สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว (2)

 

 

ผมปลดกระเป๋าหนังสะพายบ่า

เปิดกระเป๋าหยิบเอกสารปึกใหญ่ออกมา ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ดูท่านยิ้มเหมือนพึงพอใจ ชี้ไปที่เอกสารฉบับหนึ่งแล้วบอกว่า นั่นเป็นชื่อของท่านที่เขียนเรื่องนั้น ผมหัวเราะแก้เขินที่จุดไต้ตำตอ ถือโอกาสย้ำถาม
“ ท่านชื่อคุณอดิศร ฟุ้งขจรหรือครับ ? ขอโทษผมไม่ทราบจริงๆครับ.”

เราทั้งคู่หัวเราะและยิ้มให้กัน เราเริ่มคุ้นเคยกันในเวลาอันสั้น คงจะจริงนะ ที่ว่าการพบกันครั้งแรกเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง หากอัธยาศัยต้องกัน หรือที่พูดกันว่า ถูกชะตากัน ยิ่งคุยยิ่งสนุก มิตรภาพงอกงามรวดเร็ว บางคนพูดกันคำสอง บอกได้เลยไปไม่รอด ท่านเผยว่าอีก 4 ปีจะเกษียณอายุราชการ การสนทนาของเราได้ทั้งสาระและรสชาติ พอจะได้เรื่องราวว่า เครื่องตรวจแผ่นดินไหวแบบแม่เหล็กไฟฟ้านั้นเป็นต้นแบบ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นระบบ
IRIS(Incorporated Research Institution Of Seismology) ถือว่าทันสมัยสุด โดยมีขั้นตอนการทำงานตามลำดับว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว(พลังงานกล) จะเกิดการสั่นสะเทือนที่กระบอกวัดแผ่นดินไหว แล้วมันจะเปลี่ยนเป็นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า แปลงสัญญาณนี้ไปยังคอมพิวเตอร์ นำไปสู่การใช้สูตรคำนวณเป็นค่าแรงสั่นสะเทือน มีหน่วยเป็นริกเตอร์

“ สาเหตุจริงๆของแผ่นดินไหวเกิดจากอะไรครับ ?.” ผมถามขึ้น
“ ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า แผ่นดินไหวเกิดจากการระเบิดใต้ผิวโลก ปัจจุบันทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ได้รับการยอมรับมากที่สุด.”
“ เออ ! ผมสงสัยจริงๆ สงสัยมานานด้วย อยากทราบความแตกต่างระหว่าง “รอยเลื่อน” กับ “เปลือกโลก”  ?.”
“ ขอบเปลือกโลกที่แตกแล้วต้องมีการขยับตัวเรียกว่า “รอยเลื่อน” มันจะมีพลัง การขยับตัวของเปลือกโลกนี่เอง ทำให้เกิดแผ่นดินไหว.”

“ ทราบได้อย่างไรครับว่า รอยเลื่อนแม่จันยาวถึง 101 กิโลเมตร ?.”
ความสงสัยในใจแปรเปลี่ยนเป็นระลอกคำถาม
“ ทราบโดยวิธีสำรวจ ปัจจุบันดูจากภาพถ่ายทางอากาศ แล้วนำมาให้ผู้เชี่ยวชาญ แปลความตีความว่าเป็นรอยเลื่อนหรือไม่.”
“ ลมฟ้าอากาศสามารถบอกล่วงหน้าได้ แผ่นดินไหวบอกล่วงหน้าได้ไหม ?
มันน่าจะมีสัญญาณบอกเหตุบ้าง เช่น น้ำจะท่วมมดขนไข่อพยพ.
“ ก็พอมี แต่ไม่ได้อธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น ผึ้งแตกออกจากรัง หนูงูวิ่งออกจากที่อยู่อาศัย สัตว์บางชนิดตื่นตระหนก.”

“ ทำไม ? ที่ตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมาอยู่ที่นี่ น่าจะมีเหตุอะไรบางประการ ?.”
ผมเปิดสมุดถามตามหัวข้อที่เตรียมมา
“ อ๋อ !   เรามีการสำรวจหลายแห่ง ที่นี่เหมาะสมที่สุด เพราะ...ไกลถนน ไม่มีลมแรง เงียบ ทำให้วัดการสั่นสะเทือนได้เที่ยงตรง.”

เมื่อได้ข้อมูลมากพอสมควร ผมขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้อำนวยการ ฯ พาไปดู มันเป็นกระบอกโลหะท่อนหนึ่งยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางราว 50 เซนติเมตร ฝังลึกลงในดินราว 100 เมตร แล้วต่ออุปกรณ์เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ ผมออกไปดู เห็นเพียงแท่นซีเมนต์ตั้งอยู่หน้าสำนักงาน.
 
 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร (20 นิ้ว) เลยหรือครับ?

แต่ถ้าเป็นกระบอกโลหะในรูป เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น่าจะเกิน 10 เซนติเมตร (4 นิ้ว) นะครับ
ไม่รู้ว่าเป็นกระบอกโลหะอันเดียวกันหรือเปล่าครับ

Submitted by ถนอมรัก เดือนเ... on

คุณน้ำลัดครับ ผมผิดพลาดจริงๆครับ เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกโลหะไม่ถึง 50 เซนติเมตรครับ
ดูภาพมือคน ระยะจากข้อมือถึงปลายนิ้วกลาง ความยาวพอๆกับเส้นผ่าศูนย์กลางกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางจริงๆถ้าวัดคงราว 10 เซนติเมตรหรือราว 4 นิ้ว ตรงกับที่คุณน้ำลัดตั้งข้อสังเกต ขอขอบคุณมากๆด้วยความจริงใจครับผม.

Submitted by สาวลาดพร้าว on

ตั้งคำถามได้ใจจริงๆ เลยอยากรู้เหมือนกัน งั้นจะต้องพยามยามสังเกต สัตว์พวกนี้ไว้แล้ว

จะได้เตรียมตัวทัน แต่ว่า มดที่บ้านเดี๋ยวนี้มันก็เยอะเสียจริง เดินพาเหรดกันอยู่ได้

แต่ไม่ได้ขนไข่ คงไม่ใช่หรอกเนาะ แต่พูดจริงๆ นะมันเยอะผิดปกติจริงๆค่ะ แปลกดี

Submitted by ถนอมรัก เดือนเ... on

คุณสาวลาดพร้าวครับ ส่งข้อความมาเป็นยาหอมชั้นดีทีเดียว ภาคเหนือเรานั้น แผ่นดินไหวไม่น่ากลัว
ที่น่ากลัว และมีโอกาสเกิดได้สูงคือน้ำท่วม แล้วก็พายุ บ้านทุ่งแป้งที่อำเภอสันป่าตอง ลมแรงขึ้นทุกปี ลมพัดมาคราใด แม่บ้านกับผม สนธิกำลังยืนสวดมนต์ใต้ถุนบ้าน ไม่กล้าขึ้นบนบ้านเลยครับ.

ล้านนาในอ้อมแขนแห่งขุนเขา(7)


                                                                                                                ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง