Skip to main content

 

การปรองดองนั้นเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในแวดวงสังคมศาสตร์ของไทยในปัจจุบัน สืบเนื่องจากที่มีกระแสจากรัฐบาลในการส่งเสริมการปรองดองอาศัย น้องเกี่ยวก้อย มาสคอตผู้เป็นสัญลักษณ์การปรองดอง1 ซึ่งโดยส่วนตัว ข้าพเจ้าก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าการใช้มาสคอตน้องเกี่ยวก้อยเพื่อการปรองดองนั้นจะช่วยอะไรได้อย่างไร แต่ในอนาคต น้องเกี่ยวก้อยอาจสร้างการปรองดองได้อย่างมีประสิทธิภาพจนนึกไม่ถึงก็ได้ เมื่อมีการขบคิดปรึกษากับเพื่อนนิสิตร่วมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในประเด็นการปรองดองในสังคมไทยบ่อยๆ ทำให้ข้าพเจ้าเกิดอยากเขียนบทความนำเสนอการปรองดองในสังคมไทย ประยุกต์จากเนื้อหาของหนังสือ เมื่อเลือดและกระดูกโหยไห้ ในเรื่องการเยียวยาและการคืนดี ผ่านกรณีเกี่ยวกับเรื่องทหารเด็กในสงครามกลางเมืองในไลบีเรียและเซียรา ลีโอน และเรื่องการคืนดีในโซมาเลียโดยกลุ่มผู้เฒ่า ร่วมด้วยกับแนวคิดที่ข้าพเจ้าได้ขบคิดกับเพื่อนนิสิตร่วมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

ว่าด้วยการเยียวยา การปรองดอง และการคืนดี

          การเยียวยาเป็นเนื้อหาทางสังคมศาสตร์ที่มีผู้นิยามเนื้อหาหลายท่าน2 โดยสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้ง บาดแผลทางใจ และการกดขี่ในระดับกว้าง โดยการเยียวยาสังคมเป็นการเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การปรองดองให้อภัย และสร้างความหวังแก่ชีวิต เนื้อหาจากหนังสือดังกล่าวได้เสนอแนะว่าการเยียวยาต้องมีจุดเน้นในระดับชุมชน ซึ่งต้องอาศัยสุ้มเสียงถ่อยทอด สิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ย ของแต่ละฝ่ายออกมา จึงจะเกิดกระบวนการดังกล่าวได้ ส่วนการปรองดองคือกระบวนการที่ทำให้เราอยู่ร่วมในสังคมกับคนที่ก่ออาชญากรรมกับเราโดยเราไม่ต้องให้อภัยได้ และการคืนดีเป็นขั้นตอนลำดับสูงสุดที่เป็นผลมาจากการเยียวยาความขัดแย้งที่ประสบความสำเร็จ

 

ว่าด้วยกรณีตัวอย่างจากหนังสือ

          1.เรื่องทหารเด็กในสงครามกลางเมืองในไลบีเรียและเซียรา ลีโอน เริ่มต้นด้วยการเล่าเหตุการณ์ของอดีตทหารเด็กที่ชื่อมอร์ริส เขาเล่าเรื่องที่ตนเองเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ มอร์ริสและกลุ่มพวกเขาได้รับการบอกกล่าวว่าพวกเขาสามารถต่อสู้เพื่อการตายของพ่อแม่ เพื่อช่วยประเทศให้กลับคืนสู่สันติภาพ พวกเขาจะเป็นวีรบุรุษ และอื่นๆ ในไม่ช้าเขาก็ได้เป็นผู้บังคับบัญชา ต่อมาเขาได้เดินทางไปยังเซียรา ลีโอน เพื่ออบรมทหารเด็กให้ต่อสู้เพื่อสหแนวร่วมปฏิวัติ (the Revolutionary United Front - RUF) จนมาวันหนึ่ง เขาไม่สามารถทนกับการกระทำตนได้อีกต่อไป เขาจึงหนีไปยังกานา ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบูดูบูรัม แม้ว่าการต่อสู้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ความรุนแรงยังคงกัดกินใจของมอร์ริส โดยยกตัวอย่างข้อความที่ว่า

 

...คุณมีอาวุธนี้อยู่ ผมไม่ได้หมายถึงอาวุธจำพวกปืน แต่หมายถึงจิตใจของคุณ จิตใจของคุณคืออาวุธ จิตใจคุณมีแต่ความรุนแรง คุณได้ใช้ชีวิตอยู่กับความรุนแรงมานานมาก และไม่ว่าเมื่อไร กับใครก็ตาม คุณสามารถเอาอาวุธนี้ออกมาใช้ได้ ไม่สำคัญว่าคุณจะอยู่ที่ไหน มันฝังอยู่ในตัวคุณ และมันช่างสร้างสรรค์ คุณสามารถทำสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้ ทำสิ่งเลวร้ายด้วยความสร้างสรรค์นี้ เพราะคุณได้เห็นความรุนแรงมามากเหลือเกิน ต้องใช้เจตจำนงที่ทรงพลังในการแปลงเปลี่ยนสิ่งนี้...3

 

โดยมอร์ริสอยู่กับความรู้สึกผิดที่บั่นทอนใจเรื่องทหารเด็กที่มีหลายด้าน ทั้งในฐานที่เขาเป็นเหยื่อและผู้ก่อกรรม มอร์ริสถูกประทับตราโดยชุมชนต่างๆนาๆไม่ว่าจะเป็นทหารเด็ก ฆาตกร ฯลฯ แต่เขาก็ยังคงทำงานฟาร์มเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตใหม่ต่อไป และเขาก็ได้ร่วมมือกับเพื่อนเขาที่ชื่อวิลเลียมส์ เจค เจคอบส์ ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีนี้แก่ชุมชน นอกจากนี้ เจคนั้นได้ช่วยออกแบบศูนย์วัฒนธรรมบูดูบูรัม โดยใช้สถานที่นี้เพื่อสร้างสะพานสำหรับผู้หลงทางและสูญเสียวัยเด็กของพวกเขากับแผ่นดินเกิด มีการเยียวยาผ่านดนตรีกลองเจมเบที่รวบรวมผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมด้วยกัน โดยเจคได้กล่าวว่า

 

คุณรู้ไหม คุณเห็นเด็กๆเหล่านี้และพวกเขาบอกคุณว่าสันติภาพคืออะไร พวกเขาฉลาดมากและเต็มไปด้วยความหวังและชีวิตชีวา นั่นแหละ นั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณทำต่อไป มันคือการเยียวยาคุณรู้ไหม การตีกลองและร่ายรำ และร้องเพลงและอยู่ด้วยกัน4

 

          2.เรื่องการคืนดีในโซมาเลียโดยกลุ่มผู้เฒ่า เป็นเรื่องราวในบริบทความรุนแรงในโซมาเลียในอดีตช่วงปี 1990 เป็นต้นมา โดยการคืนดีเพื่อนำมาสู่สันติภาพตั้งอยู่บนฐานแนวคิดที่ว่า สันติภาพเป็นไปได้ก็แต่ด้วยการพูดคุยเท่านั้น5 กลุ่มผู้เฒ่าดังกล่าวเริ่มต้นด้วยชี้คสองคน และหนึ่งคนเป็นสุลต่าน แต่ละคนมาจากชนเผ่าย่อยทั้งสามของตน แต่พวกเขาก็เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาค ทั้งสามได้ก่อตั้งแอร์กาดา (ergada) หรือกลุ่มเดินทางของผู้เฒ่าขึ้นมา เพื่อโน้มน้าวเหล่าผู้เฒ่าของชนเผ่าอื่นๆที่กำลังทำสงครามกันอยู่ให้มาร่วมกูอูรติ (guurti) หรือการชุมนุมของผู้เฒ่า กวี โฆษก และตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชนเผ่าย่อยต่างๆ6 โดยการพูดคุยเพียงครั้งเดียวย่อมไม่เพียงพอ ต้องมีการพูดคุยหลายรอบ พูดถึงการชดเชยและความรับผิดชอบทั้งเฉพาะหน้าและในอนาคต กาพูดคุยดำเนินอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนได้กล่าวถึงประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมไปถึงความคับข้องใจของฝ่ายตนในที่ประชุม จนความเห็นพ้องเริ่มก่อรูปอย่างช้าๆ โดยมีเป็นสุภาษิตที่ว่า คุณอาจปฏิเสธอาหารแก่ชาวโซมาเลีย แต่คุณไม่อาจเอาคำพูดไปจากเขาได้ โดยหลังจากมีการประชุมเพื่อพูดคุยนับร้อยครั้งในภูมิภาคนี้ ก็มีข้อเสนอผุดขึ้นในการประกาศเอกราชในชื่อสาธารณะรัฐแห่งโซมาลีแลนด์7

 

ว่าด้วยทฤษฎีและการประยุกต์ใช้กับบริบทความขัดแย้งในสังคมไทย

          จากที่เราได้อ่านข้อมูลตัวอย่างเบื้องต้นนั้น จะเห็นได้ว่าจากทั้งแนวทฤษฎีและการปฏิบัตินั้น การเยียวยาเป็นเรื่องการได้ยิน8 โดยทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีสุ้มเสียง และสามารถพูดสิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ยออกมาได้ พูดสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะ หรือความขับข้องใจต่างๆ ในเมื่อทุกคนก็อาจเป็นทั้งเหยื่อและผู้ก่อกรรม โดยจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาสามารถพูดสิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ยได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะโดนยับยั้ง จับกุม ฯลฯ ในบริบทปัญหาการเมืองไทยเรื่องกลุ่มการเมือง ว่าด้วยพธม. นปช. และกปปส. โดยเรื่องราวความขัดแย้งเหล่านี้เรื้อรังมาเป็นเวลานาน ทุกฝ่ายต่างมีความสูญเสียในรูปแบบของตน โดยมีตัวแสดงที่เกี่ยวข้องคือรัฐบาลในฐานะผู้ใช้ความรุนแรง เช่น การสลายการชุมนุม ฯลฯ

          เมื่อพิจารณาผ่านทฤษฎีจากหนังสือดังกล่าว การเยียวยา การปรองดอง และการคืนดี ยังมีกระบวนการดังกล่าวที่ไม่เพียงพอ ผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมก็อาจยังไม่ได้รับการเยียวยาที่น่าพึงพอใจ หรือการแสดงความเสียใจอย่างจริงจังจากภาครัฐ ปัจจุบันเรายังไม่มีการใช้พื้นที่เพื่อการเยียวยาอย่างเช่น กรณีศูนย์วัฒนธรรมบูดูบูรัม อันเป็นการเยียวยาความเจ็บปวดของผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมกัน หรือเรายังไม่มีกลุ่มสร้างการคืนดีอย่างเป็นรูปธรรมเฉกเช่น กลุ่มผู้เฒ่าในโซมาเลีย อันเป็นเสมือนตัวกลางเหนี่ยวนำให้ผู้ขัดแย้งทุกฝ่ายมาเจรจาร่วมกัน พูดสิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ย ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา หรือความคับข้องใจ ได้อย่างปลอดภัย โดยนี่นับเป็นความท้าทายของรัฐบาลอย่างมาก ว่าจะตัดสินใจให้กระบวนการปรองดอง (ซึ่งสามารถนำไปสู่การคืนดี) ดำเนินไปได้อย่างไร โดยข้าพเจ้าเสนอแนะปัจจัยประยุกต์จากพื้นฐานทฤษฎีในหนังสือ และมีการนำเสริมแต่งแนวคิดผ่านมุมมองตนเองเพิ่มเติมบางประการ สำหรับบริบทการเยียวยาความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งน่าจะมีลักษณะจำเป็นดังต่อไปนี้

