Skip to main content

ลำเซียงทา

ล่องไหลมาเนิ่นนาน.....
ทานทน ฝน-ร้อน-หนาว
ปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้า
เมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชร
ในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมา
เวลานาฑีไม่มีใครรู้
เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆ
ลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปราย
ลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่
ไหลล่องผ่านปี-เดือน
ไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิว
ปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยน
ลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อ

โป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗

 

หลังการเดินทางแรมคืนเราจึงมาถึงหมู่บ้าน ลมดึกของค่ำคืนวูบไหวผ่านใบหน้า สุนัขที่นองนิ่งอยู่ใต้พื้นบ้านส่งเสียงทักทาย เจ้าของบ้านหลายคนออกมานอกบ้านพร้อมส่งเสียงไล่มันให้เงียบเสียงลง หากเป็นหมู่บ้านทั่วไป ผู้บุกรุกในเวลาวิกาลเช่นนี้คงถูกแจ้งความดำเนินคดีตามกฏหมายไปแล้ว แต่ที่นี้ไม่ใช่หมู่บ้านอย่างหมู่บ้านทั่วไป ที่นี้คือทัพของนักรบสิ่งแวดล้อม นักรบผู้มีหน้าที่ปกป้องทัรพยากรด้วยอาวุธคือความคิด มันสมอง และสองมือเปล่า การต้อนรับผู้คนทั้งแปลกหน้าและคุ้นหน้าจึงไม่ใช่เรื่องราวอันแปลกประหลาดแต่ประการใดสำหรับคนในหมู่บ้าน

เมื่อเจ้าของบ้านหลังนั้นรู้ว่าผู้มาเยือนในเวลาวิกาลเป็นใคร และมีจุดมุ่งหมายใด ผู้มาเยือนก็ถูกเชื้อเชิญให้เดินตามทางไปยังเป้าหมาย หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด การเดินไปตามทางเดิน เพื่อไปสู่เป้าหมายอาจดูเป็นเรื่องยาก เพราะหมู่บ้านไร้แสงไฟตามถนน แต่พอเป้าหมายอยู่ไม่ไกล ความยากในการเดินฝ่าความมืดจึงยุติลง

“หัวหน้า...หัวหน้า มีคนมาหา”
หลังได้ยินเสียงร้องเรียก เจ้าของบ้านก็เปิดไฟใต้ถุนบ้านและเดินตามบันไดลงมา
“ซำบายดีอยู่บ๋อ หัวหน้า”
“กะพออยู่ได้อยู่ คือพากันมาฮอดดึกแท้”
“โอย! ค้าแต่หลงทางนั่นแล้ว กว่าสิหาทางเข้าบ้านได้เกือบตาย”
“ผมว่าแล้ว มันต้องมีคนหลง ให้เขาไปปักธงเขียวไว้อยู่ ถ้ามาตามธงเขียวคือสิบ่หลงดอก”
“ธงมันผืนน้อยโพด กว่าสิเห็น เป็นหยังคือบ่เอาธงผืนใหญ่ๆ แด่”
“เอาผืนใหญ่บ่ได้ดอก เดียวเพิ่นสิฮู้ ความสิแตก มันสิบ่ม่วนทั้งผู้อยู่ ผู้มา”
“แล้วมีคนมาฮอดหลายคนอยู่บ่อ”
“บ่ นี่แหละซุดแรก”

หลังพูดคุยถามไถ่กันได้ไม่นานทั้งเจ้าของบ้าน และผู้มาเยือนก็แยกย้ายกันพักผ่อน หลังแสงแรกของวันพรุ่งนี้มาเยือน เรื่องราวต่างๆ ในหมู่บ้านก็จะถูกนำมาเล่าอีกครั้ง

หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านไม่ใหญ่มากซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบของป่าที่สำคัญหมู่บ้านได้กลายมาเป็นฐานบัญชาการรบกลับอำนาจรัฐอย่างปฏิเสธเสียไม่ได้ เพราะหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดที่จะมีการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชรพอดี ถัดจากหมู่บ้านไปไม่ไกลมีแม่น้ำสายหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ลำเซียงทา’ แม่น้ำสายนี้แหละที่ชาวบ้านบอกว่า เขาจะมีการกั้นเขื่อน ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเขื่อนที่จะสร้าง เขาจะเอาไว้เก็บน้ำเพื่อการเกษตร แต่ความจริงอีกด้านหนึ่ง หากว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนแห่งนี้ น้ำก็จะท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งมีอยู่คนละไม่มาก แต่หลายร้อยคน

“บ่สู้กะบ่ได้ดอกหัวหน้า น้ำสิท่วมดั้งตี้ละ ท่าเพิ่นมาเฮ็ดเขื่อน”
“น้ำแม่บ่ใหญ่กะหยังสิมาเฮ็ดอยู่เหนาะ”
“ผมกะว่านั้นละ”


ดังที่เล่ามา เพราะแม่น้ำสายนี้ไม่ใหญ่มาก แต่มันมีความสำคัญกับชาวบ้านผู้ได้ใช้ประโยชน์มาชั่วนาตาปี หากว่ามีการทำเขื่อน (อันที่จริงกรมชลรับประทาน-กรมชลประทานบอกว่ามันเป็นแค่ฝายกักเก็บน้ำ) น้ำจากอ่างเก็บน้ำก็จะไหลท่วมพื้นที่ทำกิน หมู่บ้านก็จะถูกย้าย ชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวกันคัดค้าน และเริ่มเดินทางออกสู่ท้องถนน เพื่อร่วมขบวนการต่อสู้ในนามของสมัชชาคนจน

“หัวหน้านอนก่อนเด้อ มื้ออื่นจั่งเว้ากัน”
“ครับตามซำบายเลยหัวหน้า เดี๋ยวหมู่ผมกะสินอนคือกัน”


เจ้าของบ้านเดินจากไปแล้ว แสงตะเกียงถูกดับลง เสียงไก่ขันจากป่าแว่วมา ขณะล้มตัวลงนอน ผมหวนคิดถึงเรื่องราวบางเรื่องอันน่าฉงน แปลกแต่จริงประเทศเราถูกหลอกเสมอว่า เราสร้างเขื่อนเพื่อเอาน้ำมาเป็นไฟฟ้า แต่บางหมู่บ้านก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วไฟฟ้าจากเขื่อนมันไปไหน นั่นสิไฟฟ้าจากเขื่อนมันไปไหน

สายลมดึกค่อนแจ้งพัดมาแผ่วเบา ทั้งที่ง่วงเต็มทน ผมกลับพบว่า ตัวเองข่มตาหลับลงยากเสียเต็มประดา

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…