ขึ้น 15 ค่ำ ยังหัวค่ำ พระจันทร์เต็มดวงสาดแสงนวลอ่อนโยนกระจ่างทั่วทุ่ง แสงเย็นตายังครอบคลุมวิหารวัดทุ่งลมเย็นบรรยากาศในวัดช่างสงบ สงัด ลมทุ่งพัดกระทบต้นไม้ในวัด ใบของมันสะบัดตัวรับดังซู่ซ่าเป็นพักๆ ความวุ่นวายสับสนเร่าร้อนทั้งมวลของคนเหมือนหมดสิ้นยามย่างเท้าเข้าวัดสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ พระสงฆ์องค์เจ้าคงจำวัดกันหมดทั้งสามรูป แต่ยังมีอีกคนหนึ่ง จิตใจยังเร่าร้อนเคร่งเครียดแม้จะเหนื่อยจากงานสลากภัตของวัด ก็ไม่อาจข่มตาให้หลับได้ ใครๆเรียกเขาว่า "ลุงคำ" แกเฝ้านึกถึงเหตุการณ์เมื่อเช้านี้
วัดทุ่งลมเย็น
มีพระ 2 รูป เณร 1 รูปเวลาพระรับนิมนต์ไม่มีใครดูแลวัดเกรงขโมยจะมาลักทรัพย์สิน โดยเฉพาะพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด ผู้ใหญ่บ้านกรรมการวัดและชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่า น่าจะมีคนเฝ้าวัดยามพระรับนิมนต์ จึงตกลงกันจ้างลุงคำอายุ 70 กว่าปีเป็นผู้ดูแลวัดโดยให้ค่าจ้าง 600 บาทต่อเดือน
เงินค่าจ้างได้จากการเก็บชาวบ้านหลังละ 5 บาททั้งหมดมี 99 หลังก็ได้เงินราว 500 บาทที่ขาดไปทางวัดจะออกเพิ่มจนครบ 600 บาท
หน้าที่
ของลุงคำ กลางคืนนอนในวิหารเฝ้าดูแลพระพุทธรูปและสิ่งของอื่นๆ ในวิหาร ทำความสะอาดพื้นวิหาร กวาดเศษใบไม้ช่วยพระ เมื่อเสร็จในตอนเช้านั้นลุงคำจะเข็นล้อพ่วงตามหลังพระไปบิณฑบาตพร้อมกับตีฆ้องม้ง ๆ เป็นระยะให้ชาวบ้านทราบว่า พระมาแล้ว ล้อพ่วงนี้สำหรับวางของบิณฑบาตที่ล้นบาตรพระ
เมื่อกลับจากรับบิณฑบาตถึงวัดแล้ว ลุงคำก็บริการรับใช้พระด้านการฉันมื้อเช้า พระฉันเสร็จ ลุงคำจึงได้กินข้าวเช้าที่วัด เมื่ออิ่มก็ล้างจาน พิจารณาหน้าที่ของแกมันเหมือนนักการภารโรงของโรงเรียนหรือของสถานที่ราชการ
ประเพณี
สลากภัตนิยมปฏิบัติตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ส่วนประเพณีสลากภัตหรือตานก๋วยสลากของวัดทุ่งลมเย็น เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 12 กันยายน ศรัทธาญาติโยมนำต้นสลากมาตั้งบนศาลาวัดเต็มไปหมด ผู้คนแต่งตัวสะสวย ยิ้มแย้ม
ลุงคำ
จัดเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ นั่งให้ศีลให้พร ลุงคำเห็นลุงบุญมีเจ้าของตึกสองชั้นข้างวัดนั่งไขว้ขาสบายอารมณ์ ลุงคำขอให้ไปนั่งที่อื่น เก้าอี้นี้จะให้พระนั่ง ลุงบุญมีหันมามองหน้า แล้วค่อยลุกขึ้นสีหน้าท่าทางไม่พอใจมาก พูดช้าๆ สำเนียงเย้ยหยันเสียดสีถ้อยคำรุนแรง
"ทำเบ่ง...ทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของวัดทำมาหากินกับวัดกับวา...โธ่เอ้ย ..."
ลุงคำนิ่งงันรู้สึกร้อนวูบวาบขึ้นหน้า
ลุงคำ
นอนไม่หลับตลอดคืน สมองคิดวกวนไปมาเรื่องเดิมจะทำอย่างไรดีๆ ลุงคำพร่ำถามตนเองในใจ เราเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่มีเกียรติ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีศักดิ์ศรี...แม้จะไม่เข้าใจดีนักกับคำว่า "ศักดิ์ศรี"
แต่ลุงคำก็บอกได้ว่า ตนไม่มีศักดิ์ศรี ลุงคำไม่รู้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนว่า บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย ถ้าแกรู้หรืออ่านพบ แกคงเถียงว่าไม่จริงเลย คนเสมอเท่าเทียมกันตามตัวหนังสือเท่านั้น ในชีวิตจริงผู้มีฐานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจสูงกว่าก็ยังรังแกผู้ด้อยกว่า ผู้อ่อนแอกว่า
เราไม่ใช่คนสิ้นไร้คนอนาถา ยังมีมือเท้า มีกำลังทำงานหากินได้ ไม่มีเงินค่าจ้างเฝ้าวัด เราก็อยู่ได้ ลุงคำเร่งเวลาให้เช้าเร็วๆ
พอฟ้าสาง ลุงคำก็กราบเจ้าอาวาสบอกลาด้วยเหตุผลสั้นๆ เจ้าอาวาสทราบเรื่องราวดีไม่ทราบจะพูดอะไร
เช้ารุ่งขึ้น
ภาพใหม่ที่ชาวบ้านเห็นเณรพงศ์เข็นล้อพ่วงตีฆ้อง...ตามหลังพระสองรูปออกรับบิณฑบาต.