Skip to main content
 

เมื่อคนเราเกิดมามีชีวิต
 
             นับตั้งแต่เป็นทารกลืมตาขึ้นมาดูโลก ต้องมีคนคอยประคบประหงมเลี้ยงดู...ราวกับไข่ในหิน จนเป็นเด็กโตที่พอช่วยตัวเองได้ กระทั่งผ่านการเลี้ยงดูและให้การศึกษาอีกนานนับสิบกว่าปี จนโตเป็นผู้ใหญ่ ที่สามารถเลี้ยงดูและพึ่งพาตัวเองได้ โดยมีพลังแห่งความกลัวตาย ซึ่งเป็นรากเหง้าของความกลัวสารพัดความกลัว คอยผลักดันให้คนเรากระทำสิ่งต่างๆ เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย จากโลกที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย และอันตรายรอบด้าน ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น   
 
            เชื่อกันว่า พลังแห่งความกลัวตายนี้เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างชาติ  ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ ขนบประเพณี ฯลฯ กันอย่างไร คนเราทุกคนล้วนแล้วแต่ “รักสุขเกลียดทุกข์ รักตัวกลัวตาย” เหมือนกันหมดทุกคน
 
        ด้วยเหตุนี้เอง นอกเหนือจากการดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตทางกายที่เป็น เลือดเนื้อ ได้อยู่รอดปลอดภัยแล้ว คนเรายังต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจาก ความกลัวตาย และความกลัวอีกสารพัดอย่างที่งอกงามมาจากความกลัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องทาง จิตใจ อยู่ตลอดชีวิต ว่ากันว่า การแสวงหาของมนุษย์ในเรื่องนี้แหละ ที่เป็นบ่อเกิดของศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ และศาสตร์ต่างๆอีกมากมายในโลก ที่เป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่มนุษย์ได้หลุดพ้นจากความกลัวทั้งปวง
 
        ผมเป็นคนที่เติบโต มาจากสังคมพื้นบ้านล้านนา ที่มากมายด้วยผีสารพัดผี...ในโลกทางจิตวิญญาณแห่งล้านนา ซึ่งมีทั้งผีดีและผีร้าย มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และเราต่างก็นับถือผีที่ถือกันว่าเป็นผีดี ตามบรรพบุรุษของเรามาหลายชั่วอายุคน เช่น ผีเรือน  ผีเจ้าที่ ผีปู่ย่า ผีเสื้อบ้าน ผีเสื้อวัด ผีเจ้านาย ฯลฯ ที่เชื่อกันว่า จะดูแลปกป้องเราให้อยู่รอดปลอดภัยจากความกลัวสิ่งต่างๆในโลกที่ชีวิตต้องเผชิญ ควบคู่กับพุทธศาสนาพื้นบ้านที่มีแต่เรื่องพิธีกรรม และคำสวดมนต์ภาวนาที่ผมฟังไม่เข้าใจ มากกว่าหลักธรรมคำสอน แต่ก็รู้สึกอบอุ่นดี ที่ได้เชื่อตามผู้ใหญ่ในวัยเด็ก
 
        ซึ่งการนับถือผีนี้ค่อยๆลดละลงในคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผม ในช่วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมกึ่งเลี้ยงดูตัวเองและเพื่อขาย มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อขายเพียงประการเดียว ซึ่งทำให้เงินตรามีความสำคัญมากกว่าความรักและความเชื่อดั้งเดิม นั่นคือ ยังคงนับถือเท่าที่จำเป็น เช่น ผีเจ้าที่ ที่เราสร้างหอไว้ในบ้านให้ท่านสิงสู่  ก็เพื่อให้ท่านช่วยดูแลปกป้องมิให้คนร้ายและผีร้ายๆเข้ามาในบ้านในยามค่ำคืน หรือ ผีปู่ย่า ที่ครอบครัวของเราต้องส่งตัวแทนไปเซ่นไหว้ที่หอผีของบรรพบุรุษร่วมกับญาติพี่น้องที่มาจากผี เดียวกันทุกปี ก็เพื่อจะได้รับการดูแลปกป้องเช่นกัน ฯลฯ
 
        ต่อมา เมื่อผมซึ่งเป็นคนที่พอจะมีการศึกษาอ่านออกเขียนได้ ได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ผมจึงค่อยๆหันเหความสนใจไปนับถือความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล โดยเฉพาะคำสอนทางพุทธศาสนาจาก ท่านพุทธทาส และค่อยๆถอยห่างออกมาจากการนับถือผีและพุทธแบบพิธีกรรม เข้าไปหาคำสอนทางพุทธจากท่านที่ถือกันว่า เป็นพุทธที่บริสุทธิ์ เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ไม่มีลัทธิความเชื่อใดๆมาแปดเปื้อนเจือปน รวมทั้งคำสอนจากพระและฆราวาสที่ได้ชื่อว่า  ศึกษาดีแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว ตามแนวทางนี้ อีกหลายท่าน
 
         แต่เนื่องจาก พุทธศาสนาที่ผุดผ่องนี้ ช่างเป็นศาสนาที่ว้าเหว่เหลือเกินครับท่านผู้ชม นั่นคือ เป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ไม่มีพระผู้ไถ่ ไม่มีผู้ใดทั้งสิ้นมาคอยให้ความช่วยเหลือ  มีแต่ ตนเป็นที่พึ่งของตน  ที่ต้องปฏิบัติตามหลักของศีลธรรมอันดีงามเท่านั้น จึงจักบรรลุผลต่างๆตามกฎแห่งกรรม  
 
             ผมซึ่งเป็นคนอ่อนแอในทางสังคม นั่นคือ ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่น่ายำเกรง ไม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีเกียรติ ไม่มีองค์กรและสถาบันอ้างอิง ไม่มีพรรคพวกที่มีอำนาจวาสนา ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยเคารพนบนอบ จึงทำให้ผมเป็นคนอ่อนแอทางสังคม และขาดอำนาจต่อรองสิ่งต่างๆ จนไม่มีใครเขาอยากมาคบค้าสมาคมด้วย และยากแสนยาก...ที่จะปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงามได้
 
            บ่อยครั้ง ผมจึงต้องแอบไปพึ่งพาศาสนาที่เขามีพระเจ้า และพระผู้ไถ่ โดยจินตนาการถึงพระเจ้า และอ้อนวอนขอให้พระองค์ช่วยเหลือ เวลามีความทุกข์เหลือที่จะทน หรือไม่ก็จินตนาการถึงพระผู้ไถ่แล้วสารภาพบาป เวลาผมจำเป็นต้องลงมือทำความผิดบาป...เพื่อการอยู่รอดของชีวิต แล้วรู้สึกผิดและกลัวจนผวา...หลังจากลงมือทำความผิดบาปแล้ว เพื่อขอให้ท่านช่วยไถ่บาป ให้ผมได้มีทางออก (ทั้งๆที่ผมไม่ได้เข้ารีตตามขนบของเขาสักหน่อย ฮา)         
 
          เพราะ กฎแห่งกรรม ในพุทธศาสนาเป็นกฎที่เคร่งครัดตายตัว ไม่มีคำว่า  ยืดหยุ่น  ไม่มีคำว่า ให้อภัย และข้อยกเว้น ให้แก่ใครหน้าไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นราชาหรือกระยาจก ใครประกอบกรรมใด ไม่ว่า กรรมดี หรือ กรรมชั่ว ถ้ามีเหตุปัจจัยเพียงพอ เขาจะต้องได้รับผลจากกรรมนั้น ไม่ช้าก็เร็ว ผมจึงต้องแอบไปพึ่งพาศาสนาที่เขาเข้าใจ ความอ่อนแอ ความยากไร้ และความจำเป็นของมนุษย์ที่ต้องทำความผิดบาปอย่างผม ด้วยการยืดหยุ่นให้มีทางออกดังกล่าว และคงต้องแอบไปพึ่งพาศาสนาโรแมนติกนี้ อีกหลายครั้ง (ฮา)
 
           นอกจากนี้แล้ว ผมยังรับเอาคำสอนจากเซ็น เต๋า และกฤษณมูรติ (ที่ผมชอบเป็นพิเศษ) ที่มีคำสอนแนวเดียวกันกับทางพุทธจากท่านพุทธทาส ที่ผมถือเป็นหลัก เข้ามาร่วมอยู่ด้วย
 
           ทุกวันนี้ ถึงแม้ผมจะถอยห่างออกมาจากผีและพุทธแบบพิธีกรรม ซึ่งประการหลังนี่...นอกจากความจำเป็นที่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมตามจารีตประเพณี นานๆครั้งแล้ว ก็แทบไม่มีอะไรที่มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของผมอีก แต่ ผียังคงมีอิทธิพลครอบงำจิตใจของผมอย่างลึกซึ้ง ถึงแม้ผมจะออกมาอยู่ห่างไกลจากผีมานานแล้ว  แต่ความ กลัวผีก็ยังมีอยู่ในจิตใจของผมอย่างแนบแน่น...
 
          นั่นเป็นเพราะว่า ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก ผมถูกปลูกฝังความเชื่ออย่างซ้ำๆซากๆจากครอบครัวและสังคมว่า ผี เป็นสิ่งที่น่ากลัวพร้อมกับภาพพจน์ต่างๆที่น่ากลัวของผี แม้แต่ผีที่เป็น ผีผ่ายดี ที่เชื่อกันว่า จะช่วยดูแลปกป้องความกลัวจากภัยอันตรายต่างๆ ผมก็ถูกปลูกฝังให้กลัวและระมัดระวัง ไม่ให้ไปทำอะไรที่เป็นการ ผิดผี(ล่วงเกิน) เช่น ไปฉี่รดหอผี หรือพูดจาในเชิงก้าวร้าวลบหลู่ เพราะจะถูกท่านทำอันตรายให้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือกระทำให้ฟั่นเฟือนเป็นบ้าเป็นหลัง
 
          เฮ้อ ช่างเป็นเรื่องเศร้าที่น่าเบื่อเสียจริงๆ ในขณะที่ผมถูกปลูกฝังให้นับถือ ผีดี ผีที่เขาว่าจะดูแลปกป้องผมจากความกลัวภัยอันตรายต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ถูกปลูกฝังให้กลัวอันตรายจาก ผีดี ที่ว่าจะดูแลปกป้องผมด้วย ผมจึงกลายเป็นคนที่ต้องกลัวผี ทั้งผีดีและผีร้ายมาตลอดชีวิต และเชื่อว่าความกลัวนี้ คงยากที่ถ่ายถอนได้  ไม่ว่าผีจะมีจริงหรือไม่มีเพราะมันฝังรากลึกอยู่ภายใต้จิตสำนึกจนสุดหยั่ง...เสียแล้ว เซ็งจริงๆ
           
           ก็พอสรุปได้ว่า หลังจากผมถอยห่างออกมาผีและพุทธแบบพิธีกรรม นอกจากศาสนาที่มีพระเจ้าและพระผู้ไถ่ ที่ผมมักจะแอบไปพึ่งพาในทางจินตนาการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว ผมพบว่าจิตใจของผม มักพร้อมที่จะเปิดกว้างยอมรับความเชื่ออื่นๆ ที่มีหลักคำสอนคล้ายคลึงหรือตรงกับหลักธรรมคำสอนทางพุทธจากท่านพุทธทาส ที่ผมถือเป็นหลัก มากกว่าอย่างอื่น
 
             เมื่อกลางปี 2552ผมบังเอิญได้ดูรายการสารคดีท่องโลกจากทีวีไทย TBS ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้หญิงชนเผ่าหนึ่งบนเทือกเขาหิมาลัย โดยเขาถ่ายทำให้เห็นภาพกิจวัตรต่างๆในชีวิตประจำวันของผู้หญิงค่อนข้างสูงอายุคนหนึ่งในแต่ละวัน จนกระทั่งถึงวันที่เธอจากโลกนี้ไป...
 
