Skip to main content



ผมนึกแปลกใจ

ที่งานเขียนนวนิยายหลายเล่มของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน นักเขียน นักวิเคราะห์วรรณกรรม หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ประกาศยกย่องเชิดชูให้เขาเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม ปี 2538 ต่างมีความเห็นตรงกันว่า นวนิยายที่เป็นงานโดดเด่น หรือที่ภาษาทางศิลปะเรียกกันว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือ นวนิยายเรื่องสนิมสร้อย ใต้ถุนป่าคอนกรีท เสเพลบอยชาวไร่ ผู้มียี่เกในหัวใจ ฯลฯ โดยเฉพาะสนิมสร้อยนั้น ดูเหมือนจะถูกยกย่องไว้สูง จนไม่มีเรื่องใดมาเทียบได้ และหลงลืมหรืออาจจะจงใจหลงลืม นวนิยายเรื่องหนึ่งของเขาที่ชื่อว่า “คืนรัก”


 

ผมเข้าใจว่า

การที่นวนิยายเรื่องนี้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มิได้รับการยกย่องและพูดถึงอย่างออกหน้าออกตา ทั้งๆที่นวนิยายเรื่องนี้ต่างหากที่ควรจะเป็นงานมาสเตอร์พีซที่แท้จริงของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมเข้าใจว่า เป็นเพราะการสร้างวาทกรรมนิยามนวนิยายเรื่องนี้ ไม่ว่าจะโดยผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ ที่นิยามแก่น (theme) ของนวนิยายเรื่องนี้เอาไว้ว่าเป็น “วรรณกรรมอีโรติกคลาสสิก” แม้แต่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ 2537 (ที่ผมมีอยู่ในมือ แถมภาพหน้าปก ยังจงใจสื่อให้ชวนอีโรติกจังเลย) หรือไม่ว่าฉบับตีพิมพ์ใดๆในปัจจุบัน คงจะนำนิยามนวนิยายเรื่องนี้มาโปรยหน้าปก ซึ่งก็คงจะได้ผลในการตลาดในแง่เรียกร้องความสนใจจากผู้ซื้อ เพราะในสังคมไทยนั้น เรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงและกามารมณ์ เป็นเรื่องที่มักจะขายดีมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแก่ผู้เขียนและสำนักพิมพ์

 

แต่จากมุมมองในทางวรรณกรรม

ในสายตาของปัจเจกชนอย่างผม วาทกรรมที่นิยามว่า นวนิยายเรื่องนี้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นงานอีโรติก เป็นการตีกรอบคุณค่างานชิ้นนี้ให้คับแคบและด้อยค่าลง เพราะเมื่อหยิบนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาอ่านและพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ผมกลับมองเห็นว่าแก่นของนวนิยายเรื่องนี้ คือ เรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ที่จงใจจะทำความชั่ว ด้วยการเป็นชู้กับเมียของเพื่อนเก่า ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย โดยอาศัยความล้มเหลวของชีวิตในการแต่งงานของเพื่อนและเมียที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน เป็นช่องทางเข้าไป จนประสบความสำเร็จ และสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยจากการถูกระแวงสงสัยจับผิด

 

เรียกได้ว่า

เขาสามารถลงมือทำความชั่วได้บรรลุผล และปลอดภัยจากการถูกทำร้ายจากสามีตามกฎหมายของผู้หญิง และถูกลงโทษจากสังคมทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม ยกเว้นตัวเขาเอง ที่ถูกความรู้สึกด้านดี หรือมโนธรรมของตัวเองลงโทษ ดังที่ปรากฏอยู่ในตอนจบของเรื่อง หลังจากที่เขาส่งเพื่อนที่ตัดสินใจละทิ้งชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลว...ไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อรอขึ้นรถไฟไปเป็นทหารรับจ้างว่า

...จำรูญหัวเราะเบาๆในคอขณะดึงพวงกุญแจทั้งสองของวิเวียน (เมียของเพื่อน) และของโกสุม (เพื่อนที่มีเมียสวย) ออกมากระเดาะมันเล่นที่ฝ่ามือ และเดินออกไปจากห้องบาร์ด้วยความรู้สึกตบหน้าตัวเอง เจ็บปวดแสนทรมาน ความรู้สึกส่วนดีกำลังลงโทษเขาอย่างรุนแรง มันกัดกร่อนอยู่ตลอดมา และจะอีกเนิ่นนาน...

ถึงรถยนต์จอดอยู่บนลานคอนกรีตหน้าสถานี จำรูญมองหาที่ซ่อนไม่ให้ภรรยาเห็น.”

 

แม้เนื้อหาของงานชิ้นนี้

จะอบอวลไปด้วยกลิ่นไอของความรักความใคร่ - ในความผิดทางศีลธรรม แม้กระทั่งฉากการเสพสังวาสบนเตียงนอน ที่ถือกันว่าเป็นจุดสุดยอดของความรักความใคร่ ที่เขาเขียนออกมาอย่างงดงามประณีตในเชิงวรรณศิลป์ จนมองหาภาพและคำที่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าโป๊ ยั่วยุ หยาบคาย สกปรก ลามก อนาจาร ในฐานะผู้เสพไม่พบแม้แต่วลีเดียว ถึงแม้จะถอดเสื้อผ้าออกมาเปลือยเปล่ากันจนหมด...และสมสู่กันว่า


เสียงหล่อนหยุดสะดุดเหมือนจะกล้ำกลืนความรันทด แล้วหล่อนหันประจันหน้ากับเขาด้วยความมั่นใจยิ่งแล้ว - ไม่มีอื่นใดผันแปร ถอดเสื้อชั้นนอกออกและบราเซียร์ ปลดขอสเกิ๊ร์ตและกระโปรงชั้นใน หล่นลงบนพื้น หล่อนเปลื้องความขวยอายที่ห่อหุ้มไว้ด้วยเสื้อผ้ายืนต่อสายตาเขา มองจ้องผิวละเอียดเปล่งปลั่งของหล่อน เสื้อแจ๊คเก็ตยังคล้องแขนอยู่ เขาเกือบจะลืมว่ายืนอยู่บนสวรรค์หรือนรกส่วนไหน จำรูญขบริมฝีปากตัวเองจนรู้สึกเจ็บ เขาลงความเห็นว่าหล่อนมีเรือนกายงดงามเหลือจะเปรียบ


ชายหนุ่มอยู่ในอารมณ์ระรวยรื่นจนริมฝีปากสั่นสะท้าน ปล่อยแจ๊คเก็ตหล่นลงกับพื้น แล้วความเป็นปกติจึงเริ่มกลับมา เขาถามไถ่ตัวเองว่าควรถอดรองเท้าได้หรือยัง - ควรถอดหรือไม่ เขาจึงก้มมองมันอย่างมิรู้ว่าจะทำไฉน จึงกลับเหยียดร่างขึ้นอีก พร้อมกับมองลูบไล้หล่อนด้วยสายตาประณีต จำรูญไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นศิลปิน เขาเคยยืนอยู่เบื้องหน้าร่างเปลือยเป็นเนืองนิตย์ แต่มันเป็นความรู้สึกผิดกันกับขณะนี้

แล้วเห็นหน้าต่างที่ปิดอับอยู่

ผมรู้แล้วทำไมจึงร้อนเหลือเกินคืนนี้”

หล่อนหันมองตาม “จริงสิคะ ดิฉันลืมสนิท”

จำรูญพยายามเดินไม่ให้หล่อนเห็นว่าร้อนรน ถอดกลอนเปิดบานออกกว้างแล้วสับขอทันที เขารูดม่านผ้าโปร่งเนื้อหนาให้ปิดสนิท ถึงอย่างไรก็ยังพอได้ลม ได้กลิ่นอากาศบริสุทธิ์ของกลางคืนที่อยู่ภายนอก - ชวยมาชื่นอก


เขาหันหลังกลับและยิ้มเผยความรู้สึกทั้งหมด หล่อนนั่งเบียดต้นขาไพล่อยู่บนขอบฟูก นัยน์ตาเหม่อลอยอยู่ที่ประตูห้องนอน

จะเปิดทิ้งเอาไว้ละหรือ” เขาถามอย่างรอบคอบ

ค่ะ เราจะได้ยินอะไรถนัดหูกว่า...”

ชายหนุ่มพยักหน้า ทรุดตัวลงนั่งข้างเคียงหล่อน - เงียบเชียบเหมือนการเคลื่อนไหวของเขา ถอดรองเท้าออกแล้วเลื่อนไปทางปลายเตียง อย่างพอเหมาะพอดีจะลุกขึ้นสวม กิริยาเยือกเย็นอย่างน้ำในถ้วยแก้ว...เอื้อมมือแตะต้นขาหล่อนเบาๆ วิเวียนคล้อยตามต่างปรารถนา เมื่อเขาทอดตัวลงนอนเคียงข้าง...หล่อนปลิดกระดุมเชิ้ร์ตเม็ดสุดท้ายให้ แล้วเลิกขึ้นตามแผ่นหลังช่วยเขาถอดออก

นี่เตียงของเขาใช่ไหม”

ค่ะ” น้ำเสียงหล่อนหวานแว่วอยู่ในความเคลิ้มฝันที่จับต้องได้

หล่อนเอื้อให้หมดทั้งกายใจ โน้มเหนี่ยวใบหน้าเขาลงแนบต่อกัน เบียดเสียดริมฝีปากและปลายลิ้นชุ่มชื้นและต่างเข้าถึงอารมณ์รักที่หลั่งท่วมท้น สัมผัสต่อกันด้วยความรู้สึกนุ่มนวลแอบแฝงไว้ด้วยความร้อนรุ่ม แล้วต่างพร่ำกระซิบถ้อยคำจรุงกิริยาของความรักใคร่

สุขชื่นรื่นรสด้วยสำเนียงไพเราะกว่าดนตรี ครั้นเมื่อเวลาอันเนิ่นนานนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว หล่อนให้แสนอาลัยและสะกดกลั้น - ไม่อยากจะยอมให้พรากจากกัน

จำรูญถ่ายถอนอารมณ์ได้รวดเร็วพึงพิศวง ใจเบาและเปล่ากาย เขาถอนใจกระชั้นถี่อย่างเป็นสุข มองบานประตูห้องที่เปิดกว้างอยู่ ใจให้นึกว่าเหมือนมีใครเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา...


ครับ

ถึงที่สุดปลายทางแห่งความรักและความใคร่เพียงนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่เข้มข้นเท่าฉากและเนื้อหาตอนที่ตัวละครครุ่นคิดและดำเนินการที่จะเสพสังวาสเมียของเพื่อน และการดิ้นรนจนสุดฤทธิ์เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากผลการทำชั่วของตัวเอง หลังจากบรรลุเป้าหมายในการทำความชั่วแล้ว ผมว่าตรงนี้ต่างหากคือแก่น (theme) ที่แท้จริงของเรื่อง ที่ผมอยากจะให้คำนิยามใหม่เสียว่า “เรื่องของคนทำความชั่ว ที่สามารถเอาตัวรอดปลอดภัยจากการถูกคนอื่นจับผิดและลงโทษ แต่ไม่อาจเอาตัวรอดจากการถูกตัวเองจับผิดและลงโทษ” แต่ถ้าฟังดูแล้วรุ่มร่ามเงอะงะ และเป็นการบอกอะไรแก่คนอ่านจนหมด ไม่ท้าทายให้ชวนติดตามและค้นหา ก็สามารถย่นย่อลงให้กระชับและท้าทายให้ชวนติดตามได้ว่า “ อำนาจที่คนทำความชั่ว ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้พ้นจากการถูกจับผิดและลงโทษ” ซึ่งจะทำให้เรื่องนี้แลดูเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น และเป็นตัวแทนของคนที่ตั้งใจทำความชั่ว อีกมากมายหลายเรื่องที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่สามารถเอาตัวรอดปลอดภัยจากการถูกจับผิดและลงโทษจากสังคมได้ ด้วยการดิ้นรนกันจนสุดฤทธิ์เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การทุจริตเชิงนโยบายของนักการเมืองที่ฉ้อฉลในบ้านเมืองเราตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน - อย่างที่รู้ๆเห็นๆกันจนชินชา จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในบ้านเมืองของเรา...

 

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในที่สุด

ก็มักจะเอาตัวรอดปลอดภัยจากความผิดและการลงถูกลงโทษจากสังคม เพราะมีเงิน อำนาจ และบริวารพวกพ้อง ฯลฯ แต่ในทางจิตวิญญาณแล้ว ไม่มีทาง - ที่ใครจะรอดพ้นจากการถูกจับผิดและถูกลงโทษจากสำนึกด้านดีของตัวเอง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้บอกสัจธรรมชีวิตนี้แก่เราในนวนิยายเรื่องนี้ และตรงนี้เองที่เป็นสาระสำคัญ เป็นยอดสุดของพีรามิดในนวนิยายเรื่องนี้ของ ‘’รงค์ วงษ์สวรรค์

 

นอกจากคำว่า อีโรติก ที่ใช้นิยามเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ จะลดทอนความหมายที่ควรจะเป็นความหมายที่แท้จริงของงานชิ้นนี้ให้คับแคบและลดเกรดลงแล้ว ผมว่าคำๆนี้ ยังเป็นเครื่องกีดกันมิให้คนที่เคร่งครัดในศีลธรรมเข้ามาเปิดอ่าน ทั้งๆที่มันเป็นงานที่คนเคร่งครัดทางศีลธรรม (รวมทั้งนักปฏิบัติธรรม) ควรจะอ่านและเก็บไปพินิจพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานที่เปิดเปลือยให้เห็นอำนาจอันร้ายแรงของกิเลสตัณหาในมนุษย์ ตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย...

 

เช่นเดียวกับที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มิได้เอ่ยถึงงานชิ้นนี้ในถ้อยแถลงการณ์ “การประเมินคุณค่าผลงานวรรณกรรมของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม ประจำปี พ.. 2538” ก็น่าจะเป็นด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะคงจะเข้าใจผิดและคิดกันว่า เรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึง “ต้นตอแห่งการกำเนิดของมนุษยชาติ ที่มิได้โผล่หัวและหางออกมาจากกระบอกไม้ไผ่” ซึ่งแสลงต่อศีลธรรมอันดีงามในสังคมนั่นเอง นวนิยายที่ยอดเยี่ยมเรื่องนี้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงมิได้ถูกหยิบไปประเมินคุณค่า และเทริดไว้บนที่สูงเหมือนเล่มอื่นๆ ที่กลายเป็นเพียงแค่งานระดับพื้นผิว เมื่อเทียบกับงานที่ลงลึกในความเป็นมนุษย์ในงานชิ้นนี้ของเขา

 

เมื่อเริ่มเปิดอ่านนวนิยายหนาสองร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

ผมรู้สึกว่า วิธีการเปิดฉากแรกอันเร้าใจชวนให้ติดตามในนวนิยายเรื่องนี้ของเขา น่าจะนำมาจากความประทับใจในการอ่านเรื่องสั้นอันเหลือร้ายของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะนะวะ ที่ชื่อว่า “ป่าละเมาะ” (Yabu no Naka) หรือที่คนทั้งโลกรู้จักกันดีเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในนาม “ราโชมอน” (Rashomon) ในตอนคำสารภาพของ ทาโจมารุ อ้ายมหาโจรที่เป็นตัวเอกของเรื่องที่ฆ่าซามูไร ในการแย่งชิงเอาเมียเขามาเชยชม ที่ให้การว่า

ข้าพบกับสามีภรรยาคู่นั้น เมื่อตอนหลังเที่ยงเล็กน้อย ตอนที่พบนั้นข้าได้เห็นใบหน้าของผู้หญิงแว่บหนึ่งตอนลมพัดผ้าที่ห้อยจากชายหมวกเปิดออก ในวินาทีที่เห็นเพียงแว่บเดียวนั้น ข้าเห็นหน้านางเหมือนพระโพธิสัตว์ ในวินาทีนั้นข้าก็ตัดสินใจว่า จะต้องแย่งชิงเอานางมาให้ได้ แม้จะต้องฆ่าผู้ชายก็ตาม...”

 

และในนวนิยายเรื่องคืนรักของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ขึ้นต้นคล้ายคลึงกันว่า

พอเห็นหน้าโกสุม พลันก็ขยั้นอะไรบางอย่างในความรู้สึกอยากจะลบลี้ให้ไกลแสน เขาจึงกระเถิบตัวเบี่ยงตัวเข้าในกลุ่มคนเดินผ่านไปมา ครั้นแล้วหันมองอย่างซ่อนเร้นอีกที พอเห็นผู้หญิงคู่เคียงของโกสุม เขากลับเปลี่ยนใจ เขาหยั่งได้ถึงความต้องการที่มีอยู่และมันกำลังโลดเต้นอยู่ด้วยแรงของความใคร่จะได้ ความคิดของเขาไม่เคยมดเท็จต่ออารมณ์ เขาเต็มเปี่ยมด้วยความมาดมั่น ขณะเดินแทรกกลุ่มคนฉาดหน้าไปที่นั่น พร้อมกับยิ้มด้วยนัยน์ตาพิศวง

โกสุมเหลียวมาเห็นเขาเหมือนกัน อย่างเสียไม่ได้จึงยื่นมือออกทักทาย

จำรูญ นึกว่าใครเสียอีก”

ไม่พบกันเสียนาน สบายดีหรือโกสุม”

ถ้อยทีถ้อยขัดเขินกันอยู่บ้างทั้งสองคน ขณะเขย่ามือกันแน่นแฟ้น และต่างพยายามแสร้งว่ายินดีต่อกันจนล้นออกมานอกหน้า อากาศเดือนนี้ร้อนอบอ้าว แม้เวลาจะล่วงเข้าเย็นจวนค่ำ ทั้งสองรู้สึกถึงฝ่ามือที่ชุ่มด้วยเหงื่อระหว่างกัน จำรูญชำเลืองมองผู้หญิงคนนั้นเต็มตา เขาให้อภัยตัวเองเสมอหากจะมองผู้หญิงด้วยนัยน์ตาล่วงเกิน หล่อนสวมเสื้อชนิดไม่มีแขน ลวดลายดอกไม้ละเอียดอ่อนขับให้ผิวผุดผาดน่าลูบชม โค้งตะเข็บที่ลอดออกมาตามซอกรักแร้มีเหงื่อซึมอยู่บนบริเวณนั้น เขามองจาบจ้วงต่อไปว่า หล่อนไม่นิยมครีมทาขนร่วงหรือคมมีดโกน นั่นยิ่งทำให้เขาทวีในความป่วนใจในหล่อน...”


ต่างกันแต่ว่า

เจตนาของ ทาโจมารุ ตัวละครตัวเอกในเรื่องราโชมอน เขาตั้งใจแย่งชิงเอาเมียของซามูไรมาข่มขืนแบบซึ่งๆหน้า โดยไม่สะทกสะท้านต่ออำนาจใดๆในโลกนี้ แม้เมื่อถูกจับได้ ด้วยความผิดข่มขืนเมียและฆ่าผัวเขาตาย ก็ยังพูดเยาะเย้ยเสียดสีและดุด่าสังคมเอาไว้อย่างเจ็บแสบว่า

อะไรนะ การฆ่าผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรอย่างที่พวกท่านคิดหรอก ถ้าจะแย่งเอาผู้หญิงมา ผู้ชายก็จะต้องถูกฆ่าอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าเวลาที่ข้าฆ่าคนนั้น ข้าใช้ดาบ แต่พวกท่านสิ ฆ่าโดยไม่ต้องใช้ดาบ ฆ่าด้วยอำนาจ ฆ่าด้วยเงิน หรือฆ่าด้วยคำพูดที่ไพเราะ คนที่ไม่ได้เสียเลือดเสียเนื้อก็ยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างดี ถ้าจะมาพิจารณาถึงความหนักเบาของบาปละก็ ท่านชั่วหรือข้าชั่ว ใครชั่วกว่ากันก็ไม่รู้ซิ”

แค่นี้ยังไม่พอ เขาบอกแก่อำนาจรัฐในตอนสุดท้ายของคำสารภาพ โดยไม่แยแสต่อโทษทัณฑ์ที่หนักหนาสาหัสอีกว่า

คำสารภาพของข้าก็มีเพียงแค่นี้ ข้าคิดว่าจะถูกแขวนคอกับกิ่งต้นโออุชิ โปรดลงโทษข้าสถานหนักด้วยเถิด”

.โอ้ ทาโจมารุ ตัวละครที่ผมเชื่อว่า เขาเป็นคนเดียวที่ให้การเป็นจริงยิ่งกว่าใครๆ ที่ต่างให้การไม่ตรงกันในคดีเรื่องราโชมอน เพราะแม้แต่โทษทัณฑ์ถึงตาย ก็มิได้ทำให้เขาสะดุ้งสะเทือนแม้แต่ขี้เล็บ แถมยังให้เกียรติกับเหยื่อที่เขาลงมือกระทำ ไม่ว่าจะเป็นคำยกย่องความกล้าหาญของเมียซามูไรที่ชักมีดต่อสู้เขา และคำยกย่องเพลงดาบอันเก่งกล้าของซามูไร ที่ถึงแม้ว่าจะสู้เขาไม่ได้ เขาช่างเป็นอ้ายมหาโจรดิบเถื่อนผู้ยิ่งใหญ่ ที่ตั้งใจทำความชั่วอย่างห้าวหาญ สง่างาม ตรงไปตรงมา และเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นโจร - ระดับอ้ายมหาโจรที่ควรแก่การคาราวะอย่างแท้จริง !

 

ตั้งแต่เริ่มลงมือปฏิบัติการ

พูดให้ซามูไรเกิดความโลภอยากได้กระจกและดาบ ที่เขาอ้างว่าขุดพบในป่าช้าเก่า และฝังไว้ในป่าละเมาะในหุบเขา และอยากจะขายในราคาถูกๆ ทิ้งเมียอยู่บนหลังม้า หลงติดตามเขาเข้าไปในป่าละเมาะด้วยอำนาจของความโลภ ที่อยากได้ของดีราคาถูก และถูกเขารัดคอจับมัดกับโคนต้นสน พร้อมกับเอาใบไผ่ยัดปากไม่ให้แหกปากร้อง ก่อนจะกลับไปนำเมียซามูไรมาข่มขืนต่อหน้าผัว และดวลดาบกันแบบลูกผู้ชาย ตามความปรารถนาของเมียซามูไร ขณะที่เขากำลังจะทิ้งนางและผัวไป หลังจากที่เขาได้ข่มขืนนางแล้ว แต่นางกลับยื้อยุดฉุดเขาเอาไว้ และสะอื้นไห้ตะโกนออกมาว่า

ขอให้ท่านหรือสามีของข้าคนใดคนหนึ่งตายไปเสีย เพราะข้ารู้สึกเจ็บปวดขมขื่นยิ่งกว่าได้ตายไปเสียอีก ที่มีผู้ชายสองคนได้เห็นความอัปยศครั้งนี้”

แล้วนางจะขอเป็นภรรยาของผู้มีชีวิตอยู่รอด เขาจึงแก้มัดซามูไรให้มาดวลดาบกัน และเขาได้ฆ่าผัวของนางด้วยฝีมือที่เยี่ยมกว่า ตราบจนกระทั่งถูกจับ และยอมรับโทษทัณฑ์โดยไม่สะทกสะท้าน...

 

ในขณะที่ จำรูญ ตัวละครตัวเอกในเรื่องคืนรักของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีเจตนาอยากจะเสพสังวาสเมียเพื่อนให้ช่ำใจ โดยใช้วิธีการลักลอบ เกลี้ยกล่อม เสแสร้ง หลอกลวง เอาเมียเขาแบบขโมยตอนผัวเขาเผลอ และพยายามดิ้นรนให้ตัวเองพ้นผิดจนสุดฤทธิ์ ด้วยความกลัวผลกรรมของตัวเองจะติดตามมา หลังจากบรรลุเป้าหมายชั่วๆของตัวเองแล้ว...

 

ผมคิดว่าทาโจมารุ ในเรื่องราโชมอนของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะนะวะ เป็นตัวละครในอุดมคติ ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อมาเยาะเย้ยเสียดสี และด่าความหน้าไหว้หลังหลอกของมนุษย์และสังคม มากกว่าที่จะเป็นคนที่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง แต่ จำรูญ ในเรื่องคืนรักของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นตัวละครชั่วๆที่ไร้ศักดิ์ศรีและน่าขยะแขยง ที่เราสามารถพบปะในโลกของความเป็นจริงได้ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือแม้กระทั่ง - ในตัวตนด้านมืดของตัวเราเองที่ยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา...

 

ครับ นวนิยายเรื่องนี้เปิดฉากขึ้นแบบราโชมอน

และค่อยๆดำเนินไปตามเค้าโครงเรื่องตามที่ผมได้เกริ่นกล่าว นอกจากความสมจริง ทั้งฉาก บรรยากาศ บทสนทนา บุคลิกตัวละคร และคำบรรยายที่เต็มไปด้วยพลังแล้ว สิ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ทำให้นวนิยายเรื่องอื่นๆของเขา แม้แต่ สนิมสร้อย กลายเป็นเพียงแค่งานระดับพื้นผิวในสายตาของผม ก็คือกระแสสำนึกที่ลงลึก (Deep) ของตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครตัวเอกที่เจตนาจะเสพสังวาสเมียเพื่อนเก่าให้จงได้ และตั้งใจจะเอาให้ได้ในบรรยากาศที่บ้านและห้องนอนของเพื่อน และสามารถเอาจนได้ ในช่วงจังหวะที่เพื่อนไม่อยู่บ้าน จากนั้นก็นำเมียเพื่อนไปเที่ยวดื่มกิน แต่รถเกิดขัดข้องระหว่างทาง ไม่สามารถนำเมียของเพื่อนมาส่ง ก่อนที่เพื่อนจะกลับมาในตอนดึก ต้องนำมาส่งในยามรุ่งเช้า แต่ก็สามารถเล่นละครตบตาเพื่อนด้วยความร่วมมือจากเมียเพื่อน เอาตัวรอดจากความระแวงและจับผิดได้...

