Skip to main content

 

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของภาพยนตร์ เรื่อง Blade Runner 2049 หากผู้อ่านท่านใดยังไม่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว พึงระวังการสูญเสียความพึงพอใจในการรับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในอนาคต

 

ความรักคืออะไร? เรารู้ได้อย่างไรว่าความรักมีจริง? คำถามพื้นฐานที่ มนุษย์ อย่างพวกเราล้วนตั้งคำถามกันมาเป็นเวลาช้านานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์พยายามหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้มากมาย ทั้งคำตอบในเชิงนามธรรม และในเชิงรูปธรรม มนุษย์ได้มีการให้คำตอบมากมายเกี่ยวกับรูปแบบความรัก โดยในทางจิตวิทยาสังคมนั้น ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างรูปแบบความรักบางส่วนจากหนังสือ จิตวิทยาสังคมของนพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน) เช่น ความรักแบบลุ่มหลง (passionate) ที่มนุษย์มีอารมณ์โหยหารุนแรงต่อบุคคลพิเศษอีกคนหนึ่ง อยากมีเวลาให้กันและกันมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และอยากมีการสัมผัสทางกายซึ่งกันและกัน และความรักแบบเพื่อน (companion) เป็นความรักแบบที่สงบเยือกเย็น มีการให้ความสำคัญแก่เนื้อคู่ของตน เป็นความรักที่อาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับสูง เป็นความรักที่มองว่าคู่ชีวิตของตนเหมือนเพื่อนที่ดีของตน อันเป็นการส่งผลต่อความยั่งยืนในชีวิตสมรสในระยะยาว1 แต่ถ้าหากบุคคลพิเศษสำหรับอีกคนหนึ่งนั้นไม่ใช่มนุษย์ แต่ถ้าหากเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีพฤติกรรมการแสดงออกเหมือนมนุษย์แทนนั้น เราจะอธิบายได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความรักมิใช่เป็นเพียงโปรแกรมที่ถูกตั้งค่าการแสดงออกตอบสนองไว้เท่านั้น และรูปแบบความรักที่เกิดขึ้นนั้นจะอธิบายได้อย่างไร? บทความนี้จะนำเสนอเนื้อหาชวนผู้อ่านเข้าไปพิจารณาว่าความรักของ Joe และ Joi จากภาพยนตร์ Blade Runner 2049 มีจริงหรือไม่อย่างไร และหากความรักของทั้งคู่มีจริงนั้น จะเป็นความรักในรูปแบบใด?

 

ว่าด้วยความรักของโจและจอย: เมื่อมนุษย์ (เทียม) มีความรักกับ AI

ต้องขอเกริ่นอธิบายเนื้อหาภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเบื้องต้นก่อน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเหตุการณ์โลกในปี 2049 ที่โลกมีเทคโนโลยีผลิตมนุษย์เทียมขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ และตัวเอกชายของเรื่องก็คือ เจ้าหน้าที่เค (K) โดย Joi เรียกเขาว่า Joe ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่า Joe ว่า "โจ" และ Joi ว่า "จอย" ในส่วนหน้าที่ของโจนั้นคือ “Blade Runner” ซึ่งเป็นหน้าที่ในการตามล่าและกำจัดมนุษย์เทียมรุ่นก่อนหน้าที่เคยทำการกบฏต่อมนุษย์ โดยโจได้มี "คนรัก" เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่าจอย โจต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานรับใช้คำสั่งที่มนุษย์มอบหมายให้ แต่ก็ยังไม่ได้รับความเคารพนับถือเหมือนกับมนุษย์ เขาอยู่ในโลกอันอ้างว้าง สิ่งเดียวที่เป็นที่พึ่งให้กับหัวใจอันแสนเปล่าเปลี่ยวของเขาก็คือจอย โดยในภาพยนตร์ เราจะเห็นได้ว่าทั้งคู่มีการแสดงออกความรักอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการที่โจซื้อเครื่องฉายอนุภาคเพื่อพกพาติดตัวสำหรับให้จอยสามารถออกไปสำรวจโลกกับเขา เพื่อร่วมให้ความคิดเห็นและเป็นเพื่อนคู่คิดกับเขาได้ ฉากที่โจพาจอยอออกไปสำรวจดาดฟ้าอาคารในขณะที่ฝนตก จอยได้บอกรักกับโจ ทั้งๆที่โจบอกว่าจอยไม่จำเป็นต้องพูดแบบนั้น (แม้แต่ก่อนที่จอยจะตายจากการถูกทำลายเครื่องฉายอนุภาค จอยก็ยังพยายามบอกรักโจเป็นครั้งสุดท้าย) ฉากที่โจถูกโจมตีขณะขับรถ และโจได้หมดสติไป จอยได้พยายามจะปลุกโจขึ้นมา แต่ก็ไม่สำเร็จ หรือฉากที่จอยได้เรียกตัวมนุษย์เทียมที่เป็นโสเภณีมาเพื่อทำการเชื่อมต่อร่างกายเพื่อจะได้ร่วมเพศกับโจ เพราะจอยรู้ว่าตนเป็นเพียงปัญญาประดิษฐ์ ไม่สามารถร่วมเพศเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของโจได้ สิ่งเหล่านี้แสดงออกถึงรูปแบบการแสดงความรักของ มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบความรักแบบลุ่มหลง หรือรูปแบบความรักแบบเพื่อนก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้นั้นเรียกว่าความรักจริงๆ หรือเป็นเพียงการตอบสนองที่โปรแกรมของจอยตั้งค่าไว้เท่านั้น ในฉากช่วงท้ายเรื่อง เราจะเห็นจอยขนาดใหญ่เข้ามาทักทายโจ และมีคำโฆษณาว่า จอยเป็นทุกสิ่งที่คุณอยากเห็น, และเป็นทุกสิ่งที่คุณอยากได้ยิน การแสดงความรักของจอยนั้นเป็นเพียงการทำงานของโปรแกรมที่ถูกตั้งค่าไว้หรือเปล่า ความรักที่ผ่านมาของโจและจอยนั้นไม่มีอยู่จริงใช่หรือไม่?

