“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก”
ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
หลังเดินจากบ้านพ่อเฒ่ามา เราหยุดแวะทักทายชาวบ้านที่กำลังเดินสวนทางมา สำเนียงของคนไทเลยแปร่งหู บางครั้งต้องหยุดคิด เพื่อตอบคำถาม เมื่อกลับมาถึงบ้านพัก กับข้าวจากในครัวถูกยกออกมา บนจานมีห่อหมกปลา และน้ำพริก และนี่แหละคือต้นธารที่จะพาเราออกเดินทางไปกับพ่อเฒ่าในตอนเช้าพรุ่งนี้
ขณะอาทิตย์ยามเช้ายังไม่ออกมาเตร็ดเตร่ริมขอบฟ้าตะวันออก เราก็เดินมาถึงบ้านของพ่อเฒ่า ซึ่งแต่งตัวรออยู่แล้ว หลังพูดคุยกันได้ไม่นาน แกก็ออกเดินนำหน้ามุ่งสู่ปลายทาง
พ่อเฒ่าคนนี้ชื่อ ‘พ่อตู้เริญ’
‘ตู้’ ในความหมายของคนไทเลยคือ คำนำหน้าของคนที่มีอายุทั้งที่เป็นพ่อใหญ่ พ่อลุง พ่อตู้เริญนอกจากจะมีอาชีพเป็นคนหาปลาแล้ว แกยังเป็นมัคทายกวัดของหมู่บ้านอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การเดินทางบนเส้นทางสองเส้นของพ่อตู้เริญช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในวันที่เดินทางไปวัด แกก็ยังเดินทางไปหาปลาเช่นกัน เมื่อถามถึงวิถีทางที่เป็นอยู่ พ่อตู้เริญก็จะอธิบายให้ฟังอย่างแยบยลว่า
“มันบ่แม่นเรื่องแปลกดอก เพราะในสมัยก่อนมันมีนิทานเว้าสืบต่อกันมาว่า ปลานี่มันเกิดมาเพื่อสืบพระศาสนา ตอนนั้นพระอินทร์ฮู้ว่าสิมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด เพื่อดำรงพระศาสนา พระอินทร์เลยเอิ้นหมู่สัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดมาประชุมกัน เมื่อสัตว์ต่างๆ มาพร้อมแล้ว พระอินทร์กะถามว่า สัตว์ตัวไหนจะอาสาเพื่อสืบต่อพระศาสนา สัตว์หลายชนิดต่างขันอาสา แต่สุดท้าย พระอินทร์ก็เลือกเอาปลา เพราะปลานี่เกิดไข่ทีละหลาย และออกลูกออกหลานหลาย ฉะนั้นปลาจึงเหมาะสมกับการที่จะเป็นสัตว์สืบต่อพระศาสนา สังเกตเบิ่งงานบุญเด้อ อย่างงานบุญขึ้นบ้านใหม่นี่อาหารถวายพระกะสิมีปลา อย่างงานบุญเขาสากนี่ก็เอาปลาดุกมาฮ่วมกินฮ่วมทาน”
หลังพูดจบ พ่อตู้เริญก็หัวเราะเสียงดัง คงไม่ต้องอธิบายมากว่า ตู้เริญหัวเราะเพราะอะไร เราเองก็อดที่จะหัวเราะไม่ได้ พ่อตู้นี่ไม่ธรรมดา เราแอบบนึกในใจ แม้ว่าเส้นแบ่งระหว่างบุญและบาปจะเป็นเส้นแบ่งบางๆ แต่วิธีการอธิบายให้คนเข้าใจในวิถีทางที่พ่อตู้เริญเป็นอยู่ก็คงทำให้หลายคนหายสงสัยในความเป็นอยู่ของพ่อตู้ได้
“ถอดเกิบเด้อ มันสิได้ข้ามน้ำ เดี๋ยวมันสิย่างยาก”
พ่อตู้เริญบอก ขณะเราเดินตามหลังแกมาจนถึงจุดหมาย
“ข้ามน้ำนี่ไปก็ฮอดแล้ว บุ่งนี่พ่อใส่เหยาะกับกะโล้ไว้”
“แม่นหยังน้อพ่อตู้บุ่งกับกะโล้นี่”
“ไปฮอดก่อนกะสิเห็นดอก อย่าเพิ่งถาม”
‘กะโล้’ ที่พ่อตู้เริญพูดถึงเป็นเครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่งมี ๒ แบบ ในแบบที่ ๑ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายกล่องไม้ขีดไฟ และแบบที่ ๒ มีลักษณะเป็นแนวยาวคล้ายไซ เวลาใช้คนหาปลาจะนำมาวางไว้ตรงที่เป็นดางสีเขียวที่วางกั้นน้ำไว้คล้ายการทำโพงพาง เครื่องมือหาปลาทั้งสองแบบนี้คนหาปลาจะนำมาใส่ไว้ตามบุ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งตามริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณที่พ่อตู้เริญเอากะโล้ไปใส่ ชาวบ้านเรียกว่า ‘บุ่งข้าโม้’ นอกจากบริเวณนี้จะมีบุ่งข้าโม้แล้วยังมีอีกหลายบุ่ง เช่น บุ่งปลาตอง บุ่งไผ่ บุ่งปลาเคิง บุ่งปากทาง แต่ละบุ่งที่มีอยู่ในบริเวณบ้านปากเนียมนี้ ชาวบ้านจะลงมาวางเครื่องมือหาปลา เพื่อเอาปลาขนาดเล็ก เพราะน้ำในบุ่งไม่ลึกมาก จึงเหมาะสำหรับการวางกะโล้
พ่อตู้เริญเล่าให้ฟังเพิ่มอีกว่า ในแต่ละปี น้ำในบุ่งจะมากน้อยไม่เท่ากัน และในแต่ละวันปลาที่ได้จากบุ่งก็มากน้อยไม่เท่ากัน แต่ได้ปลาทุกวัน
‘บุ่ง’ ที่พ่อตู้เริญพูดถึงมีลักษณะเป็นหนองน้ำขนาดเล็กลึกประมาณ ๑-๒ เมตร เกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ระบบนิเวศแบบบุ่งในแม่น้ำโขงสามารถพบได้ในแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
“นอกจากจะมาหาปลาในบุ่งแล้ว ดอนรอบบุ่งชาวบ้านยังลงมาแบ่งพื้นที่ปลูกผักเอาไว้ขายด้วย”
พ่อตู้เริญเล่าให้เราฟังขณะเดินนำหน้าลิ่วๆ กลับไปตามทางเดิม
“ยามอีกบ่อนหนึ่งกะแล้ว หิวข้าวกันหรือยัง”
“ยังบ่หิวครับ”
หลังรู้คำตอบ พ่อตู้เริญก็เดินดุ่มมุ่งหน้าลงไปสู่บุ่ง สายตาทั้งสองข้างจับจ้องอยู่ตรงกะโล้ที่เชื่อมต่อกับดางสีฟ้าเป็นแนวยาวเหยียด
“มื้อหนึ่งหาได้หลายบ่ พ่อตู้”
“กะพอได้กินได้ขาย มื้อใด๋ได้หลายขายกะมี แต่ถ้ามื้อได้น้อยกะเอาไปเฮ็ดปลาแดกไว้กิน”
กะโล้อันสุดท้ายของพ่อตู้เริญถูกยกลงไปวางไว้ที่เดิมอีกครั้งหลังเสร็จจากการเก็บกู้ แสงแดดของยามสายโผล่พ้นขอบฟ้ามาแล้ว ความร้อนเริ่มปรากฏ เรากำลังเดินตามหลังของพ่อตู้เริญคืนสู่บ้าน