Skip to main content

แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง

ใช่ว่าอากาศจะร้อนเพียงอย่างเดียว ทิศทางการเมืองก็กำลังเริ่มร้อนขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อเดือนมีนาคมมาถึง วันหยุดยาวของเด็กๆ ก็ใกล้เข้ามา


ผมจำได้ลางๆ ว่าเมื่อวันนี้ของปีก่อนตัวเองอยู่ที่ไหนสักแห่งริมฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง เพื่อร่วมรำลึกถึงวันหยุดเขื่อนโลก ทำไมต้องมีวันนี้ คำตอบที่แสนง่ายคือ ใน ๓๖๕ วันน่าจะมี ๑ วันที่เราจะได้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเขื่อน และผลกระทบจากเขื่อน วันหยุดเขื่อนโลกถูกก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน จึงสมควรอย่างยิ่งว่า เราน่าจะได้ระลึกถึงผู้คนเหล่านั้น ที่เสียสละให้เราได้มีไฟฟ้าใช้ แม้บางครั้ง พวกเขาเองต้องพลัดที่นา คาที่อยู่ก็ตามที


ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ร้อนระอุ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็ร้อนขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน การเมืองที่กำลังกล่าวถึง ไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม


การเมืองเรื่องแม่น้ำโขงแห้ง
!!...

หลังจากจีนเริ่มสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขง ประเทศท้ายน้ำก็เริ่มประสบปัญหาต่างๆ ทั้งปลาหาได้น้อยลง อันเนื่องมาแต่ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ไม่คงที่ เพราะแม่น้ำโขงขึ้นลงราวกับน้ำทะเล เมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรได้เฝ้าติดตามสถานการณ์เรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง และมีการรณรงค์กันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง แต่การรณรงค์บางครั้งก็มีเสียงตอบรับจากสังคม แต่บางครั้งราวกับเป่าปุยนุ่นในลมแรง


มีนาคมปีนี้ ผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก แม่น้ำแห้งลงมากกว่าปกติในรอบหลายสิบปี ผู้คนจึงเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันที่ต้องช่วยแก้ไข ดูเหมือนว่ารัฐบาลก็เริ่มจะเอาจริงในเรื่องของการแก้ไขปัญหานี้ แต่สุดท้ายการพูดคุยหรือแม้แต่เชิญประเทศต้นน้ำคือ จีน เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตัวแทนจากจีนยังแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่อง


จีนยังไม่เคยยอมรับว่า เขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีนสร้างผลกระทบกับแม่น้ำโขง และประเทศท้ายน้ำ (หรือว่าทางการจีนยอมรับ แต่แอบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะไม่ยอมตกเป็นจำเลยในเรื่องนี้) แต่จีนแอบป้องปากบอกว่าจะปล่อยน้ำจากเขื่อน ๒-๓ วัน เพื่อให้เรือสินค้าสัญชาติจีนที่ตกค้างอยู่ท่าเรือเชียงแสนเดินทางกับประเทศได้ หลังจากนั้นแม่น้ำโขงก็จะเป็นเช่นเดิมคือ น้ำแห้งลง และแห้งลง ไม่แน่ว่าในปีนี้ เราอาจได้เห็นชาวบ้านริมฝั่งโขงเดินข้ามแม่น้ำไปเยี่ยมยามมิตรสหายอีกฟากฝั่งของแม่น้ำก็เป็นได้


ในวันที่แม่น้ำโขงแห้งลงใช่ว่าผลกระทบต่างๆ จะเกิดกับแม่น้ำเพียงอย่างเดียว ผลกระทบยังได้ส่งมายังผู้คนริมฝั่งน้ำด้วย การทำมาหากินของผู้คนที่ขึ้นอยู่กับแม่น้ำก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะคนวิ่งเรือโดยสาร เรือบรรทุก ตลอดจนคนทำการเกษตรริมฝั่งโขง


แม่น้ำแห้งลงไม่ใช่ความเป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นความแห้งของใจคนล้วนๆ คนผู้มองเห็นผลประโยชน์ของตนเองแต่ฝ่ายเดียว....

วันหยุดเขื่อนโลกเวียนมาอีกปีหนึ่งแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราจะร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนอย่างจริงจัง และเป็นระบบ ไม่ใช่แก้เป็นครั้งคราว และเราในฐานะประเทศท้ายน้ำต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อจะบอกกับประเทศต้นน้ำว่า หยุดสร้างเขื่อนบนแม่น้ำอีกต่อไป ปล่อยให้แม่น้ำได้ไหลอย่างอิสระ เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ...เราเตือนคุณแล้ว
!!!

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…