ลองพิจารณาคำพูดของน้องธัญญ์
คุณสรยุทธจากรายการ “ เจาะข่าวเด่นช่อง 3 .”(14 มิ.ย. 2554)ถามว่า
“ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มา เคยมีเวลาใดที่รู้สึกทุกข์ใจบ้างหรือไม่ ?.”
เธอตอบว่า
“ ไม่มีเลย ก็ทำตัวไม่ให้ทุกข์ซิคะ มันขึ้นอยู่กับตัวเองด้วย บางคนก็คิดว่าคนเราจะได้กำลังใจจากคนอื่น จะทำให้เราดีขึ้น แต่บางครั้งกำลังใจจากคนอื่นก็ไม่ได้ช่วยเสมอไป ถ้าเราไม่มีกำลังใจให้ตัวเองแล้วคนอื่นเขาจะมาช่วยเราได้อย่างไร เราต้องมีกำลังใจให้ตัวเองก่อน ก่อนที่คนอื่นเขาจะมาช่วยเรา.”
นายกิตติ์เธนศ คุณพ่อของน้องธัญญ์ อายุ 55 ปี พูดถึงลูกสาววัย 14 ปีคนนี้ว่า
“ น้องเป็นเด็กเข้มแข็ง คิดดี และคิดบวกตลอด ผมสอนเขาว่า แม้เราจะสูญเสียขาไปแล้ว แต่เรายังมีหัวใจที่เข้มแข็ง อย่าไปมองข้างล่าง แต่ให้มองข้างบน ที่เราก็มีไม่แพ้คนอื่น น้องเรียนดีมาตลอด.”
ผมไม่เข้าใจข้อความ “...อย่าไปมองข้างล่าง แต่ให้มองข้างบน...” พอดีมีหนังสือชื่อ “ คิดบวก”
(The Power Of Positive Thinking) ผู้เขียนชื่อ นอร์แมน วินเซนต์ พีล เขียนในหน้า 217 ว่า
“ อย่ามัวแต่นึกภาพว่ามีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง แต่มองข้ามมันไปเพื่อนึกถึงสิ่งที่ดีกว่า เวลาที่คุณมองจากมุมที่สูงกว่าลงมา นั่นก็คือมองจากความสำเร็จลงมา แทนที่จะมองจากปัญหาและอุปสรรคขึ้นไปยังความสำเร็จที่อยู่สูงกว่า คุณย่อมมีแรงและกำลังใจที่จะก้าวต่อไป มองจากข้างบนลงมา อย่ามองจากข้างล่างขึ้นไป.”
หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ “ อยู่อย่างสง่า”
เขียนโดยนายแพทย์วิทยา นาควัชระ ในหน้า 27 หัวข้อ “ มีความคิดที่เหมาะสมทั้งในยามแพ้และชนะ ” กล่าวว่า จงมีแนวคิดดังนี้เอาไว้เสมอ คือ ไม่โลภ ไม่เสียดาย อยู่กับปัจจุบัน เชื่อว่าพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ มองโลกในแง่ดี ถ่อมตน ไม่ยกตน ความทุกข์จะลดลง ทำความดีให้มากขึ้น เช่น ช่วยตัวเองให้มากขึ้น และช่วยคนอื่นให้มากขึ้น เพราะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม มีอารมณ์ขัน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ได้
กรณีที่เป็นข่าว
หญิงสาวเลิกงานตีสอง โบกรถแท็กซี่กลับบ้าน แท็กซี่พาออกนอกเส้นทางแล้วปล้นทรัพย์ทำร้าย ประตูถูกล็อกทั้ง 3 ด้าน เปิดได้เฉพาะข้างคนขับ เธอมีสติดี ดิ้นรนหนีเอาตัวรอดได้ ตำรวจจับคนร้ายได้ กรณีอย่างนี้เราจะเลือกใช้หลักคิดบวกหรือคิดลบอย่างไรดี.