ราวเดือนพฤศจิกายน
เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กับแรม 1 ค่ำ วันแรกลอยกระทงเล็ก วันที่สองลอยกระทงใหญ่ มีบริษัท หน่วยงานต่างๆ ส่งเข้าประกวด งานลอยกระทงก็อาศัยแม่น้ำปิงเป็นสถานที่จัดงาน พอหัวค่ำ หน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ พระจันทร์กลมโตกว่าปรกติ ทอแสงสีนวลอ่อนโยน เหนือยอดไม้ด้านทิศตะวันออก แสงสีเหลืองอ่อนอร่ามทั่วฟ้า ยังกระจายไปทั่วลำน้ำและเหนือสะพานนครพิงค์ ในแม่น้ำสว่างไสวด้วยแสงไฟจากเทียนในกระทง ที่ผู้คนมาลอยกระทงพร่างพราวตา ดูละลานตาทั่วแม่ปิง ผิวน้ำสะท้องแสงไฟเหมือนมีไฟใต้น้ำ บอกไฟวี้พุ่งขึ้นท้องฟ้าตลอดเวลา ขีดฟ้าเป็นทางขาว เหมือนสายแพรสีขาวสะอาด บางเบา ของเหล่าบริวารนางฟ้า สะบัดเริงระบำ ถวายต้อนรับโคมสวรรค์ เทพธิดาแห่งรัตติกาล แม่ปิงยามนี้งามอย่างน่าอัศจรรย์ ฟ้าสดใสงามตานัก พาจิตใจปลอดโปร่ง เสียงประทัดดังปึงปัง ตรงโน้นตรงนี้ หัวใจทุกผู้เหมือนเต้นแรงเร็ว ทุกชีวิตดั่งไม่เคยมีความทุกข์ ยามนี้ความหดหู่ทั้งมวลถูกรุกไล่ไปจนสุดขอบฟ้าก็ปาน
หนุ่มสาวที่พอใจต่อกัน ถือกระทงสวยคนละกระทง ปักธูปควันกรุ่น ไฟจากเปลวเทียนไหวไปมา บางครั้งหรี่แสงตามแรงลม เห็นเพียงไส้เทียนสีดำ แล้วค่อยสว่างขึ้นมาอีกครา ต่างนั่งนิ่งอธิษฐานในใจ
เมื่อจบทั้งคู่หย่อนกระทงลงสายน้ำ กระทงลอยไปพร้อมกัน แต่ห่างกันเล็กน้อย แววตาทั้งคู่เข้มขรึม ครู่เดียวจึงได้เคลื่อนมาชิดกัน ริมปากค่อยแย้มยิ้ม กระทงเกาะเกี่ยวกันจนกลืนไปกับกระทงอื่นๆ
แม่ปิง
อยู่คู่เชียงใหม่มาครบ 713 ปี ในวันที่ 12 เมษายน 2552 ผู้คนสืบเชื้อสายกันมา ตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน เหลน เปลี่ยนจากรุ่นไปสู่อีกรุ่น มีทั้งสิ่งที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับสิ่งที่ถูกกัดกร่อน เป็นต้นว่า ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งก่อสร้าง การพูด การแต่งกาย รวมทั้งวัฒนธรรมทางจิตใจของคนเมืองคนเหนือ ดินแดนแห่งน้ำจิตน้ำใจ ยิ้มแย้มที่ยิ้มด้วยใจ ดอยสุเทพและแม่น้ำปิงเป็นจิตวิญญาณของ "คนเมือง" ของคนเชียงใหม่ "จาวเจียงใหม่" ทุกคนย่อมรักหวงแหนและรักษ์ จะทำอะไรกับแม่ของเรา "แม่ปิง" บอกให้เรารับรู้ด้วย ให้ได้ออกความเห็น ได้กำหนดเส้นทางชีวิตของเราเอง ได้มีโอกาสเลือกอนาคต เพราะเราเป็นลูก "แม่" ต้องอยู่ที่นี่อีกนานแสนนาน เราคือ "ลูกแม่ปิง."