เมื่อวันเปิดภาคเรียนมาถึง ผู้เขียนก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับนิสิตชั้นปีที่สองในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งล้วนเป็นผู้มีพันธะในการเรียนหนังสือ พวกเราก็ล้วนต้องแข็งใจนำพาตนเองไปสู่มหาวิทยาลัยอันเป็นแหล่งแสวงหาความรู้อันรักยิ่ง พลันเมื่อผู้เขียนได้เข้าสู่ห้องเรียนวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (วิชา Intro IR) ก็สัมผัสได้ถึงความผิดปกติที่ผู้เขียนก็คาดคิดไว้แล้ว ว่าตอนเรียนที่สามซึ่งสอนโดยรศ.สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ผู้เลื่องลือในการสอนเนื้อหา "กระแสรอง" มีผู้เรียนค่อนข้างบางตาเหมือนที่ผู้เขียนคิดไว้ อาจเป็นเพราะว่าการสอนกระแสรองดังกล่าวถูกตีความโดยนิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วน ว่าเนื้อหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสรองเป็นประหนึ่งปีศาจร้ายที่หลอกหลอนให้นิสิตต้องใช้ความคิดในการวิพากษ์สูง นอกเหนือจากการเรียนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก ซึ่งแน่นอนว่า การวิพากษ์น่าจะฟังดูยาก และฟังดูน่าขนหัวลุกสำหรับนิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วน โดยเฉพาะเมื่อมีคำว่า "กระแสรอง" เข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง ว่าแต่ อะไร คือ "IR กระแสรอง" กันนะ?
แทนที่จะเริ่มด้วยการยกนิยามยืดยาวเกี่ยวกับแนวคิด International Relations (IR) กระแสรองให้นิสิตจดกันจนมือหงิก อาจารย์สรวิศกลับเริ่มด้วยการให้พวกเราดูรูปภาพรูปหนึ่ง และอธิบายองค์ประกอบของภาพ ตัวบุคคลและสถานภาพของบุคคลในภาพ สังเกตลูกเล่นการวาดที่อยู่ในรูปภาพ โดยอาจารย์พยายามชี้ไปที่มิติอำนาจของตัวบุคคล จากนั้นจึงแสดงมิติอำนาจที่บุคคลในภาพกำลังมีการกระทำต่อกัน จึงเข้าสู่ช่วงที่อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่ามีมิติอำนาจอะไรที่ "ซ่อนเร้น" อยู่ในรูปภาพนั้น เป็นการสอนให้เราพยายามมองหามิติอำนาจที่เกิดขึ้น อำนาจที่ซ่อนเร้นดังกล่าวคืออำนาจของระบบโครงสร้าง ที่ส่งอิทธิพลมาครอบคลุมปัจเจกโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ซึ่งก็คืออำนาจรัฐนั่นเอง โดยในรัฐหนึ่งรัฐนั้นก็มีรูปแบบความสัมพันธ์ของอำนาจในโครงสร้างรัฐที่แตกต่างกันไปในหลายระดับไปจนถึงระดับปัจเจก ซึ่งเมื่อรัฐต่างๆนั้นเกิด "ความสัมพันธ์" กันขึ้นมา จึงเกิดมิติอำนาจระหว่างรัฐนั่นเอง ซึ่งจะมีประเด็นอย่างทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ศึกษา (เป็นการศึกษาการเมืองระดับสูง เรียกว่า "High Politics") โดยทั้งนี้ ลักษณะการสอนของอาจารย์ตามประมวลรายวิชานั้น จะเริ่มต้นการสอนผ่านสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปปกติ เช่น วัฒนธรรมสมัยนิยม (Popular Culture) กีฬา (Sports) หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อวิถีชีวิตในสังคมของพวกเราในระดับปัจเจกอย่างใกล้ชิด (เป็นการศึกษาการเมืองระดับต่ำ เรียกว่า "Low Politics") ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมืองโลก (World Politics) ได้อย่างชัดเจน โดยอาจารย์ได้กล่าวในลักษณะที่ว่า การเรียนวิชานี้ การสั่งงานจะไม่ใช่ให้พวกคุณไปค้นหาคำตอบมาเขียนส่ง แต่พวกคุณต้อง "สร้าง" คำตอบขึ้นมาส่งอาจารย์
นี่เป็นการเริ่มต้นการสอนให้นิสิตเกิดการคิดวิพากษ์ มองหาเหตุและปัจจัยในเรื่องต่างๆในการตอบปัญหาเรื่องหนึ่งๆ อาจารย์เริ่มต้นด้วยการพูดถึงการเมืองในระดับใกล้ชิดปัจเจก ว่าแนวคิดต่างๆนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร และต่อยอดกันอย่างไร โดยเมื่อมีตัวแสดงสามอย่าง คือ "Low Politics", "High Politics", และ "World Politics" ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนก็ตระหนักแล้วว่าทำไมตอนเรียนวิชา Intro IR ที่สอนกระแสรองจึงเป็นที่เลื่องลือในหมู่นิสิตถึงความยากในการเรียน เนื่องด้วยการเรียนกระแสรองคือการเรียนเชิงวิพากษ์และเชื่อมโยงอันสลับซับซ้อนนั่นเอง
