Skip to main content

 

เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อน
ผมได้รับหนังสือ “มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้” เป็นอภินันทนาการจาก อันยา โพธิวัฒน์ เจ้าของร้าน สายหมอกกับดอกไม้ อดีตคนข้างเคียง จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา หลังจากที่คุณอันยาได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคุณจรัลในเชิงบันทึกจากมุมมองของเธอเอาไว้ 2 เล่ม คือ รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร และ ตามรอยฝัน...จรัล มโนเพ็ชร ในช่วงตอนแรกๆที่คุณจรัลได้จากไปเมื่อหลายปีก่อน และเป็นหนังสือที่อยู่ในอันดับขายดี
 
เล่มล่าสุดนี้ของเธอเล่มนี้
จึงนับเป็นเล่มที่ 3 แม้จะทิ้งช่วงห่างมานานหลายปี แม้จะเป็นเรื่องอาหารดอกไม้ แต่ก็ยังมีเรื่องราวที่มาที่ไปเกี่ยวพันกับคุณจรัล คุณอันยา และร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ที่คุณอันยาและคุณจรัลร่วมกันก่อตั้ง รวมทั้งแรงบันดาลที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาทำอาหารดอกไม้ ตั้งแต่ยังแทบไม่มีใครรู้ว่าดอกไม้หลายชนิด สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารกินได้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของร้านสายหมอกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
 
หนังสือสวยงามหนา 200 กว่าหน้าเล่มนี้ จึงแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นบทความสละสลวยชวนอ่านเพลิดเพลินเกี่ยวกับคุณจรัล คุณอันยา ร้านสายหมอก แรงบันดาลใจเของเธอ เกร็ดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับดอกไม้ และการลงมือค้นคว้าทดลองทำ 90 กว่าหน้า โดย ภาคหนึ่ง แบ่งออกเป็นบทๆตามชื่อหัวข้อ ดังนี้
 
1.มรรคาแห่งดอกไม้
2.ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกี่ยวกับเซ็กซ์
3.อาหารดอกไม้ในงานมังสวิรัติโลก
4.ภูมิปัญญาท้องถิ่น
5.อาหารก็เหมือนดนตรีดนตรี ดนตรีก็เหมือนอาหาร
6.อำนาจวรรณกรรม
7.ดอกไม้ก็อร่อยได้
8.ปรุงอาหารจานดอกไม้ด้วยความสุข
 
ภาคสอง
เป็นรายชื่ออาหารและเครื่องดื่มจากดอกไม้ และวิธีทำตามประเภทอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมด้วยภาพประกอบลายเส้นขาว -  ดำ และภาพถ่ายสีสวยสดใส ดังนี้  
 
ยำ
ยำยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง, ยำบุปผานานาพันธุ์, ยำดอกดาหลา, ยำสายหมอกกับดอกไม้
 
ผัด - ทอด
ไข่เจียวดอกไม้, ไข่ดาวทรงเครื่องดอกพวงแสด, มาลีทอดกรอบ, ดอกกาหลงผัดกุ้ง
 
ย่าง - นึ่ง
ไข่ตุ๋นดอกเข็ม, เต้าหู้ดำนึ่งดอกสายนำผึ้ง, ปลาย่างกับดอกเบญจมาศ
 
ต้ม - แกง
ต้มข่าดอกกล้วยไม้, ต้มกะทิสดดอกบัว, แกงจืดบุปผาสาคู, ต้มส้มดอกขิงแดง, ต้มซุปดอกกุหลาบกับเต้าหู้ดำ เต้าหู้ขาว
 
กินเล่น
แหนมดอกเพกา, เปาะเปี๊ยะดอกไม้สด, บุปผาน้ำปลาหวาน, ข้าวเหนียวเขียว - ปูโรดตะไต้
 
เครื่องดื่ม
น้ำกุหลาบ
ชากุหลาบ
น้ำดอกเก็ดถะหวา
น้ำดอกดาหลา
ชากลิ่นดอกบัว
น้ำดอกอัญชัน
นำดอกเข็มแดง
 
โดยส่วนตัวผม เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว นอกจากจะได้รับความรู้ในการทำอาหารดอกไม้ และ(คิดว่า...) สามารถลงมือทำเองได้ ผมยังรู้สึกหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้เขียนแบบใช้อารมณ์และความรู้สึกกลั่นกรองออกมาอย่างประณีต อ่านแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน จนเผลอลืมไปว่ากำลังอ่านตำราทำกับข้าวและเครื่องดื่ม
 
ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็น “Cook Book” ที่ต่างจากหนังสือประเภทเดียวกัน นั่นคือเป็น “Cook Book” ที่มีความเป็นวรรณกรรมแบบโรแมนติกผสมผสานอยู่ เพราะมีการเล่าเรื่องราวของผู้คน สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ฯลฯ ออกมาอย่างได้อารมณ์และความรู้สึกอันละเมียดละไมตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย เช่น ในภาคสองก่อนจะถึงรายการทำอาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดซึ่งเป็น Theme ของหนังสือ จะต้องมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มนั้นๆเป็น Intro นำทางไว้ก่อน ยาวบ้าง สั้นบ้าง เป็นเลศเล่ห์เสน่หาเย้ายวนชวนให้ติดตามและหลงรัก...  
 
ยกตัวอย่าง เช่น ยำดอกดาหลา
ก่อนจะถึงสูตรและวิธีทำยำดอกดาหลา เธอก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้นำไว้ก่อนว่า
“ดอกไม้ที่อร่อยที่สุด คือดอกไม้ที่ไม่ได้ผ่านการเดินทางไกล”
แต่บางครั้งฉันก็ละเมิดกติกาของตนเอง ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์อันอ่อนหวานนุ่มนวล เมื่อร้านได้รับเชิญให้ไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อสาธิตการปรุงอาหารจากดอกไม้ที่กินได้
 
ระยะทางจากเชียงใหม่ไปสูสิงคโปร์ไม่ไกลนักโดยการบิน เพราะบินตรงได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ แต่เมื่อเป็นต่างถิ่นต่างประเทศ และต้องไปปรุงอาหารถึงที่นั่น เราจึงคิดหนักเรื่องการจัดเตรียมหาดอกไม้ จะไปหาที่ไหนได้ ไม่รู้จักมักจี่ใครสักคน จะแอบไปเก็บดอกไม้งามๆตามหน้าบ้านชาวสิงคโปร์ หรือตามสวนสาธารณะของเขา ก็คงถูกจับและเสียค่าปรับแน่ และอีกอย่างก็เชื่อว่าที่สิงคโปร์อาจจะใช้สารเคมีในการเลี้ยงดูพวกไม้ดอกไม้ประดับ
 
ถ้าคิดไปตายเอาดาบหน้า ไปเที่ยวเสาะหาดอกไม้กินได้จากที่นั่น มันอาจล้มเหลวก็เป็นได้ แม้จะขัดแย้งกับกติกาที่ถือว่า
“ดอกไม้ที่อร่อยที่สุด คือดอกไม้ที่ไม่ได้ผ่านการเดินทางไกล”
แต่เมื่อไม่มีทางเลือก เราจึงตัดสินใจหอบเอาดอกไม้สดๆไปเองจากเชียงใหม่
“บ้าก็บ้าว่ะ” ฉันคิดอย่างมั่นใจ

 
 

ครั้งนั้น
เราไล่เก็บดอกลั่นทม ดอกอัญชัน ดอกกุหลาบ ดอกเข็มแดง และดอกกล้วย เพราะพวกนี้จะไม่เหี่ยวเฉาเอาง่ายในระหว่างการเดินทาง แต่สำหรับเฟื่องฟ้าและชบา ตัดออกไปจากบัญชีดอกไม้กินได้ของเราได้เลย ทั้งสองชนิดไม่เหมาะที่จะเดินทางไกลแน่
 
การยกครัวอาหารดอกไม้ไปปรุงนอกสถานที่ ไม่ได้สร้างความลำบากลำบนสักเท่าไหร่ หากเรามีดอกไม้พร้อม แต่ที่ร้านเองนั่นสิ เมื่อมีแขกจองล่วงหน้าสำหรับปาร์ตี้พิเศษจำนวนหลายสิบคน เราต้องเตรียมหาดอกไม้ไว้ให้พร้อม ไม่น่าให้อภัยเลยล่ะถ้ามีดอกไม้ไม่พอกิน ทั้งๆที่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน
 
บางวันลูกค้าเข้ามาที่ร้านดึกเกินไปและสั่งอาหารจานดอกไม้ แต่แม่ครัวได้ปรุงมันมาหลายจานแล้ว จนกระทั่งดอกไม้ของเราหมดเกลี้ยงจริงๆ เรื่องนี้พออภัยได้ ฉันไม่ถือว่าสำคัญนัก
 
ท่ามกลางสวนดอกไม้ ที่เก็บมาปรุงเป็นอาหาร และยังมีสรรพคุณแสนวิเศษ ดอกดาหลาก็เป็นหนึ่งในสวนของเรา กลิ่นหอมชวนน้ำลายสอจากกลีบดอกดาหลาที่เพิ่งเก็บมาทำอาหารจานยำ จะยังคงสำแดงพลังอย่างเต็มเปี่ยม
 
แม้ดาหลาจะชอบน้ำอยู่มาก แต่ระหว่างช่วงฤดูฝนต้นดาหลาไม่ค่อยจะให้ดอกสักเท่าไหร่ ดินที่ชื้นและแฉะอยู่เสมอ อุณหภูมิความชื้นในอากาศ และแสงแดดในฤดูฝนไม่เอื้อต่อการให้ดอกดาหลา แตกมันจะแตกหน่อง่ายดายในยามนี้
 
ถ้าคุณจะปลูกดาหลา ฤดูฝนเหมาะมาก โดยแยกหน่อมาปลูก ต้องเลือกหน่อที่สมบูรณ์ สูงราวๆ 60 ถึง 100 เซนติเมตร ให้มีใบติดสักสี่ห้าใบ และมีรากติดอยู่ด้วยพอประมาณ การปลูกโดยแยกหน่อจะใช้เวลานานหน่อย อย่างน้อยๆก็ 5- 6 เดือน กว่าดาหลาจะให้ดอก แต่ถ้าแยกเหง้าที่เกิดใหม่ไปปักชำ อาจจะนานกว่านั้นอีก นั่นคือราว 1 ปีไปแล้ว
 
แต่ยังไงเสียดาหลาก็ชอบดินร่วนซุยและชอบน้ำ กับแสงแดดที่รำไร
 
ดอกดาหลา ส่งกลิ่นหอมชวนกิน ทำให้คุณน้ำลายสอได้ในทันทีที่สัมผัสกลิ่นของมัน พวกฝรั่งเรียกดาหลาว่า Torch Ginger จากรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกับคบเพลิง มันเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับขิงและข่า มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ทั้งยังมีสารและกลิ่นที่แมลงไม่ชอบ จึงไม่ค่อยมีแมลงมารบกวน เมื่อออกดอกจะออกเป็นช่อ ก้านดอกจะแทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน มีสีสันอยู่สามสีล้วนสวยสดงดงาม คือสีแดง สีขาว และสีชมพู ที่เห็นกันมากคือสีชมพูและสีแดง ซึ่งออกดอกแสนง่ายดายแทบตลอดทั้งปี แต่สีขาวนั้นหวงแหนดอกของมันมาก
 
ดาหลาปรุงอาหารกินอร่อยมาก ไม่ว่าจะปรุงให้เป็นต้มเป็นแกง ทอด หรือแม้แต่กินสดๆ มีรสออกเปรี้ยวๆเล็กน้อย และซาบซ่า ค่อนข้างเผ็ด กลีบดอกดาหลาที่นำมาปรุงเป็นอาหาร ไม่ใช่กลีบดอกจริง แต่เพียงกลีบประดับอันงดงาม
 
ยำดอกดาหลา จานนี้อาจกินแบบลวกสุกก็ได้ แต่หากกินกลีบสดๆ กลีบดอกดาหลาจะเข้าเนื้อกับน้ำยำได้ดีกว่า
 
เครื่องปรุง
-                     ดอกดาหลา 1- 2 ดอก (ต้องปลอดจากสารเคมี)
-                     หมูสับละเอียด รวนพอสุก 50 - 100 กรัม หรือกุ้งสดลวกสุก 3 - 4 ตัว
-                     แตงกวาอ่อนหั่นบางๆ 3 ผล
-                     ใบสะระแหน่ 10 ใบ
-                     หอมหัวใหญ่ 1 หัว
-                     ผักกาด 1 - 2 ใบ
-                     พริกขี้หนูซอย 5 - 10 เมตร
-                     น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
-                     น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
-                     น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
 