       แม้จะได้ดูตอนปลายๆ แต่ก็พอจับความได้ว่า เขาต้องการเสนอปรัชญาชีวิตของชนเผ่านี้ โดยผ่านผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อยามมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เป็นทุกข์เพราะความยากลำบากในการมีชีวิตจนเกินเหตุ ครั้นเมื่อถึงวาระสุดท้าย...ก็มิได้ทุรนทุรายอาลัยอาวรณ์สิ่งใดในโลกนี้ให้ขุ่นข้องหมองใจ เพราะชนเผ่าของนางมีปรัชญาความเชื่อ ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษมานานแล้วว่า
 
                            เราเกิดมาเพื่อตาย
                            เราพบผู้คนต่างๆเพื่อลาจาก
                            เราสะสมสิ่งของต่างๆ
                            เพื่อที่จะสูญเสียมันไปในวันหนึ่ง
 
           โอผมฟังแล้วถึงกับขนลุก เพราะมันแทงทะลุเข้าไปถึงใจ และยังอยู่ในใจผมมาจนทุกวันนี้ เนื่องจากถ้อยคำเพียงไม่กี่คำนี้ เนื้อหามันตรงกับหลักปฏิบัติธรรมคำสอนขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา ที่ท่านพุทธทาสพร่ำบอกแก่เราอย่างซ้ำๆซากๆ มาตลอดอายุขัยของท่าน แต่มันมาติดอยู่แค่สมอง...ไม่เคยทะลุไปถึงใจว่า “สรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เพราะต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงที่เราหวาดกลัว คือ “การยึดมั่นถือมั่น”สารพัดอย่างในชีวิตเรา นั่นเอง
 
        จริงๆน ะ หากเรายอมรับความจริงของชีวิต “ที่ต้องเป็นเช่นนี้” ได้ ดังที่พวกเขายอมรับมันอย่างองอาจ ตรงไปตรงมา ชีวิตเราคงจะง่ายขึ้นและเป็นทุกข์กันน้อยลง ใช่หรือมิใช่
                         
                            เราเกิดมาเพื่อตาย
                            เราพบผู้คนต่างๆเพื่อลาจาก
                            เราสะสมสิ่งของต่างๆ
                            เพื่อที่จะสูญเสียมันไปในวันหนึ่ง
                       
         แค่นี้เองแหละว่ะชีวิตจะไปworry อะไรกับมันนักหนา.
 