 

ในกระแสสำนึกอันชั่วร้ายของตัวละครตัวนี้

เราจะเห็นตั้งแต่วิธีการคิดเพื่อดำเนินการเสพสังวาสเมียของเพื่อน ที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงของชายชาญที่เจนจัดสังคมและเข้าใจธรรมชาติของผู้หญิง รวมทั้งการเอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว และการเอาตัวรอด ด้วยการโยนความผิดไปให้ผู้หญิง พอๆกับการเอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัวของสามีผู้หญิงที่คลั่งไคล้อุดมคติทางการเมืองแบบชาตินิยม หลงตัวเอง มองเมียตัวเป็นเพียงแค่เฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน และโยนความผิดทุกอย่างในชีวิตให้แก่เมียของตัวเอง เพียงเพราะได้ชื่อว่าเป็นเมียตามกฎหมาย และไม่มีสิทธิ์ที่จะมีชู้ ไม่ว่าตัวเองจะดูแลเมียราวกับสัตว์เลี้ยงในกรง...

 

ครับ

นี่คือนวนิยายของ ‘’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ผมยกให้เป็นงานที่เหนือกว่านวนิยายทุกเรื่องทั้งหมดของเขา ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนในยุคไหน เมื่อนำมาอ่านใคร่ครวญดูคุณค่าและประโยชน์ที่เราพึงจะได้รับ ใช่ เพราะนวนิยายเรื่องนี้ คือนวนิยายที่เปิดเปลือยให้เห็นถึงกิเลสตัณหาและความชั่วร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ข้างในของมนุษย์ที่สมจริงและงดงามที่สุดของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เขียนได้ลงลึกจนถึงแก่น ราวกับมีปีศาจจากขุมนรกผุดขึ้นมาวานเขียน พร้อมกับให้ข้อคิด...ที่ทรงคุณค่าที่สุดในการทำความชั่วแก่เราว่า “เมื่อเราลงมือทำความชั่วประการใดประการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆหรือเรื่องที่ใหญ่โต เราอาจจะเอาตัวรอดพ้นจากการถูกจับผิดและลงโทษจากคนอื่นได้ แต่ไม่มีทางที่เราจะเอาตัวรอดจากการถูกจับผิดและลงโทษ - จากตัวของเราเองได้” ที่คนยังไม่ได้อ่าน - ต้องรีบหามาอ่าน ก่อนพรุ่งนี้ก็อาจสายไปเสียแล้ว...

 

ที่สำคัญที่สุด

นักสตรีนิยมพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ณ อีกมุมมองหนึ่ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพของผู้หญิงในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้อย่างแจ่มชัดและน่าเศร้า เพราะการมีชู้อย่างสมเหตุสมผล...และน่าเห็นใจของเธอ นอกจากจะถูกดูถูกจากผัวยังไม่พอ แต่ยังถูกดูถูกจากชู้ที่เป็นเพื่อนเก่าของผัว ที่มารู้ภายหลังว่า แท้จริงแล้วเขาไม่ใช่ชายชู้คนแรกกับเมียเพื่อน อย่างที่เขาหลงภาคภูมิใจ เมื่อเพื่อนบอกแก่เขาในตอนท้ายๆเรื่องว่า เขารู้ว่าเมียตัวเองแอบไปมีชู้มานานแล้ว และเข้าใจว่า...เพื่อนเก่าที่เพิ่งเป็นชู้กับเมียตัวเองมาหยกๆ และกลัวเหลือเกินที่จะถูกจับได้ไล่ทัน แถมยังเป็นคนส่งเขาไปหาความตายในสนามรบ เป็นเพียงแค่เครื่องมืออ้างอิง...ให้หล่อนปลีกตัวไปหาชู้คนก่อนอย่างแนบเนียน เท่านั้นเอง HA HA HA.

 

หมายเหตุ ; หนังสืออ้างอิง

คืนรัก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ 2537

ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ ของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ราโชมอน สำนวนแปล ศศมน วิริยศิริ ในป่าละเมาะ สำนวนแปล มณฑา พิมพ์ทอง สำนักพิมพ์สมมุติ 2551

.’รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล แพรวสำนักพิมพ์ 2552

 


