Skip to main content

แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย

ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ สิ่งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ทำแม้ว่าอาจไม่ช่วยให้แม่น้ำที่พวกเขารู้จักกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิม แต่ทุกคนก็ยินดีจะทำ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านกระทำคือการสืบทอดความเชื่ออันมีมาแต่บรรพบุรุษ

ตามคติความเชื่อแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาหมายถึง การต่ออายุให้ยืนยาวออกไป ในกรณีของทางภาคเหนือนั้น การต่อชะตามีหลายอย่าง และนิยมทำในหลายกรณี ชาวบ้านบางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับแม่น้ำ ในยามที่เห็นว่า แม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ แต่สำหรับบางชุมชน แม่น้ำก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ชาวบ้านก็นิยมจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ เพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับแม่น้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วย

การสืบชะตาให้กับแม่น้ำจึงเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ

บางครั้งการสืบชะตาให้กับแม่น้ำ ชาวบ้านนิยมทำพร้อมกันหลายหมู่บ้าน แต่บางพื้นที่ก็นิยมทำเพียงหมู่บ้านเดียว อย่างที่บ้านห้วยลึกก็เช่นกัน ชาวบ้านเลือกเอาวันที่ ๙ ของเดือนแห่งปี ๒๕๕๑ จัดงานสืบชะตาให้กับแม่น้ำโขง แม่น้ำสายหลักที่ได้หล่อเลี้ยงชุมชนแห่งนี้ในด้านต่างๆ มาหลายชั่วอายุคน

พ่อประพันธ์ รัตนะ มัคทายกผู้นำทางศาสนาของชุมชนกล่าวว่า “ชาวบ้านจัดงานสืบชะตาครั้งนี้ก็เพื่อให้แม่น้ำได้หลุดพ้นการถูกทำลายด้านต่าง พอสืบชะตาแม่น้ำแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองแม่น้ำก็จะบันดาลให้คนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข อีกอย่างหนึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองแม่น้ำก็จะบันดาลให้แม่น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างเดิม”

อะไรเป็นเหตุเป็นผลให้ชาวบ้านหัวยลึกได้พากันร่วมทำพิธีต่อลมหายใจให้กับแม่น้ำในครั้งนี้ หากจะเล่ารายละเอียดเรื่องนี้ก็คงต้องย้อนกลับไปในปี ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นปีที่เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงดำเนินการกักเก็บน้ำ ทันทีที่เขื่อนมันวานได้เริ่มดำเนินการกักเก็บน้ำในช่วงแรกหลังการก่อสร้าง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงก็เริ่มเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ถึงกลับเปลี่ยนไปมาก ความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไป

หลังการเปิดใช้เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ น้ำในแม่น้ำก็เริ่มลดระดับลง และระดับน้ำขึ้น-ลงไม่ตรงตามระยะเวลาของฤดูที่เคยเป็นมา จากสถิติซึ่งจดบันทึกโดยกรมอุทกวิทยาที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสนระบุว่า ในปี ๒๕๔๒ ระดับน้ำอยู่ในจุดต่ำสุดคือ ๐.๗๔ เมตร เมื่อระดับน้ำเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อะไรเกิดขึ้นบ้าง?

ทันทีที่ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ๑๑  ซึ่งมีการสำรวจจากงานวิจัยจาวบ้านพบว่า “คก” แหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลาบางแห่งตื้นเขิน เช่น คกหลวง คกขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงอยู่บริเวณแก่งผาไดรอยต่อพรมแดนไทย-ลาว คกแห่งนี้ตื้นเขินจนไม่กลายเป็นคกหลวงอีกต่อไป (หมายเหตุคำว่า ‘หลวง’ ในภาษาท้องถิ่นภาคเหนือแปลว่า ‘ใหญ่’) บางแห่งโดนทรายทับถมจนกลายเป็นพื้นที่ต่อกับผืนดิน เช่น คกลิงน้อย บริเวณบ้านแก่งไก่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

หลังน้ำขึ้น-ลงผิดปกติ ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ปลาที่เคยมีอยู่จำนวนมากก็ค่อยๆ กลายเป็นสิ่งหายาก ๒-๓ ปีที่ผ่านมา คนหาปลาหาปลาได้น้อยลง บางคนถึงกับต้องเลิกหาปลาไปทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว ทั้งที่การหาปลาเป็นงานที่สร้างหลายได้จำนวนไม่น้อยให้กับผู้คนหาปลาในแม่น้ำโขง

พ่อทองสวรรค์ พรมราช อดีตคนหาปลาเล่าให้ฟังว่า “แต่ก่อนคนหาปลานี่เลี้ยงครอบครัวได้ เดียวนี้ไม่ได้แล้ว ลงหาปลามากินยังยากเลย จะหาไปขายยิ่งยากกว่า ตอนนี้คนหาปลาเลยมีน้อย มันหาปลายาก บางคนก็ไปทำสวนรายได้มันมั่นคงกว่า”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนหาปลานั้นเป็นผลกระทบที่คนหาปลาไม่อาจต้านทานได้ เช่นเดียวกัน แม่น้ำก็ไม่อาจต้านทานผลกระทบอันเกิดจากโครงการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ได้เช่นกัน

ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่า การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด และใครจะเป็นคนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงอันเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งอุษาคเนย์สายนี้

ในวันที่แม่น้ำไหลเอื่อยๆ คล้ายคนใกล้สิ้นลมหายใจ การลุกขึ้นมาต่อลมหายใจให้กับแม่น้ำตามคติความเชื่อโบราณของคนกลุ่มเล็กๆ แม้ว่า มันจะไม่สามารถเป็นผลทางรูปธรรมที่แตะต้องได้ แต่หากว่ารูปธรรมทางด้านจิตใจอันดีงามของคนกลุ่มนี้กลับงอกเงย และจับต้องได้

**บทความนี่ตีพิมพ์ครั้งแรก หน้าคติชน หนังสือพิมพ์มติชน

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…