Skip to main content

ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง

 

 

 

 

น่าชื่นใจ

ที่เราเกิดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งต้นแม่น้ำปิง แต่จะชื่นใจและภูมิใจยิ่งกว่า หากเราเกิดมาแล้วรักแม่น้ำปิง รักแล้วดูแลรักษาน้ำให้สะอาด ไม่ให้คนอีกกลุ่มรุกล้ำทำลายโดยวิธีการต่างๆ โบราณกาลนั้น เราจะสร้างบ้านแปงเมืองตามแนวริมแม่น้ำ อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ไว้อาบไว้ใช้ เดินทางและขนส่งสินค้า อาจเป็นกฎหรือหลักเหตุและผลง่ายๆ คนทำลายน้ำทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลตามมาจะย้อนทำลายคน ลูกหลาน บ้านเรือน นี่คือหลักของอริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์ค้นพบ เป็นหลักของผลย่อมมาจากเหตุ

วันนี้

เราจึงต้องย้อนกาลเวลา เพื่อรับรู้ความเป็นมาของแม่น้ำปิง อันเป็นรากเหง้าส่วนหนึ่งของลูกหลานลูกแม่ระมิงค์รุ่นต่อรุ่น...หลัง พ.ศ.1 หรือมากกว่า 2,500  ปีมาแล้ว มีชนเผ่าพื้นเมืองตั้งมั่นบริเวณน้ำแม่กวง ในที่ราบลุ่มน้ำแม่ปิงเขต จ.ลำพูน ยังไม่มีหลักฐานบอกได้ว่า คนพวกนี้เป็นบรรพชนชาวลุ่มน้ำปิง ที่จะเติบโตเป็นรัฐหริภุญชัย รัฐเชียงใหม่ รัฐล้านนา ต่อไป ตำนานและนิทานที่แต่งขึ้นสมัยหลังๆ เรียกชื่อบรรพชนชาวล้านนาพวกนี้ว่า เมงคบุตร แปลว่า ลูกหลานเชื้อสายของ เมง คือรามัญหรือมอญ และเรียกชื่อดินแดนในยุคนี้ว่า  มิคสังครนคร และสมันตรประเทศ

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า

“กลุ่มชนที่เจริญพวกแรกในที่ราบลุ่มเชียงใหม่คือ พวกเมงคบุตร ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงดอย

สุเทพ ใกล้กับลำน้ำแม่ขาน อันเป็นสาขาแม่น้ำปิง ลักษณะสังคมของชนพื้นเมืองนี้เป็น แบบเผ่า(Tribal Society) แต่ว่าแบ่งเป็นหลายตระกูล(Totemic Groups)...”

บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่

มีประชาชนอาศัยอยู่หลายเผ่า แต่ที่สำคัญได้แก่พวก เมง(มอญหรือรามัญ)และพวก ลัวะ(ลวะหรือละว้า)

เม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มน้ำปิง ตำนานจามเทวีวงศ์เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า เมงคบุตร

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในแถบที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะสังคมชนเผ่า แบ่งออกเป็นหลายตระกูล แต่ละตระกูลใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ของตน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธ์เม็ง มักกระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง.”(มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณและกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่ แต่เม็งมีประชากรน้อยกว่าลัวะ

ต่อมามีชาวต่างถิ่นที่รับวัฒนธรรมอินเดีย คือฤาษีวาสุเทพอพยพเข้ามา ได้แต่งงานกับหญิงพื้นเมืองที่นับถือเนื้อเป็นสัญลักษณ์ ฤาษีวาสุเทพกลายเป็นผู้นำชาวพื้นเมืองเหล่านี้ทั้งหมด ต่อมาจึงได้สร้างบ้านเมืองขึ้นให้ลูกหลานปกครอง(หนังสือ “จังหวัดเชียงใหม่มาจากไหน.” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ)

มีข้อมูลที่น่าสนใจ

“ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่(Chiang Mai Valley)  เป็นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมแต่อดีต มีชื่อเรียกกันตามความสำคัญของลำน้ำปิงที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ราบนี้ว่า พิงครัฐ...”

 อีกตอนหนึ่งว่า

“...ลงเรือมาตามแม่น้ำพิงค์ 7 เดือน จึงบรรลุถึงเมืองนี้ ท่านวาสุเทพและท่านสุกกทนต์พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งปวงได้อัญเชิญพระนางจัมมเทวีนั้นนั่งบนกองทองคำ แล้วอภิเษก อาศัยเหตุที่พระนางนั่งบนกองทองคำอภิเษก นครนั่นจึงชื่อว่า หริปุญชัย สืบมาจนถึงวันนี้.”(หนังสือ  “เชียงใหม่มาจากไหน.” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ)

เชื่อมเรื่องราวต่ออีกว่า

พระเจ้ามังรายพระชนม์ได้ 23 ปี ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ.1806...ต่อจากนั้นทรงสร้างกุสนคร เมื่อ พ.ศ. 1817(เข้าใจว่าคือเมืองฝาง)...พระเจ้าเมืองรายมีพระชนม์มายุ 53 ปี พ.ศ.1836 ได้เข้ายึดหริปุญชัยจากพระเจ้าญีบาได้สำเร็จ จากนั้นพระองค์ทรงสร้างนครเชียงใหม่ปี พ.ศ.1839 ในท้องที่ภูเขาอุจฉุคิรี(ดอยสุเทพ)กับแม่น้ำพิงค์( หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 93-94)

มีคำว่า “แคว้นพิงค์.”

ปรากฏในสมัยพระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ และมีคำว่า “นครพิงค์.” ปรากฏในสมัยเจ้าครามซึ่งเป็นพระราชบุตรของพระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ (หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 94-95)

มีคำสำคัญคือ พิงค หรือ พิงค์ เป็นชื่อเรียกทั้งเมืองและแม่น้ำ  และคำนี้ยังปรากฏในชื่อเมืองที่พญามังรายมหาราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพญางำเมือง ขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่.”

สรุปได้ว่า

แม่น้ำที่ราบลุ่มนี้เดิมชื่อ แม่น้ำระมิงค์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น แม่น้ำพิงค์ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นแม่น้ำปิงในปัจจุบัน จะมีลำดับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ยังค้นหาหลักฐานเชื่อมต่อที่น่าเชื่อถือไม่ได้ คงต้องค้นคว้าแสวงหาจากหลักฐาน ปราชญ์  ผู้รู้ ต่อไป.

 

                                                ....................................................................

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
                                                            
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง