เป็นที่ทราบกันดีว่า
กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่สร้างความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มามากมายหลายคน เพราะกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาอย่างกว้างๆไม่ระบุขอบข่ายความผิดให้ชัดเจน รวมทั้งกระบวนการจับกุม สอบสวน ดำเนินคดี ก็มิได้เป็นไปตามปกติทั่วไป มิหนำซ้ำการตีความบังคับใช้มาตรานี้ ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่สามารถตีความใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนักการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ และผู้ต้องคดีนี้นอกจากจะติดคุกติดตะรางแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสังคมที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างรุนแรง
นี่ เป็นกฎหมายที่น่ากลัวจริงๆ
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เพียงแค่...มีกลุ่มนักคิด นักเขียน และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ชักชวนกันลงชื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่หละหลวมมาตรานี้ ทันทีที่แถลงการณ์ออกไป ผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบัน ต่างก็พากันออกมาประณามผู้ที่เรียกร้องกันยกใหญ่ ทั้งๆที่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ตัวกฎหมายมิได้อยู่ที่สถาบัน แต่กลับไปกล่าวหาผู้ที่เรียกร้องในทำนองว่า เป็นพวกที่อยากล้มสถาบัน เป็นพวกที่ไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ ว่ากันว่า บางเว็บไซต์ ที่คิดไปในทางเดียวกัน ถึงกับประกาศบอกกันและกัน มิให้อ่านงานของนักเขียนหลายคนที่ลงชื่อเรียกร้องกันในครั้งนั้น บางคนเล่นแรงถึงขนาดแนะนำว่า ถ้าใครมีหนังสือของนักเขียนพวกนี้ก็ให้ทำลายทิ้งเสีย...
ผมน่าจะโชคดีที่ไม่ได้ลงชื่อร่วมกับเขา รวมทั้งงานที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ส่งไปให้นิตยสารรายสัปดาห์เกี่ยวกับการเมืองฉบับหนึ่งในช่วงเวลานั้น ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของบก. เออ ใช่ ผมโชคดีจริงๆ นั่นแหละ...
จากนั้นมา
ผมก็เลิกคิดที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมาไตร่ตรองดูความรู้ทางการเมืองเท่าขี้เล็บของตัวเองดูแล้ว จึงสรุปได้ว่า ขืนไปแตะเรื่อง ม. 112 คงจะได้แต่เรื่องเดือดแก่ตัวเองเหมือนไฟไหม้บ้านเป็นแน่แท้ แต่ก็เฝ้ารอดู ว่าจะมีใครสักคนหนึ่งบ้างไหมที่จะกล้าหาญลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีเหตุมีผลที่น่าเชื่อถือ และเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย จนกระทั่งผมได้อ่านบทความที่ชื่อว่า “ความคลุมเครือ - ที่มาของอำนาจนอกระบบ” โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2554 ในกรอบกลางหน้า 6 ผมอ่านแล้วบอกแก่ตัวเองว่า ใช่เลย แถมยังมีอะไรให้ผมได้เรียนรู้มากกว่าที่ผมคาดหวังเอาไว้ตั้งหลายเท่า ผมจึงขอนำบทความดีๆนี้มาสื่อสารที่อีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ความคลุมเครือ - ที่มาของอำนาจนอกระบบ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
คำอภิปราย ของฝ่ายค้านและตอบโต้ของรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอะไรสองอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของไทย ว่าได้เดินมาถึงแพร่งสำคัญที่ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางใด โดยเฉพาะการอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ม.112 ในกฎหมายอาญา
ผู้ฟังหลายคนคงผิดหวังเหมือนผม ที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะเล่นการเกมเมืองเก่า คือยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ชัดเจนดังเดิม ด้วยประกาศความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นของตัวเอง และอย่างที่ฝ่ายค้านวางเส้นทางให้เดิน คือไม่คิดจะทบทวน ม.112 ไม่ว่าในแง่เนื้อหาหรือในแง่ปฏิบัติ
ยิ่งไปกว่านั้น รองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง และรมต.ไอซีที ยังแสดงบทบาทไม่ต่างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จะบังคับใช้กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น
ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่า การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร และบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อปราบปรามศัตรูทางการเมืองอย่างเมามันอย่างไร (ถ้าเมามันเท่ากันเช่นนี้ ยังมีน้ำหน้าจะไปปลดคนนั้นคนนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือปลดคนโน้นคนนี้อย่างเมามันได้อย่างไร)
แต่อะไรกับอะไร ที่ต่อสู้กันในรัฐสภาในวันแถลงนโยบาย
ผมพยายามหาวิธีอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายวัน และคิดว่าอธิบายได้ แต่เพิ่งมาอ่านพบบทความของ นายรอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ลงในเว็บไซต์นิวมัณฑละ ตรงกับความคิดของผมพอดี แต่อธิบายได้กระจ่างชัดกว่า จึงขอนำมาสรุปดังนี้ (จมูกของหลายคนคงย่นเมื่อได้ยินชื่อนี้ แต่เราตัดสินอะไรที่เนื้อหาไม่ดีกว่าที่ผู้ผู้พูดหรอกหรือครับ)
เขายกทฤษฎีของนักวิชากานของเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Emst Fraenkel ซึ่งศึกษาเยอรมันใต้นาซี ออกมาเป็นทฤษฎีที่อาจเอาไปใช้ในกรณีอื่นๆได้ด้วย
เขาเสนอว่ารัฐมีสามประเภทแบบกว้างๆ
ประเภทหนึ่งคือ นิติรัฐ ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย
อีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่สุดโต่งอีกข้างคือ รัฐอภิสิทธิ์ อันหมายถึงรัฐที่มีบุคคลหรือบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งถืออภิสิทธ์บางอย่าง ย่อมเป็นไปตามประสงค์ของอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้
รัฐประเภทที่สามคือ รัฐซ้อน อันได้แก่รัฐ เช่น ประเทศไทย
กล่าวคือมีสถาบัน องค์กร และการจัดการที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ แต่ในการบริหารจัดการจริง ก็ยังขึ้นอยู่กับความประสงค์ของกลุ่มอภิสิทธ์ชน นั่นเอง
ที่รัฐเหล่านี้ต้องมีระเบียบแบบแผนระดับหนึ่ง ก็เพราะระเบียบแบบแผนเอื้อต่อ ทุนนิยม จำเป็นต้องมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง พอจะตัดสินกรณีพิพาททางธุรกิจและหนี้สินได้ แต่ในเรื่องอำนาจทางการเมือง กลุ่มอภิชนก็ยังหวงไว้ตามเดิม แต่ก็หวงเอาไว้ภายใต้ความคลุมเครือในรูปแบบของนิติรัฐ ไม่ได้ประกาศออกมาโจ้งๆตลอดไป กฎหมายเป็นรองความประสงค์ของฉันเท่านั้น
ฉะนั้น ถ้าอธิบายตามทฤษฎีของนาย Ernst FraenKel อะไรที่ต่อสู้กันในสภาวันนั้น ที่จริงคือการต่อสู้ระหว่างนิติรัฐ และรัฐอภิสิทธินั่นเอง
นิติรัฐ ของไทย กำลังผลักดันตัวเองไปสู่ระเบียบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเหลือความคลุมเครือของอำนาจน้อยลง ในขณะที่รัฐอภิสิทธิ์พยายามจะรักษาส่วนที่ไม่เสรีและไม่ประชาธิปไตยเอาไว้ภายใต้ความคลุมเครือ เพื่อจรรโลงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มต่อไป
และด้วยเหตุดังนั้น จึงกดดันให้รัฐบาลใหม่ต้องยอมรับว่า จะไม่เข้าไปสถาปนาความชัดเจนในความคลุมเครือที่จำเป็นต้องดำรงอยู่
และอย่างที่กล่าวในตอนแรกนะครับ รัฐบาล พท. ก็พร้อมจะรักษาความคลุมเครือนั้นไว้ดังเดิม ผมยังพยายามมองในแง่ดีว่า เพราะพรรค พท.คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประคองตัวให้รอดพ้นจากการถูกทำลายลงด้วยอำนาจของรัฐอภิสิทธิ์
แต่นี่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะสถานการณ์ของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว พรรค พท.มีแต้มต่อหลายอย่างที่ควรกล้าเดิมพันมากกว่าขออยู่ในตำแหน่งนานๆเพียงเท่านั้น ถึงอยู่ได้นานเดี๋ยวก็กลับมาอีก
ผล การเลือกตั้งที่ พท.ชนะอย่างท่วมท้น ทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของนิติรัฐได้เข้ามาอยู่ในสภาแล้ว หลังจากได้อยู่ในท้องถนนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 แต่นั่นไม่ได้หมาความว่า จะไม่มีการต่อสู้ตามท้อถนนอีกเลย หากรัฐอภิสิทธิ์พยายามสถาปนารัฐของตนขึ้นใหม่ (โดยการรัฐประหาร, คำพิพากษา, หรือการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม) การต่อสู้ตามท้องถนนก็อาจกลับมาอีก
นอกจากนี้รัฐอภิสิทธิ์ยังอาจหนุนให้เครือข่ายของตนใช้ท้องถนนเพื่อบ่อนทำลายอำนาจรัฐประชาธิปไตยในสภาได้ หากสถานการณ์อำนวย แต่แนวหน้าของการต่อสู้ตามถนนได้เคลื่อนเข้ามาสู่สภาแล้ว
ดังนั้น
หากรัฐบาล พท.ไม่ยอมรุกคืบหน้าในการขยายพื้นที่ของนิติรัฐ ทุกอย่างจะชะงักงันอยู่อย่างเก่าและพรรค พท.ต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ชะงักงันที่พื้นที่นิติรัฐมีอยู่นิดเดียว ในขณะที่พื้นที่ของรัฐอภิสิทธิ์มีอยู่อย่างกว้างขวาง พรรค พท.ก็จะถูกเขี่ยกระเด็นไปได้ง่ายๆ
การต่อสู้ผลักดันเพื่อขยายพื้นที่ในรัฐสภา จึงเป็นไปเพื่อความมั่นคงของพรรคเพื่อไทยเองด้วยซ้ำ จะเป็นความมั่นคงมากเสียยิ่งกว่าพยายามจรรโลงความคลุมเครือให้ดำรงอยู่ เพื่อการยอมรับของรัฐอภิสิทธ์เสียอีก
ส.ส.ของพรรค พท.แต่ละคนจะมีพันธะกรณีกับประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดไม่ทราบได้ แต่พรรค พท.เองจะอยู่รอดได้ ก็บนพื้นที่นิติรัฐหรือประชาธิปไตยต้องขยายกว้างขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาล พท.จะล้มก็ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น
พรรค พท.จึงควรอธิบายให้ชัดเจนว่า ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้ที่จริงคือความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั่นเอง
เพราะพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย (ตามรัฐธรรมนูญ) คนที่ไม่จงรกภักดีคือ คนที่ละเมิดอธิปไตยของปวงชนชาวไทย
ในส่วนของ ม.112 นั้น พรรค พท.ต้องกล้าพูดความจริงว่า เป็นกฎหมายที่มีปัญหาแน่นอนไม่ในในเนื้อหาก็ในการบังคับใช้ หรือทั้งสองอย่าง จากการที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงปีละไม่ถึง 10 ราย กลายเป็นมีผู้ต้องหานับร้อยในทุกปี
การสร้างภาพความจงรักภักดีอย่างอย่างสูงสุดแก่ตนเอง ดังที่นักการเมืองได้สืบเนื่องกันมาหลายปีแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พรรค พท.จะไม่ทำตามอันขาด การป้องกันพระมหากษัตริย์ในโลกปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงสติปัญญาและคำนึงถึงความละเอียดอ่อน
ฉะนั้น หากยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไป กฎหมายนั้นต้องชัดเจนว่า กระทำการอย่างใดถึงจะละเมิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ที่ฟ้องร้องตามอำเภอใจ และเพราะกฎหมายนี้ถูกนำมากลั่นแกล้งกัน ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงการเมืองอยู่เสมอ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องที่ละเอียดรอบคอบและโปร่งใส
การประกาศว่าจะทบทวน ม.112 จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงกันข้าม การขจัดความคลุมเครือในเรื่องนี้เสียอีก ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบัน เพราะในความคลุมเครือของรัฐอภิสิทธิ์นั้น ย่อมไม่มีความมั่นคงแก่สถาบันใดๆทั้งสิ้น
และเพราะพรรค พท.มองการณ์ไกลว่า พรรค พท.จึงจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการทบทวน ม.112 ทั้งๆที่พรรค พท.น่าจะรู้ดีแล้วว่า การทบทวนจะก่อให้เกิดศัตรูมากขึ้น แต่ต้องแยกแยะศัตรูเหล่านี้ให้ดี ส่วนที่จริงใจเพราะเกรงว่าสถาบันฯจะไม่ได้รับการปกป้อง พรรค พท.ย่อมสามารถแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลเพื่อให้เขามาสนับสนุนได้
แต่ส่วนไม่จริงใจ และใช้การปกป้องสถาบันฯเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อห่อำนาจทางการเมือง สู้กับ “มัน” สิครับ.
.....................
.....................
หมายเหตุ ; หลังจากผมอ่านบทความนี้จบแล้ว ผมก็พลันนึกถึงบทให้สัมภาษณ์ของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ online 9 ก.ค. 54 หลังชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคไทย ในบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า อ่านเกมเกี้ยเซียะ “อำนาจเก่า + อำนาจพิเศษ” ต่อคำถามในตอนหนึ่งว่า
ผู้สัมภาษณ์ ; รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเหมือนยุค “สมัคร - สมชาย” ที่มีตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจบริหารหรือไม่
อ.ชาญวิทย์ ; รัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงพยายามอย่างยิ่งที่จะ “เกี้ยเซียะ” กับ “อำนาจเก่า” กับ “อำนาจพิเศษ” ผมวิตกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะทำอะไรหลายๆอย่าง เช่น เธอต้อง “เกี้ยเซียะ” กับทหาร ไม่แตะทหาร ไม่ยุ่งกับทหาร ไม่จัดการกับทหารให้เป็นประชาธิปไตย
ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็วิตกว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ก็คงจะไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลนี่อาจจะยอม “เกี้ยเซียะ” ด้วยการไม่ปฏิรูปหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112 อย่างที่มีการเรียกร้องกัน
ผมคิดว่าเพื่อการอยู่รอดของเธอ เพื่อที่การจะจัดตั้งรัฐบาลได้สะดวก เธอก็อาจจะต้อง “เกี้ยเซียะ” สองประเด็นหลัก คือหนึ่ง ไม่แก้กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ปฏิรูปเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และสอง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการสถาบันทหาร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นจุดบอดจุดลบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
................
................
ครับ
ระหว่างการช่วยชี้ทางของ อ.นิธิ และความวิตกของ อ.ชาญวิทย์ ที่มีต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางภาพลวงและภาพจริงทางการเมืองที่ยากจะแยกแยะ ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ แต่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้และวันนี้ ( 7 - 8 ก.ย. 54) โดยไม่มีสัญญาณใดๆบ่งบอกให้รู้ล่วงหน้า เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาโดยไม่มีพายุและเมฆฝน
นั่นคือ
จู่ๆก็มีข่าวรองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาประกาศแก่สังคมว่า จะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่ คุณทักษิณ ด้วยน้ำเสียงและวาทะที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นเกินร้อย โดยไม่ต้องรอการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความคาดหมายของสังคมให้เสียเวลา และไม่สะดุ้งสะเทือนต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น นี่กระมังที่คนโบราณเขาเรียกกันว่า “ตีเหล็กในขณะที่กำลังร้อน” จึงจะได้ผลตามความต้องการ ในทางการเมืองแปลว่า บางสิ่งทำด้วยอำนาจเท่านั้น เมื่อมีอำนาจแล้วอยากทำ ต้องรีบทำก่อนจะสิ้นอำนาจ
โอ้ - ผมว่าปรากฏการณ์นี้ คือปรากฏการณ์ที่กำลังบอกแก่เราอย่างจริงแท้แน่ชัดว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตัดสินใจเลือกเดินไปตามเส้นทางที่เป็น ความวิตก ของอ.ชาญวิทย์เรียบร้อยแล้ว น่าเห็นใจ น่าเห็นใจ ท่านนายกฯ คนสวยของเรา โถ...ก็หนูตัวใดเล่า ที่มิใช่หนูในโลกของหนังการ์ตูน จะกล้าเอากระพรวนไปผูกคอแมว...
น่าเสียดาย ความปรารถนาดีของ อ.นิธิ แต่ก็ยังดีที่สังคมเรายังมีผู้ใหญ่ที่ความรู้อย่างกว้างขวาง กล้าหาญออกมาแสดงความคิดดีๆเช่นนี้ อย่างน้อยก็ถือกันเสียว่า เป็นงานความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่เผื่อเอาไว้ในวันหนึ่งข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะเนิ่นนานนับเป็น 100 ปี ก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะคนไทยเราชาชินกันจนเป็นเรื่องธรรมดา และบางทีต่างก็ลืมกันไปเสียแล้ว ว่าเรากำลังรออะไรกันอยู่
ครับ
ถ้าหากการมองโลกในแง่ร้ายของผมผิดพลาด
ผมก็ขออภัยล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้
สวัสดี.
8 กันยายน 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
เมื่อผมได้อ่าน
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ
ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้
แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก”
ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่
แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก
เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ
ไม่ว่าอำนาจนั้น
จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่
ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่
อำนาจนั้น
ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ
ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า
โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า
ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ
ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้
เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
จวนจะ 5 โมงเย็น