บรรทัดทองแห่งชีวิต ปฏิรูปการศึกษา ฉบับ สึนามิ(2)

ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง

 

ไม่ต้องการโทษใคร
ไม่ต้องการแพะรับบาป แต่เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากสึนามิ บอกอะไรเราได้หลายอย่างหลายด้าน ผู้เกี่ยวข้องการศึกษาคงต้องออกมาแสดงความเคลื่อนไหวอย่างเร่งด่วน จริงจังต่อเนื่อง น่าเสียดายถ้าทำได้เพียงฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ซ่อมแซมปรับปรุงที่พัก ชายหาด ทำบุญให้ผู้เสียชีวิต ช่วยเหลือเงินทุนผู้ประกอบการ แต่ละเลยการปฏิรูปการศึกษา ก็คือปฏิรูปการเรียนการสอนนั่นเอง

หลักสูตรคืออะไร
หลักสูตรหมายถึง ความรู้ กิจกรรม และประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนที่นักเรียนได้รับ หรือหมายถึงมวลประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดให้แก่เด็ก หรืออีกความหมายหนึ่ง หมายถึงกิจกรรมการเรียนการสอน แยกย่อยได้อีกเป็นการเรียนกับการสอน ก็คือการเรียนของนักเรียน และการสอนของครู

หลักสูตรแบ่งเป็น 3 ระดับ
หนึ่งหลักสูตรระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บท คือหลักสูตรที่เขียนไว้กว้างๆ บรรจุเนื้อหาสาระที่ทุกคนต้องเรียนรู้เหมือนกันหมด เช่น ภาษาไทย สองหลักสูตรระดับท้องถิ่น คือนำเอาหลักสูตรแม่บทมาปรับใช้ให้เหมาะกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน นำไปใช้ได้จริงในชีวิต สามหลักสูตรระดับห้องเรียน เป็นหลักสูตรสำคัญที่สุด สังคมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อยู่ที่หลักสูตรระดับนี้ เพราะการปฏิรูปการศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงวิธีสอนของครูและเปลี่ยนแปลงวิธีเรียนของนักเรียนนั่นเอง

บุคคลสำคัญที่สุด
ที่รับผิดชอบคือครู การพัฒนาหลักสูตรระดับห้องเรียน มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งที่ครูจะนำหลักสูตรระดับชาติ ระดับท้องถิ่น มาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร จะได้หรือไม่อยู่ที่การพัฒนาการสอนของครู กล่าวได้ว่าการพัฒนาหลักสูตรกับการสอนจะแยกกันไม่ได้ ต้องพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาการสอนไปด้วยกัน

ล่าสุด
มีบุคลากรรับผิดชอบการศึกษาระดับสูง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคือ ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) ได้กล่าวถึงการศึกษา การปรับระบบการเรียนการสอนว่า

“…ต้องปฏิรูปที่ระบบใหญ่ ทั้งปฏิรูปครู หลักสูตรการเรียนการสอน
รวมถึงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วย…”

ข้อความที่ผู้เขียน
กล่าวไว้เบื้องต้นว่า การปฏิรูปการศึกษาก็คือการพัฒนาการเรียนการสอนนั่นเอง สอดคล้องกับคำกล่าวของ ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงพออนุมานได้ว่า การปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูปอะไร เดินมาถูกทิศทางแล้ว

เหตุการณ์สึนามิ
เกี่ยวโยงระหว่างเด็กไทยกับเด็กฝรั่ง เป็นอุทาหรณ์ที่เราต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาการสอน เพื่อให้ได้ครูแบบเดียวกับ “แอนดรูว์ เคิร์นนีย์” ครูของเด็กหญิงฝรั่งชื่อ “ทิลลี่ สมิธ”  ฉายานางฟ้าชายหาด

มีข่าวน่ายินดี
เรื่องการปฏิรูปการศึกษา เมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ที่อาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.)ประสานมิตร ได้มีกลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมหารือ แนวทางข้อเสนอแนะปฏิรูปการศึกษา เพื่อส่งมอบต่อ พล.ร.อ.
ณรงค์ พิพัฒนาสัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และ ดร.สุทธิศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อเสนอมากมาย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะรวบรวมข้อเสนอต่างๆมาสรุปรวมกับแผนที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ก่อนเสนอ คสช.ต่อไป ซึ่งจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.
2557

เคยถามตนเอง
ควรมีบทบาทใดในฐานะประชาชนคนไทย สมาชิกคนหนึ่งของสังคม ที่มีความห่วงใยบ้านเมืองและผู้คนของประเทศตนเอง ตอบว่า อาจเป็นหน้าที่ อาจเป็นจิตสำนึก ก็จะทำตามกำลังที่มีในตัวสุดแรง เขียนหนังสือ แสดงข้อมูล ความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ที่เคยเป็นครูและศึกษานิเทศก์มายาวนาน    เขียนเพื่อนำเสนอ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อขยายพื้นที่ความคิด สู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยบุคลากรในส่วนต่างๆ  เรื่องที่เขียนนี้ อาจไม่มีเสียงดังพอให้ใครได้ยิน…ฟังแต่ไม่ได้ยิน แม้ตะโกนสุดเสียงจากซอก หลืบเล็กๆของสังคม อ่านแล้วอ่านเลย ขอเพียงสักคนได้ให้เกียรติอ่าน แล้วเกิดความตระหนัก เกิดพลังสร้างสรรค์ด้านความคิด และอาจมากจนเกิดการปฏิบัติ…เพียงแค่นี้ก็มากพอสำหรับผู้เขียนแล้วครับ.

…………………………………………………………

ล้านนาในอ้อมแขนแห่งขุนเขา(7)


                                                                                                                ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง