Skip to main content
ผมยืนขึ้น
ก้าวไปข้างหน้า
 น้ำถึงราวนม เท้าจับทรายไม่อยู่ รู้สึกทรายเคลื่อนตัวลง ตัวผมจมลงไป รู้ทันทีว่าทรายดูดหรือ "ทรายมาน" ใจหายวาบ รีบใช้มือตีน้ำ ผ่อนน้ำหนักที่เท้า บิดตัวถอยหลังอย่างฉับพลัน ใช้เท้ายันพื้นทราย เท้าจับทรายได้แล้ว ถอยเท้าอย่างรวดเร็ว รีบขึ้นหาดทราย ประมาทไม่ได้เลยกับภัยในน้ำ เหลียวดูเพื่อน เขากลับลงเล่นน้ำกันอีก 

ได้ยินเสียงบุญส่งผู้ไม่นุ่งกางเกงในโวยวายว่า  "อะไรกัดไม่รู้  สงสัยปลาปักเป้า..."  บุญส่งรีบวิ่งขึ้นบนหาดทราย ใช้มือทั้งสองปิดตรงส่วนสำคัญ หน้าตาเขาไม่ดีนัก เพื่อนๆ บอกว่าเปิดมือตรวจดู ปรากฏว่าอะไรๆ ยังอยู่ครบ นึกถึงตอนนี้ทีไรอดยิ้มไม่ได้ ผมหัดว่ายน้ำจากสระธรรมชาติอยู่นาน บอกไม่ได้ว่าว่ายเป็นหรือยัง รู้แต่ว่าผมยืนในน้ำ  ช้แขนเหยียดไปข้างหน้า เหยียดเท้าไปข้างหลัง ทำลำตัวขนานกับผิวน้ำ  ทำมือคล้ายใบพาย แล้วจ้วงน้ำเข้าหาตัว เท้าทั้งสองทั้งถีบทั้งดีด มือจ้วงไปหนึ่งทีก็จม พอนานไปมือจ้วงสองสามทีจึงค่อยจม คือลอยตัวเคลื่อนไปข้างหน้าได้นานขึ้น ผมเห็นเพื่อนอีกคนกำลังนั่งยองๆ ริมหาดทราย  ใช้มือขวาวักน้ำหยอดหูขวา แล้วเดินเอียงหัวไปข้างซ้าย เดินขึ้นไปบนหาดทราย กระโดดตัวลอยขึ้นโดยเอียงหัวมาข้างขวา กระแทกฝ่าเท้ากับพื้นทรายแรงๆ สักพักก็หยุด เป็นวิธีเอาน้ำที่เข้าขังในหูข้างขวาออก นักเล่นน้ำจะรู้วิธีช่วยตนเองแบบนี้กันทุกคน


ภาพวัยเด็กหายไป
ผมกวาดตามองไปทางขวา ผ่านสะพานนครพิงค์ (ขัวใหม่) อยากเห็นภาพอดีตแถวสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ถัดออกไป ผมเดินข้ามถนนผ่านสะพานนครพิงค์ เดินตามทางเท้าริมฝั่งแม่ปิง  มาหยุดที่ริมฝั่ง  ห่างจากสะพานนครพิงค์ราว 15 เมตร  มองเห็นสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ชัดเจน จินตนาการสู่วัยรุ่นอีกครั้ง 

เข้าสู่ฤดูแล้ง
น้ำปิงเริ่มแห้ง
  มีหาดทรายปรากฏกระจายไปทั่ว ส่วนริมฝั่งใกล้เทศบาลนครเชียงใหม่ยังมีน้ำไหลอยู่  ช่วงเวลานั้นยังไม่มีการสร้างสะพานจันทร์สมอนุสรณ์  ตำแหน่งตรงนี้ จะมีการสร้าง  "ขัวแตะ" (สะพานที่สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่ที่ใช้ทำรั้ว มาสานขัดกันไปมาจนเป็นแผง วางต่อกันบนเสาไม้ไผ่) ระหว่างท่าน้ำหน้าวัดเกตการามกับตลิ่งด้านเหนือตลาดต้นลำไย ผมเดินบนขัวแตะ ไม้ไผ่ที่สานเป็นตัวสะพาน อ่อนยวบยาบตามเท้าที่เราเหยียบลงไป ถ้าเดินเดี่ยวตรงกลางสะพานไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเดินสวนกัน ต้องแบ่งพื้นที่กันให้ดี ใครชิดซ้ายมากเป็นขอบของขัวแตะ อาจหล่นลงได้ ตาผมมองหาดทรายทั้งซ้ายขวา ตรงนี้เองที่แม่บอกว่า  