22 - 26
มกราคม 2553

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    เมื่อยังมีชีวิต จงหายใจเข้าไว้ หายใจแรงๆ และหายใจอย่างสดชื่น เพราะภาระหน้าที่ของชีวิตคือการมีชีวิต ชีวิตที่กระปรี้กระเปร่า และถ้าเป็นไปได้ควรต้องรื่นรมย์กับชีวิต บาปอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ (บางทีสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง) คือการปฏิเสธชีวิต   การมีชีวิต
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น ฉันทำเท่าที่ฉันหวัง ฉันหวังเท่าที่ฉันเห็น ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันเชื่อหนึ่งมากกว่าร้อย ฉันเชื่อคนมากกว่าลัทธิ ฉันเชื่อดินมากกว่าฟ้า ฉันเชื่อต้นหญ้ามากกว่าขุนเขา ฉันเชื่อสวนหลังบ้านมากกว่าป่าหิมพานต์ ฉันเชื่อวันนี้มากกว่าวันวาน ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันไม่เชื่ออำนาจรัฐจากกระบอกปืน   ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น.  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  อิสรภาพ   ฉันต้องการอิสรภาพ ที่จะได้เห็น ที่จะได้ยิน ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่สร้างความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มามากมายหลายคน เพราะกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาอย่างกว้างๆไม่ระบุขอบข่ายความผิดให้ชัดเจน รวมทั้งกระบวนการจับกุม สอบสวน ดำเนินคดี ก็มิได้เป็นไปตามปกติทั่วไป มิหนำซ้ำการตีความบังคับใช้มาตรานี้ ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่สามารถตีความใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนักการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ และผู้ต้องคดีนี้นอกจากจะติดคุกติดตะรางแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสังคมที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างรุนแรง    
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คือแม่น้ำและขุนเขาอันขรึมขลัง คือพลังคีตกานท์อันหวานไหว คือหนึ่งจิตวิญญาณล้านนาไทย คือดอกไม้สวยสะคราญบานนิรันดร์  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ย้อนกลับไปทบทวนดู คำประกาศหลังจากรับพระราชทานโปรดเกล้าฯของคุณยิ่งลักษณ์ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “อุปสรรคข้างหน้ายังรอเราอยู่มาก ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่ทั้งหมดมิใช่อุปสรรคขวางกั้นมิให้ทำงาน พร้อมที่จะอุทิศตัวด้วยความทุ่มเท เสียสละอดทน ทำงานแข่งกับเวลา ไม่เกรงต่อความลำบากใดๆ”
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หมายเลข 1 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และ เป็นนายกหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของเมืองไทย และเป็นคนที่ 52 ของโลก อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับการโหวตเสียงจากที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 296 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง ก่อนจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เวลา 18.40 น. ณ บริเวณตึกชั้น 7 ที่ทำงานพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความยินดีของคนจำนวนมากมาย ที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คราวที่แล้ว ผมนำเรื่อง “คนดีของคนเมือง และ คนดีของชนบท” ที่แตกต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า “ความคาดหวังและความจริงของประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2543 ผมคิดว่าจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะพบว่ายังมีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอีกสองประเด็น ที่ยังเป็นเรื่องราวที่ยังดำรงอยู่ในปี 2544 และต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ก็คงไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นรื่องของอนาคต  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมมักจะได้ยิน ผู้คนและสื่อต่างๆเกี่ยวกับการเมือง มักจะพูดกันให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “คนชนบทเป็นคนเลือกตั้งรัฐบาล คนเมืองเป็นคนล้ม” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความจริงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครให้คำอธิบายที่ฟังดู สมเหตุสมผลและชอบธรรม ให้ฟัง ว่าทำไมคนเมืองที่หมายถึงคนชั้นกลาง จึงไม่ชอบรัฐบาลที่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนชนบทในประเทศ และช่วยกันล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตามกติกา 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ถึงแม้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับการรับรองจาก กกต. ให้หลุดพ้นจากข้อหาไปช่วยขบวนแห่ที่เชียงราย ให้พ้นจากข่ายความผิดด้วยมติ 5 ต่อ 0 ท่ามกลางความโล่งอกของใครต่อใครมากมายหลายคน ที่ว่ากันว่า เป็นเพราะโพลเสียงจากประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องการคุณยิ่งลักษณ์นายกฯ (รวมทั้ง นปช.) เป็นกระแสกดดัน กกต. หรือเพราะเหตุใดก็ช่างเถิด แต่เราก็สามารถฟันธงกันได้เลยว่า อีกไม่นาน เราจะต้องได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอย่างแน่นอน 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมไม่แน่ใจว่า ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนสวย และกลุ่มมันสมองของพรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายประชานิยม เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานจาก 221 บาท เป็น 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้จบปริญญาตรีที่เริ่มเข้าบรรจุงานจาก 11,028 บาท เป็น 15,000 บาท
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมกำลังจะชวนใครต่อใคร เข้ามาคุยเรื่องปัญหาที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาสะสางและแก้ไข จากข้อมูลของนักวิเคราะห์การเมืองท่านหนึ่งที่รวบรวมและชี้แนะเอาไว้ล่วงหน้าแก่รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์เอาไว้