Skip to main content

ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้งคนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่


เมื่อยุคอุตสาหกรรมการเกษตรเจริญรุ่งเรือง น้ำท่าที่ไม่มีก็มีตามมา ด้วยการทำเขื่อน ทำคลองในการกระจายน้ำออกสู่ภาคเกษตร ยุคสมัยใหม่ไม่ได้สนใจในธรรมชาติ แต่เรียนรู้ที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยการพัฒนาระบบการชลประทานต่างๆ เข้ามา


คลองส่งน้ำจึงกระจายผ่านไปทุกหนทุกแห่งที่อำนาจของผู้แทนในจังหวัดนั้นๆ จะนำไปสู่การปูทางเพื่อการเข้าไปเป็นสมาชิกสภาอีกสมัย


วาทกรรมที่ว่าด้วยความแห้งแล้งคือภัยธรรมชาติก็เดินทางมาพร้อมกับนักการเมืองเหล่านั้น เดินทางมาพร้อมกับการตอดเล็กตอดน้อยจิกเอางบประมาณที่มีอยู่จำกัดในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หากมองในเรื่องของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แทบทุกปีเมื่อถึงฤดูกาลหลังปลายหนาว เราจะได้เห็นนโยบายต่างๆ ที่มุ่งไปเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างมากมาย แต่บางครั้งงบประมาณเหล่านั้นกลับสูญเปล่า เพราะการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด


หากเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง เราจะพบว่า ในแต่ละช่วงเวลา ธรรมชาติได้บอกเราแล้วว่า ในช่วงเวลาไหน เราน่าจะทำเกษตรแบบไหน ในช่วงหน้าแล้ง การปลูกพืชผักที่ใช้น้ำจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่คนในยุคสมัยก่อนเกษตรอุตสาหกรรมเรืองอำนาจไม่นิยมนำมาใช้


ในสภาวการณ์ผู้มีอำนาจหรือแม้แต่ผู้คนในสังคมมองเรื่องความแห้งแล้งคือการขาดน้ำเพียงอย่างเดียว การมองเช่นนี้เป็นการปิดกั้นการมองเห็นในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าหากเราลองเปิดใจ เปิดตามองอย่างรอบด้าน เราจะพบว่า น้ำแห้ง ไม่ได้มาจากฝนขาดฟ้าเพียงอย่างเดียว บางทีการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไว้เพื่อขายให้ได้เงินมาเร็วๆ ก็มีส่วน เพราะบางครั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนที่ลาดเอียงของภูเขา เราต้องตัดไม้ และทำลายดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุโดยการใช้สารเคมี


เมื่อธรรมชาติถูกทำลายลงทีละน้อย ความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศที่เคยเป็นมาย่อมถูกทำลายลงด้วย


ภายใต้สายตาที่มองว่า ความแห้งแล้งคือภัยธรรมชาติ สิ่งที่เห็นต่อมาคือการหาน้ำเพื่อมาบรรเทาความแห้งแล้ง การหาน้ำที่ง่ายที่สุดคือการสร้างเขื่อน สร้างฝาย แต่ในความเป็นจริงการสร้างเขื่อน สร้างฝายกลับกลายเป็นสร้างความแห้งแล้งเสียเอง กรณีชัดเจนมากเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนบนแม่น้ำโขง เพราะยิ่งมีเขื่อนมากน้ำยิ่งแห้ง เขื่อนไม่ได้มีไว้เพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเลย แต่กลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหาภัยแล้งเสียเอง


ความแห้งแล้งตามฤดูกาลจะไม่เป็นภัยพิบัติอีกต่อไป หากเราเข้าใจในธรรมชาติ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ปล่อยให้ใบไม้ได้แห้ง ปล่อยให้น้ำแล้ง ปล่อยให้ไฟป่าได้จัดการกับใบไม้แห้งเสียเอง แล้วเราได้แต่มองดู และเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อปรับความสมดุลยให้กับตัวเอง เข้าใจธรรมชาติ และเข้าใจกับตัวเอง แล้วเราจะเห็นความงามของความแห้งแล้งอย่างแท้จริง

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…