วิธีปรุง
-       เตรียมดอกดาหลา เลือกใช้แต่กลีบอ่อนๆ หรือกลางๆจะกินง่าย และรสชาติเยี่ยม ล้างกลีบดอกผ่านน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำในที่ร่ม แล้วใส่ชามพักเตรียมไว้
-       ปรุงน้ำยา ผสมน้ำปลา น้ำตาลทราย นำมะนาว เข้าด้วยกัน ชิมรสตามชอบ แล้วลงคลุกเคล้าในชามสำหรับยำที่มีกลีบดอกดาหลา หมูสับ หรือกุ้งสด แตงกวา หอมใหญ่ ใบสระแหน่ ผักกาดแก้ว โรยพริกขี้หนูใส่ลงไป ชิมรสตามชอบ ตักใส่จาน เสิร์ฟ  
 
ครับ คงเป็นเพราะว่า ผู้เขียนมีต้นทุนทางวรรณกรรมอยู่ในตัวเองค่อนข้างสูง ดังนั้น ไม่ว่าเธอจะลงมือเขียนอะไร ก็มักจะแลดูเป็นงานวรรณกรรม หรือมีความเป็นวรรณกรรมผสมผสานอยู่ ดังที่ผมยกตัวอย่างเรื่องการทำยำดอกดาหลามาให้อ่านกันโดยไม่ตัดทอนนั่นแหละครับ...
 
มิหนำซ้ำแรงบันดาลใจแบบ บ้าก็บ้าว่ ในการคิดทำอาหารดอกไม้ของผู้เขียนก็มาจากการอ่านงานวรรณกรรมประเภทนวนิยายจากนวนิยายสายสกุลเซอร์เรียลลิสต์เรื่อง Like Water For Chocolate  อันโด่งดัง ของ ลอร่า เอสควิเวล นักเขียนสตรีผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่เม็กสิโก จากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาสเปน ที่เธออ่านจบแล้ว...ถึงกับบอกแก่ตัวเองว่า
“หลังจากอ่านหนังสือจบลง ฉันไม่ได้อยากดื่มหรือกินช็อกโกแลต แต่กลับรู้สึกว่าอยากกินดอกไม้เป็นอาหาร อยากเคี้ยวกลืนกลีบดอกไม้ลงลำคอ รอเวลาที่มันจะแผลงฤทธิ์...”
และตอบสื่อต่างประเทศที่มาถามในตอนหลังว่า
“What is your inspiration in cooking floral dishes?”
ด้วยคำตอบเดียว ที่เป็นทั้งคำตอบแรกและสุดท้ายของเธอว่า
“Power of Literature!”
 
จากแรงบันดาลใจนี้เอง ที่ทำให้เธอเริ่มต้นค้นคว้าและทดลองทำ โดยมีเพื่อนที่เป็นดร.ผู้เชี่ยวชาญทางพืชสมุนไพรเป็นผู้ปรึกษาและทดสอบว่าดอกไม้ชนิดใดกินได้ ชนิดไหนกินไม่ได้ และมีคุณค่าทางอาหารแก่ร่างกายและจิตใจอย่างไรบ้าง เมื่อเมนูอาหารของเธอค่อยๆทยอยออกมาวางโต๊ะที่ร้านสายหมอกเคียงคู่กับเมนูอาหารเหนือในตอนนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีคนสนใจอย่างกว้างขวาง ทำให้สื่อต่างๆค่อยๆทยอยกันเข้ามาทำข่าวเรื่องราวอาหารดอกไม้ของเธอด้วยความทึ่ง ทั้งสื่อภายในและสื่อต่างประเทศที่ได้ยินกิติศัพท์
เช่น
นิตยสาร Far Eastem Economc Raview
นิตยสาร ชาวัวร์ จากฝรั่งเศส
รายการโทรทัศน์ของป่าใหญ่ครีเอชั่น
รายการอาหารของสันติ เศวตวิมล
รายการอาหารของอาจารย์ยิ่งศักดิ์
รายการเที่ยวละไมไทยแลนด์
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น
นิตยสารขวัญเรือน
นิตยสารสกุลไทย
งานเอ็กซโปกล้วยไม้โลกที่เมืองฟูโกโอกะ ที่ญี่ปุ่น
รายการโทรทัศน์ช่อง 10 ของญี่ปุ่น
ฯลฯ
 
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ การทำอาหารจากดอกไม้ จะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีคนเขียนกันออกมาจนเป็นที่รู้จักกันพอควรแล้ว แต่ผมคิดว่า ตำราที่เขียนออกมาจากคนที่เขาค้นคิด ค้นคว้าทดลองด้วยตัวเองน่าจะยังมีน้อย และถึงแม้ว่าจะออกมาล่าช้าหลายปี แต่ผมเชื่อว่ากระแสความสนใจอาหารดอกไม้ยังเข้มข้นอยู่ เพราะจากยอดจำหน่ายของหนังสือเล่มนี้ ในงานสัปดาห์หนังสือ ฯ ที่หอประชุมสิริกิตติ์ ที่เพิ่งผ่านไป ทางสำนักพิมพ์ได้บอกผ่านผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาว่า หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือที่เป็นความหวังของสำนักพิมพ์เลยทีเดียว
 
เกี่ยวกับผู้เขียน
อันยา โพธิวัฒน์ เกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบรรหารศุภวาท จังหวัดอยุธยา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น - ตอนปลายจากโรงเรียนราชินีบน กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอก -ภาษาอังกฤษ โท - ปรัชญา
 
เคยทำงานประจำ
เป็นเลขาณุการิณี เป็นนักจัดรายการเพลงสากลทางวิทยุ และนักแปลอิสระให้แก่นิตยสารเกี่ยวกับดนตรี รักการอ่านหนังสือและงานศิลปะทุกสาขา ชอบเดินทางท่องเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร ฯลฯ
 
ปี 2539 ใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบกับ จรัล มโนเพ็ชร อยู่ที่บ้านดวงดอกไม้ ทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน
 
ปี 2541 ก่อตั้งร้านอาหารเล็กๆที่ถนน 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อร้าน สายหมอกกับดอกไม้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมในด้านสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแนวคิดของศิลปินล้านนา ตราบจนกระทั้ง จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตลงที่บ้านจังหวัดลำพูน มีผลงานร่วมเล่มเป็นบันทึกความทรงจำ 2 เล่ม คือ รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร และ ตามรอยฝัน... จรัล มโนเพ็ชร
 
ปัจจุบัน
ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบเงียบกับหนังสือ ดนตรี ต้นไม้ ดอกไม้ อยู่ที่บ้าน ดวงดอกไม้ กลางทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน และดูแลร้านสายหมอกกับดอกไม้ ที่จังหวัดเชียงใหม่
 
ครับ
ผมหวังว่าการแนะนำหนังสือเล่มนี้จากผม คงจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพหนังสือเล่มนี้ได้ชัดเจน รวมทั้งตัวตนของผู้เขียนด้วย และผมเชื่อว่า คนที่สนใจเรื่องการทำอาหาร ถ้าได้พบหนังสือ Cook Book โรแมนติก จาก สายหมอกกับดอกไม้ เล่มนี้ ถ้าใครไม่รีบตะครุบเอาไว้ ก็บ้ากันเต็มทีแหละครับท่าน.
 
หมายเหตุ ; ผู้อ่านท่านใดสนใจ มหัศจรรย์ดอกไม้กินได้ คงหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือใหญ่ทั่วไปได้ไม่ยาก หรือติดต่อโดยตรงไปที่สำนักพิมพ์ more of Life บริษัทรักลูกกรุ๊ป จำกัด  932 ถ.ประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทร.0 2913 7555, 0 2831 8400 โทรสาร 0 2831 8400.
 
 
3 มิถุนายน 2554
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
 
 
 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    เมื่อยังมีชีวิต จงหายใจเข้าไว้ หายใจแรงๆ และหายใจอย่างสดชื่น เพราะภาระหน้าที่ของชีวิตคือการมีชีวิต ชีวิตที่กระปรี้กระเปร่า และถ้าเป็นไปได้ควรต้องรื่นรมย์กับชีวิต บาปอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ (บางทีสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง) คือการปฏิเสธชีวิต   การมีชีวิต
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น ฉันทำเท่าที่ฉันหวัง ฉันหวังเท่าที่ฉันเห็น ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันเชื่อหนึ่งมากกว่าร้อย ฉันเชื่อคนมากกว่าลัทธิ ฉันเชื่อดินมากกว่าฟ้า ฉันเชื่อต้นหญ้ามากกว่าขุนเขา ฉันเชื่อสวนหลังบ้านมากกว่าป่าหิมพานต์ ฉันเชื่อวันนี้มากกว่าวันวาน ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันไม่เชื่ออำนาจรัฐจากกระบอกปืน   ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น.  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  อิสรภาพ   ฉันต้องการอิสรภาพ ที่จะได้เห็น ที่จะได้ยิน ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่สร้างความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มามากมายหลายคน เพราะกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาอย่างกว้างๆไม่ระบุขอบข่ายความผิดให้ชัดเจน รวมทั้งกระบวนการจับกุม สอบสวน ดำเนินคดี ก็มิได้เป็นไปตามปกติทั่วไป มิหนำซ้ำการตีความบังคับใช้มาตรานี้ ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่สามารถตีความใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนักการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ และผู้ต้องคดีนี้นอกจากจะติดคุกติดตะรางแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสังคมที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างรุนแรง    
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คือแม่น้ำและขุนเขาอันขรึมขลัง คือพลังคีตกานท์อันหวานไหว คือหนึ่งจิตวิญญาณล้านนาไทย คือดอกไม้สวยสะคราญบานนิรันดร์  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ย้อนกลับไปทบทวนดู คำประกาศหลังจากรับพระราชทานโปรดเกล้าฯของคุณยิ่งลักษณ์ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “อุปสรรคข้างหน้ายังรอเราอยู่มาก ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่ทั้งหมดมิใช่อุปสรรคขวางกั้นมิให้ทำงาน พร้อมที่จะอุทิศตัวด้วยความทุ่มเท เสียสละอดทน ทำงานแข่งกับเวลา ไม่เกรงต่อความลำบากใดๆ”
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หมายเลข 1 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และ เป็นนายกหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของเมืองไทย และเป็นคนที่ 52 ของโลก อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับการโหวตเสียงจากที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 296 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง ก่อนจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เวลา 18.40 น. ณ บริเวณตึกชั้น 7 ที่ทำงานพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความยินดีของคนจำนวนมากมาย ที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คราวที่แล้ว ผมนำเรื่อง “คนดีของคนเมือง และ คนดีของชนบท” ที่แตกต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า “ความคาดหวังและความจริงของประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2543 ผมคิดว่าจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะพบว่ายังมีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอีกสองประเด็น ที่ยังเป็นเรื่องราวที่ยังดำรงอยู่ในปี 2544 และต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ก็คงไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นรื่องของอนาคต  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมมักจะได้ยิน ผู้คนและสื่อต่างๆเกี่ยวกับการเมือง มักจะพูดกันให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “คนชนบทเป็นคนเลือกตั้งรัฐบาล คนเมืองเป็นคนล้ม” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความจริงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครให้คำอธิบายที่ฟังดู สมเหตุสมผลและชอบธรรม ให้ฟัง ว่าทำไมคนเมืองที่หมายถึงคนชั้นกลาง จึงไม่ชอบรัฐบาลที่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนชนบทในประเทศ และช่วยกันล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตามกติกา 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ถึงแม้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับการรับรองจาก กกต. ให้หลุดพ้นจากข้อหาไปช่วยขบวนแห่ที่เชียงราย ให้พ้นจากข่ายความผิดด้วยมติ 5 ต่อ 0 ท่ามกลางความโล่งอกของใครต่อใครมากมายหลายคน ที่ว่ากันว่า เป็นเพราะโพลเสียงจากประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องการคุณยิ่งลักษณ์นายกฯ (รวมทั้ง นปช.) เป็นกระแสกดดัน กกต. หรือเพราะเหตุใดก็ช่างเถิด แต่เราก็สามารถฟันธงกันได้เลยว่า อีกไม่นาน เราจะต้องได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอย่างแน่นอน 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมไม่แน่ใจว่า ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนสวย และกลุ่มมันสมองของพรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายประชานิยม เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานจาก 221 บาท เป็น 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้จบปริญญาตรีที่เริ่มเข้าบรรจุงานจาก 11,028 บาท เป็น 15,000 บาท
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมกำลังจะชวนใครต่อใคร เข้ามาคุยเรื่องปัญหาที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาสะสางและแก้ไข จากข้อมูลของนักวิเคราะห์การเมืองท่านหนึ่งที่รวบรวมและชี้แนะเอาไว้ล่วงหน้าแก่รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์เอาไว้