 

- การเยียวยาต้องมีการกระทำอย่างชัดเจน และแสดงออกถึงการกระทำที่จริงใจ

- พื้นที่การเยียวยาต้องให้ความรู้สึกปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อหรือผู้ก่อกรรม พวกเขาต้องรู้สึกปลอดภัยว่าจะไม่มีฝ่ายไหนตามไปคุกคาม ข่มขู่ ควบคุมตัว ฯลฯ หลังจากที่ตนได้พูดสิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ยออกไป

- ผู้ที่พูดสิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ยต้องรู้สึกว่าสุ้มเสียงของพวกเขาจะถูกรับฟัง มีน้ำหนักเพียงพอที่จะถูกนำไปพิจารณาเพื่อการปรองดองและคืนดี

- การเยียวยาต้องเริ่มในระดับชุมชน เพื่อเข้าใจปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงในระดับรากเหง้า เป็นการมองขนาดสังคมจากระดับล่างขึ้นบน เป็นการเยียวยาสังคมในระดับชีวิตประจำวัน แล้วจึงขยายไปเป็นการเยียวยาในระดับชาติ9

- ฝ่ายรัฐบาลรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีตัวแทนเข้าร่วมพื้นที่การเจรจา เพราะรัฐบาลก็คือตัวแสดงตำแหน่งหนึ่งในความขัดแย้งนี้เช่นกัน

 

โดยทั้งนี้ กระบวนการเยียวยา ปรองดอง และคืนดี ต้องอาศัยภาชนะบางอย่าง10 แต่เนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ข้าพเจ้าได้ดัดแปลงแนวคิดภาชนะจากหนังสือบางประการเพื่อให้เหมาะสมกับการนำมาใช้จริง (practical) ในบริบทความขัดแย้งทางสังคมไทย และเพื่อการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นของทุกภาคส่วนของสังคม โดยภาชนะในที่นี้อยู่ในฐานะศูนย์รวมที่ได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มการเมือง โดยภาชนะที่เป็นตัวแทนนี้ ต้องสะท้อนการยอมรับตั้งแต่ในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศได้ ต้องทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการกล้าที่จะแสดงสุ้มเสียงของตนเพื่อพูดสิ่งที่สุดจะเอื้อนเอ่ย อันเป็นความท้าทายว่าสังคมไทยจะมีอะไรเป็นภาชนะสำหรับร่วมใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งนี้

          ในท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณนายชยางกูร ธรรมอัน เพื่อนนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ผู้ที่ให้คำปรึกษาแก่ข้าพเจ้า และขอขอบคุณผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้สอนเนื้อหาเหล่านี้แก่ข้าพเจ้าในวิชาการเมืองไทยสมัยใหม่ (Modern Thai Pol) ณ ที่นี้

 

เชิงอรรถ

 

[1] Voice TV21. 2560. เปิดตัว 'น้องเกี่ยวก้อย' มาสคอตสัญลักษณ์แทนการปรองดอง. กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี. https://www.voicetv.co.th/read/S1Lbg0sgG (1 มกราคม 2561)

[2] จอห์น พอล เลเดอรัค, แองเจลา จิลล์ เลเดอรัค. เมื่อเลือดและกระดูกโหยไห้ (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2559), 32.

[3] เรื่องเดียวกัน., 47.

[4] เรื่องเดียวกัน., 51.

[5] เรื่องเดียวกัน., 55.

[6] เรื่องเดียวกัน., 55-56.

[7] เรื่องเดียวกัน., 58.

[8] เรื่องเดียวกัน., 135.

[9] เรื่องเดียวกัน., 274.

​[10] เรื่องเดียวกัน., 147.