Skip to main content

หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้ว

ชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน

เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น

ในพิธีมีพระสงฆ์จากวัดประจำหมู่บ้านได้เดินทางมาร่วมกับชาวบ้านด้วย เพื่อความเป็นศิริมงคลให้กับชาวบ้าน ถัดจากตรงที่ชาวบ้านกลุ่มใหญ่นั่งอยู่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ตรงใต้ร่มไม้นั้นชายชราคนหนึ่งกำลังจุดเทียนบูชาเทพแถนอารักษ์เทวดา แสงเทียมวอมแวมไหวตามแรงลมร้อน

หลังพิธีกรรมทุกอย่างเสร็จสิ้น เสียงหินหล่นลงกระทบกับน้ำดังก้องขึ้น น้ำที่มีอยู่ไม่มากในลำห้วยแตกกระจาย ต้นไม้ริมฝั่งถูกตัดถางลง เพื่อใช้เป็นคันแกนกลางรองรับหินจำนวนมากที่จะถูกทิ้งลงไปในน้ำ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการทิ้งหินลงแม่น้ำเพื่อสร้างฝายแบบชาวบ้านที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังใช้ได้จริงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเริ่มทำเป็นคนแรก ถึงแม้ไม่รู้ แต่ชาวบ้านก็เรียกการทำฝายแบบนี้ว่า ‘การทำฝายหินทิ้ง-ฝายแม้ว’ ส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกเช่นนี้คงเพราะสิ่งที่ชาวบ้านทำ และสิ่งที่ชาวบ้านเห็นนั่นเอง

20080508 (1)

 

การทำฝายหินทิ้งคือ การนำหินจำนวนมากทิ้งลงไปเพื่อกั้นน้ำ ตรงใต้สุดของหินก็จะใช้ใบไม้กิ่งไม้รองรับ เพื่อเป็นทางระบายน้ำอีกทางหนึ่ง การทำฝายหินทิ้งเพื่อกักเก็บน้ำให้น้ำค่อยๆ ล้นออกมาจากคันฝาย แล้วไหลไปตามลำห้วย การทำเช่นนี้จะช่วยให้น้ำไม่แห้งเร็วจนเกินไป และน้ำที่มีอยู่น้อยก็จะใช้ได้ตลอดหน้าแล้ง ในหนึ่งลำห้วยอาจทำหลายที่ อย่างที่ห้วยหลวงก็ทำกันถึง ๓ ฝายลดหลั่นกันไปตามลำดับ

หินหลายก้อน ต้นไม้หลายต้นถูกล้มลงเพื่อเป็นคันกั้นน้ำ ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของคนในหมู่บ้าน จากหินก้อนเล็กก้อนน้อย ฝายแห่งที่ ๑ ก็เดินทางไปสู่ความสำเร็จเมื่อเวลาล่วงเข้ายามใกล้เที่ยง

ฝายชนิดนี้ทำด้วยแรงคน และทำด้วยความสามัคคีของคน มันจึงเป็นมากกว่าฝายกั้นน้ำ แต่หากว่าในการเกิดขึ้นของฝาย มันยังได้รวมเอาแรงงานของผู้คนลงไปอยู่ในนั้นด้วย ฝายแบบชาวบ้านทำโดยชาวบ้าน ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ฝายแบบนี้แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาความแห้งแล้งทั้งระบบ แต่ในหน่วยเล็กๆ เช่นชุมชนก็สามารถแก้ปัญหาให้กับชุมชนของตัวเองได้

หลังจากกลุ่มแม่ครัวทำกับข้าวเสร็จสิ้น และนำไปถวายเพลพระ หลังจากนั้นชาวบ้านที่ไปช่วยกันทำงานก็ทยอยนำข้าวปลาอาหารที่ตัวเองห่อติดตัวไปออกมาแบ่งกันกิน

กลิ่นเครื่องแกงหน่อไม้โชยมาแต่ไกล หลังแม่ครัวส่วนหนึ่งเดินทางไปหาหน่อไม้ตั้งแต่ตอนเช้า เพื่อมาทำเป็นอาหารแบ่งกันกินในตอนเที่ยงวัน เหล้าขาว ๓๕ ดีกรีต้มเองถูกนำมาแจกจ่ายกันพอเป็นพิธี เมื่อทุกคนกินข้าวเสร็จ คนเฒ่าคนแก่บางส่วนก็ไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นตะกร้าเพื่อใส่หิน

เมื่อข้าวเต็มท้อง ความหิวหายไป ขบวนนักสร้างฝายชายหญิงก็ได้ร่วมตัวกัน เพื่อเดินทางสู่เป้าหมายแห่งใหม่ต่อไป

20080508 (2)

ตะวันบ่ายคล้อยความเหนื่อยล้าเริ่มปรากฏบนใบหน้าของหลายคน แต่ความย่อท้อของหลายคนก็ไม่เคยหมด ฝายแห่งที่ ๓ จึงเดินทางไปสู่ความสำเร็จเมื่อเวลาบ่ายคล้อยมาเยือน เสียงร้องเพลง เสียงพูดคุยดังมาไม่ขาดระยะเมื่อฝายแห่งสุดท้ายสำเร็จลง คนเฒ่าคนแก่บางคนเริ่มเก็บเครื่องมือ เพื่อคืนสู่บ้าน ในตะกร้าบนบ่าของกลุ่มแม่บ้านบางคนมีหน่อไม้เรียงรายอยู่ในนั้น

ขณะเดินตามหลังชาวบ้านกลับคืนสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านบางคนก็พูดออกมาให้ได้ยินว่า “ทำฝายปีนี้ ปีหน้าต้องเลี้ยงผีฝาย เพื่อน้ำจะได้ไม่หมด ชาวบ้านเราก็จะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี”

ในสายลมร้อนที่พัดมา แม้เหงื่อไคลบนใบหน้าของใครหลายคนยังมีอยู่ แต่รอยยิ้มบนใบหน้ากลับกลบความร้อนบนร่างกายไปจนสิ้น หลายคนเมื่อเดินทางกลับสู่บ้านแล้วเปิดก๊อกน้ำ เมื่อสายตามองเห็นน้ำที่ไหลมาไม่ขาดสายจากปลายก๊อก คนเหล่านั้นจะรู้สึกเช่นไร หลายคนคงคิดว่าไม่ใช่สิ่งยากที่จะค้นหาคำตอบจากเรื่องนี้
    

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…