและคิดไม่ตก เจ้าปลาก็ได้จังหวะพูดขึ้นมาว่า
“องค์อินทร์ท่านลืมข้าไปแล้วหรือ ข้านี่ออกลูกแต่ละทีเป็นจำนวนมาก ลูกของลูกข้าอีกละ ข้านี้แหละจะอาสาสืบต่อพระศาสนาเอง”
“ใช่! เจ้าปลามันมีเหตุผล ตั้งแต่นี้ต่อไปข้าขอบัญชาให้เจ้าเป็นสัตว์ผู้จะมาช่วยสืบต่อพระศาสนา และเจ้าจงปฏิบัติหน้าที่นี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
หลังจากรับคำขององค์อินทร์แล้ว ปลาก็เดินทางกลับสู่แม่น้ำ และไปเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับฝูงปลานานาชนิดฟัง
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้พ่อตู้เริญก็หยุดดื่มน้ำ และบอกกับผมว่านิทานจบแล้ว ผมงุนงนอยู่ครู่หนึ่งกับตอนจบของนิทาน เมื่อเห็นอาการของผม พ่อตู้เริญก็บอกว่า หลานลองเอาไปคิดดูนะว่าคำสอนในพระพุทธศาสนามีหลายช่วงที่พูดถึงปลา และในทางความเชื่อของผู้คนริมฝั่งน้ำก็มีปลาบางชนิดที่คนจับได้ต้องนำไปทำบุญ คนสมัยก่อนจะมีงานบุญก็หาปลานี้แหละมาเตรียมเอาไว้ทำอาหารไปทำบุญ
หลังกลับมาจากอำเภอปากชม ผมก็ลองนำเอานิทานของพ่อตู้เริญมาขยายความต่อด้วยการไปตามหาหนังสือที่พูดถึงเรื่องราวของปลากับพระพุทธศาสนา และไปตามวัดที่มีรูปภาพ แล้วผมก็ได้พบว่า นิทานที่พ่อตู้เริญเล่านั้นมีเค้าโครงความจริงอยู่ไม่ใช่น้อย รวมทั้งภาพเขียนตามวิหาร ศาลาโรงทานของบางวัดมีรูปปลาเกี่ยวเนื่องอยู่ในนั้นด้วย...
ภาพวาดแสดงวิถีชีวิตของคนในชุมชนลุ่มน้ำมูนที่แสดงให้เห็นถึงปลากับการสืบต่อพระพุทธศาสนา โดยในภาพชาวบ้านได้จัดงานบุญที่ริมฝังแม่น้ำมูนโดยการเอามามาทำอาหารเลี้ยงพระ
ที่มาภาพ; ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน บ้านน้ำส้าง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
วาดโดย: ครึ้ม