ผู้เขียนก็เคยคิดบ้าง ว่าทำไมเราถึงไม่เรียนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลักไปเสียเลย ทำไมถึงต้องศึกษากระแสรอง (เชิงวิพากษ์) ในเมื่อการเรียนในกระแสหลักน่าจะสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้สะดวกกว่า กระแสหลักอาจประหนึ่งอุปกรณ์สำเร็จรูปให้เลือกใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ และเนื่องด้วยผู้เขียนเป็นคนช่างสงสัย จึงได้ยกมือถามอาจารย์สรวิศในห้องเรียนไป คำถามประมาณว่า ในการเรียนที่อาจารย์บอกว่านำเสนอกระแสรองนั้น คือเน้นเรียนไปเพื่อฝึกทักษะการวิพากษ์ใช่หรือไม่ แล้วทำไมจึงไม่เน้นการสอนกระแสหลักเพื่อมุ่งแก้ปัญหา ซึ่งผู้เขียนคิดว่าแนวคิดกระแสหลักอาจเป็นแนวคิดที่เหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการนำความรู้ไปใช้ได้จริงในการทำงาน โดยการที่ผู้เขียนตั้งคำถามนี้ ก็ได้แนวคิดทั้งสองแบบมาจากหนังสือ "จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์" ซึ่งเขียนโดยอาจารย์สรวิศ ชัยนาม โดยผู้เขียนได้ยกประเด็นทฤษฎีที่มุ่งเป้าเพื่อแก้ปัญหา (problem-solving theory) และทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (critical theory) มาใช้ประยุกต์ประกอบการตั้งคำถามนั่นเอง[1] อาจารย์สรวิศก็ตอบกลับมาในลักษณะว่า การเรียนในกระแสหลักเพื่อฝึกให้พวกคุณนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหานั้น การแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำแต่แรกเสียด้วยซ้ำ สมมติว่า คุณถูกส่งไปเป็นผู้ปกครองพื้นที่ของรัฐในอาณานิคมของรัฐคุณ โดยคุณต้องปกครองคนพื้นเมืองในประเทศนั้นๆที่ถูกตีตราว่าด้อยค่ากว่าคนในรัฐเจ้าอาณานิคม ซึ่งรัฐเจ้าอาณานิคมดังกล่าวก็คือรัฐของคุณ คุณจะเลือกวิธีปกครองพวกนี้อย่างไรดีจึงเหมาะสม คุณจะกำหนดให้พวกนี้มีสิทธิหรือเสรีภาพได้มากหรือน้อยขนาดไหนภายใต้การปกครองของคุณ และคุณจะทำข้อตกลงกับชนพื้นเมืองผู้อยู่ใต้การปกครองพวกนี้อย่างไรถึงจะสามารถหาผลประโยชน์สำหรับรัฐเจ้าอาณานิคมของคุณให้ได้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่ากระแสหลักสามารถเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่หากมองในมุมมองกระแสรองแล้วนั้น เราอาจจะต้อง "ตั้งคำถาม" กันใหม่เลยเกี่ยวกับรัฐที่เป็นอาณานิคมของรัฐคุณนี้ เช่น ทำไมรัฐคุณถึงไม่ให้รัฐพวกเขาปกครองกันเอง ทำไมถึงต้องไปตีตราว่าพวกเขาด้อยค่ากว่าพวกคุณ จึงทำให้พวกเขาต้องถูกปกครองโดยพวกคุณ หรือทำไมพวกเขาถึงต้องถูกกำหนดสิทธิหรือเสรีภาพโดยพวกคุณ เป็นต้น โดยนี่อาจเป็นสาเหตุที่อาจารย์สอนกระแสรองแก่นิสิต โดยอาจเพื่อให้นิสิตเกิดการวิพากษ์แนวคิดว่าอะไรคือสิ่งที่สมควรจะเป็นกันแน่
ผู้เขียนซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดเชิงวิพากษ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเกิดความนึกคิดที่ว่า นี่ถึงเวลาหรือยังที่แนวคิด IR กระแสรองเชิงวิพากษ์ในหนังสือหรือตำราต่างๆจะสมควรออกมาโลดแล่นอย่างรุนแรงในยุคปัจจุบันนี้ เพื่อท้าทายพื้นที่แนวคิด IR กระแสหลักแบบปฏิฐานนิยม ซึ่งยึดครองพื้นที่ทางความคิดต่อเนื่องอย่างยาวนาน (เป็น Grand Theory มาเป็นระยะเวลานาน) ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การวิพากษ์นี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในการแก้ปัญหาต่างๆในอนาคต ไม่เพียงแต่ในประเด็นปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่แนวคิดเชิงวิพากษ์นี้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาอื่นๆได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านการเมือง หรือปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
บรรณานุกรม
[1] สรวิศ ชัยนาม. 2555. จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.