"ในสมัยที่แม่ยังเป็นเด็กนักเรียน ครูพลศึกษาพาแม่มาซ้อมวิ่งบนหาดทรายบ่อยๆ กล้ามขาจะได้แข็งแรง เพราะวิ่งบนทรายมันใช้แรงมาก เนื่องจากทรายมันยุบตัว เท้ายันไม่ถนัด พอไปวิ่งบนทางเรียบ วิ่งตัวเบาแล่นฉิวเลย"  


แม่หยิบรูปภาพรับถ้วยมาให้ผมดู...ผมมาถึงท่าน้ำตรงตรงข้าม เดินไปอีกเล็กน้อย   ข้ามหน้าวัดเกตการาม ผ่านประตูวัด ทางซ้ายมือมีห้องเล็ก เป็นห้องสมุดของวัด ปัจจุบันเป็นโรงเก็บรถ ผมกับเพื่อนมาอ่านหนังสือประเภทนิยายที่นี่บ่อยๆ ยามปิดภาคเรียน เช่นเรื่อง  "สี่คิงของ "เศก  ดุสิต"

 

 

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ผมฟังเธอไปด้วย จดบันทึกส่วนที่สำคัญๆไปด้วย เนื้อหาบางอย่างใช้สมองจำไว้ เธอซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวชื่อ นางอุไร บุญหมั้น อายุ 45 ปี ไม่น่าเชื่อ ดูหน้าตาเหมือนอายุประมาณ 30 กว่าปีเศษเล็กน้อย ผิวขาวปนเหลือง รวบผมยาวไว้ข้างหลัง บรรยากาศเริ่มเป็นกันเอง คงเพราะเราเป็นคนเหนือหรือคนเมืองด้วยกัน เธอเล่าต่อว่า ในเวลานี้หมู่บ้านมี 159 หลัง มีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา 50 หลัง ผู้สร้างผลงานเครื่องปั้นดินเผานี้อยู่ในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินในหมู่บ้านส่วนหนึ่ง อีกส่วนจะมีรถบรรทุกมาส่งให้ เมื่อผมเห็นว่าได้ข้อมูลมากพอตามต้องการแล้ว ผมก็กล่าวขอบคุณและกล่าวลา ไม่ลืมซื้อน้ำต้นราคาใบละ…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ขับรถจากอำเภอสันป่าตอง มุ่งไปเชียงใหม่ ด้วยความเร็ว 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วขนาดนี้ถ้าพูดกับพวกตีนผีหรือวัยรุ่นทั้งหลาย จะถูกปรามาสอย่างรุนแรงว่า ไม่ควรเรียกว่าความเร็วเลยลุง น่าจะเรียกว่า การเคลื่อนที่คลานไปแบบเต่าพันปีมากกว่า ก็ไม่รู้สึกอะไร มันเป็นความจริง ผมขับรถชิดเลนซ้ายแบบสบายอารมณ์ พอมาถึงทางแยกหางดง-สะเมิง ผมหยุดรถเพราะติดไฟแดง มองไปข้างหน้า เฉียงไปทางซ้ายมืออย่างไม่ตั้งใจ เห็นน้ำต้น (คนโท) ใบใหญ่สีน้ำตาล ตั้งโดดเด่นตรงข้างซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านเหมืองกุง ทำไมมันใหญ่โตปานนี้ ใครเป็นผู้สร้างแล้วสร้างทำไม…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  หากใคร ได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ ได้มีโอกาสไปสักการะอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันออก ของหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ เมื่อกราบเสร็จยืนขึ้น มองเฉียงไปทางซ้ายมือผ่านถนนไป จะเห็นวัดร้าง ที่เหลือให้เห็นเพียงเจดีย์และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วัดร้างนี้เดิมชื่อ “วัดสะดือเมือง” หรือ “วัดอินทขีล” สถานที่นี้ในปัจจุบันคือ หอประชุมติโลกราช ติดๆกันจะเป็นร้านข้าวมันไก่ลือชื่อของเชียงใหม่ วัดร้างนี้เดิมเป็นที่ตั้งของ “เสาอินทขีล” หรือ “สะดือเมือง”
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 เมื่อตอนที่ผมเรียนชั้นมัธยมต้น ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย สนามฟุตบอลของโรงเรียนได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่เสมอๆ เช่น การแข่งขันกีฬากรีฑานักเรียน การจัดงานวันปิยมหาราช จัดงานฤดูหนาวในอดีต ก่อนย้ายไปจัดที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชนของเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ ก็มีการจัดแข่งขันฟุตบอลประชาชน แบ่งทีมเป็นถ้วย ก, ข, ค และ ฯลฯ ถ้วย ก. นั้นผู้เล่นมีฝีเท้าจัดระดับทีมชาติ ที่กระจายไปเล่นในทีมต่างๆ จำได้ว่ายุคนั้น ทีมทหารอากาศดังมาก เป็นแชมป์ถ้วย ก.หลายปีติดต่อกัน ที่เชียงใหม่ ก็จัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชนที่สนามโรงเรียนยุพราชฯ เช่นกัน…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ปีการศึกษา   2528ทางกระทรวงศึกษาธิการ   มีนโยบายจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาแก่นักเรียน   จึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์   และจัดสรรให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ   ในรุ่นแรกจะมอบให้แก่โรงเรียนนำร่องก่อน   ปีต่อไปจึงจะทยอยมอบให้   จนครบทุกโรงเรียน   โดยมีจุดมุ่งหมายให้โรงเรียนนำพระพุทธรูป   ไปประดิษฐานข้างๆเสาธง   เพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า   ครบทั้ง  3  สถาบัน  คือชาติ  ศาสนา   พระมหากษัตริย์  …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 อีกคืนหนึ่งผมไปเที่ยวงานฤดูหนาวกับเพื่อนเช่นเคย คราวนี้ชวนกันเข้าชมบ้านผีสิง กลัวก็กลัว อยากดูก็อยากดู ลำโพงหน้าบ้านผีสิง เปิดเทปได้ยินเสียงพระสวดพึมพำ ฟังดูขลังนัก สวดไปสักพัก ได้ยินเสียงหมาหอน เสียงโหยหวน เย็นลึก เหมือนดังมาจากป่าทึบที่มืดน่าสะพรึงกลัว มันวังเวง สั่นคลอนอารมณ์เหลือประมาณ ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชายหญิง ที่พากันมาเป็นกลุ่ม กลุ่มผมเดินผ่านประตูเข้าไป ข้างในค่อนข้างมืด มีไฟจากข้างทางเดินสว่างเป็นระยะ ให้พอมองเห็นทางได้บ้าง เราเดินเบียดกันแบบกล้าๆกลัวๆ เดินเข้าไปได้ 2-3 ก้าว มีผีจำแลงโผล่หน้าพรวดออกมา พวกเราตกใจขยับตัวถอยหนี เพื่อนผมเป็นนักมวยต่อยเปรี้ยงสวนออกไป…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  เป็นการป้องกันวัวควายตกลงมาขณะรถวิ่ง พื้นที่ส่วนนี้ประมาณ 3 ไร่ ใกล้กันนั้นมีสุ่มไก่วางเต็มลานดิน บางคนอุ้มไก่ บางสุ่มมีไก่ขังไว้ ที่นี่เป็นตลาดไก่ชน มีหลายราคาแล้วแต่จะตกลงกัน เมื่อชมจนพอใจก็เดินขึ้นทางทิศเหนือแล้วเลี้ยวขวา จะพบสถานที่ขายรถจักรยานยนต์ จอดเต็มพื้นที่ราดคอนกรีต หลังคาสูง ประมาณสี่คูหา ที่ติดกันเป็นร้านขายรถจักรยานอีก 1 คูหา มีคนสนใจมากพอๆกับรถที่จอดรอซื้อขาย
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เมื่อรถจักรยานยนต์ คันแรกในชีวิตถูกโจรจี้ไป แจ้งตำรวจแล้ว อีกทางก็รอเวลาไปไถ่รถตามที่เจ้าโจรตัวแสบบอก ขณะจะขับขี่รถหนีไป ทุกอย่างยังเงียบสงบ ผมต้องวิ่งวุ่นติดตามข่าวสาร ต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า หากมีใครถาม พอบ่อยๆเข้าผมชักหมดแรงจะเล่า บางคนบอกว่า ลองไปดูที่กาดงัว อำเภอสันป่าตอง เพราะที่นั่นเป็นแหล่งขายรถจักรยานที่ใหญ่มาก ผมได้รู้จักชื่อกาดงัวของอำเภอสันป่าตองครานั้น มันเป็นกาดซึ่งมีลักษณะอย่างไร ขนาดใหญ่โตแค่ไหน รถลักขโมยนำมาขายได้หรือ เดินทางไปไม่ถูก รถยนต์ส่วนตัวก็ไม่มี เพื่อนที่สนิทไม่มีรถยนต์เช่นกัน ปล่อยเวลาผ่านไปแบบไม่รู้จะทำอะไรดีกว่านี้ได้…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 ในปี พ.ศ. 2507 ผมเรียนชั้นสูงสุดของมัธยมต้น ในโรงเรียนชายประจำจังหวัด ครูบางท่านและนักเรียนชั้นนี้ ได้รับมอบหมายจากฝ่ายจัดงานฤดูหนาวเชียงใหม่ ให้ทำหน้าที่ขายบัตรหน้างาน เป็นเจ้าหน้าที่เก็บบัตรผ่านประตูงาน รวมทั้งเวทีนางงามด้วย คณะครูผู้รับผิดชอบ ได้คัดเลือกนักเรียนไปช่วยงานนี้ ผมได้รับคัดเลือกเก็บบัตรที่ประตูงาน ต้องแต่งตัวลูกเสือ มี 2 ผลัด ผลัดกลางวันกับผลัดกลางคืน ทุกคนทำงานสลับผลัดกันทุกวัน เรียนหนังสือตอนเช้า ตอนบ่ายรีบกลับบ้าน แต่งชุดลูกเสือปั่นจักรยานไปทำงาน พอดีพ่อซื้อนาฬิกาข้อมือให้เรือนหนึ่งยี่ห้อโอริส เป็นเรือนแรกในชีวิต จำได้ว่าเห่อนาฬิกามาก เก็บบัตรไปดูนาฬิกาไป…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 ผมและเพื่อนๆเดินเลียบมาตามรางรถไฟ ผ่านเวทีวงดนตรี "สุรพล สมบัติเจริญ" ได้ยินนักร้องลูกวง ออกมาร้องเพลง อวดลูกคอแบบฉบับลูกทุ่งเต็มที่ ผมกับเพื่อนเดินไปยังสถานีรถไฟเล็กในงาน ซื้อบัตรขึ้นไปนั่งกับเพื่อน ผู้คนมากจริงๆ มีผู้ปกครองและเด็กเล็กมากกว่ากลุ่มอื่น รางรถไฟถูกสร้างขึ้นเป็นวงกลม ล้อมรอบอัฒจันทร์และสนามฟุตบอล หัวรถไฟค่อยๆลากขบวนไปช้าๆ ชายหญิงที่เป็นคู่รักกัน นั่งเบียดกัน คงช่วยให้คลายหนาวจากอากาศได้บ้าง รถไฟแล่นมาครึ่งรอบ มันค่อยแล่นเข้าถ้ำ ซึ่งสร้างจำลองขึ้นมา ถ้ำมืดสนิท มีเฉพาะไฟหน้ารถ ในถ้ำบางคนแอบมาปัสสาวะ รถไฟวิ่งเขาไป ถ่ายยังไม่เสร็จก็ต้องรีบก้มหัวซ่อนหน้า…