                                                                
18 กรกฎาคม 2554  - 11 มิถุนายน 2555
                                          
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    เมื่อยังมีชีวิต จงหายใจเข้าไว้ หายใจแรงๆ และหายใจอย่างสดชื่น เพราะภาระหน้าที่ของชีวิตคือการมีชีวิต ชีวิตที่กระปรี้กระเปร่า และถ้าเป็นไปได้ควรต้องรื่นรมย์กับชีวิต บาปอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ (บางทีสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง) คือการปฏิเสธชีวิต   การมีชีวิต
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น ฉันทำเท่าที่ฉันหวัง ฉันหวังเท่าที่ฉันเห็น ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันเชื่อหนึ่งมากกว่าร้อย ฉันเชื่อคนมากกว่าลัทธิ ฉันเชื่อดินมากกว่าฟ้า ฉันเชื่อต้นหญ้ามากกว่าขุนเขา ฉันเชื่อสวนหลังบ้านมากกว่าป่าหิมพานต์ ฉันเชื่อวันนี้มากกว่าวันวาน ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันไม่เชื่ออำนาจรัฐจากกระบอกปืน   ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น.  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  อิสรภาพ   ฉันต้องการอิสรภาพ ที่จะได้เห็น ที่จะได้ยิน ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่สร้างความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มามากมายหลายคน เพราะกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาอย่างกว้างๆไม่ระบุขอบข่ายความผิดให้ชัดเจน รวมทั้งกระบวนการจับกุม สอบสวน ดำเนินคดี ก็มิได้เป็นไปตามปกติทั่วไป มิหนำซ้ำการตีความบังคับใช้มาตรานี้ ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่สามารถตีความใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนักการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ และผู้ต้องคดีนี้นอกจากจะติดคุกติดตะรางแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสังคมที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างรุนแรง    
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คือแม่น้ำและขุนเขาอันขรึมขลัง คือพลังคีตกานท์อันหวานไหว คือหนึ่งจิตวิญญาณล้านนาไทย คือดอกไม้สวยสะคราญบานนิรันดร์  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ย้อนกลับไปทบทวนดู คำประกาศหลังจากรับพระราชทานโปรดเกล้าฯของคุณยิ่งลักษณ์ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “อุปสรรคข้างหน้ายังรอเราอยู่มาก ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่ทั้งหมดมิใช่อุปสรรคขวางกั้นมิให้ทำงาน พร้อมที่จะอุทิศตัวด้วยความทุ่มเท เสียสละอดทน ทำงานแข่งกับเวลา ไม่เกรงต่อความลำบากใดๆ”
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หมายเลข 1 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และ เป็นนายกหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของเมืองไทย และเป็นคนที่ 52 ของโลก อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับการโหวตเสียงจากที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 296 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง ก่อนจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เวลา 18.40 น. ณ บริเวณตึกชั้น 7 ที่ทำงานพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความยินดีของคนจำนวนมากมาย ที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คราวที่แล้ว ผมนำเรื่อง “คนดีของคนเมือง และ คนดีของชนบท” ที่แตกต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า “ความคาดหวังและความจริงของประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2543 ผมคิดว่าจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะพบว่ายังมีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอีกสองประเด็น ที่ยังเป็นเรื่องราวที่ยังดำรงอยู่ในปี 2544 และต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ก็คงไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นรื่องของอนาคต  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมมักจะได้ยิน ผู้คนและสื่อต่างๆเกี่ยวกับการเมือง มักจะพูดกันให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “คนชนบทเป็นคนเลือกตั้งรัฐบาล คนเมืองเป็นคนล้ม” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความจริงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครให้คำอธิบายที่ฟังดู สมเหตุสมผลและชอบธรรม ให้ฟัง ว่าทำไมคนเมืองที่หมายถึงคนชั้นกลาง จึงไม่ชอบรัฐบาลที่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนชนบทในประเทศ และช่วยกันล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตามกติกา 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ถึงแม้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับการรับรองจาก กกต. ให้หลุดพ้นจากข้อหาไปช่วยขบวนแห่ที่เชียงราย ให้พ้นจากข่ายความผิดด้วยมติ 5 ต่อ 0 ท่ามกลางความโล่งอกของใครต่อใครมากมายหลายคน ที่ว่ากันว่า เป็นเพราะโพลเสียงจากประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องการคุณยิ่งลักษณ์นายกฯ (รวมทั้ง นปช.) เป็นกระแสกดดัน กกต. หรือเพราะเหตุใดก็ช่างเถิด แต่เราก็สามารถฟันธงกันได้เลยว่า อีกไม่นาน เราจะต้องได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอย่างแน่นอน 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมไม่แน่ใจว่า ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนสวย และกลุ่มมันสมองของพรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายประชานิยม เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานจาก 221 บาท เป็น 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้จบปริญญาตรีที่เริ่มเข้าบรรจุงานจาก 11,028 บาท เป็น 15,000 บาท
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมกำลังจะชวนใครต่อใคร เข้ามาคุยเรื่องปัญหาที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาสะสางและแก้ไข จากข้อมูลของนักวิเคราะห์การเมืองท่านหนึ่งที่รวบรวมและชี้แนะเอาไว้ล่วงหน้าแก่รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์เอาไว้