ทางออกของชาวสวนยางเมื่อราคายางพาราตกต่ำ
ศยามล ไกยูรวงศ์
โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
ยางพาราถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนใต้ที่ผูกพันทั้งทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจมานานถึง ๑๐๘ ปี ระบบการผลิตแบบพืชเชิงเดี่ยวได้เข้ามาแทนที่ป่ายางที่เติบโตพร้อมกับสวนผลไม้และป่าธรรมชาติซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบสวนสมรม หรือสวนพ่อเฒ่า เงื่อนไขส่งเสริมการปลูกสวนยางโดยใช้กลยุทธ์ของเงินกองทุนสงเคราะห์สวนยางจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) การส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับราคายางที่พุ่งขึ้นสูง และในตลาดโลกยังมีความต้องการยางพาราธรรมชาติเพื่อมาทำอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราได้หลากหลายชนิด ทำให้พื้นที่การปลูกยางพาราขยายเพิ่มขึ้นและรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าของภาคใต้ และป่าหัวไร่ปลายนาของภาคอีสาน ป่าธรรมชาติของภาคตะวันออก ยางพาราจึงเป็นพืชชนิดใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริม และเป็นสวนป่าที่กรมป่าไม้และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีเป้าหมายสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับองค์กรจากสวนป่าเชิงพาณิชย์ของยางพารา
อย่างไรก็ตามปัจจัยการกำหนดราคายางนอกจากถูกกำหนดโดยความต้องการและปริมาณของตลาดโลกแล้ว แต่ยังถูกกำหนดด้วยมือที่มองไม่เห็น จากการเก็งกำไรซื้อขายล่วงหน้า และการผูกขาดของกลุ่มทุนที่เป็นผู้กำหนดราคา ตลาดยางพาราในไทยถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนสิงคโปร์และมาเลเซีย ต่อมาเป็นกลุ่มทุนไทย ในด้านอุตสาหกรรมยางพาราถูกควบคุมโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เช่น เยอรมัน อิตาลี อังกฤษ และอเมริกา และมีสายป่านต่อกันกับพ่อค้าอุตสาหกรรมยางในไทย ประกอบกับราคายางพาราที่ผันแปรไปตามราคาขึ้นลงของน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตยางสังเคราะห์ ทำให้ปัจจัยในการควบคุมราคายางพาราขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศทั้งด้านความต้องการ ปริมาณ สถานการณ์โลก สถานการณ์ของราคาน้ำมันที่สัมพันธ์กับการผลิตยางสังเคราะห์ ในช่วงที่น้ำมันมีราคาสูง จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคายางสังเคราะห์สูงขึ้นด้วย เป็นผลให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากยางพารามีราคาสูงเกินไปผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องกลับมาใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคายางพาราต้องปรับตัวลดลง
ปัจจัยด้านราคาของยางพารายังถูกแทรกแซงด้วยมือที่มองไม่เห็นจากการสต็อคยางพาราโลก หากมียางพาราสะสมในโกดังสูงเกินไป ประเทศต่างๆ จะรีบระบายยางคงค้างแก่บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และรับซื้อยางที่ผลิตในปีปัจจุบันลดน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ราคายางตกต่ำลง หากเกิดภาวะความต้องการยางพาราส่วนเกินเป็นเวลานาน ประเทศผู้ผลิตยางจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ที่ผลิตยางลดปริมาณการผลิตลง
การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นปัจจัยต่อราคายาง ตลาดที่มีอิทธิพลมากคือ ตลาดญี่ปุ่นและตลาดสิงคโปร์ โดยตลาดญี่ปุ่น(โตเกียวและโกเบ) เป็นตลาดที่มีการซื้อเพื่อเก็งกำไรกว่าร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นการซื้อขายของผู้นำเข้าและพ่อค้าคนกลาง ยางพาราที่ซื้อขายส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากไทย ตลาดญี่ปุ่นจึงมีอิทธิพลต่อไทยมาก ส่วนตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดเก่าแก่ เป็นศูนย์กลางการขนส่ง การเงิน การธนาคาร และอื่นๆ อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศดังกล่าวมีผลผลิตประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก การซื้อขายในตลาดสิงคโปร์ร้อยละ 80 เป็นการซื้อขายล่วงหน้า ที่เหลือเป็นการส่งมอบจริง
ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกยางพารามากที่สุดของโลก แต่การกำหนดราคากลับถูกกำหนดโดยตลาดของสิงคโปร์ โดยที่รัฐบาลไทยไม่เคยวางแผนในการพัฒนาให้ไทยเป็นมีบทบาทของการกำหนดราคาตลาดยางพาราในระดับโลก รัฐบาลบริหารจัดการและควบคุมราคายางแบบฝ่ายรับจากการกดดันของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลใช้วิธีแทรกแซงราคายางเป็นระยะๆเพื่อให้ราคายางคงที่ ในเวลาที่ราคายางตกต่ำลง เพื่อหาเสียงกับชาวสวนยางมาโดยตลอด ดังเช่น ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการแทรกแซงราคายาง 6 ระยะ รวม 1.3 ล้านตัน รวมงบประมาณ 25,394 ล้านบาท ผลของการดำเนินการดังกล่าว ทำให้รัฐบาลขาดทุน 6,267 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการทุจริตของรัฐมนตรี โดยใช้วิธีการล็อบบี้ กักตุน ยักยอก และทุบราคา เช่น การทำสัญญาขายยางพารากว่า 50 สัญญา แต่หลายสัญญาไม่มีการส่งมอบยางจริง (พ.ศ.2536 - 2537)
นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมราคายาง กำหนดเขตพื้นที่การปลูกยาง ควบคุมพันธุ์ยางในการปลูก โดยไม่ให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตยางพาราด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อให้อยู่กายใต้การผลิตยางพาราที่แข่งขันกับตลาดโลก แต่จากโครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุนในการควบคุมการผลิตและการตลาดของยางพารา ในขณะที่เกษตรกรเป็นลูกไล่ในการผลิตยางพาราป้อนตลาดภายในและภายนอกประเทศ
เมื่อมาพิจารณาปัจจัยที่กำหนดการผลิตและราคายางพารา จะเห็นได้ชัดว่าชาวสวนยางเป็นเพียงผู้ป้อนผลผลิตยางพาราที่กระบวนการต้นน้ำ โดยไม่มีสิทธิในการกำหนดราคายางพารา ปีพ.ศ.2550 ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบและน้ำยางสดของชาวสวนยางในไทย กรณีที่ไม่ต้องจ้างแรงงานและไม่นับรวมราคาที่ดิน อยู่ในอัตราเฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 35 บาท ขณะที่ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 50-100 บาท นับว่าชาวสวนยางมีรายได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเปรียบเทียบราคายางแผ่นดิบในท้องตลาดที่เป็นราคาท้องถิ่น ราคาประมูล จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งแตกต่างกันไป ราคาตลาดกลางยางพาราของแต่ละจังหวัดที่มีการซื้อขายกัน เช่นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 47.138 บาท ในขณะที่ราคาท้องถิ่น กก.ละ 73.05 บาท แต่ราคาประมูล กก.ละ 74.67 บาท
คำถามจึงมีอยู่ว่าราคายางตกต่ำลงในครั้งนี้ รัฐบาลยังคงใช้วิธีเดิมๆหรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาปลายเหตุและใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนอันเป็นวัฐจักรแบบพายเรือในอ่าง ในขณะที่ชาวสวนยางได้พยายามหาทางออกด้วยตนเอง ดังเช่น กรณีชุมชนไม้เรียง ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงพัฒนาเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมชุมชนแปรรูปยางพารา ๑๑ ชุมชน ในขณะเดียวกันชาวสวนยางยังต้องทำการเกษตรกรรมที่หลากหลาย ทั้งการทำสวนยาง สวนผลไม้ ทำนา และทำธุรกิจขนาดเล็กอย่างหลากหลาย เพื่อมิให้เผชิญกับปัญหาการพึ่งพืชเงินตราของยางพาราอย่างเดียว สำหรับพื้นที่ปลูกยาง การปลูกพืชร่วมยางเป็นทางออกสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของผืนดิน ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนสารเคมี เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดทั้งการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และมีอาหารกินที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทางออกที่ผสมผสานของครอบครัวที่ต้องพึ่งตนเอง และยังต้องพึ่งพิงกับระบบทุนนิยม