Skip to main content

หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟัง

เรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ และคิดเอาเองเป็นวรรคเป็นเวรเสียด้วยอย่างเช่นเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ลุงรัญเล่าให้ฟังว่า “หลังจากประเทศเราได้รัฐบาลใหม่ คนที่ถูกขนานนามว่า รากหญ้ามีความยินดีปรีดาเป็นอย่างมาก เพราะนโยบายเก่าๆ ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้เคยทำไว้จะถูกนำมาสานต่ออีกครั้ง อย่างโครงการเงินล้านก็จะกลับมาอีกครั้ง และนโยบายหลายส่วนคนทั้งประเทศก็จะได้รับผลประโยชน์ อย่างโครงการผันน้ำโขงให้คนในภาคอีสานที่รัฐบาลโดยท่านผู้นำที่หน้าตาไม่ค่อยหล่อแถมพูดไม่เพราะในบางครั้งกำลังตัดสินใจที่จะทำ คนอีสานก็ได้ประโยชน์ เพราะจะได้ทำนากันตลอดปี ที่สำคัญแผ่นดินอีสานที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งความแห้งแล้งก็จะได้ไม่แล้งอีกต่อไป”

นอกจากลุงรัญจะพูดถึงโครงการนี้แล้ว แกยังพูดถึงอีกหลายโครงการของรัฐบาลจนผมนึกว่า แกเป็นโฆษกรัฐบาลที่มีหน้าที่แถลงนโยบายของรัฐบาล หลังนิ่งฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลโดยคนรากหญ้าเสร็จสิ้นลง กับข้าว ๓-๔ อย่างก็ถูกส่งใส่มือ ก่อนออกจากร้านค้ารถเข็ญขวัญใจคนรากหญ้า ผมกลับรู้สึกอิ่มใจจาการฟังครั้งนี้อย่างประหลาด และรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยนิ่งฟังอะไรได้นานอย่างนี้มาก่อน

เมื่อกลับมาถึงบ้านกับข้าวก็ถูกนำไปวางไว้บนขันโตกในห้องครัว แล้วผมก็มานั่งครุ่นคิดอะไรบางอย่างตรงม้านั่งนอกบ้าน ผมจะไม่คิดมากเลยหากว่า เรื่องที่ผมได้ยินเป็นเรื่องไกลตัวผม แต่เรื่องที่ผมได้ยินเป็นเรื่องใกล้ตัวผมจนยากที่จะสลัดมันหลุดทิ้งไปได้ อย่างที่ ๑ ในฐานะลูกอีสาน ผมไม่เคยปฏิเสธว่าอีสานไม่แห้งแล้ง และที่สำคัญน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคนอีสานมากเช่นกัน แต่ในขณะที่รัฐบาลหลังการรัฐประหาร และดูเหมือนว่า หลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ และได้เป็นแกนนำรัฐบาลสมใจ ท่านผู้นำก็เริ่มเสนอนโยบายใหม่ๆ หลายอย่าง หนึ่งในนั้นที่ท่านผู้นำย้ำเป็นนักหนาว่า จะต้องทำให้ได้คือ โครงการผันแม่น้ำโขง เพื่อคนอีสาน

หากว่ารัฐบาลใหม่อยู่ครบเทอม (๔ ปี) โครงการนี้อาจดำเนินไปข้างหน้า สิ่งที่เป็นคำถามของผมคือว่า รัฐบาลใหม่จริงใจกับพี่น้องคนอีสานมากน้อยแค่ไหน? ในฐานะคนอีสานคนหนึ่ง ผมกลับคิดว่า รัฐบาลใหม่ไม่ได้มีความจริงใจต่อคนอีสานเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าท่านจะนำเสนอโครงการผันน้ำ เพื่อแผ่นดินอีสานจะได้มีน้ำใช้ และอีสานก็จะไม่แล้งอีกต่อไป คนอีสานจะได้ทำนาทั้งปี ที่สำคัญคนอีสานจะต้องไม่พลัดถิ่นอีกต่อไป อะไรเป็นสาเหตุที่รัฐบาลนี้ไม่มีความจริงใจให้กับคนอีสานในทัศนะของผม

หากมองไปที่นโยบายเรื่องการผันน้ำโขงเพื่อแผ่นดินอีสาน เราจะได้พบว่า มันเป็นเพียงนโยบายที่จงใจหลอกคนอีสานโดยตรง เพราะน้ำโขงที่จะผันมาให้คนอีสานใช้ ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า การผันน้ำระบบท่อ การผันน้ำจากแม่น้ำโขงนั้น รัฐบาลยังคงไม่ได้ศึกษาอย่างแท้จริงว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง และน้ำที่ผันมานั้นคนอีสานผู้เป็นเจ้าของพื้นที่จะได้ใช้ประโยชน์ช่วงไหน อีกอย่างหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทบทวนโครงการนี้ให้ดีคือ วันนี้เรารู้อย่างแท้จริงแล้วหรือยังว่า น้ำโขงที่จะผันมานั้น คุณภาพของน้ำเหมาะสมกับการทำเกษตรในหน้าแล้งแล้วหรือยัง?

การผันน้ำโขงผ่านท่อแล้วนำมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ หากน้ำที่ผันมาเป็นช่วงหน้าฝน สารเคมีในภาคเกษตรที่โดนฝนชะล้างลงสู่แม่น้ำ เราก็จะได้อ่างเก็บน้ำที่เต็มไปด้วยสารเคมี และน้ำที่นำมาเก็บไว้บนอ่างเก็บน้ำ เพื่อรอการปล่อยน้ำในช่วงหน้าแล้ง น้ำในอ่างเก็บน้ำก็เสี่ยงที่จะมีความเน่าเสีย และนี่คือคำถามอีกข้อหนึ่งว่ารัฐบาลใหม่จริงใจกับคนอีสานมากมายแค่ไหน ท่านถึงกล้าปล่อยน้ำเสียจากการกักเก็บในอ่างมาสู่ไร่นาของคนอีสาน

เราในฐานะคนอีสานเห็นดีเห็นงามกับโครงการนี้แล้วหรือยัง และเราพร้อมที่จะเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงแล้วหรือยัง หากว่าเราพร้อมแล้ว สิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไปคือ เมื่อเขาปล่อยน้ำไปแล้ว การจัดการน้ำที่ไหลไปตามท่อจะอยู่ในมือของใคร ชาวบ้านคนท้องถิ่นหรือว่าเจ้าหน้าที่รัฐ และงบบริหารจัดการจะมาจากไหน แน่ละสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เมื่อน้ำถูกปล่อยไปสู่ไร่นาของผู้ใด ผู้ใช้น้ำก็จะต้องจ่ายค่าน้ำในจำนวนที่เราใช้ไป และเมื่อเวลานั้นมาถึง พี่น้องชาวอีสานดินแดนที่ราบสูงอันอุดมไปด้วยความแห้งแล้ง เราก็จะได้พบความจริงที่ว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีมิเตอร์’

คำว่า ‘ของฟรีไม่มีในโลก’ คงเป็นคำพูดที่ใช้ได้จริงเมื่อเวลานั้นมาถึง ในฐานะคนอีสานคนหนึ่งจึงได้แต่เพียงอยากบอกพี่น้องคนอีสานด้วยกันว่า เราจะยอมเป็นเหยื่อของนอมินีกระนั้นหรือ หรือว่าเราจะต้องร้องเพลงถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก ผมในฐานะลูกอีสานไม่อยากให้พี่น้องคนอีสานต้องเป็นอย่างนั้น และยอมรับชะตากรรมอย่างนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลุกขึ้นมาบอกท่านผู้นำของเราว่า ‘พอกันทีกับการหลอกลวง และโกหกของท่าน’ และท่านผู้นำเสนอโครงการนี้เสร็จอย่าลืมจับจมูกของตัวเองนะครับว่า มันยาวขึ้นมาเพิ่มเหมือนพิน๊อคคิโอหรือเปล่า...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…