 

I Love, therefore I am: เพราะฉันรัก ฉันจึงมีตัวตนอยู่

เราอาจต้องมาตั้งคำถามกันใหม่เลยทีเดียวว่า ความรัก นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มนุษย์รู้ว่ามีความรักเกิดขึ้นมาอย่างไร? ผู้เขียนจึงนำเสนอให้มองย้อนไปยังหลักแนวคิดที่ว่า “I think, therefore I am.” ของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนามว่า Rene Descartes ผู้นำเสนอแนวคิดที่ว่า มนุษย์รู้ว่าตนเองมีตัวตน เพราะเราสามารถตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวตนของเราได้ ในทำนองเดียวกัน เรารับรู้ได้ว่าความรักที่เราประสบอยู่นั้น เป็นสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริง เนื่องจากเราตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความรักได้ (เราตั้งข้อสงสัยกับ ความรักที่ไม่มีอยู่แต่แรกไม่ได้) สิ่งที่เราเรียกว่าความรักนี้มีอยู่จริง โดยประยุกต์เป็นประโยคที่ว่า I Love, therefore I am: เพราะฉันรัก ฉันจึงมีตัวตนอยู่ และเมื่อความรักเกิดกับมนุษย์ได้ ก็ย่อมสามารถเกิดกับสิ่งที่คล้ายกับมนุษย์อย่างมาก เช่น มนุษย์เทียมและปัญญาประดิษฐ์  แต่ความรักนั้นมีอยู่ในรูปแบบใดก็คือคำถามถัดไปที่น่าชวนคิด หากพิจารณาคู่ความสัมพันธ์ของโจและจอย จะเห็นได้ชัดเจนว่าโจรักจอยอย่างจริงใจ ส่วนจอยนั้นเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกออกคำสั่งมาให้ทำตามสิ่งที่โจปรารถนา แต่เราตัดสินได้อย่างไรว่าสิ่งที่จอยแสดงออกไม่ใช่ความรัก มนุษย์ได้ตีรูปแบบการแสดงออกของความรักไว้แคบเกินไปหรือเปล่า ในตอนท้ายเรื่องที่โจพบกับจอยขนาดใหญ่ที่กำลังโฆษณา โจอาจไม่แน่ใจว่าจอยรักเขาจริงๆหรือเปล่า แต่สำหรับโจ เขารู้ว่าเขารักจอยจริง ความรักที่อาจจะปลอมของจอย คือความรักแท้จริงสำหรับเขา และสำหรับจอยนั้น ความรักที่แสดงออกต่อโจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะทำตามคำสั่งที่ถูกกำหนดมา หรือมีการรู้คิดและแสดงออกมาก็คงจะเป็นรูปแบบการแสดงความรักของจอย แม้ความรักที่จอยแสดงออกอาจเป็นสิ่งลวงตา (illusion) แต่ความรักที่โจได้รับจากจอยคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จะเห็นได้ว่าความรักทั้งแบบลุ่มหลงและแบบเพื่อนที่เกิดขึ้นของทั้งคู่ แค่นั้นก็อาจเพียงพอแล้วสำหรับอธิบายคำว่าความรักในที่นี้ สำหรับความรักที่กำหนดรูปแบบโดยคู่ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย

 

เชิงอรรถ

1 นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน). 2555. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์