Skip to main content

แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ


การเล่าเรื่องของแม่น้ำยามนี้จึงเป็นการเล่าถึงอดีตอันแสนหวาน...


นานนับ ๑๐ กว่าปีที่ผู้คนริมฝั่งน้ำได้รู้ว่า แม่น้ำหยุดไหลเพราะเหตุผลใด ข่าวการเสกหินปูนก้อนแรกลงสู่แม่น้ำจนกลายเป็นเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำของพญามังกร เป็นเหตุผลที่ทำให้แม่น้ำหยุดไหลลง คนหาปลาว่าอย่างนั้น


เพราะเหตุผลใดพญามังกรผู้อาศัยอยู่เหนือแม่น้ำใหญ่จึงได้ทำเช่นนั้น ไม่มีใครให้เหตุผลได้อย่างแท้จริง ทุกคนรู้เพียงข่าวที่แว่วมากับสายลม และสายฝนว่า พญามังกรต้องการกลืนกินไฟเป็นภักษาหารจึงตัดสินใจเสกหินปูนก้อนแล้วก้อนเล่าปิดกั้นแม่น้ำ และทันทีที่การเสกหินปิดกั้นแม่น้ำของพญามังกรเสร็จสิ้นลง ไฟก้อนแรกก็ถูกพญามังกรกลืนกินอย่างหิวกระหาย


ร่างกายของพญามังกรเริ่มอ้วนพลีขึ้นเป็นลำดับ เพราะการกลืนกินไฟจากการเสกหินปูนทิ้งลงปิดกั้นแม่น้ำ ร่างกายที่ผอมเพรียวของพญามังกรเริ่มอ้วนถ้วนสมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับ เกล็ดของพญามังกรเริ่มมันวาวยามต้องแสงแดด
มันวาวจนดูน่ากลัว


นานนับ ๑๐ กว่าปี ไฟที่พญามังกรกลืนกินจากแม่น้ำเริ่มน้อยลง เพราะการกินอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อไฟน้อยลง พญามังกรเริ่มผอมโซลงอีกครั้ง การเลื้อยเพื่ออวดท่วงท่าอันงดงามเริ่มเชื่องช้าลง ในที่สุดพญามังกรก็เริ่มเลื้อยคดเคี้ยวลงมาตามแม่น้ำ เพื่อแสวงหาแหล่งอาหารแห่งใหม่ เมื่อมาถึงหุบเขาแห่งหนึ่งที่ขนาบอยู่สองข้างแม่น้ำ สัมผัสบางอย่างของพญามังกรได้รับรู้ถึงไฟที่คุกรุ่นอยู่ในแม่น้ำอีกครั้ง แล้วพญามังกรก็ตัดสินใจเสกภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นก้อนหินชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนจะให้ส่วนลำตัวไปจนถึงปลายหางตวัดเอาก้อนหินลงสู่แม่น้ำ เพื่อปิดกั้นแม่น้ำดั่งที่เคยทำมา จากก้อนหินก้อนแล้วก้อนเล่าที่พญามังกรทิ้งลงแม่น้ำก็กลายเป็นกองหินกองใหญ่ปิดขวางทางน้ำอีกครั้ง


ในวันที่แม่น้ำถูกปิดกั้น พญามังกรไม่ได้ยินเสียงร้องไห้ และการบอกลาของแม่น้ำ แต่พญามังกรสนใจแต่ไฟอันเป็นอาหารอันโอชะของตัวเอง และพญามังกรก็เริ่มใช้ปากอันมหึมาดูดกลืนไฟให้หายเข้าไปในปากดั่งเช่นที่เคยทำมา...


นานนับปีที่พญามังกรกลืนกินไฟวันแล้ววันเล่า ไฟที่เคยมีอยู่จำนวนมากก็น้อยลง แม่น้ำที่เคยให้ไฟไม่สามารถให้ไฟได้อีกต่อไป พญามังกรเริ่มหงุดหงิด และงุ่นง่านสะบัดหางฟาดไปทั่วแม่น้ำจนแม่น้ำขุ่นข้น ในวันที่แม่น้ำขุ่นข้น พญามังกรไม่เคยรู้เลยว่า ความตายได้เดินทางมาถึงแม่น้ำแล้ว



แม่น้ำหายใจรวยริน เพราะไม่อาจไหลได้อย่างที่เคยเป็นมา การระเหยหายของแม่น้ำมีมากขึ้น ฤดูน้ำหลาก น้ำไม่หลากแต่กลับลดลง แม่น้ำร้องไห้เงียบงันในสายฝน บางทีนี่อาจเป็นวันสุดท้าย แม่น้ำว่าอย่างนั้นก่อนจะค่อยๆ ไหลอย่างเชื่องช้าไปสู่การหยุดนิ่ง


พญามังกรไม่เคยรับรู้หรือบางทีอาจไม่อยากรับรู้ถึงความเหนื่อยล้า และลมหายใจรวยรินของแม่น้ำ พญามังกรยังคงกลืนกินไฟจากแม่น้ำ เพื่อขยายร่างกายของตัวเองให้อวบอ้วน...


เมื่อไฟน้อยลง พญามังกรก็เลื้อยไปหาไฟจากแหล่งใหม่บนแม่น้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะการขยับเคลื่อนไหวของพญามังกร แม่น้ำหายใจรวยริน และสิ้นใจตายก่อนวัยอันควร

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…