บรรทัดทองแห่งชีวิต“เวียงเถาะ” ชุมชนโบราณที่ขุดพบครั้งสุดท้าย(2)


ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง


 


เสมาหรือสีมาหมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำพิธีกรรมต่างๆของสงฆ์
ส่วนใบเสมาหรือใบสีมา หมายถึงแผ่นหินที่ทำเป็นเครื่องหมายบอกเขตอุโบสถ
วัตถุที่ใช้บอกเขตแห่งสีมามามี 8 ชนิด ภูเขา ศิลา ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ หนองน้ำ

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
ผมเปลี่ยนแผนใหม่ตามที่คิดไว้ นิมนต์เจ้าอาวาสวัดทุ่งแป้งที่อยู่ข้างบ้านและพระลูกวัดอีก 2 รูป ไปดูหนองน้ำโบราณ ขากลับแวะวัดสองแควที่เก็บโบราณวัตถุไว้ในอุโบสถ แต่ปิดกุญแจไม่ให้ใครเข้าดู กรรมการวัดประกาศด้วยวาจาว่า ต้องรอฤกษ์งามยามดีก่อนจะเปิดให้คนทั่วไปได้ชม ผมบอกว่านิมนต์พระมาด้วย ท่านอยากดูวัตถุโบราณที่ขุดพบ แผนของผมได้ผล ชาวบ้านที่มางานศพในวัด ถามว่าพระวัดไหน เข้าทางผม ผมแนะนำทันที ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งแป้ง ท่านอยากดูของโบราณเก่าแก่ที่ขุดได้แล้วศรัทธาญาติโยมเก็บไว้ในอุโบสถ ปากต่อปากส่งต่อกันจนถึงผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านผมดกหนวดหนาดำเดินลิ่วตรงมาหา พนมมือจรดหน้าผากเข้ามาใกล้เจ้าอาวาส พอทราบจากปากเจ้าอาวาส พลันปรากฏกุญแจเปิดอุโบสถในมือ ประตูเก็บโบราณวัตถุที่ขุดได้จากหนองน้ำฮองแฮง จึงเปิดกว้างต้อนรับคณะของผม คนเฒ่าคนแก่ที่ยังไม่ได้ดู เดินตามกันเป็นพรวน บริเวณลานซีเมนต์ก่อนถึงบันไดขั้นแรกขึ้นอุโบสถ ปรากฏหินฝังไว้ 2 ก้อน ก้อนแรกสูงราว 1 คืบเศษ กว้าง 1 คืบ ถัดไปเป็นหินก้อนที่สอง กว้าง 2 คืบ สูง 2 คืบเศษ คงเป็นเสมา ทุกคนเดินหลีกก้อนหินทั้งสองโดยไม่ได้นัดหมาย ซึ่งหาดูยากตามวัดทั่วๆไป วัตถุโบราณที่ขุดพบถูกเก็บอย่างดีไว้ในตู้กระจก วางสองข้างผนังอุโบสถ มีหมายเลขติดกระดาษขาวชิ้นเล็กบอกลำดับเลขที่โบราณวัตถุ ประกอบด้วย พระพุทธรูปหัก บางองค์เหลือลำตัว บางส่วนเหลือเพียงเศียร เหนือศีรษะมีมงกุฎ มีกุณฑล(ตุ้มหู) ห้อยสังวาล แสดงลักษณะการแต่งกายของกษัตริย์ บางองค์มีใบหน้าคล้ายสตรีสูงศักดิ์ คาดคะเนว่า น่าจะเป็นการจำลองจากพระพักตร์พระนางจามเทวี มีของใช้วางอยู่กลุ่มหนึ่งที่ยังคงรูป เป็นหม้อดิน บางชิ้นเป็นแผ่นที่แตกหัก ปรากฏลายดอกไม้ ผมถ่ายรูปไว้มากมายทีเดียว

ผมเกิดความอยากรู้
เรื่องราวเมืองเถาะขึ้นมา อยากรู้ประวัติศาสตร์โบราณวัตถุที่อยู่ใกล้บ้านหลังปัจจุบัน ที่มีการขุดเป็น
อ่างเก็บน้ำตามข้อมูลข้างต้น มันน่าตื่นตาตื่นใจได้เห็นของโบราณสมัยเป็นพันๆปี ก่อนนี้ได้เห็นเพียงในหนังในละครโบราณ  จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูล ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ประวัติศาสตร์ล้านนา” เขียนโดยศาสตราจารย์สรัสวดี  อ๋องสกุล ท่านผู้นี้สอนที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมไปพบท่านที่คณะมนุษยศาสตร์ แนะนำตนเองว่าเป็นข้าราชการบำนาญ และแจ้งข่าวการขุดพบชุมชนเก่าแก่ ณ หนองน้ำ ฮองแฮง ท่านบอกว่ายังไม่ทราบข่าว ผมแจ้งว่าอยากให้อาจารย์ไปดูเพื่อประโยชน์ต่อการค้นคว้า แล้วนำมาเขียนขยายเพิ่มเติมจากเนื้อหาเดิม ที่อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ส่งโรงพิมพ์จำหน่ายจะเกิดประโยชน์ต่อผู้คนทั่วไป และผมจะได้ซื้อผลงานของท่านไว้อ่านอีกด้วย อาจารย์กล่าวขอบคุณที่นำข่าวมาบอกด้วยท่าทีสุภาพน่าเคารพ.

                                    .............................................................................................

 

 

ล้านนาในอ้อมแขนแห่งขุนเขา(7)


                                                                                                                ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง